- คำนำกรมศิลปากร
- คำนำ
- ประวัติพระราม
- รามายณฉบับสังสกฤต
- พาลกัณฑ์
- กุศิกวงศ์
- เรื่องพระคงคามหานทีและพระอุมา
- เรื่องท้าวสัครราชและกำเหนิดพระสาคร
- เรื่องกวนน้ำอมฤต
- กำเหนิดพระมารุต
- ตำนานนครวิศาลา (อุชชยินี) และพงษาวดารกษัตร์นครนั้น
- แสดงสาเหตุที่ท้าววิศวามิตรวิวาทกับพระวสิษฐพรหมฤๅษี
- ท้าววิศวามิตรจะเอาชนะพระวสิษฐ
- ท้าววิศวามิตรตั้งความพยายามจะเปนพราหมณ์
- เรื่องท้าวตรีศังกุ
- พระวิศวามิตรไปบุษกร
- เรื่องท้าวอัมพรีษและพราหมณ์ศุนหเศป
- พระวิศวามิตรได้เปนมุนี
- เรื่องพระวิศวามิตรกับนางเมนะกา
- เรื่องพระวิศวามิตรได้เปนมหาฤษี
- เรื่องพระวิศวามิตรกับนางรัมภา
- พระวิศวามิตรได้เปนพรหมฤษีสมปราถนา
- ตำนานรัตนธนูและกำเหนิดนางสีดา
- อโยธยากัณฑ์
- อรัณยกัณฑ์
- กีษกินธากัณฑ์
- สุนทรกัณฑ์
- ยุทธกัณฑ์
- อุตตรกัณฑ์
- ภาคที่ ๑ - แสดงด้วยอสุรพงษ์
- ภาคที่ ๒ - ทศกรรฐเยี่ยมพิภพ
- ภาคที่ ๓ - การสงครามและความประพฤติพาลของทศกรรฐ
- ภาคที่ ๔ - แสดงวานรพงษ์
- ภาคที่ ๕ - แสดงสาเหตุที่บรรดาลให้ทศกรรฐลักสีดา
- ภาคที่ ๖ - ว่าด้วยการส่งกษัตร์ที่มาช่วยงานกลับเมือง
- ภาคที่ ๗ - เนรเทศนางสีดา
- ภาคที่ ๘ - ตำนานเบ็ดเตล็ด
- ภาคที่ ๙ - แสดงพระคุณธรรมแห่งพระราม
- ภาคที่ ๑๐ - ศึกพระศัตรุฆน์ (และนางสีดาประสูตร์พระกุศพระลพ)
- ภาคที่ ๑๑ - พระรามลงโทษศุทร์ผู้กำเริบทำเทียมพราหมณ์ (และเรื่องอื่นๆ)
- ภาคที่ ๑๒ - พิธีอัศวเมธของพระราม และรับสีดาคืนนคร
- ภาคที่ ๑๓ - ศึกพระภรต และจัดตั้งเมืองให้หลานหลวง
- ภาคที่ ๑๔ - เนรเทศพระลักษมณ์ และพระลักษมณ์ไปสวรรค์
- ภาคที่ ๑๕ - พระรามและบริวารขึ้นสวรรค์
- รามายณฉบับฮินดี
- ปุราณะ
- หนังสือเบ็ดเตล็ดเรื่องพระราม
- เรื่องราวของหนุมาน
- เรื่องไมราพณ์
- สรูปความเห็นในเรื่องบ่อเกิด
- รามเกียรติ์ฉบับไทย
- ลครดึกดำบรรพ์
ภาคที่ ๑๕ - พระรามและบริวารขึ้นสวรรค์
เมื่อเนรเทศพระลักษมณ์ไปแล้ว พระรามก็ปรารภว่า จะอภิเษกพระภรตให้ทรงราชย์ในกรุงศรีอโยธยา แล้วก็จะเสด็จสวรรคต แต่พระภรตไม่ยอมทรงราชย์ จะขอตามเสด็จไป และทูลว่าให้ทรงแบ่งพระนครเปน ๒ ภาค ให้พระกุศครองโกศล ให้พระลพครองอุตตรโกศล และขอให้ตรัสใช้ทูตไปบอกพระศัตรุฆน์ให้ทราบข่าวด้วย ฝ่ายมุขมนตรีและประชาชนชาวพระนคร ได้ทราบข่าวว่าพระรามเตรียมพระองค์จะเสด็จสวรรคต ก็พากันมากราบทูลวิงวอนขอตามเสด็จไป พระรามก็ทรงอนุญาต
จึ่งทรงจัดตั้งพิธีอภิเษกพระกุศให้ครองแคว้นโกศล สร้างนครหลวงใหม่ให้นามว่ากุศาวดีที่ริมเขาวินธัย (ส่วนกรุงศรีอโยธยานั้นทิ้งร้าง) อภิเษกพระลพให้ครองแคว้นอุตตรโกศล สร้างนครหลวงใหม่ให้นามว่า (ศราวัสตีคือสาวัตถี) จัดแบ่งรี้พลและทวยราษฎร์ไปอยู่ตามสมควร แล้วก็ตรัสใช้ทูตให้ไปเฝ้าพระศัตรุฆน์ที่นครมถุรา
ฝ่ายพระศัตรุฆน์เมื่อได้แจ้งเหตุ จึ่งจัดอภิเษกพระสุวาหุราชกุมารองค์ใหญ่ของพระองค์ให้ดำรงนครมถุรา และอภิเษกพระศัตรุฆาฏิราชกุมารองค์น้อยให้ครองนครวิทิษ แล้วพระศัตรุฆน์ก็เสด็จไปเฝ้าพระรามที่กรุงศรีอโยธยา
ฝ่ายราชาสุครีพได้ทราบข่าว ก็อภิเษกองคทให้ดำรงนครกีษกินธ์ แล้วไปเฝ้าพระรามพร้อมด้วยท้าวพญาวานร พร้อมกันขอตามเสด็จ พระรามก็โปรดอนุญาต ราชาพิเภษณ์ได้ทราบข่าวก็ไปเฝ้าเหมือนกัน แต่พระรามตรัสว่าให้อยู่ครองทวีปลงกาสืบไป และประทานพรว่า ถ้าตราบใดยังไม่สิ้นสูรย์จันทร์และปัถพี และเรื่องรามายณยังคงอยู่ ก็ให้ลงกาคงอยู่ตราบนั้น ฝ่ายหนุมานพระรามตรัสว่า ให้มีชีวิตรอยู่ชั่วกัลปาวสาน และถ้าตราบใดยังมีผู้เล่าเรื่องรามายณอยู่ ก็ขอให้หนุมานมีความศุขตราบนั้น ส่วนพญาชมพูพานกับไมนทะ ทวิวิท และพญาวานรอีก ๕ ตน พระรามตรัสสั่งให้มีชีวิตรไปจนกว่าจะสิ้นกลียุค
เสร็จสั่งการแล้ว พระรามก็ให้ตั้งขบวนพยุหยาตราดำเนินออกไปยังฝั่งน้ำสรยุ ตั้งการพลีกรรมลาโลก แล้วพระรามก็เตรียมการที่จะลาโลก พระภรต พระศัตรุฆน์และบรรดามนุษ วานร และยักษ์ ก็เตรียมตามเสด็จไป พระพรหมามหาบิดรก็เสด็จลงมารับพระราม พระรามจึ่งเสด็จลงสู่น้ำสรยุพร้อมด้วยพระภรตและพระศัตรุฆน์ทั้งสามองค์ก็เข้ารวมเปนพระวิษณุเปนเจ้าองค์เดียว ฝ่ายวานรก็กลับรูปเข้ารวมในเทวดาที่ได้ให้กำเหนิดนั้นทั่วกัน
[ตอนท้ายนี้ ผิดกับที่มีอยู่ในรามเกียรติ์ของเรา ซึ่งในตอนจบว่าพระรามกับนางสีดาได้อยู่เย็นเปนศุขในนครศรีอโยธยาสืบไป ที่มีข้อความอยู่เช่นนี้ ไม่ใช่ตกแต่งขึ้นเองตามใจ ที่จริงมีมูลที่มา ดังจะได้อธิบายต่อไปข้างน่า]
วรรคที่สุดแห่งอุตตรกัณฑ์ มีแสดงคุณวิเศษแห่งหนังสือรามายณ คล้ายวรรคที่สุดแห่งยุทธกัณฑ์ มีกำหนดว่ารามายณนี้ให้ใช้สวดในพิธีศราทธพรต เพื่อล้างบาปของผู้ตาย ส่วนคุณที่มีแก่มนุษนั้น บรรยายไว้อย่างพิศดาร คือ “อ่านแม้แต่โศลกเดียว ผู้ที่ไม่มีลูกก็จะได้ลูก ผู้ที่ไม่มีทรัพย์ก็จะได้ทรัพย์ และพ้นบาปกรรมบรรดาที่ได้ทำมาแล้วทุกๆ วัน” มีกำหนดว่า ผู้ที่สวดรามายณนี้ ควรได้รับเสื้อผ้า โค และทองเปนทักษิณา กับมีแสดงผลที่ผู้อ่านรามายณจะได้รับ คือประการ ๑ “จะบันดาลให้มีอายุยืน เปนที่นับถือในโลกนี้และโลกน่า ตลอดถึงลูกหลาน” อีกประการ ๑ ว่า “ผู้ใดอ่านในเวลาเช้าก็ดี กลางวันก็ดี เย็นก็ดี จะหาความเหน็จเหนื่อยมิได้”
ในที่สุดจึ่งไปมีข้อความแถมไว้ว่า กรุงศรีอโยธยานั้น เปนเมืองร้างอยู่ช้านาน จนเมื่อรัชสมัยแห่งท้าวฤษภ จึ่งได้มีคนไปอยู่ใหม่
อุตตรกัณฑ์นี้ ที่จริงไม่ใช่กัณฑ์ยาว แต่มีข้อความเปนเรื่องราวเบ็ดเตล็ดอยู่มาก จึ่งย่อให้สั้นลงไม่ใคร่ได้