เรื่องท้าวสัครราชและกำเหนิดพระสาคร

[ค] เรื่องท้าวสัครราชและกำเหนิดพระสาคร (เล่าต่อจากเรื่องก่อนหน้านี้)

๑. ท้าวสัครราชเปนกษัตร์สุริยวงศ์ ครองนครศรีอโยธยา (ก่อนพระรามขึ้นไปหลายชั่วคน) มีมเหษีชื่อเกศินี นางชาววิทรรภนาง ๑ อีกนาง ๑ ชื่อนางสุมดี ลูกพระอริษฏเนมี และภคินีพญาครุฑ แต่ไม่มีโอรส ท้าวสัครจึ่งไปบำเพ็ญตะบะอยู่ในสำนักพระภฤคุมุนีประชาบดี พระภฤคุมีความเมตตาจึ่งให้พรว่า ให้มเหษีองค์ ๑ มีโอรสองค์เดียว แต่กุมารนั้นให้เปนผู้ดำรงวงศกูล ส่วนอีกองค์ ๑ นั้นจะให้มีโอรสหกหมื่น แล้วแต่นางใดจะเลือกอย่างใด นางเกศินีเลือกมีโอรสองค์เดียว แต่ให้เปนผู้ได้ดำรงวงศกูล นางสุมดีขอมีโอรสหกหมื่นองค์

๒. กำเหนิดโอรสแลนัดดาท้าวสัคร คือนางเกศินีมีโอรสองค์ ๑ ชื่ออสะมัญชะ นางสุมดีทรงครรภจนครบกำหนดแล้วประสูตรเปนน้ำเต้า ซึ่งเก็บไว้หน่อยหนึ่งจึ่งแตกออก และมีกุมารออกจากนั้นหกหมื่น ซึ่งต้องใส่ผอบแช่น้ำมันเนยไว้จนโต ฝ่ายพระอสะมัญชะนั้น ประพฤติเกะกะ พระบิดาต้องเนรเทศจากพระนคร แต่ก่อนที่จะถูกเนรเทศนั้น พระอสะมัญชะได้มีโอรสองค์ ๑ แล้ว ชื่อพระอังศุมาน ซึ่งตั้งอยู่ในศีลในธรรม พระไอยกาจึ่งตั้งเปนเยาวราช

๓. พิธีอัศวเมธของท้าวสัคร - ท้าวสัครตั้งพิธีอัศวเมธที่หว่างเขาหิมพานและเขาวินธัย พระอินทรจำแลงเปนรากษสมาลักม้าสำคัญไป ท้าวสัครจึ่งใช้ให้โอรสหกหมื่นไปเที่ยวค้นหาม้าคืนมาให้จงได้ กุมารหกหมื่นก็เที่ยวหาม้า ขุดพื้นแผ่นดินไปกว่าหกหมื่นโยชน์ และลึกลงไปทุกที เทวดาและสัตว์ทั้งหลายพากันกลัว ไปทูลฟ้องพระพรหมา พระพรหมาตรัสให้ไปเฝ้าพระนารายน์ทูลวอนให้ช่วย ฝ่ายกุมารหกหมื่นค้นหาม้าไม่พบ กลับไปทูลพระบิดา ๆ ก็สั่งให้ไปหาให้จงได้ กุมารหกหมื่นก็ขุดดินไปอีก ในที่สุดจึ่งไปพบพระนารายน์ซึ่งอวตารเปนพระกบิล กับแลเห็นมาอยู่ใกล้ๆ กุมารหกหมื่นก็ถือเครื่องมือตรงเข้าไปจะประหาร แต่พระกบิลแผลงอิทธิฤทธิ์เปนไฟไหม้กุมารตายหมดทั้งหกหมื่น ท้าวสัครเห็นโอรสหายไปนาน จึ่งใช้ให้พระอังศุมานไปตามอา จนพบอังคารของอากองอยู่ จะหาน้ำรดก็ไม่มี จึ่งเที่ยวไป จนพบพญาครุฑ พญาครุฑปลอบพระอังศุมานและอธิบายว่าอาทั้งหกหมื่นนั้น ได้ตายด้วยฤทธิ์พระกบิล จะรดด้วยน้ำสามัญไม่ควร ควรใช้น้ำพระคงคา จึ่งจะล้างบาปหมดได้ไปสู่สวรรค์ พระอังศุมานจึ่งนำม้ากลับไปถวายท้าวสัครและทูลความตามที่พญาสุบรรณได้กล่าวมา แต่ท้าวสัครไม่แลเห็นทางที่จะให้น้ำพระคงคามาถึงอังคารแห่งโอรสทั้งหกหมื่นนั้นได้ (ในเวลานั้นพระคงคามีอยู่แต่ในสวรรค์ยังมิได้ลงมาสู่โลกมนุษ)

๕. การเชิญพระคงคาลงมาจากสวรรค์ - เมื่อท้าวสัครล่วงลับไปแล้ว ท้าวอังศุมานขึ้นทรงราชย์ จนพระทิลีปผู้เปนโอรสเจริญวัยพอควรแล้ว ท้าวอังศุมานจึ่งเวนราชสมบัติให้ท้าวทิลีปครองต่อไป ท้าวอังศุมานออกทรงผนวชบำเพ็ญตะบะเพื่อเชิญพระคงคาลงมาจากสวรรค์ แต่ก็ไม่สำเร็จจนสิ้นพระชนม์ ท้าวทิลีปจึ่งเวนราชสมบัติให้ท้าวภคีรถผู้เปนโอรสอีกต่อ ๑ แล้วไปทรงผนวชบำเพ็ญเชิญต่อไปจนสิ้นพระชนม์ ท้าวภคีรถไม่มีโอรส จึ่งมอบพระนครให้อำมาตย์มนตรีรักษาไว้ แล้วไปบำเพ็ญเชิญพระคงคาต่อไป จนพระพรหมาทรงพระเมตตาจึ่งเสด็จลงมาตรัสว่า จะขอพรอย่างไรจะประทานให้ทุกอย่าง ท้าวภคีรถราชฤษีจึ่งทูลขอให้พระคงคาลงมาล้างอังคารพระสาครกุมารทั้งหกหมื่น และขอโอรสด้วย พระพรหมาก็โปรดประทานพรตามปราถนา แต่ตรัสเตือนว่า ต้องทูลวานพระอิศวรช่วยรับพระคงคาไว้เมื่อจะลงมาจากสวรรค์ เพราะถ้ามิฉนั้นโลกจะพินาศล่มจมหมด

๖. พระคงคาลงมายังมนุษโลก - เมื่อพระพรหมาตรัสเช่นนั้นแล้วท้าวภคีรถก็บำเพ็ญตะบะต่อไปอีก จนพระอิศวรโปรด จึ่งรับว่าจะช่วยรับพระคงคาไว้ ครั้นถึงเวลาที่แม่พระคงคาลงจากสวรรค์ พระอิศวรก็รับไว้ด้วยพระเกศา (จึ่งทรงนามว่า “คงคาธร”) พระคงคาเข้าไปไหลวนอยู่ในระหว่างพระเกศา จนท้าวภคีรถไปทูลขอให้ปล่อย พระอิศวรจึ่งปล่อยพระคงคาให้ไหลไปทางสระวินทุ พระคงคาแยกออกเปน ๗ สาขา ไหลไปทางบุรพทิศ ๓ สาขา กับแม่น้ำสุจักษุ ๑ แม่น้ำสีดา ๑ กับพระสินธุ ๑ รวม ๓ ไหลไปทางปรัศจิมทิศ ส่วนสายกลาง (คือที่เรียกว่าลำพระคงคามหานทีนั้น) ไหลตามรอยรถที่นั่งท้าวภคีรถไป เมื่อผ่านไปแห่งใดฤษีชีพราหมณ์และประชาชนก็พากันยินดี ได้อาบน้ำพระคงคาแล้ว ก็ชำระบาปได้สิ้น ทั้งเทวดาซึ่งได้มีบาปต้องจุติลงมาอยู่ในมนุษโลกนี้ เมื่อได้อาบน้ำพระคงคาแล้วก็ได้กลับคืนสู่สวรรค์ ท้าวภคีรถก็นำพระคงคาไหลไปจนผ่านที่มณฑลพิธีของพระชน๎หุดาบส ท่วมมณฑลพิธีนั้น พระดาบสขัดใจจึ่งอ้าปากกลืนพระคงคาเข้าไปไว้ จนเทวดาต้องช่วยกันอ้อนวอน พระดาบสจึ่งยอมให้ไหลออกมาทางหู แต่นั้นมาพระคงคาจึ่งได้นามว่าชาน๎หวี คือสมมตว่าเปนบุตรีพระชนหุ แล้วพระคงคาก็ไหลตามรถท้าวภคีรถต่อไป จนไปถึงที่ซึ่งอังคารพระสาครกุมารกองอยู่ พอน้ำพระคงคาถึงอังคารนั้นแล้ว บรรดาพระสาครกุมารทั้งหกหมื่นก็ได้ไปสู่สวรรค์ ต่อนั้นมาพระคงคาจึ่งได้นามว่าภาคิรถี (“เกิดแต่ภคีรถ”) เพราะท้าวภคีรถเปนผู้เชิญลงมา และหลุมใหญ่ซึ่งโอรสท้าวสัครขุดนั้น เมื่อน้ำพระคงคาได้ไหลลงไปเต็มแล้ว ก็ได้นามว่าสาคร (“เกิดแต่สัคร”) แต่นั้นมา

[เรื่องท้าวสัครและกำเหนิดแห่งสาครนี้ ที่ข้าพเจ้าเล่ายึดยาวหน่อย เพราะเห็นเปนเรื่องที่เนื่องด้วยอิกษวากุวงศ์ คือวงศ์พระรามและเมื่อถึงตอนจองถนนพิเภษณ์ก็กล่าวว่า พระสาครควรจะช่วยให้พระรามเสด็จถึงลงกาได้โดยสดวก เพราะบรรพบุรุษของพระรามได้มีบุญคุณแก่พระสาคร เหมือนเปนผู้ใหกำเหนิดฉนั้น ส่วนในรามเกียรติ์ฉบับไทยไม่มีเรื่องนี้เลย น่าจะเปนเพราะไม่เห็นเกี่ยวกับเรื่องของพระรามโดยตรง ทั้งไม่มีท่าทางจะเล่นลครได้ด้วย จึ่งงดเสียไม่ลงไว้]

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ