- คำนำกรมศิลปากร
- คำนำ
- ประวัติพระราม
- รามายณฉบับสังสกฤต
- พาลกัณฑ์
- กุศิกวงศ์
- เรื่องพระคงคามหานทีและพระอุมา
- เรื่องท้าวสัครราชและกำเหนิดพระสาคร
- เรื่องกวนน้ำอมฤต
- กำเหนิดพระมารุต
- ตำนานนครวิศาลา (อุชชยินี) และพงษาวดารกษัตร์นครนั้น
- แสดงสาเหตุที่ท้าววิศวามิตรวิวาทกับพระวสิษฐพรหมฤๅษี
- ท้าววิศวามิตรจะเอาชนะพระวสิษฐ
- ท้าววิศวามิตรตั้งความพยายามจะเปนพราหมณ์
- เรื่องท้าวตรีศังกุ
- พระวิศวามิตรไปบุษกร
- เรื่องท้าวอัมพรีษและพราหมณ์ศุนหเศป
- พระวิศวามิตรได้เปนมุนี
- เรื่องพระวิศวามิตรกับนางเมนะกา
- เรื่องพระวิศวามิตรได้เปนมหาฤษี
- เรื่องพระวิศวามิตรกับนางรัมภา
- พระวิศวามิตรได้เปนพรหมฤษีสมปราถนา
- ตำนานรัตนธนูและกำเหนิดนางสีดา
- อโยธยากัณฑ์
- อรัณยกัณฑ์
- กีษกินธากัณฑ์
- สุนทรกัณฑ์
- ยุทธกัณฑ์
- อุตตรกัณฑ์
- ภาคที่ ๑ - แสดงด้วยอสุรพงษ์
- ภาคที่ ๒ - ทศกรรฐเยี่ยมพิภพ
- ภาคที่ ๓ - การสงครามและความประพฤติพาลของทศกรรฐ
- ภาคที่ ๔ - แสดงวานรพงษ์
- ภาคที่ ๕ - แสดงสาเหตุที่บรรดาลให้ทศกรรฐลักสีดา
- ภาคที่ ๖ - ว่าด้วยการส่งกษัตร์ที่มาช่วยงานกลับเมือง
- ภาคที่ ๗ - เนรเทศนางสีดา
- ภาคที่ ๘ - ตำนานเบ็ดเตล็ด
- ภาคที่ ๙ - แสดงพระคุณธรรมแห่งพระราม
- ภาคที่ ๑๐ - ศึกพระศัตรุฆน์ (และนางสีดาประสูตร์พระกุศพระลพ)
- ภาคที่ ๑๑ - พระรามลงโทษศุทร์ผู้กำเริบทำเทียมพราหมณ์ (และเรื่องอื่นๆ)
- ภาคที่ ๑๒ - พิธีอัศวเมธของพระราม และรับสีดาคืนนคร
- ภาคที่ ๑๓ - ศึกพระภรต และจัดตั้งเมืองให้หลานหลวง
- ภาคที่ ๑๔ - เนรเทศพระลักษมณ์ และพระลักษมณ์ไปสวรรค์
- ภาคที่ ๑๕ - พระรามและบริวารขึ้นสวรรค์
- รามายณฉบับฮินดี
- ปุราณะ
- หนังสือเบ็ดเตล็ดเรื่องพระราม
- เรื่องราวของหนุมาน
- เรื่องไมราพณ์
- สรูปความเห็นในเรื่องบ่อเกิด
- รามเกียรติ์ฉบับไทย
- ลครดึกดำบรรพ์
อรัณยกัณฑ์
ที่ ๓ - อรัณยกัณฑ์ จับแต่สามกษัตร์เข้าสูป่าทัณฑกพบอสูรดุร้ายตน ๑ ชื่อวิราธ (ในรามเกียรติ์ของเรากลายเปน “พิราพ” ไป) รบกันเปนสามารถ แต่วิราธนั้นได้รับพรพระพรหมาว่าไม่ให้ตายด้วยคมอาวุธ พระรามรบกับวิราธจนเหยียบไว้ได้แล้วจึ่งให้พระลักษมณ์ขุดหลุมเพื่อฝังทั้งเปน ฝ่ายวิราธเมื่อจะตายรู้ว่าพระรามคือพระนารายน์อวตาร จึ่งเล่าเรื่องที่ตนถูกสาบ คือเดิมเปนคนธรรพซึ่งได้ประพฤติผิดในกาม ไปลอบลักสมัคสังวาศด้วยนางรัมภาผู้เปนบริจาของท้าวเวศรวัณ ท้าวเวศรวัณสาบให้เปนรากษสอยู่จนกว่าพระนารายน์จะอวตารมากำเหนิดเปนลูกท้าวทศรถ มาฆ่าตายแล้วจึ่งให้วิราธพ้นคำสาบ วิราธจึ่งยินดีที่จะพ้นทุกข์ได้ไปสวรรค์ ชี้ทางให้พระรามดำเนินต่อไป แล้วพระรามกับพระลักษมณ์จึ่งฝังวิราธ วิราธก็ได้ตายด้วยมือพระรามสมความปราถนา เปนอันได้กลับไปสวรรค์ สามกษัตร์จึ่งเดินต่อไป จนถึงสำนักพระมหาฤษีสรภังค์ พบพระอินทรกำลังมาอัญเชิญพระสรภังค์ไปสู่สวรรค์ สามกษัตร์เข้าไปนมัสการพระสรภังค์ พระมุนีก็มีความยินดี ชี้ทางให้เดินต่อไปแล้วพระมหามุนีเองจึ่งเข้ากองไฟเผาตัวและวิญญาณไปสู่พรหมโลก พวกสานุศิษย์พระสรภังค์ขอให้พระรามช่วยคุ้มเกรงรักษา พระรามรับคำแล้วก็ดำเนินต่อไป พร้อมด้วยนางสีดาและพระลักษมณ์กับพวกพราหมณ์ จนถึงที่สำนักพระมหาฤษีสุติกษณ์ (ในรามเกียรติ์เรียกว่าสุทัศน์) พักอยู่ที่นี้คืน ๑ แล้วเข้าป่าต่อไป ท่องเที่ยวอยู่ในป่าทัณฑกนั้นถึงสิบปี ไปอาไศรยอยู่ในสำนักมหาฤษีและเทพฤษีต่างๆ ในที่สุดจึ่งกลับมายังสำนักพระสุติกษณ์ ถามถึงที่สำนักแห่งพระมหาฤษีอคัสตย์ (ในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “อังคต”) พระสุติกษณ์ก็ชี้ทางให้ สามกษัตร์จึ่งพากันไปหาพระอคัสตย์ พระมหามุนีก็ต้อนรับโดยยินดี แล้วจึ่งให้พระแสงสำคัญแด่พระราม คือธนูของพระนารายน์ ๑ ศรชื่อพรหมทัต หรือพรหมาสตร์ ๑ แร่งศรซึ่งไม่มีเวลาพร่อง เปนของพระอินทรให้ไว้ ๑ พระขรรค์ด้ามทองฝักกุดั่น ๑ พระรามรับของเหล่านี้ไว้แล้ว ก็ขอให้พระมุนีชี้ที่ซึ่งจะพอสร้างอาศรมพักอยู่ได้ พระอคัสตย์ก็บอกให้ว่า ในระยะห่างจากอาศรมไปอีก ๒ โยชน์ มีที่ดีแห่ง ๑ เรียกว่าปัญจาวดี อยู่ริมฝั่งโคทาวารี สามกษัตร์ก็พากันไปตั้งอาศรมอยู่ที่ปัญจาวดีนั้น เปนที่ผาศุกสำราญ จนวัน ๑ พะเอินนางรากษสีมีนามว่าศูรปนขา (ซึ่งในรามเกียรติ์ภาษาไทยเรียกว่า “สำมะนักขา”) ผู้เปนขนิษฐภคินีของทศกรรฐ ได้ไปพบสามกษัตร์ลงสรงอยู่ในโคทาวารี นางรากษสีมีความรักใคร่ในพระราม สู้ตามไปจนถึงอาศรม จำแลงตัวให้งามแล้วเข้าไปเกี้ยวพระราม พระรามไม่ยินยอมรักใคร่ นางศูรปนขาขัดใจก็เข้าตบนางสีดาสลบไป พระรามจึ่งใช้ให้พระลักษมณ์ลงโทษนางยักษ์ พระลักษมณ์เอาพระขรรค์ตัดจมูกและหูขาดแล้วขับไป นางศูรปนขาก็ร้องไห้ไปฟ้องพญาขรพี่ชาย ผู้ครองนครในชนสถาน พญาขรก็ยกทัพไปจับพระราม พร้อมด้วยพญาทูษณ์ และตรีเศียรเสนาบดี (ตรีเศียรไม่ใช่น้องพญาขร เปนแต่ขุนพลเท่านั้น) พญาขร พญาทูษณ์ และตรีเศียรต้องศรตาย นางศูรปนขาจึ่งข้ามไปยังลงกา ไปฟ้องทศกรรฐ และแกล้งพูดจายกย่องนางสีดาต่างๆ จนทศกรรฐอยากได้นาง จึ่งออกไปหาพญามารีจลูกนางตารกา ซึ่งไปบวชเปนโยคีอยู่ในป่า ขอให้ช่วยคิดอุบายลักนางสีดา มารีจก็กล่าวทัดทานไว้ เพราะตัวเองเคยรู้ฤทธิพระรามแต่เมื่อยกไปตีที่สำนักพระวิศวามิตรนั้นแล้ว แต่ทศกรรฐไม่ฟัง มารีจจึ่งจำใจไปกับทศกรรฐ ถึงปัญจาวดีแล้วจึ่งแปลงตัวเปนกวางไปลวงเอาพระรามไปพ้น และเมื่อถูกศรก็ทำเสียงลวงจนนางสีดาบังคับให้พระลักษมณ์ตามไปอีก ทศกรรฐได้ทีจึ่งแปลงตัวเปนฤษีเข้าไปเกี้ยวนางสีดา ครั้นนางไม่ยินยอมก็อุ้มเอาไปด้วยกำลัง ขึ้นรถเหาะไป นางสีดาก็ร่ำพิไรถึงพระรามจนเมื่อผ่านไปที่น่าถ้ำที่อยู่ของพญาชดายุ (ในฉบับไทยเรียก “สดายุ”) ปักษิราช ชดายุก็ออกมาขวางทางไว้ รบกับทศกรรฐ ชดายุปักษิราชแพ้ ตกลงยังพื้นดิน ทศกรรฐก็อุ้มนางสีดาต่อไป เมื่อผ่านไปในป่า ริมสระปัมปา นางสีดาเห็นวานรอยู่ ๕ ตน นางจึ่งเปลื้องสะไบแลอาภรณ์ทิ้งลงไปฝากวานรให้นำถวายพระรามด้วย ทศกรรฐก็พานางไปจนถึงกรุงลงกา พาเข้าไปในวัง ชวนให้ดูปราสาทราชฐาน นางก็ไม่ยอมดูทั้งสิ้น ทศกรรฐจึ่งสั่งนางรากษสีให้พาตัวนางสีดาไปไว้ยังสวนอโศก [คือสวนต้นไม้ที่เรามาเรียกกันว่าต้น “โศก” แต่ที่แท้ชื่ออโศกจึ่งจะถูก] และให้ต่างตนต่างใช้อุบายทำให้นางสีดายินยอมพร้อมใจเปนชายาทศกรรฐให้จงได้ ฝ่ายพระรามเมื่อฆ่ามารีจแล้ว เดินกลับจะไปอาศรม พบพระลักษมณ์กลางทางก็ตกพระไทย ทั้งสองกษัตร์รีบกลับไปอาศรม สีดาก็หายไปเสียแล้ว เที่ยวค้นหาเท่าใดก็ไม่พบ จึ่งออกเดินจากอาศรมไปจนพบชดายุปักษิราช ชดายุบอกข่าวนางสีดาแล้วก็ตาย พระรามเผาศพชดายุแล้วเดินต่อไป พบนางรากษสีตน ๑ ชื่ออโยมุขี (ในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “ยักขมูขี”) นางอโยมุขีตรงเข้ากอดพระลักษมณ์ไว้ พระลักษมณ์ฟันด้วยพระขรรค์ ตัดจมูก หู และถันขาดไปแล้ว นางรากษสีก็หนีไป สองกษัตร์ดำเนินต่อไปอีก พบอสูรตน ๑ มีแต่ครึ่งตัว หน้าอยู่ที่ท้องและมีแขนยาว ชื่อกพนธ์ (ในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “กุมพล”) กพนธ์เล่าว่าตนเปนทานพ ซึ่งได้รับพรพระพรหมาให้มีอายุยืน จึ่งมีความกำเริบไปรบพระอินทร พระอินทรเอาวัชรตีขาหักทั้ง ๒ ข้าง และตีศีรษะย่นลงไปในตัว แต่ด้วยอำนาจพรพระพรหมาจึ่งไม่ตาย พระอินทรสาบว่าให้มีแขนยาวเพื่อกวาดสัตว์เข้าปากกินไป จนกว่าจะได้พบพระรามจึ่งจะพ้นทุกข์ พระรามและอนุชาก็จัดการเผากพนธ์ กพนธ์ก็ได้คืนรูปงดงามดังเก่า จึ่งชี้ทางให้สองกษัตร์ไปหาพญาสุครีพ ซึ่งได้ถูกพญาพาลีเนรเทศออกมาอยู่เขามลัยทเลสาบปัมปา และแนะนำว่าให้วานพญาสุครีพช่วยค้นหานางสีดาต่อไป สองกษัตร์ก็ดำเนินไปตามทางที่กพนธ์ได้ชี้ให้ กลางทางพบนางโยคินีชื่อนางสวรี นางโยคินีชี้ทางให้ต่อไป สองกษัตร์ก็ดำเนินเลียบฝั่งแม่น้ำปัมปามุ่งตรงไปยังเขาฤษยมุก [อยู่ในทักษิณเทศ คือแคว้นที่อังกฤษเรียกว่า “The Deccan”]