ลครดึกดำบรรพ์

คนไทยชั้นใหม่ๆ เมื่อกล่าวถึง “ลครดึกดำบรรพ์” มักเข้าใจกันไปว่ากล่าวถึงลครของเจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ ซึ่งได้เรียกนามตามลครเก่า เพราะฉนั้นขออธิบายว่า “ลครดึกดำบรรพ์” ที่ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงต่อไปนี้ คือที่เรียกกันว่า “โขน”

ลครดึกดำบรรพ์นั้น มีกล่าวถึงเปนครั้งแรกในพระราชพงษาวดารในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งมีกล่าวว่า “พระองค์ท่านกระทำเบญจาเพศ ให้เล่นดึกดำบรรพ์” ลครดึกดำบรรพ์ครั้งนั้น จะเล่นอย่างไรก็รู้แน่ไม่ได้ แต่สันนิษฐานดูจากข้อที่ไม่มีบทกลอนอยู่เลยนั้น ก็ต้องเดาว่าคงจะเล่นอย่างโขนโรงนอก ในงานมหรศพหลวงอย่างที่เคยมีในงานพระเมรุหรืองานฉลองวัดเปนต้น คือที่เรียกตามปากตลาดว่าโขนนั่งราว ไม่มีร้องมีแต่พากย์กับเจรจา ถ้าแม้เปนเช่นนี้แล้วก็จะพอเข้าใจได้ว่า เหตุใดจึ่งไม่มีบทรามเกียรติ์ครั้งกรุงเก่าเลย เพราะถ้าเล่นอย่างโขนโรงนอกแล้ว บทก็ไม่เปนกลอนอยู่เอง และถ้าหากจะมีต้องเขียนต้องจดไว้บ้างก็จะมีแต่คำพากย์เท่านั้น ส่วนคำเจรจาคงไม่มีจดไว้ และไม่มีความจำเปนอันใดที่จะจด เพราะคนเจรจาทุกคนคงจะต้องเปนผู้ที่รู้เรื่องรามเกียรติ์ซึมซาบอยู่ในใจแล้ว และเมื่อถึงตอนที่จะเจรจาให้ตัวใดก็ว่าไปตามใจของตนเอง สุดแต่ไม่ให้ผิดเพี้ยนจากเรื่องไปก็แล้วกัน ข้าพเจ้ายังมีความเห็นต่อออกไปอีกว่า แต่เดิมตัวโขนน่าจะเจรจาเองด้วยซ้ำ คนเจรจาน่าจะมีแต่น่าที่พากย์เท่านั้น ไม่ใช่พูดแทนตัวโขนอย่างที่ใช้อยู่เดี๋ยวนี้ ที่ข้าพเจ้ามีความเห็นเช่นนี้ เพราะคิดเปรียบกับลครอื่นๆ เช่นงิ้วเปนต้น โขนของเราก็น่าจะเปนอย่างงิ้วนั้นเอง คือในชั้นต้นคงไม่ได้ใส่หน้าหรือหัวโขน คงใช้ผัดและเขียนหน้า หรือบางทีตัวยักษ์และลิงจะได้ใส่หน้ากากคล้ายๆ หน้าพรานโนราซึ่งยังใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ ต่อมาภายหลังเมื่อวิชาทำหน้าโขนเจริญขึ้น จนคิดทำเปนหน้าสรวมหัวอย่างที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ขึ้นแล้ว ตัวโขนรู้สึกความลำบากในการที่จะเจรจาเอง จึ่งต้องจัดให้มีคนเจรจาขึ้นต่างหากสำหรับพูดแทนทีเดียว ส่วนเรื่องรามเกียรติ์ที่จะได้เล่นเปนอย่างลครร้องเปนครั้งแรก ก็คงจะเปนในรัชสมัยแห่งเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อเล่นประชันกับลครผู้หญิงของเจ้านครนั้นเอง

ข้อความตามที่ข้าพเจ้าแสดงมาแล้วในเรื่องมลแห่งรามเกียรติ์นี้เปนข้อความที่ยืดยาว แต่ข้าพเจ้ามีเวลาสำหรับตรวจสอบหนังสืออยู่น้อยสักหน่อย เพราะฉนั้นถ้ามีข้อความพลาดพลั้งไปอย่างใดบ้าง ก็ขออภัยเสียเถิด ความตั้งใจของข้าพเจ้าก็มีอยู่แต่ว่าจะแนะหัวข้อหรือตั้งโครงไว้สำหรับผู้ที่พอใจในทางหนังสือจะได้พิจารณาต่อไปอีกเท่านั้น และถ้าแม้ข้อความที่ข้าพเจ้าได้เขียนมาแล้วนี้ เปนเครื่องช่วยบำรุงความรู้ในทางหนังสือไทยขึ้นบ้างแม้แต่เล็กน้อยปานใด ข้าพเจ้าก็จะรู้สึกพอใจ และจะรู้สึกว่าการที่ข้าพเจ้าได้พยายามมาแล้วไม่เปนอันเปลืองเวลาโดยเปล่าประโยชน์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

อ่างศิลา วันที่ ๒๓ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ