- คำนำกรมศิลปากร
- คำนำ
- ประวัติพระราม
- รามายณฉบับสังสกฤต
- พาลกัณฑ์
- กุศิกวงศ์
- เรื่องพระคงคามหานทีและพระอุมา
- เรื่องท้าวสัครราชและกำเหนิดพระสาคร
- เรื่องกวนน้ำอมฤต
- กำเหนิดพระมารุต
- ตำนานนครวิศาลา (อุชชยินี) และพงษาวดารกษัตร์นครนั้น
- แสดงสาเหตุที่ท้าววิศวามิตรวิวาทกับพระวสิษฐพรหมฤๅษี
- ท้าววิศวามิตรจะเอาชนะพระวสิษฐ
- ท้าววิศวามิตรตั้งความพยายามจะเปนพราหมณ์
- เรื่องท้าวตรีศังกุ
- พระวิศวามิตรไปบุษกร
- เรื่องท้าวอัมพรีษและพราหมณ์ศุนหเศป
- พระวิศวามิตรได้เปนมุนี
- เรื่องพระวิศวามิตรกับนางเมนะกา
- เรื่องพระวิศวามิตรได้เปนมหาฤษี
- เรื่องพระวิศวามิตรกับนางรัมภา
- พระวิศวามิตรได้เปนพรหมฤษีสมปราถนา
- ตำนานรัตนธนูและกำเหนิดนางสีดา
- อโยธยากัณฑ์
- อรัณยกัณฑ์
- กีษกินธากัณฑ์
- สุนทรกัณฑ์
- ยุทธกัณฑ์
- อุตตรกัณฑ์
- ภาคที่ ๑ - แสดงด้วยอสุรพงษ์
- ภาคที่ ๒ - ทศกรรฐเยี่ยมพิภพ
- ภาคที่ ๓ - การสงครามและความประพฤติพาลของทศกรรฐ
- ภาคที่ ๔ - แสดงวานรพงษ์
- ภาคที่ ๕ - แสดงสาเหตุที่บรรดาลให้ทศกรรฐลักสีดา
- ภาคที่ ๖ - ว่าด้วยการส่งกษัตร์ที่มาช่วยงานกลับเมือง
- ภาคที่ ๗ - เนรเทศนางสีดา
- ภาคที่ ๘ - ตำนานเบ็ดเตล็ด
- ภาคที่ ๙ - แสดงพระคุณธรรมแห่งพระราม
- ภาคที่ ๑๐ - ศึกพระศัตรุฆน์ (และนางสีดาประสูตร์พระกุศพระลพ)
- ภาคที่ ๑๑ - พระรามลงโทษศุทร์ผู้กำเริบทำเทียมพราหมณ์ (และเรื่องอื่นๆ)
- ภาคที่ ๑๒ - พิธีอัศวเมธของพระราม และรับสีดาคืนนคร
- ภาคที่ ๑๓ - ศึกพระภรต และจัดตั้งเมืองให้หลานหลวง
- ภาคที่ ๑๔ - เนรเทศพระลักษมณ์ และพระลักษมณ์ไปสวรรค์
- ภาคที่ ๑๕ - พระรามและบริวารขึ้นสวรรค์
- รามายณฉบับฮินดี
- ปุราณะ
- หนังสือเบ็ดเตล็ดเรื่องพระราม
- เรื่องราวของหนุมาน
- เรื่องไมราพณ์
- สรูปความเห็นในเรื่องบ่อเกิด
- รามเกียรติ์ฉบับไทย
- ลครดึกดำบรรพ์
ภาคที่ ๑๒ - พิธีอัศวเมธของพระราม และรับสีดาคืนนคร
ครั้นเมื่อพระรามกลับจากสำนักพระอคัสตย์มุนีแล้ว จึ่งมีความปราถนาจะใคร่ทำพิธีราชสูยะ (คือพลีกรรมซึ่งพระราชากระทำเพื่อประกาศความเปนใหญ่ของพระองค์ เพราะพญาร้อยเอ็ดต้องมาช่วย) จึ่งปฤกษาพระภรตและพระลักษมณ์ แต่พระภรตไม่เห็นด้วย อธิบายว่าเวลานั้นใครๆ ก็อ่อนน้อมอยู่แล้ว ไม่ควรจะหาเหตุให้เกิดขัดใจกัน พระรามก็ทรงเห็นชอบด้วย พระลักษมณ์จึ่งทูลให้ทำพิธีอัศวเมธ (บูชายัญด้วยม้า ซึ่งข้างเราเรียกกันว่า “พิธีปล่อยม้าอุปการ”) อันเปนพิธีสำคัญสำหรับล้างบาป แม้พระอินทรซึ่งได้กระทำร้ายพราหมณ์อันเปนบาปอย่างใหญ่ ก็ล้างบาปได้ด้วยพิธีอัศวเมธ และเพื่อแสดงคุณแห่งพิธีอัศวเมธ พระลักษมณ์กับพระรามต่างเล่านิทานองค์ละเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) เรื่องพระอินทรกับพฤตาสูร (พระลักษมณ์เปนผู้เล่า):-
ยังมีพญายักษ์ตน ๑ นามว่าพฤตาสูร เปนผู้ได้บำเพ็ญตะบะช้านาน จนได้เปนใหญ่ครองพิภพทั่วไป บรรดาชนและสัตว์ในโลกได้รับความร่มเย็น แต่ท้าวพฤตาสูรนั้นยังไม่พอใจ อยากจะใคร่บำเพ็ญบารมีต่อไปอีก จึ่งมอบราชสมบัติให้โอรสครองต่อไป แล้วออกไปบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า พระอินทรมีความวิตกว่าท้าวพฤตาสูรจะได้เปนใหญ่เหนือเทวดาต่อไป จึ่งไปเฝ้าพระนารายน์ ขอให้ทรงสังหารพฤตาสูร แต่พระนารายน์ตรัสว่า พฤตาสูรเปนผู้ที่ได้บูชาพระองค์แล้วจะทรงสังหารมิได้ แต่ยอมแบ่งกำลังของพระองค์ให้พระอินทรไป พระอินทรก็ไปฆ่าท้าวพฤตาสูรตายด้วยวัชระ แล้วพระอินทรจึ่งรู้ตัวว่า การที่ฆ่าพฤตาสูรตายนั้น เปนบาปใหญ่เหมือนฆ่าพราหมณ์ เพราะพฤตาสูรได้ผนวชเปนโยคีอยู่ พระอินทรจึ่งออกไปนอกเขาจักรวาฬ และเมื่อพระอินทรทิ้งโลกไปฉนั้น ทั่วพิภพก็เดือดร้อน เพราะฝนก็ไม่ตก น้ำก็ไม่ไหล ทวยเทพจึ่งพากันไปทูลร้องทุกข์ต่อพระนารายน์ ๆ ตรัสว่าให้พระอินทรทำพิธีอัศวเมธพลีพระองค์ก็จะล้างบาปได้ เทวดาก็พากันไปยังที่พระอินทรอยู่ณนอกเขาจักรวาฬจัดตั้งพิธีอัศวเมธขึ้น ครั้นเสร็จพิธีบาปก็ออกมาจากพระอินทรและนางปาปา (คือตัวบาป) จึ่งถามมุนีและทวยเทพที่ชุมนุมอยู่นั้นว่าจะให้ไปไหนต่อไป ทวยเทพตอบว่าให้แบ่งภาคเปน ๔ นางปาปาจึ่งตอบว่าจะทำตามเทวดาปราถนา ภาคที่ ๑ จะสิงอยู่ในลำน้ำเมื่อฤดูฝนและทำให้น้ำท่วม ภาคที่ ๒ จะสิงอยู่ในแผ่นดินเปนที่ดินเค็ม ภาคที่ ๓ “จะเข้าสิงในหญิงสาวมีกำหนด ๓ คืนทุกๆ เดือน เพื่อบุรุษจะได้นอนกับนางไม่ได้” (แปลความว่ามีฤดู) และภาคที่ ๔ จะเข้าสิงบุคคลที่ฆ่าพราหมณ์อันหาผิดมิได้ ว่าแล้วนางปาปาก็หายไป พระอินทรก็ได้กลับไปเปนใหญ่ในดาวดึงษ์อย่างเดิม
(๒) เรื่องท้าวอิลราชและนางอิลา (พระรามเปนผู้เล่า):-
ในนครพลหิกา (แคว้นพลหิ) มีพญามหากษัตร์องค์ ๑ ทรงนามว่าท้าวอิลราช เปนโอรสพระกรรทมประชาบดีพรหมบุตร เปนผู้ที่ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ ครอบครองประชาชนด้วยเมตตาประหนึ่งเปนบุตรของพระองค์ ทรงเดชานุภาพปราบได้ทั่วไป อยู่มาวัน ๑ ในฤดูวสันต์ ท้าวอิลราชได้เสด็จไปไล่เนื้อเล่นในป่า จนไปถึงตำบลซึ่งเปนที่กำเหนิดแห่งพระขันทกุมาร ในเวลานั้นพระอิศวรกำลังทรงสำราญอยู่ที่ในที่ระโหฐานณเชิงเขาไกรลาศ และได้ทรงจำแลงเปนสัตรีเพื่อล้อพระอุมาเล่น และบรรดาสัตว์และต้นไม้ก็กลายเปนเพศหญิงไปหมด ท้าวอิลราชกับบริวารเดินล่วงที่ระโหฐานนั้นเข้าไป ก็กลายเปนสัตรีไปหมด ท้าวอิลราชตกพระไทยจึ่งไปเฝ้าพระอิศวรทูลขออภัย ขอให้ได้กลับเปนชายอย่างเดิม พระอิศวรก็ไม่โปรดประทานพร แต่พระอุมาตรัสว่าจะยอมประทานพรกึ่ง ๑ ท้าวอิลราชจึ่งทูลขอว่า ในเดือน ๑ ขอให้เปนสัตรีอันมีรูปงามหานางใดเสมอเหมือนมิได้ แล้วให้เปนบุรุษอีกเดือน ๑ สลับกันไป พระอุมาก็โปรดประทานพรตามปราถนา และตรัสด้วยว่าเมื่อใดกลับเพศเปนชายให้ลืมเหตุการณทั้งปวงที่ได้เปนไปในเวลาเปนสัตรี และเมื่อกลายเปนสัตรีก็ให้ลืมเวลาที่เปนบุรุษ แต่นั้นมาราชานั้นก็เปนบุรุษชื่อท้าวอิลราชเดือน ๑ และกลายเปนนางอิลาเดือน ๑ สลับกันอยู่ฉนั้น
ในเดือนต้น ระหว่างที่เปนสัตรีอยู่นั้น นางอิลากับบริวารซึ่งเปนบุรุษกลายเปนสัตรีไปหมดนั้น พากันเที่ยวเล่นในป่าตามวิไสยสัตรี วัน ๑ นางอิลาพบพระพุธ ซึ่งกำลังบำเพ็ญพรตสมาธิอยู่ในสระอัน ๑ นางอิลากับบริวารพากันวักน้ำจ๋อมแจ๋ม พระพุธลืมเนตรขึ้นเห็นนางอิลาก็มีความรัก จึ่งขึ้นมาจากสระชวนนางไปยังอาศรม ไล่เลียงดูว่าเปนลูกเต้าเหล่าใคร แต่ตัวนางอิลาก็บอกไม่ถูก เพราะตามพรพระอุมา นางลืมเรื่องราวของตนในส่วนที่เปนบุรุษนั้นหมด และนางบริวารก็บอกไม่ถูกเหมือนกัน พระพุธจึ่งเล็งดูด้วยญาณทราบเหตุทุกประการแล้ว จึ่งตรัสแก่นางบริวารว่า “เจ้าทั้งหลายจงเปนกินนรีและอาไศรยอยู่ในเขานี้เถิด กูจะหามูลผลาหารให้กินมิให้อดอยาก และกูจะหากิมบุรุษให้เปนสามีเจ้าทั้งหลาย” [“กิมบุรุษ” หรือ “กินนร” มาจากมูลเดียวกัน คือ “กึ” แปลว่า “อะไร” เพราะฉนั้นคำว่า “กิมบุรุษ” ก็แปลว่า “ชายอะไร” และ “กินนร” แปลว่า “คนอะไร” ถ้าเปนอิถีลึงค์ก็เรียกว่า “กินนรี”]
ครั้นเมื่อพระพุธได้เห็นพวกกินนรีไปพ้นแล้ว จึ่งตรัสชวนนางอิลาให้อยู่ด้วยกับพระองค์ เปนชายาสืบไป จนครบกำหนดเดือน ๑ นางอิลาก็กลายรูปเปนท้าวอิลราชไป ท้าวอิลราชถามพระพุธว่า บริวารหายไปไหนหมด พระพุธก็ตอบว่าได้บังเกิดเหตุร้าย มีสิลาทลายลงมาทับพวกบริวารของท้าวอิลราชตายเสียหมดแล้ว แต่ส่วนตัวท้าวอิลราชรอดตายเพราะได้เข้าอาไศรยอยู่ในอาศรมของพระพุธ [ตามพรของพระอุมา ท้าวอิลราชเมื่อกลายรูปเปนบุรุษอย่างเดิมแล้ว ก็ลืมบรรดาเหตุการณที่ได้เปนไปในขณเมื่อเปนสัตรี เพราะฉนั้นก็จำไม่ได้ว่าทั้งตัวเองและบริวารได้กลายเปนสัตรีไป ส่วนท้าวอิลราชเองนั้นมีเวลากลับคืนรูปเปนบุรุษได้ แต่บริวารมิได้รับพรเช่นนั้น จึ่งยังคงเปนสัตรีอยู่ตลอดเวลา พระพุธไม่อยากให้ท้าวอิลราชมีความโทมนัศ จึ่งต้องกล่าวหลอกว่าบริวารตายเสียหมดแล้ว] ฝ่ายท้าวอิลราชครั้นได้ยินว่าบริวารตายหมดแล้ว ก็มีความเศร้าโศก และทูลพระพุธว่า จะยกราชสมบัติให้โอรสครองต่อไป แล้วและเข้าสู่ป่าเปนโยคี พระพุธก็ชวนไว้ให้อยู่ด้วยกัน ท้าวอิลราชจึ่งตกลงอยู่ที่อาศรมพระพุธ บำเพ็ญพรตภาวนาอยู่ตลอดเดือน ๑ แล้วก็กลับเพศเปนสัตรี และปฏิบัติพระพุธผู้เปนสามีไปอีกเดือน ๑ กลับไปกลับมาเช่นนี้ต่อไป จนถ้วนนพมาศ นางอิลาก็ประสูตร์กุมารองค์ ๑ ซึ่งพระพุธให้นามว่าพระปุรูรพ
ครั้นเมื่อท้าวอิลราชได้คืนรูปเปนบุรุษอีกแล้ว พระพุธจึ่งคำนึงถึงประโยชน์แห่งท้าวอิลราช เชิญพระมหาฤษีผู้มีชื่อมาหลายตน เพื่อปฤกษากันคิดหาทางที่จะแก้ไขให้ท้าวอิลราชได้คงเปนบุรุษอยู่ตลอดเวลา ขณที่ชุมนุมกันอยู่นั้น พระมหามุนีกรรทมพรหมบุตร ผู้เปนพระบิดาแห่งท้าวอิลราช ได้มายังอาศรมพระพุธพร้อมด้วยพระมุนีอื่นๆ อีก พระกรรทมทราบเรื่องราวแล้วก็กล่าวว่า มีทางแก้ได้แต่โดยอาไศรยอานุภาพพระอิศวรเท่านั้น ควรให้ทำพิธีอัศวเมธบูชาพระอิศวร จึ่งตกลงกันตั้งพิธีอัศวเมธ พระอิศวรพอพระไทยก็เสด็จลงมาประสาทพรให้ท้าวอิลราชได้เปนบุรุษอยู่ต่อไปไม่ต้องกลับเปนสัตรีอีก
ฝ่ายท้าวอิลราชกลับเข้าสู่นครพลหิกา อภิเษกพระสสพินทุให้ทรงราชย์ในนครนั้น แล้วก็ไปสร้างนครใหม่ เรียกว่าประดิษฐานให้เปนที่สถิตย์พระปุรูรพโอรสพระพุธนั้นสืบไป [ท้าวปุรุรพนี้ เปนปฐมชนกแห่งกษัตร์จันทรวงศ์ ซึ่งครองนครประดิษฐานและหัสดินสืบมา และมีเรื่องราวกล่าวถึงในมหาภารต กับเปนตัว “พระเอก”ในเรื่องลครสังสกฤตของกาลิทาสรัตนกะวี ชื่อเรื่อง “วิก๎รโมร๎วสี”]
ครั้นเมื่อพระลักษมณ์และพระรามเล่าเรื่องแสดงคุณแห่งพิธีอัศวเมธจบแล้ว พระรามก็ตรัสให้เตรียมการพิธีอัศวเมธ ให้นิมนต์พระวสิษฐ ๑ พระวามเทพ ๑ พระชวาลี ๑ พระกาศยป ๑ มาเปนผู้ทำพิธี กับให้ส่งทูตไปเชิญราชาสุครีพกับราชาพิเภษณ์มาช่วยงานด้วย กับให้บอกกล่าวไปยังกษัตร์ครองนครใกล้เคียงให้ทราบ และให้ประกาศเชิญฤษีชีพ่อพราหมณ์ที่อยู่ในชนบทใกล้เคียง ทั้งให้ประกาศหานักรำและนักร้องมาด้วย ส่วนมณฑลพิธีนั้นให้ตั้งริมฝั่งน้ำโคมะดีในป่าไนมิษวัน กับทั้งให้สั่งตั้งพิธีศานติกร (ขอความสงบราบคาบ) ทั่วราชอาณาจักรพร้อมกันด้วย เหล่านี้เปนน่าที่พระลักษมณ์ ส่วนพระภรตนั้นตรัสมอบให้เปนน่าที่จัดหาของเครื่องใช้ในพลีกรรม มีพืชน์พรรณต่างๆ เกลือ น้ำมัน เนย และทองเงินสำหรับใช้เปนทักษิณา ให้จัดหาพ่อค้าตั้งตลาดร้านรวงตามทางที่จะไปยังที่ทำพิธีกับให้พระภรตเปนผู้นำบรรดาผู้ที่จะไปในงานนั้นไปยังที่ตั้งพิธีก่อน กับให้เปนผู้เชิญรูปนางสีดาซึ่งหล่อด้วยทองไปเตรียมไว้สำหรับเข้าพิธีกับพระรามด้วย [ตามลัทธิไสยศาสตร์ผู้ที่เปน “ยัชมาน” คือเจ้าของพิธีหรือผู้เปนตัวการทำยัญกรรม ต้องมี “ปัตนี” คือ “แม่เรือน” ไปเข้าพิธีด้วย แต่พระรามได้เนรเทศนางสีดาไปเสียแล้ว จึ่งต้องใช้รูปนางสีดาเปน “ปัตนี” แทนตัวนาง] ฝ่ายสุครีพและพิเภษณ์เมื่อมาถึงแล้วก็ได้รับแบ่งน่าที่ คือสุครีพกับพวกวานรเปนผู้ปฏิบัติพราหมณ์ (คฤหัสถ์) พิเภษณ์กับพวกยักษ์เปนผู้ปฏิบัติฤษี (บรรพชิต)
ครั้นถึงวันฤกษ์งามยามดี พระรามก็ปล่อยม้าสำคัญอันมีสีดำและมีขวัญเปนมงคล (คือ “ม้าอุปการ”) ให้พระลักษมณ์คุมโยธาทัพกำกับไป แล้วองค์พระรามก็เสด็จไปยังที่ทำพิธี
[ในที่นี้ขอแซกคำอธิบายว่า ม้าที่จะบูชายัญในพิธีอัศวเมธนั้น มักปล่อยให้ไปในประเทศต่างๆ และมักมีกษัตร์ที่เปนพระญาติสนิทของพระราชาผู้ปล่อยม้านั้น ยกพลกำกับม้าไปด้วย เมื่อม้าไปถึงแคว้นใด ถ้าผู้ปกครองแคว้นนั้นปราถนาจะแสดงความไมตรีหรืออ่อนน้อม ก็จัดการต้อนรับม้านั้นอย่างดี และจัดกระบวนแห่ไปส่งจนพ้นเขตรแด่น แต่ถ้าผู้ปกครองแคว้นใดไม่ต้อนรับม้าตามสมควร ผู้กำกับม้าไปนั้นก็ต้องรบ เมื่อประเพณีมีอยู่เช่นนี้ จึ่งเห็นได้ว่ากษัตร์ผู้ที่จะทำพิธีอัศวเมธได้ ก็ต้องเปนผู้ที่มีเดชานุภาพเปนที่ยำเกรงแห่งกษัตร์ในประเทศใกล้เคียง เพราะการที่ปล่อยม้าไปก็เท่ากับไปทดลองความไมตรีแห่งนานาประเทศ แต่พิธีอัศวเมธยังค่อยทุเลากว่าพิธีราชสูยะ เพราะการทำพิธีราชสูยะนั้น เพื่อแสดงตนเปนราชาธิราช และกษัตร์เมืองใกล้เคียงต้องมาช่วยงานเพื่อแสดงความอ่อนน้อม ถ้าใครไม่มาก็หาว่าแขงเมือง ต้องยกทัพไปทำสงครามปราบปรามเปนการใหญ่ เพราะฉนั้นเมื่อพระรามคิดจะทำพิธีราชสยะ พระภรตจึ่งทูลขอให้งดไว้ และพระรามก็ตกลงทำแต่พิธีอัศวเมธซึ่งนับว่าค่อยยังชั่ว เพราะไม่ต้องบังคับให้เพื่อนบ้านมาอ่อนน้อม เปนแต่เพียงให้แสดงไมตรีจิตร โดยต้อนรับม้าอุปการโดยดีเท่านัน ม้านั้นมักปล่อยไปมีกำหนด ๑ ปี ในระหว่างนั้นมีพิธีพลีกรรมประจำวันทุกวัน และฤษีชีพราหมณ์ใครมาก็ได้รับภัตตาหารและทักษิณาตามควรแก่คุณานุรูปทั่วกัน จนเมื่อครบขวบปีแล้ว ผู้กำกับม้านำม้ากลับคืนมา จึ่งฆ่าม้านั้นบูชายัญ เปนเสร็จกิจพิธีอัศวเมธ]
ฝ่ายพระวาลมีกิมุนีได้ทราบข่าวพิธีอัศวเมธของพระราม ก็มาสู่ที่ตั้งพิธีพร้อมด้วยสานุศิษย์ และพระกุศกับพระลพก็มาด้วย พระมุนีสั่งพระกุศและพระลพให้ไปสวดรามายณให้พวกที่มาในงานนั้นฟัง แต่ห้ามมิให้รับทรัพย์สินอันใดเปนรางวัล พระกุมารทั้ง ๒ ก็เข้าไปยังที่ชุมนุม และสวดรามายณ จนพระรามได้ยินจึ่งตรัสให้หาไปร้องน่าที่นั่ง พระรามได้ทรงฟังแล้วก็เข้าพระไทยว่าพระกุมารทั้ง ๒ นั้น มิใช่ผู้อื่น คือพระโอรสของพระองค์เองซึ่งเกิดแต่นางสีดา จึ่งตรัสให้ราชบุรุษไปหาพระวาลมีกิมุนีและบอกว่า ถ้าแม้นางสีดาหาบาปมิได้และเปนผู้บริสุทธิ์จริง ก็ขอให้นางมาแสดงความบริสุทธิ์ให้ประจักษ์ในท่ามกลางชุมนุมกษัตร์และพราหมณ์ที่มาในงานพิธี พระวาลมีกิก็รับว่าจะพานางสีดามาตามที่พระรามทรงพระประสงค์
รุ่งขึ้นพระวาลมีกิก็พานางสีดาเข้าไปยังที่ชุมนุมตามที่นัดกันไว้ และพระมุนีนั้นแสดงความเชื่อถือแน่นอนในความบริสุทธิ์ของนางสีดา แต่พระรามก็ยังยืนยันขอให้นางแสดงความบริสุทธิ์เพื่อให้ปรากฎชัดแก่ผู้ที่มาชุมนุมอยู่ นางสีดาจึ่งกล่าวคำปฏิญาณว่า นางยังมิได้เคยเลยที่จะนึกถึงผู้ใดนอกจากพระราม ด้วยอำนาจความสัตย์อันนั้น ขอให้แม่พระวสุนธรารับนางไปเถิด ทันใดนั้นก็มีบัลลังก์ผุดขึ้นมาจากใต้แผ่นดิน นางเทวีวสุนธรากํบรับนางสีดาขึ้นนั่งบนบัลลังก์ และบัลลังก์นั้นก็จมลงไปในแผ่นดิน แลเห็นเปนมหัศจรรย์ยิ่งนัก ต่างคนก็ต่างพากันสรรเสริญนางสีดา ฝ่ายพระรามนั้นทรงเศร้าโศกถึงนางสีดายิ่งนัก แต่นั้นมาก็มิได้มีมเหษีอีกเลย ตั้งพระไทยมุ่งอยู่แต่ในทางปกครอง ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็อยู่เย็นเปนศุขทั่วกัน
[เรื่องพระรามพบกับพระกุศพระลพนั้น ตามฉบับอุตตรนิการมีอยู่อย่างที่ได้เล่ามาข้างบนนี้ แต่ฉบับองคนิกายมีข้อความเหมือนในท้ายรามเกียรติ์ของเรา คือเมื่อปล่อยม้าอุปการไป พระศัตรุฆน์เปนผู้กำกับม้าไป พระกุศพระลพจับม้านั้นขี่ พระศัตรุฆน์จะจับตัว พระกุศก็กลับต่อสู้และทำร้ายพระศัตรุฆน์เจ็บไป พระลักษมณ์ออกไปก็ไปแพ้หลานอีก พระภรตกับหนุมานออกไปก็แพ้อีก ในที่สุดพระรามเสด็จออกไปเอง แต่ศิลป์ศรไม่กินกัน จึ่งรู้ว่าเปนพ่อลูกกัน ต่อนี้ไปก็กล่าวว่าพระวาลมีกิจัดการไกล่เกลี่ยให้พระรามกับนางสีดาดีกัน พากันกลับเข้าไปอยู่ในกรุงอโยธยาโดยผาศุก ซึ่งเพี้ยนไปอีก ไม่มีกล่าวถึงนางสีดาแซกแผ่นดินเลย ส่วนเรื่องพระรามเข้าโกษฐไม่พบแห่งใดเลย]