- คำนำกรมศิลปากร
- คำนำ
- ประวัติพระราม
- รามายณฉบับสังสกฤต
- พาลกัณฑ์
- กุศิกวงศ์
- เรื่องพระคงคามหานทีและพระอุมา
- เรื่องท้าวสัครราชและกำเหนิดพระสาคร
- เรื่องกวนน้ำอมฤต
- กำเหนิดพระมารุต
- ตำนานนครวิศาลา (อุชชยินี) และพงษาวดารกษัตร์นครนั้น
- แสดงสาเหตุที่ท้าววิศวามิตรวิวาทกับพระวสิษฐพรหมฤๅษี
- ท้าววิศวามิตรจะเอาชนะพระวสิษฐ
- ท้าววิศวามิตรตั้งความพยายามจะเปนพราหมณ์
- เรื่องท้าวตรีศังกุ
- พระวิศวามิตรไปบุษกร
- เรื่องท้าวอัมพรีษและพราหมณ์ศุนหเศป
- พระวิศวามิตรได้เปนมุนี
- เรื่องพระวิศวามิตรกับนางเมนะกา
- เรื่องพระวิศวามิตรได้เปนมหาฤษี
- เรื่องพระวิศวามิตรกับนางรัมภา
- พระวิศวามิตรได้เปนพรหมฤษีสมปราถนา
- ตำนานรัตนธนูและกำเหนิดนางสีดา
- อโยธยากัณฑ์
- อรัณยกัณฑ์
- กีษกินธากัณฑ์
- สุนทรกัณฑ์
- ยุทธกัณฑ์
- อุตตรกัณฑ์
- ภาคที่ ๑ - แสดงด้วยอสุรพงษ์
- ภาคที่ ๒ - ทศกรรฐเยี่ยมพิภพ
- ภาคที่ ๓ - การสงครามและความประพฤติพาลของทศกรรฐ
- ภาคที่ ๔ - แสดงวานรพงษ์
- ภาคที่ ๕ - แสดงสาเหตุที่บรรดาลให้ทศกรรฐลักสีดา
- ภาคที่ ๖ - ว่าด้วยการส่งกษัตร์ที่มาช่วยงานกลับเมือง
- ภาคที่ ๗ - เนรเทศนางสีดา
- ภาคที่ ๘ - ตำนานเบ็ดเตล็ด
- ภาคที่ ๙ - แสดงพระคุณธรรมแห่งพระราม
- ภาคที่ ๑๐ - ศึกพระศัตรุฆน์ (และนางสีดาประสูตร์พระกุศพระลพ)
- ภาคที่ ๑๑ - พระรามลงโทษศุทร์ผู้กำเริบทำเทียมพราหมณ์ (และเรื่องอื่นๆ)
- ภาคที่ ๑๒ - พิธีอัศวเมธของพระราม และรับสีดาคืนนคร
- ภาคที่ ๑๓ - ศึกพระภรต และจัดตั้งเมืองให้หลานหลวง
- ภาคที่ ๑๔ - เนรเทศพระลักษมณ์ และพระลักษมณ์ไปสวรรค์
- ภาคที่ ๑๕ - พระรามและบริวารขึ้นสวรรค์
- รามายณฉบับฮินดี
- ปุราณะ
- หนังสือเบ็ดเตล็ดเรื่องพระราม
- เรื่องราวของหนุมาน
- เรื่องไมราพณ์
- สรูปความเห็นในเรื่องบ่อเกิด
- รามเกียรติ์ฉบับไทย
- ลครดึกดำบรรพ์
รามายณฉบับฮินดี
นอกจากรามายณฉบับสังสกฤตนั้น ยังมีฉบับฮินดี คือแต่งเปนภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในเบ็งคอลทุกวันนี้ ผู้แต่งเปนมุนีชื่อตุลสีทาส ซึ่งเรียกว่า “พระวาลมีกิแห่งกลียุค” เพราะเปนผู้ที่ได้แต่งรามายณของพระวาลมีกินั้นขึ้นใหม่ เพื่อให้ผู้ที่ไม่รู้ภาษาสังสกฤตได้มีโอกาศรับผลส่วนกุศลอันพึงมีแด่ผู้ที่อ่านหรือฟังเรื่องรามยณนั้นบ้าง หนังสือรามยณฉบับฮินดีนี้ มีผู้อ่านแพร่หลายมากในอินเดีย และข้าพเจ้าเห็นว่ามีข้อความบางแห่งซึ่งคล้ายๆ กับที่มีอยู่ในรามเกียรติ์ของเรา แต่ซึ่งไม่พบในฉบับสังสกฤต มีอยู่หลายแห่ง จึ่งเห็นว่าควรพิจารณาดูว่า เราจะได้เรื่องมาจากหนังสือฉบับฮินดีนี้เพียงใด
แต่ก่อนที่จะแสดงวิจารณในเรื่องหนังสือนั้น ควรแสดงประวัติแห่งตุลสิทาสมุนี ผู้ที่รจนาหนังสือนั้น ดังต่อไปนี้
ตุลสิทาสเปนพราหมณ์เมืองกานยกุพช์ แต่ปีเกิดไม่ปรากฎ ได้ความแต่ว่าได้ลงมือแต่งหนังสือรามายณที่นครอโยธยา เมื่อมาลวะสํวัตได้ ๑๖๓๑ ปี (พุทธศักราช ๒๑๑๘) เปนโยคี โดยมากได้อยู่ที่พาราณสี แต่ได้เคยไปอยู่ที่นครอโยธยาบ้าง ที่เขาจิตรกูฎ (สำนักเดิมของพระวาลมีกิ) บ้าง ที่อัลลาหบาด (คือตำบลประยาค ที่น้ำคงคากับยมนาต่อกัน) บ้าง และที่ตำบลพฤนทาพนบ้าง และตายเมื่อสํวัต ๑๖๘๐ (พุทธศักราช ๒๑๖๗) เรื่องราวที่เล่าถึงพราหมณ์ผู้นี้ มีวิจิตรพิศดารมาก แต่ที่นับว่าเปนเรื่องราวอันดีที่สุดมีอยู่ในหนังสือชื่อ “ภักตะมาลา” เปนหนังสือฉันท์ภาษาฮินดี กล่าวด้วยมุนีผู้เปนหัวน่าไพษณพนิกาย แต่งเมื่อพระพุทธศาสนายุกาลล่วงแล้วประมาณ ๒๐๐๐ ปีเศษ เรื่องราวที่กล่าวมาในภักตะมาลานั้น มีใจความว่า ตุลสิทาสนั้น ภรรยาได้ตักเตือนให้รำฦกถึงพระรามให้มากขึ้นกว่าที่รำฦกอยู่แล้ว ตุลสิทาสจึ่งเอาเพศเปนโยคีเที่ยวจาฤกไป ไปพักอยู่ที่พาราณสีก่อน แล้วจึ่งไปยังเขาจิตรกูฎได้พบกับหนุมาน ฟังเรื่องรามายณและได้วิชาทางปาฏิหารต่างๆ จากหนุมาน กิติศัพท์ฦาไปถึงพระเจ้าชาห์ยะฮาน (วงศ์โมคุล) ซึ่งทรงราชย์อยู่ณนครฑิลลี (“Delhi”) จึ่งตรัสให้หาตุลสิทาสไปและตรัสว่า ถ้าพระรามาวตารนั้นดีจริง ก็ให้ตุลสิทาสเชิญมาให้ทอดพระเนตร (พระเจ้าชาห์ยะฮานเปนอิสลาม จึ่งไม่เปนที่พอพระไทยในการที่ตุลสิทาสตั้งตนเปนคณาจารย์สั่งสอนไสยศาสตร์) ครั้นตุลสิทาสไม่ยอมเชิญพระรามมาให้ทอดพระเนตร พระเจ้าชาห์ยะฮานก็ตรัสให้เอาตัวไปจำคุกไว้ แต่ประชาราษฎรใกล้เคียงพากันถวายฎีกาขอให้ปล่อยตุลสิทาส เพราะมีลิงหลายหมื่นหลายพันได้เข้ามาจากป่าทำลายบ้านเรือนเรือกสวนป่นปี้ (นัยว่าๆ หนุมานใช้ลิงเหล่านั้นมา) พระเจ้าชาห์ยะฮานก็ต้องตรัสให้ปล่อยตุลสิทาสจากคุก และตรัสว่าขอให้ช่วยแนะนำด้วยว่าจะควรทรงประพฤติอย่างไรต่อไปเพื่อบรรเทาความเสียหาย ตุลสิทาสทูลว่า นครฑิลลีเก่านั้นเปนที่สถิตย์เดิมของพระรามาวตาร ไม่ควรจะประทับอยู่ที่นั้นต่อไป พระเจ้าชาห์ยะฮานก็ทรงเชื่อ จึ่งไปสร้างนครขึ้นใหม่เรียกว่าชาห์ยะฮานะบาด ส่วนตุลสิทาสเองนั้น ไปอยู่ณเมืองพฤนทาพน (แคว้นกาศี) เมืองนี้เปนที่สำนักพราหมณ์ไพษณพผู้นับถือพระกฤษณาวตาร แต่ตุลสิทาสคงยืนยันเลื่อมใสในพระรามาวตารมากกว่าอยู่จนตราบเท่าวันตาย
ส่วนหนังสือรามายณของตุลสิทาสนั้น เนื้อเรื่องก็เปนอย่างเดียวกันกับในฉบับสังสกฤตนั้นเอง แต่ข้อความมีผิดๆ กันอยู่หลายแห่ง ทั้งเรื่องราวเกล็ดต่างๆ ที่แซกอยู่นั้นก็ผิดกันอยู่มากหลายเรื่อง และถึงแม้ในส่วนเรื่องราวที่กล่าวถึงพระรามเอง ก็มีผิดกันอยู่ไม่น้อย ตอนใดที่ในฉบับสังสกฤตกล่าวไว้แต่สั้นๆ ตุลสิทาสขยายออกให้ยาว ตอนที่ยาวๆ ย่อลงให้สั้น และเรื่องราวกลับหน้าเปนหลังบ้างก็มี กับเท่าที่ข้าพเจ้าได้อ่านแล้วรู้สึกว่า หนังสือของตุลสิทาสดูฝักใฝ่ไปในทางสอนลัทธิไสยศาสตร์และแสดงอิทธิปาฏิหารของพระรามและเทวดาอื่นๆ มากกว่าเล่าเรื่อง เพราะฉนั้นบางตอนเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ ดีๆ พอถึงที่เหมาะก็แซกคำสั่งสอนหรืออธิบายลัทธิเสียยืดยาวจนเรื่องชงักอยู่ได้นานๆ หนังสือของตุลสิทาสนี้ แบ่งเปน ๗ กัณฑ์ เรียกชื่อกัณฑ์เหมือนในฉบับสังสกฤต และในส่วนแบ่งตอนแห่งเรื่องก็คล้ายๆ กัน แต่ในฉบับฮินดีนี้ พาลกัณฑ์เปนกัณฑ์ยาวที่สุด กินน่ากระดาษเกือบ ๑ ใน ๓ แห่งหนังสือทั้งหมด และในอุตตรกัณฑ์ของตุลสิทาสมีเรื่องตำนานกากะกุสุนทิ และแสดงลัทธิไสยศาสตร์ยืดยาว ที่จริงข้อที่ทำให้รู้สึกรำคาญในเมื่ออ่านรามายณฉบับฮินดีนี้มีอยู่มาก คือรู้สึกว่าผู้แต่งเปนนักบวชมากกว่าจินตกะวี และบางตอนเรื่องราวเล่าห้วนเหลือประมาณ จนถ้าไม่ได้รู้เรื่องรามายณอยู่ก่อนแล้ว ก็แทบจะเข้าใจเรื่องไม่ได้เลย
ส่วนวิธีแต่งนั้น เริ่มทุกกัณฑ์ด้วยคำขอพรเปนภาษาสังสกฤต แล้วจึ่งดำเนินความเปนภาษาฮินดีสืบไป แต่งเปนกาพย์บ้างฉันท์บ้าง
ถ้าจะเทียบฉบับของตุลสิทาสนี้กับฉบับสังสกฤตให้ละเอียดละออก็เปลืองเวลามากไปเปล่าๆ เพราะอย่างไรๆ ฉบับสังสกฤตก็เปนครูอยู่นั่นเอง เพราะฉนั้นณที่นี้ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงแต่เฉภาะข้อความหรือนิทานเกล็ด ซึ่งข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าจะได้ตกเข้ามาถึงไทยเรา และมีอยู่ในรามเกียรติ์หรือในแห่งอื่นบ้าง กับเปรียบเทียบข้อความในฉบับฮินดีกับของไทยเราบ้าง
ในพาลกัณฑ์
๑. กล่าวเรื่องกำเหนิดทศกรรฐและพี่น้อง ซึ่งในฉบับสังสกฤตอยู่ในอุตตรกัณฑ์ เพราะฉนั้นในข้อนี้นับว่าคล้ายรามเกียรติ์ของเราประการ ๑ แต่นอกนั้นก็แปลกกันไปอีก คือในที่นี้กล่าวว่าทศกรรฐกับกุมภกรรณเท่านั้นเปนพี่น้องท้องเดียวกัน พิเภษณ์อีกท้อง ๑ ขรกับศูรปนขาอีกท้อง ๑ ข้อนี้ของเรากล่าวตรงกับฉบับสังสกฤต คือของเราว่าทศกรรฐ กุมภกรรณ พิเภษณ์ และศูรปนขาท้องเดียวกัน แต่ขรเปนลูกเมียน้อย
๒. มีเรื่องทศกรรฐเยี่ยมพิภพ แต่กล่าวย่อๆ เพราะฉนั้นของเราคงได้จากฉบับสังสกฤต หรือหนังสืออื่น
๓. เรื่องยกศรตามที่มีอยู่ในนี้ เหมือนในรามเกียรติ์ของเรา คือพญาร้อยเอ็ดไปชุมนุมพร้อมกัน และพยายามยกศร แต่เมื่อยกไม่ไหวแล้ว พระรามจึ่งยก ผิดกับในฉบับสังสกฤต ซึ่งกล่าวว่าพญาร้อยเอ็ดต่างคนต่างไปลองยกศรคนละคราว ไม่ใช่ไปพร้อมกัน
๔. เรื่องปรศุรามลองกำลังกับพระราม ผิดกันกับในฉบับสังสกฤต ในฉบับนี้ว่าปรศุรามมาที่นครมิถิลาทีเดียว ไม่ใช่ไปพบกับพระรามกลางทางเมื่อขากลับ เพราะฉนั้นเห็นได้ว่ารามเกียรติ์ของเราตามฉบับสังสกฤต
๕. การอภิเษกพระรามกับนางสีดา กล่าวว่ากระทำภายหลังการวิวาทกับปรศุราม ต่อเมื่อปรศุรามพ่ายแพ้ไปแล้ว ท้าวชนกจึ่งได้แต่งทูตไปเชิญท้าวทศรถ ซึ่งผิดกับฉบับสังสกฤตและของไทยเราอีก
ในอโยธยากัณฑ์
มีเรื่องแปลกแซกอยู่เรื่อง ๑ คือมีกล่าวว่า ท้าวชนกทราบข่าวเรื่องท้าวทศรถสิ้นพระชนม์ และพระรามถูกเนรเทศแล้ว ได้ออกไปหาพระรามในป่า และช่วยพระภรตว่ากล่าววิงวอนพระรามให้กลับเข้าสู่นคร แต่พระรามไม่ยอม
นอกจากเรื่องนี้ ซึ่งไม่มีทั้งในฉบับสังสกฤตและไทย ก็ไม่มีข้อความอันใดอีกที่นับว่าแปลก หรือผิดเพี้ยนไปมากจากฉบับสังสกฤต
ในอารัณยะกัณฑ์ และกีษกินธากัณฑ์
ไม่มีข้อความอันใดที่แปลกไปจากในฉบับสังสกฤต หรือฉบับไทย เปนแต่ข้อความบางแห่งย่อลงเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็เห็นปรากฎว่า ข้อความในรามเกียรติ์ของเราตอนนี้ มิได้หยิบมาจากฉบับฮินดี
ในสุนทรกัณฑ์
มีข้อความแปลกอยู่ซึ่งควรสังเกตุคือ
๑. หนุมานเข้าไปในลงกา เที่ยวดูในปราสาทและสำนักท้าวพญายักษ์ต่างๆ พบศาลพระนารายน์อัน ๑ พบพิเภษณ์บูชาอยู่ในที่นั้น และเมื่อนมัสการออกนามพระราม หนุมานจึ่งแสดงตนให้ปรากฎแล้วถามพิเภษณ์ว่านางสีดาอยู่ที่ไหน พิเภษณ์จึ่งบอกให้ว่านางสีดาอยู่ที่สวนอโศก ข้อความอันนี้ผิดกับในฉบับสังสกฤตและฉบับไทยทั้ง ๒ ฉบับ เพราะฉบับสังสกฤตว่าหนุมานเที่ยวค้นไปจนพบเอง รามเกียรติ์ของเราว่าหนุมานออกไปถามพระนารท
๒. หนุมานหักสวนและเผาลงกาแล้ว จึ่งกลับไปเฝ้านางสีดาอีก และรับศิราภรณไปสำหรับถวายพระราม แต่ทั้งในฉบับสังสกฤตและฉบับไทยกล่าวตรงกันว่า หนุมานเฝ้านางสีดาถวายแหวนแล้ว และหักสวนแล้ว ก็เลยกลับจากลงกาทีเดียว ไม่ได้ไปเฝ้านางสีดาอีก ส่วนของที่นางสีดาฝากไปถวายพระรามนั้น ในฉบับสังสกฤตกับฉบับฮินดีกล่าวตรงกันว่าเปนศิราภรณ แต่ของเราว่าเปนสะไบ ซึ่งคลาดเคลื่อนไป เห็นจะเปนการเข้าใจผิดแน่ ส่วนบำเหน็จที่หนุมานได้รับจากพระรามนั้น ก็ไม่ใช่ผ้าชุบสรงอย่างในรามเกียรติ์ของเรา เปนแต่ได้ประทานพรเท่านั้น
๓. ในฉบับสังสกฤต สุนทรกัณฑ์จบเพียงหนุมานกลับมาเฝ้าพระราม แต่ในฉบับฮินดีมีเรื่องพิเภษณ์ถูกขับ และเรื่องศุกะมาดูพลอยู่ด้วย กับมีข้อความเล่าต่อไปอีกจนถึงพระรามจะแผลงศรผลาญพระสมุท ๆ ขึ้นมาเฝ้าทูลเรื่องจองถนนแล้ว จึ่งจบสุนทรกัณฑ์ แต่นอกจากนี้ข้อความเหมือนในฉบับสังสกฤต
ในยุทธกัณฑ์ (ซึ่งในฉบับฮินดีนี้เรียกว่า “ลงกากัณฑ์”) มีข้อควรสังเกตุอยู่บ้างดังต่อไปนี้
๑. เริ่มกัณฑ์นี้ด้วยจองถนน และผู้อำนวยการคือนล (นิลพัทธ์) กับนิล (นิลนนท์) ผิดกับในฉบับสังสกฤต ซึ่งกล่าวว่านลผู้เดียวเปนผู้อำนวยการ ส่วนในรามเกียรติ์ของเรากลับคลาดเคลื่อนไปใหญ่ เพราะนิลพัทธ์มิได้เปนผู้อำนวยการเลย กับเรื่องนางลอยและนางมัจฉาในฉบับฮินดีก็ไม่มี
๒. เรื่องหักฉัตรในฉบับฮินดีนี้แปลกมาก เพราะสุครีพมิได้ไปหักฉัตรเลย กลายเปนพระรามแผลงศรไปทำลายฉัตรเอง
๓. เรื่ององคทสื่อสาร มีเนื้อเรื่องเปนอย่างเดียวกับในฉบับสังสกฤต แต่ในฉบับฮินดีขยายความยาวออกไป มีพูดจาโต้ตอบกันมากหน่อย และเรื่องทศกรรฐบำเพ็ญตะบะจนได้พรพระพรหมา ซึ่งในฉบับสังสกฤตเล่าไว้ในอุตตรกัณฑ์ ในฉบับนี้เอาใส่ปากทศกรรฐให้พูดอวดองคท
๔. การรบกล่าวถึงย่อๆ โดยมาก นอกจากเมื่อทศกรรฐออกรบเองจึ่งจะกล่าวข้อความพิศดารขึ้นหน่อย และมีข้อความที่คล้ายๆ กับในรามเกียรติ์ของเราอยู่ ๒ เรื่อง คือ (ก) เรื่องทศกรรฐเข้าพิธีปลุกตัวให้อยู่คง ซึ่งข้างเราเรียกว่าพิธีอุมงค์ แต่ในฉบับฮินดีว่าตั้งพิธีในวัง เพราะฉนั้นเรื่องหนุมานเอาน้ำล้างตีนเบ็ญกายไปรดเปิดปากอุมงค์ก็ไม่มี แต่ส่วนการทำลายพิธีสำเร็จได้ด้วยการฉุดเมียทศกรรฐไปหยอกให้ดูต่อหน้าจนอดโทโสไม่ได้เหมือนในรามเกียรติ์ของเรา (ข) ทศกรรฐนฤมิตรรูปยักษ์ขึ้นด้วยมายาเปนอันมาก และใช้ให้ไปรบเหมือนเรื่องพรมน้ำทิพย์ของเรา แต่ไม่มีกล่าวถึงนางมณโฑหุงน้ำทิพย์ เปนแต่ทศกรรฐนฤมิตรขึ้นเอง
๕. ยุทธกัณฑ์ในฉบับสังสกฤตไปจบต่อเมื่อพระรามได้กลับเข้าถึงกรุงศรีอโยธยาและราชาภิเษกแล้ว แต่ในฉบับฮินดีจบเพียงเดินทางกลับไปจนพบพญาคุหะเท่านั้น
อุตตรกัณฑ์
แปลกกับฉบับสังสกฤตมาก เพราะเริ่มแต่พระรามกลับเข้าถึงกรุงและมีการสมโภชแล้ว บำเหน็จรางวัลท้าวพญาวานรและอนุญาตให้กลับไปบ้านเมือง แล้วก็เปนอันจบเรื่องพระรามเท่านี้ ไม่มีเรื่องขับสีดาหรืออัศวเมธเลย ตั้งแต่นี้ไปจนจบกัณฑ์เปนแสดงลัทธิไสยศาสตร์ตามความนิยมของตุลสิทาสเองทั้งสิ้น
เมื่อได้พิจารณาดูหนังสือรามายณฉบับฮินดีนี้ตลอดแล้ว ข้าพเจ้าลงความเห็นได้ว่า รามเกียรติ์ของเราเห็นจะใช้ฉบับสังสกฤตเปนหลักส่วนฉบับฮินดีนี้ถ้าหากจะได้ใช้บ้างก็เห็นจะเปนแต่สำหรับเทียบเคียงบางตอนเท่านั้น ซึ่งอาจจะเปนได้อยู่ ถ้าจะว่าไปอันที่จริงเรื่องราวอะไรๆ ที่ตุลสิทาสนำมาแซกลงไว้ในหนังสือของตน โดยมากก็เก็บมาจากหนังสือปุราณะต่างๆ (ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปข้างน่านี้) แต่ข้าพเจ้ามีข้อที่หวั่นๆ อยู่หน่อย ๑ คือพราหมณ์ที่นำเรื่องรามายณมาเล่าให้ไทยเราฟังนั้น แกจะรู้ภาษาสังสกฤตเพียงใดก็ทราบไม่ได้ ถ้าแกรู้ดีอยู่แกก็คงจะไม่ใช้ฉบับฮินดี เพราะผู้ที่รู้ภาษาสังสกฤตแล้วเรื่องอะไรจะใช้ฉบับฮินดี ซึ่งแม้ผู้แต่งเองก็มิได้ทนงว่าดีกว่าฉบับสังสกฤต แต่ถ้าภาษาสังสกฤตของแกไม่สู้จะดี แกก็คงพยายามเล่าเรื่องไปตามที่จำได้ และตอนใดแกจำไม่ได้ถนัดแกก็คงพลิกฉบับฮินดี จะเปนด้วยข้อนี้ได้หรือไม่จึ่งมีข้อความในฉบับไทยเหมือนฉบับฮินดีอยู่บ้าง