- คำนำกรมศิลปากร
- คำนำ
- ประวัติพระราม
- รามายณฉบับสังสกฤต
- พาลกัณฑ์
- กุศิกวงศ์
- เรื่องพระคงคามหานทีและพระอุมา
- เรื่องท้าวสัครราชและกำเหนิดพระสาคร
- เรื่องกวนน้ำอมฤต
- กำเหนิดพระมารุต
- ตำนานนครวิศาลา (อุชชยินี) และพงษาวดารกษัตร์นครนั้น
- แสดงสาเหตุที่ท้าววิศวามิตรวิวาทกับพระวสิษฐพรหมฤๅษี
- ท้าววิศวามิตรจะเอาชนะพระวสิษฐ
- ท้าววิศวามิตรตั้งความพยายามจะเปนพราหมณ์
- เรื่องท้าวตรีศังกุ
- พระวิศวามิตรไปบุษกร
- เรื่องท้าวอัมพรีษและพราหมณ์ศุนหเศป
- พระวิศวามิตรได้เปนมุนี
- เรื่องพระวิศวามิตรกับนางเมนะกา
- เรื่องพระวิศวามิตรได้เปนมหาฤษี
- เรื่องพระวิศวามิตรกับนางรัมภา
- พระวิศวามิตรได้เปนพรหมฤษีสมปราถนา
- ตำนานรัตนธนูและกำเหนิดนางสีดา
- อโยธยากัณฑ์
- อรัณยกัณฑ์
- กีษกินธากัณฑ์
- สุนทรกัณฑ์
- ยุทธกัณฑ์
- อุตตรกัณฑ์
- ภาคที่ ๑ - แสดงด้วยอสุรพงษ์
- ภาคที่ ๒ - ทศกรรฐเยี่ยมพิภพ
- ภาคที่ ๓ - การสงครามและความประพฤติพาลของทศกรรฐ
- ภาคที่ ๔ - แสดงวานรพงษ์
- ภาคที่ ๕ - แสดงสาเหตุที่บรรดาลให้ทศกรรฐลักสีดา
- ภาคที่ ๖ - ว่าด้วยการส่งกษัตร์ที่มาช่วยงานกลับเมือง
- ภาคที่ ๗ - เนรเทศนางสีดา
- ภาคที่ ๘ - ตำนานเบ็ดเตล็ด
- ภาคที่ ๙ - แสดงพระคุณธรรมแห่งพระราม
- ภาคที่ ๑๐ - ศึกพระศัตรุฆน์ (และนางสีดาประสูตร์พระกุศพระลพ)
- ภาคที่ ๑๑ - พระรามลงโทษศุทร์ผู้กำเริบทำเทียมพราหมณ์ (และเรื่องอื่นๆ)
- ภาคที่ ๑๒ - พิธีอัศวเมธของพระราม และรับสีดาคืนนคร
- ภาคที่ ๑๓ - ศึกพระภรต และจัดตั้งเมืองให้หลานหลวง
- ภาคที่ ๑๔ - เนรเทศพระลักษมณ์ และพระลักษมณ์ไปสวรรค์
- ภาคที่ ๑๕ - พระรามและบริวารขึ้นสวรรค์
- รามายณฉบับฮินดี
- ปุราณะ
- หนังสือเบ็ดเตล็ดเรื่องพระราม
- เรื่องราวของหนุมาน
- เรื่องไมราพณ์
- สรูปความเห็นในเรื่องบ่อเกิด
- รามเกียรติ์ฉบับไทย
- ลครดึกดำบรรพ์
ภาคที่ ๑๑ - พระรามลงโทษศุทร์ผู้กำเริบทำเทียมพราหมณ์ (และเรื่องอื่นๆ)
แสดงว่าพระรามเอาพระไทยใส่ในความศุขและความเจริญของชาติพราหมณ์อย่างไร มีเรื่องราวดังต่อไปนี้
วัน ๑ มีพราหมณ์ผู้ ๑ มาปริเทวะอยู่ที่น่าประตูวัง ได้ความว่าพราหมณ์นั้นมีความเศร้าโศกเพราะลูกชายซึ่งอายุยังมิทันถึง ๑๔ ปีได้ตายเสียแล้ว และซัดว่าเปนเพราะพระรามทำบาป หรือมีผู้ทำบาปในอาณาเขตรและพระรามไม่กำหราบ พระรามได้ทรงฟังดังนั้น จึ่งให้นิมนต์พระฤษีสำคัญมา คือพระวสิษฐ ๑ พระวามเทพ ๑ พระมรรกัณไฑย ๑ พระโมคคัลลานะ ๑ พระกาศยป ๑ พระกาตยายน ๑ พระชวาลี ๑ พระโคดม ๑ พระนารท ๑ พระรามตรัสปฤกษาว่าจะควรทำอย่างไร พระนารทจึ่งแสดงสาเหตุที่กุมารนั้นได้ตายไปก่อนสมัยกาลอันควร ใจความก็คือว่า มีศูทร์ผู้ ๑ ได้มีความกำเริบจะทำเทียมพราหมณ์ คือตั้งบำเพ็ญตะบะบ้าง ลูกพราหมณ์จึ่งตาย เพราะฉนั้นให้พระรามค้นหาตัวศูทร์นั้น และแก้ไขความชั่วร้ายที่ได้บังเกิดขึ้น
พระรามได้ทรงฟังดังนั้น ก็ตรัสสั่งให้เอาศพกุมารลูกพราหมณ์แช่น้ำมันหอมไว้แล้วก็รำฦกถึงบุษบก พอบุษบกมาแล้ว พระรามก็ขึ้นทรงลอยไปเที่ยวหาตัวศูทร์ผู้ทำเทียมพราหมณ์ ไปพบอยู่ที่เขาไศพลคีรี กำลังบำเพ็ญตะบะอยู่ พระรามตรัสถาม ก็สารภาพว่าตนเปนชาติศูทร์จริง ชื่อสัมพุก พระรามก็ชักพระขรรค์ออกตัดศีรษะตายอยู่ณที่นั้น ทวยเทพพากันสรรเสริญ พระรามก็ขอพรพระอินทรว่าขอให้ลูกพราหมณ์ฟื้นขึ้น พระอินทรก็ประสาทพรให้ตามปราถนา
[เรื่องนี้อันที่จริงไม่เกี่ยวแก่เรื่องรามายณเลย เห็นได้ว่าพราหมณ์คนใดคน ๑ ได้แต่งเติมแซกเข้าไป เพราะแค้นว่ามีคนที่ไม่ใช่พราหมณ์แย่งทำพิธี ข้อความที่แต่งใส่ปากพระนารทนั้น เต็มไปด้วยความอิจฉา ข้าพเจ้ามิได้เก็บมาลงในที่นี้ เพราะไม่สนุกอะไรและในรามเกียรติ์ของเราก็ไม่มี]
ต่อนี้ไปกล่าวถึงพระรามไปนมัสการพระอคัสตยะมุนี พระมุนีแสดงความพอใจในการที่พระรามได้ฆ่าศูทร์ผู้ทำเทียมพราหมณ์ แล้วพระอคัสตยะจึ่งให้อาภรณอัน ๑ แก่พระรามเปนรางวัล พระรามไม่รับโดยกล่าวว่า พราหมณ์เท่านั้นเปนผู้ควรได้ทักษิณา กษัตร์ไม่ควรรับ แต่พระฤษีอธิบายเหตุผลพอแล้ว ก็เปนอันยอมรับ
คราวนี้ผู้แต่งยังมีเรื่องเบ็ดเตล็ดอยู่อีก ซึ่งไม่รู้จะไปลงไว้แห่งใด จึ่งเอาแซกลงไปที่ตรงนี้ และเชื่อมหัวต่อเข้าพอสมควร เรื่องมีอยู่ ๒ เรื่องคือ.-
(๑) เรื่องท้าวเศ๎วตกินเนื้อตัวเอง - พระรามถามว่าอาภรณที่พระมุนีให้นั้น ได้มาแต่ไหน พระมุนีเล่าว่า ในไตรดายุคพระมุนีได้ไปบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าใหญ่แห่ง ๑ ยาวตั้ง ๑๐๐ โยชน์ แต่หามนุษและสัตว์มิได้เลย วัน ๑ พระฤษีไปถึงสระใหญ่ในกลางป่า มีกุฏิอยู่ริมสระ พระอคัสตย์เข้าไปอาไศรยอยู่ในอาศรมนั้นคืน ๑ รุ่งขึ้นจะไปสรงในสระ พบศพลอยอยู่และอีกครู่ ๑ เห็นเทพบุตรขี่รถลงมายังขอบสระ ลากศพนั้นมากินเนื้อจนอิ่มแล้ว ก็ลงอาบน้ำชำระกาย พระมุนีจึ่งถามเทพบุตรว่าเหตุใดจึ่งประพฤติเช่นนั้น เทพบุตรตอบว่าตนชื่อเศ๎วต เปนลูกท้าวสุเทพ ราชาครองนครวิทรรภ เมื่อท้าวสุเทพสิ้นพระชนม์แล้ว ท้าวเศ๎วตขึ้นทรงราชย์ มีโหรทำนายว่าพระชัณษาถึงฆาฏ จึ่งมอบราชสมบัติให้แด่พระอนุชา แล้วออกไปผนวชในป่า อยู่กุฎีที่ริมสระนั้นเอง จนสิ้นพระชนม์ไปสู่เทวโลก แต่แม้ไปเทวโลกแล้วก็ยังไม่พ้นความหิว จึ่งไปทูลถามพระพรหมา ๆ ตรัสว่าทั้งนี้เปนเพราะท้าวเศ๎วตมัวแต่บำเพ็ญทางทรมานร่างกาย ลืมบำเพ็ญทานบารมีจึ่งไม่อิ่มทิพย์เหมือนเทพบุตรอื่นๆ แล้วพระพรหมาตรัสว่า พระเศ๎วตเทพบุตรจะต้องกินเนื้อตนเองต่อไป จนกว่าจะได้พบพระพรหมฤษีอคัสตย์จึ่งจะพ้นทุกข์ พอเล่าเรื่องของตนแล้ว พระเศ๎วตเทพบุตรก็เปลื้องอาภรณให้เปนทักษิณาแด่พระอคัสตย์ พอพระมุนีรับทักษิณานั้น พระเศ๎วตเทพบุตรก็สิ้นกรรมได้ไปเทวโลกโดยผาศุก ณบัดนี้พระอคัสตย์เองจึ่งขอให้พระรามรับทักษิณาจากมือตนบ้าง เพื่อตัวพระมุนีเองจะได้ไม่ต้องทนทุกข์อย่างท้าวเศ๎วต [เรื่องนี้สำหรับแสดงโทษแห่งการไม่ให้ทาน]
(๒) ตำนานท้าวทัณฑราชและป่าทัณฑก - พระรามถามว่าป่าใหญ่ที่พระมุนีได้กล่าวถึงแล้วในเรื่องท้าวเศ๎วตนั้น เหตุใดจึ่งหามนุษและสัตว์อยู่ในนั้นมิได้ พระมุนีจึ่งเล่าเรื่องว่า ในกฤดายุค พระมนูประชาบดี มีโอรสทรงนามว่าอิกษวากุ พระมนูมอบให้ท้าวอิกษวากุเปนนฤบดี แล้วก็ขึ้นไปยังพรหมโลก ท้าวอิกษวากุมีความเพียรมาก ทำพิธีพลีกรรมต่างๆ จนได้โอรสร้อยองค์ องค์สุดท้องมีสติปัญญาอ่อน และไม่เคารพนับถือพี่ พระมนูจึ่งต้องลงโทษ และให้นามว่า ทัณฑกุมาร ครั้นถึงเวลาจะแบ่งเขตรแดนให้โอรส ท้าวอิกษวากุจึ่งยกพื้นแผ่นดินระหว่างเขาวินธัยกับเขาไศพลให้พระทัณฑกุมารครอง ท้าวทัณฑราชก็สร้างนครเปนที่สำนักชื่อนครมธุมนต์ และตั้งพระศุกรเทพมุนีเปนปุโรหิตเปนที่สำราญสืบมา จนอยู่มาวัน ๑ ในฤดูวสันต์เดือนเจตรมาศ ท้าวทัณฑราชไปยังอาศรมพระศุกร ได้พบนางอรชาผู้เปนธิดามีความรักใคร่ เข้าเกี้ยวพาลเท่าใดนางก็ไม่ปลงใจ ท้าวทัณฑราชก็ขืนใจนางจนสมปราถนา พระศุกรมีความโกรธยิ่งนัก จึ่งบันดาลให้เปนฝุ่นตกลงมาจากฟากฟ้าถมบรรดามนุษและสัตว์ในอาณาเขตรของท้าวทัณฑราชนั้นหมดภายใน ๗ วัน แต่นั้นมาก็กลายเปนป่า ได้นามปรากฎว่าป่าทัณฑก (จากนามท้าวทัณฑะ) และอีกนัย ๑ เรียกว่าชนะสถาน เพราะเปนที่โยคีได้เคยไปบำเพ็ญพรตอยู่ และป่านี้เองคือป่าที่พระรามได้เดินผ่านไปเมื่อถูกเนรเทศ [เรื่องนี้คล้ายเรื่องราวที่มีอยู่ในหนังสือใบเบ็ล ซึ่งกล่าวว่าพระเปนเจ้ากริ้วชาวเมืองโสดมและเมืองโคโมราห์ ว่าประพฤติลามกต่างๆ ในทางกาม จึ่งบรรดาลให้ฝนตกเปนไฟและกัมถัน ทำลายเมืองทั้ง ๒ นั้นทั้งชาวเมืองหมด คิดๆ ไปก็น่าจะสันนิษฐานว่า เรื่องทั้ง ๒ นี้จะมาจากมูลอันเดียวกัน]
พระรามได้ฟังเทศนาของพระอคัสตย์แล้ว รุ่งขึ้นก็ลาพระมุนีขึ้นบุษบกลอยกลับสู่พระนครศรีอโยธยา