ชิต บุรทัต

(๒๔๓๕-๒๔๘๕)

ชิต บุรทัต นามสกุลเดิม ชวางกูร เกิดเมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๕ บิดาชื่อ ชู มารดาชื่อ ปริก บิดาเป็นครูสอนภาษาบาลี อยู่โรงเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีความรู้ความชำนาญในการอ่านคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองเป็นทำนองเสนาะ ชิต บุรทัต จึงได้เรียนรู้เรื่องกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ จากบิดามาตั้งแต่เด็ก

ชิต บุรทัต เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดราชบพิธฯ ที่บิดาสอนอยู่จนจบชั้นประถม แล้วเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดสุทัศน์เทพวราราม เมื่อเรียนหนังสืออยู่นั้น ชิต บุรทัต ได้รับเลือกให้เป็นต้นบทร้องเพลงสรรเสริญบารมี บทร้องเพลงในหนังสือดอกสร้อยสุภาษิต และสวดโอ้เอ้วิหารรายที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่เสมอ พ.ศ. ๒๔๔๙ เรียนจบชั้นมัธยม ขณะนั้นอายุได้ ๑๕ ปี บิดาจัดการให้บรรพชาเป็นสามเณร เพื่อเรียนนักธรรมที่วัดราชบพิธฯ โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชได้ ๒ พรรษา ก็สึกออกมาทำงาน

ชิต บุรทัต เริ่มทำงานครั้งแรกในกรมตำรวจ ได้รับเงินเดือนๆละ ๒๐ บาท แต่ทำอยู่ได้ไม่ถึงปี บิดาก็ให้ลาออกเพราะเห็นว่า ชิต บุรทัต ดื่มเหล้าและเที่ยวอย่างหัวราน้ำ คงจะเอาดีทางรับราชการไม่ได้ แล้วจัดการส่งตัว ชิต บุรทัต ไปอยู่กับญาติผู้ใหญ่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ให้เป็นครูสอนหนังสือที่วัดจันทร์ แต่ ชิต บุรทัต ก็ยังคงดื่มจัดอยู่อย่างเดิม ญาติปรามไม่อยู่ ส่งตัวกลับมาให้บิดาที่กรุงเทพฯ บิดาจึงจัดการให้บวชเป็นสามเณรอีกครั้งหนึ่งที่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ขณะมีสมณศักดิ์เป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นพระอุปัชฌายะ ชิต บุรทัต จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาสระยะหนึ่ง แล้วจึงย้ายไปจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ศึกษาภาษาไทย บาลี และอังกฤษ เพิ่มเติมโดยเป็นศิษย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และทำหน้าที่เป็นเลขานุการของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสด้วย ในช่วงนี้เองที่ ชิต บุรทัต ได้เริ่มฝึกฝนการแต่งกวีนิพนธ์และส่งไปลงพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์

ชิต บุรทัต จำพรรษาศึกษาปริยัติธรรมจนมีความรู้แตกฉาน ถึงปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๔ อายุครบบวช สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงโปรดให้อุปสมบทพร้อมกับ ม.จ. จุลดิศ ดิศกุล พระยามานวราชเสวี และพระยานิพนธ์พจนาตถ์ พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงลาสิกขาบทออกมาเป็นฆราวาสและเข้ารับราชการอีกครั้งในกระทรวงธรรมการ โดยเป็นครูสอนในโรงเรียนฝึกหัดครู แต่อยู่ได้ไม่ถึงปีก็ต้องลาออกเพราะการดื่มเหล้าและเที่ยวเตร่ ออกจากกระทรวงธรรมการแล้ว ชิต บุรทัต จึงเริ่มต้นการเขียนหนังสืออย่างจริงๆ โดยเข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์ศรีกรุงรายเดือน พ.ศ. ๒๔๕๗ ออกจากศรีกรุงไปเป็นบรรณาธิการผู้ช่วยหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ทำอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ ปีที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยถูกโอนเข้าเป็นสมบัติพระคลังข้างที่ ชิต บุรทัต จึงลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการผู้ช่วยพร้อมกับตัวบรรณาธิการ กลับไปอยู่ศรีกรุงพักหนึ่งแล้วก็ออกมาเขียนหนังสืออยู่กับบ้านเป็นเวลาประมาณ ๒ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ไปร่วมทำหนังสือพิมพ์โฟแท็กซ์ ของนายประสาท สุขุม เมื่อโฟแท็กซ์ล้มก็ไปเข้าทำ ไทยหนุ่ม ร่วมกับ นายหอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา เมื่อไทยหนุ่มเลิกไป ก็ว่างงานอยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงไปเข้าทำงานบริษัทยาทอง ของนายเสวียน โอสถานุเคราะห์ ทำอยู่ประมาณ ๖ เดือน ก็ออกมาทำหนังสือพิมพ์อีก โดยเข้าทำที่หนังสือพิมพ์เทอดรัฐธรรมนูญ ของขุนเลิศดำริการ จนกระทั่งหนังสือหยุดกิจการ ก็กลับเข้าไปทำหน้าที่ตรวจปรู๊ฟที่หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย แล้วออกไปทำหนังสือเอกชนจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ชีวิตการทำงาน ชิต บุรทัต ไม่สู้ราบรื่นนัก นับตั้งแต่เริ่มทำงาน ชีวิตก็ต้องพบกับอุปสรรค และความฉุกละหุกหลายครั้งหลายหน บางครั้งความไม่ราบรื่นนั้นเกิดจากชีวิตการทำงานหนังสือพิมพ์ ซึ่งต้องพบความล้มลุกคลุกคลานของหนังสือพิมพ์ฉบับแล้วฉบับเล่า แต่ความรักงานหนังสือพิมพ์ทำให้ชีวิตต้องคลุกคลีอยู่กับวงการหนังสือพิมพ์จนตลอดชีวิต แต่หลายครั้งที่ชีวิตต้องเบนออกไปจากจุดหมายเพราะการดื่มสุรา ชิต บุรทัต หัดดื่มสุรามาตั้งแต่เมื่ออายุยังน้อย และติดสุราอย่างหนัก ถึงขนาดที่ว่าผูกพันตนเองเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งที่แยกจากกันไม่ได้ จึงทำให้ชีวิตทั้งส่วนตัวและการทำงานได้รับอิทธิพลโดยตรงจากความผูกพันดังกล่าว ชิต บุรทัต ต้องหันเข็มชีวิตจากการรับราชการกรมตำรวจ และการเป็นครูก็เพราะการดื่มเหล้าและแม้จะต้องบรรพชาเป็นสามเณรถึง ๒ ครั้ง ก็ยังไม่สามารถจะหยุดการดื่มเหล้าได้ ในชีวิตส่วนตัวนั้นเมื่อเริ่มต้นชีวิตแต่งงานในปี ๒๔๖๙ กับนางจั่น หญิงหม้าย ซึ่งมีอายุแก่กว่า ๕ ปี ชิต บุรทัต ก็เลิกดื่มเหล้าไประยะหนึ่ง แต่ไม่นานนักก็กลับเข้ารูปเดิม ชิต บุรทัต ดื่มและเที่ยวจนนางจั่นภรรยา ไม่อาจทนอยู่ด้วยได้ หนีออกจากบ้านไป บิดาเองก็โกรธที่ไม่สามารถหาทางให้ลูกชายเป็นคนดีได้ จึงขายบ้านและสมบัติส่วนตัวจนหมด ชีวิต ชิต บุรทัต ในช่วงนี้จึงค่อนข้างจะผิดหวังและขมขื่น จนกระทั่งได้รู้ข่าวภรรยาซึ่งหนีไปอยู่กับญาติพี่น้องที่สมุทรสงคราม และได้ไปเป็นพี่เลี้ยงพระโอรสในกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ อยู่ประมาณปีกว่า ชิต บุรทัต จึงตามไปขอคืนดีและพากลับมาอยู่ด้วยกันจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

งานกวีนิพนธ์ ของ ชิต บุรทัต ชิต บุรทัต เริ่มงานเขียนกวีนิพนธ์ครั้งแรกเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ขณะเมื่อยังบวชเป็นสามเณรจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร งานชิ้นแรกที่ประสบความสำเร็จนั้นได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประตูใหม่ ใช้นามปากกาว่า “เอกชน” เมื่องานชิ้นแรกได้ประกาศถึงฝีมือ ที่เป็นเยี่ยมทางการเขียนกวีนิพนธ์แล้ว งานชิ้นต่อๆ มาก็ได้ปรากฏในหนังสือพิมพ์ประตูใหม่อยู่เป็นประจำ และได้รับรางวัลในการประกวดการแต่งโคลงกระทู้ ในหน้าหนังสือพิมพ์ประตูใหม่ตลอดมา จนกระทั่งถึงขั้นที่ได้รับเชิญให้เป็นผู้คัดเลือกบทกวีสำหรับลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประตูใหม่ เพราะความปรีชาสามารถในทางการประพันธ์ ทำให้ ชิต บุรทัต มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และองค์สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณได้ทรงพอพระทัยในผลงานของ ชิต บุรทัต ที่เขียนสดุดีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชิ้นที่ชื่อ กาพย์สรรเสริญพระเกียรติคุณ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราช จึงมีพระประสงค์ขอพบตัว ชิต บุรทัต โดยได้มีรับสั่งให้บรรณาธิการ เป็นผู้พามาเข้าเฝ้าที่หอพระสมุด ทรงมอบหนังสือให้เป็นที่ระลึกและให้กำลังใจแก่ ชิต บุรทัต เป็นอย่างสูง และในปี ๒๔๕๔ ก็ได้รับอาราธนาให้เข้าร่วมแต่งฉันท์สมโภชพระมหาเศวตฉัตร ร่วมกับกวีเอกคนอื่นๆ คือ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (น.ม.ส) และหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) เพื่อใช้สวดสังเวยในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้รับพระราชทานเงินเป็นรางวัล ๒ ชั่ง

เวลาได้ช่วยให้ความเชี่ยวชาญทางการประพันธ์ของ ชิต บุรทัต เพิ่มมากขึ้นและเมื่อมีชื่อเสียง งานเขียนก็เพิ่มตามมา หนังสือพิมพ์ที่ออกในยุคนั้นต่างก็มีความต้องการงานเขียนของ ชิต บุรทัต และนอกเหนือไปจากงานกวีนิพนธ์ที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว ชิต บุรทัต ก็ยังแต่งบทละครร้องซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในสมัยนั้นให้กับคณะละครปราโมทัย ของพระโสภณอักษรกิจ โดยใช้นามปากกาในการแต่งว่า “เจ้าเงาะ”

จากการที่มีงานเข้ามามากมาย มีชื่อเสียงนี่เองได้ทำให้ ชิต บุรทัต มีความประสงค์ที่จะสึกออกมาใช้ชีวิตการเป็นฆราวาส เพื่อได้ทำงานที่ใจรักได้อย่างสะดวก ขณะเมื่อยังเป็นสามเณร แต่ถูกบิดาและสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส องค์อุปัชฌายะทัดทานไว้ให้อยู่จนอายุครบอุปสมบท ชิต บุรทัต จึงจำใจจำพรรษาอยู่ต่อมา จนกระทั่งผ่านการอุปสมบทและจึงได้ลาสิกขาบทในปี ๒๔๕๖ ออกมาทำงานที่หนังสือพิมพ์ศรีกรุงก็ได้ตั้งนามปากกาใหม่ขึ้นอีกนามหนึ่งคือ “แมวคราว” ในช่วงนี้เองที่งานของ ชิต บุรทัต ได้ตีพิมพ์แพร่หลายให้หน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ อาทิ พิมพ์ไทย สยามราษฎร์ ฯลฯ

ด้วยความสามารถในการเป็นกวีเอกทำให้ ชิต บุรทัต ได้รับเกียรติสูงสุดในชีวิต นั่นคือได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครั้งนั้น ชิต บุรทัต ได้เขียนบทกวีนิพนธ์ ปลุกใจ ส่งไปลงหนังสือสมุทรสาร นิตยสารรายเดือนของราชนาวีสมาคม บทปลุกใจนั้น มีว่า

“เกิดเป็นคนไทย ทั้งใจและนาม
ทั้งสองปองความ หมายคงตรงกัน
ชื่อตนคนไทย แต่ใจเหหัน
เป็นอื่นพื้นพรรค์ พาลโหดโฉดเขลา
หมายความนามไทย คือใช่ข้าทาส
ไปมีใครอาจ ลบหลู่ดูเบา
ยืนยงคงทาน มากาลนานเนา
ควรที่ชาวเรา ตรองตรึกนึกดู”

ปรากฏว่า ได้เป็นที่พอพระทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นผู้อำนวยการของหนังสือเล่มนั้น ถึงกับโปรดให้ภาพถ่ายผู้เขียนโคลงลงประกอบไว้ด้วย และนับเป็นครั้งแรกที่สมุทรสารได้ลงพิมพ์เรื่องของบุคคลภายนอก นอกจากนั้นก็ยังทรงรับสั่งกับพระยาธนกิจรักษา ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยให้ ชิต บุรทัต เขียนประวัติสกุลขึ้นทูลเกล้า เพื่อจะทรงพระราชทางนามสกุลให้ ซึ่งได้ทรงพระราชทานนามสกุล “บุรทัต” ให้เมื่อ ชิต ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานนามสกุลในเวลาต่อมา

งานกวีนิพนธ์ส่วนใหญ่ของ ชิต บุรทัต เป็นคำประพันธ์ประเภทฉันท์ มีทั้งที่แต่งขึ้นด้วยจินตนาการของความเป็นกวี ชมธรรมชาติ บทอุปมาเปรียบเทียบซึ่งส่วนใหญ่เป็นบทสั้นๆ ที่แต่งเป็นเรื่องยาวๆ ก็ได้แก่เรื่องในชาดก คำฉันท์สดุดี เฉลิมพระเกียรติ บทพรรณนา เช่น ฉันท์เฉลิมพระเกียรติงานพระเมรุทองท้องสนามหลวง กรุงเทพคำฉันท์ คนชั่วอกตัญญู อิลลิสชาดกในเอกนิบาต เป็นต้น

แม้ว่าชีวิตส่วนตัวของ ชิต บุรทัต เป็นชีวิตที่ไม่อยู่ในกรอบที่ดีนักก็ตาม แต่ในทางงานการเขียนหนังสือแล้ว ชิต บุรทัต มีฝีมือระดับครู นับเป็นกวีเอกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ความสามารถพิเศษของ ชิต บุรทัต ก็คือการแต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์และกาพย์ ชิต บุรทัต มีลีลาในการแต่งที่ไม่อาจมีกวีใดเทียบได้ มีความเชี่ยวชาญในการเลือกใช้ถ้อยคำตลอดจนการเล่นสำนวนโวหารได้อย่างไพเราะ ขณะเดียวกับที่เคร่งครัดต่อกฎเกณฑ์ของคำประพันธ์นั้นๆ งานกวีนิพนธ์ของ ชิต บุรทัต จึงมีคุณค่าทางความงามของภาษาพร้อมมูล งานชิ้นเอกของ ชิต บุรทัต คือเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ ซึ่งมีชนิดของคำฉันท์ถึง ๓๐ ประเภท ที่สามารถใช้เป็นต้นแบบของคำฉันท์ได้อย่างดี

งานกวีนิพนธ์ของชิต บุรทัต เท่าที่รวบรวมได้แล้ว มีดังนี้

ประเภทสดุดี สรรเสริญพระคเณศร, มหานครปเวศคำฉันท์, ฉันท์ราชสดุดี และอนุสาวรียกถา, กาพย์เฉลิมพระเกียรติงานพระเมรุทองท้องสนามหลวง, ฉันท์เฉลิมพระเกียรติงานพระเมรุทองท้องสนามหลวง, เฉลิมฉลองวันชาติ, ปรีดิปรารมภ์, ชาติปิยานุสรณ์, สำแดงสดุดีศัพท์, ต้อนรับทหารหาญ, กล่อมช้างสวรรค์, กรุงเทพคำฉันท์, คนไทยใจเพชรฯ
ประเภทคติคำสอน ตู้ทองของปราชญ์, กันก่อนแก้, ทำลายง่ายกว่าสร้าง, สัญชาติอีกา, เบื้องหน้าชีวิตมนุษย์, เลิกความคิดชนิดเขลาหลงเสีย, หน้าที่สามประการของเรา, คนชั่วอกตัญญู, คติของพวกเราชาวไทย, ตาโป๋คำฉันท์, เสียงสิงคาล, สัตว์หน้าขน, แถลงสุภาษิต, ไม่อดทนต่อคำสั่งสอน, เหตุและผล
ประเภทชาดก สามัคคีเภทคำฉันท์, ลิลิตสุภาพจุลธนุคคหะบัณฑิต, ลิลิตสุภาพพาโลทกชาดกในทุกนิบาต, อิลลิสชาดกในเอกนิบาต, เวทัพพชาดกคำฉันท์, กกุฎวานิชคำโคลง
ประเภทชมธรรมชาติ อุปมาธรรมชาติ, วารวิสาขะมาส, วัสสานฤดู, เหมันตฤดู, เหมือนพระจันทร์ข้างแรม, ข้าพเจ้านั่งอยู่ชายทะเล, ดรุณรำพึงคำฉันท์, ภาพที่หลับตาเห็น, เอกเขนกขอบสระ, ดรุณจตุราภิรมย์, นิราศนครราชสีมา, นิราศแมวคราว, ชีวิตเราเปรียบด้วยนกบิน
ประเภทเบ็ดเตล็ด ความรู้, สหลักษณ์, กวีสี่, กำเนิดแห่งสตรีคำโคลง, สละกันเพราะแต่งงาน, เราจน, บุญตามาพบ, หนาวอะไร, ความรักของแม่, ผิดกัน ฯ

ชิต บุรทัต ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๘๕ ด้วยโรคลำไส้พิการ ที่บ้านถนนวิสุทธกษัตริย์ ซึ่งคณะหนังสือพิมพ์ต่างๆ ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพเผาศพเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕ รวมอายุได้ ๔๙ ปี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ