๗๐ ประกาศว่าด้วยหมู่ข้าหลวงเดิม

(ประกาศนี้ไม่แน่ว่าออกปีไหน)

มีพระบรมราชโองการให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ใครเปนคนสักท้องมือพระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ใครๆ ได้รับหนังสือคุ้มสัก ๑๐ ยกในพระนามนั้น คนสังกัดนี้ที่เปนข้าราชการตำแหน่งใดๆ ในพระบรมมหาราชวัง คือ เปนพระยาพระหลวงจมื่นแลผู้สำเร็จราชการเมือง แลกรมการผู้ใหญ่ในหัวเมืองแล้ว โปรดให้บุตรจากหมู่เปนบุตรข้าราชการ บุตรชายจะถวายให้ทำราชการในมหาดเล็กก็ได้ จะให้เปนขุนเล็กหมื่นน้อยทำราชการกับตัวก็ได้ จะถวายตัวในพระบวรราชวัง ฤๅเจ้าฟ้าพระองค์เจ้าที่ตั้งกรมแล้วแลยังไม่ได้ตั้งกรมก็ได้ จะให้ทำราชการในตำแหน่งแผ่นดินใดๆ ตามสมัคก็ได้ บุตรที่บิดาได้เปนพระยาพระหลวงจมื่นในแผ่นดินประจุบันนี้โปรดยกดังนี้ แต่อย่าให้ไปขุดคุ้ยเอาชื่อบิดาแลปู่ทวดที่เปนพระยาพระหลวงจมื่นในแผ่นดินที่ล่วงแล้วมาอ้างว่า ถ้าตัวเองหรือบิดาแลปู่ได้สักท้องมือฤๅรับหนังสือคุ้มสัก ๑๐ ยกในพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎแล้ว คงว่าหมู่ข้าหลวงเดิม คนหมู่ข้าหลวงเดิมที่ไม่ได้ทำราชการเปนพระยาพระหลวงจมื่นในพระบรมมหาราชวัง และผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการผู้ใหญ่ในหัวเมือง แลไม่ได้เปนบุตรแลบุตรของบุตรชายพวกนั้นแล้ว ตัวเองก็ดีบุตรแลบุตรของบุตรชายก็ดี เปนขุนเล็กหมื่นน้อยในราชการในพระบรมมหาราชวัง ฤๅเปนมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง ฤๅติดตัวตามเจ้าหมู่ข้าหลวงเดิมที่เปนข้าราชการในพระบรมมหาราชวังตามนายเดิมอยู่ ฤๅมีผู้กราบทูลขอได้พระราชทานให้ไปอยู่ในพระบวรราชวัง แลเจ้าฟ้าพระองค์เจ้าฝ่ายน่าฝ่ายใน ฤๅข้าราชการผู้ใหญ่ในกรมใดๆ ที่ได้กราบทูลขอ โปรดยกพระราชทานไปแล้วจริงตรงๆ ก็คงเปนยกไม่ต้องชำระเอาตัว.

คนนอกจากกำหนด คือพ่อหมู่ที่ได้สักแลรับหนังสือคุ้มสักในพระนามเดิม แลลูกหมู่หลานหมู่เก่าใหม่ในพวกนั้น โจทหลบหลีกสังกัดเดิมไปทำราชการในตำแหน่งใดๆ ในพระบวรราชวัง ฤๅแอบแฝงให้เจ้านายแลขุนนางมิใช่นายเดิมในกรุงแลหัวเมืองใดๆ ทั้งปวง ต้องพระราชประสงค์จะให้ชำระเอาตัวมาใช้ราชการตามกรม ที่ข้าหลวงเดิมเปนเจ้ากรมปลัดกรมอยู่.

บัดนี้โปรดให้พระยาราชภักดีศรีรัตนสมบัติ พระยาราชสุภาวดี พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยามหาเทพกระษัตริย์ พระยาบำเรอภักดิ์ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ พระยาสมบัติยาธิบาล พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงโยธาธิบาล หลวงชำนาญนาวากล พระธรรมการบดี พระศรีสุนทรโวหาร พระหฤทัย หลวงราชเสวก หลวงภิบาลภูวนารถ หลวงราชวรานุรักษ์ จมื่นก่งศิลป์ ขุนอาจอัคนิกร ขุนอมรศักดาวุธ ขุนอินทรประสาท หลวงสิทธินายเวรมหาดเล็ก นายจ่ายวด นายกวด นายสนองราชบรรหาร นายเสนองานประพาศ ๒๖ นาย[๑] สืบเสาะผู้บนบาลผู้นำตัวนำจับ คนที่โจทหมู่ข้าหลวงเดิมนั้นๆ เอาตัวคืนมา ถ้ามีผู้นำจับตัวได้ ถึงไปเปนพระหลวงในพระบวรราชวังก็ไม่ให้พ้นจับ ผู้โจทต้องเสียเงิน ๑ ชั่งให้แก่บลจับ จะได้ให้สินบลบ้าง ค่าหักบาญชีแลค่าธรรมเนียมอื่นๆ บ้าง ถ้ารู้สึกตัวกลัวผิดให้เข้ามาหาท่านผู้สืบจับ ๒๖ นาย ๆ ใดนายหนึ่งรับไว้ ต้องเสียค่าหักบาญชี ค่าเชิงประกัน. แลอื่นๆ เล็กน้อยไม่ให้มากกว่า ๕ ตำลึง พ่อหมู่แลลูกหมู่หลานหมู่ต้องเสียเหมือนกัน.



[๑] ข้าหลวงเดิมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีชื่ออยู่ในประกาศที่ ๗๐ นี้คือ

พระยาราชภักดี (ช้าง)

พระยาราชสุภาวดี (แก้ว)

พระยาอภัยรณฤทธิ์ (เฉย) แล้วเปนเจ้าพระยายมราช

พระยามหาเทพ (บัว) แล้วเปนพระยาสีหราชฤทธิไกร

พระยาบำเรอภักดิ์ (ดิศ) แล้วเปนพระยาอัพภันตริกามาตย์

พระยาอนุรักษ์ (สิงโต) แล้วเปนพระยาพิทักษ์ภูบาล

พระยาบุรุษ (เพ็ง) แล้วเปนพระยาราชสุภาวดี แลเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง

พระยาสมบัติยาธิบาล (อยู่)

พระยาพหล (กลาง) แล้วเปนพระยาวิสุทธิธรรมธาดา และพระยาวจีสัตยารักษ์

หลวงโยธาธิบาล (คล้าย)

หลวงชำนาญนาวากล (สวน)

พระธรรมการบดี (ศุข)

พระศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) แล้วเปนพระยา

พระหฤทัย (เนียม) แล้วเปนพระธรรมเสนา

หลวงราชเสวก (จัน)

หลวงอภิบาลภูวนารถ (ดิศ) แล้วเปนพระศักดาภิเดชวรฤทธิ์

หลวงราชวรานุรักษ์ (พุ่ม) แล้วเปนพระไชยบูร แลพระยาพิศณุโลก

จมื่นก่งศิลป์ (พิน) แล้วเปนพระอัคเนศร

ขุนอาจอัคนิกร (หนู)

ขุนอมรศักดาวุธ (อิ่ม) แล้วเปนหลวงราชวรานุรักษ์ แลพระไชยบูร

ขุนอินทรปราสาท (เอี่ยม) แล้วเปนหลวงราชเสวก

หลวงสิทธินายเวร (พุ่ม)

นายจ่ายวด (ร้าย) แล้วเปนหลวงจัตุรงคโยธา

นายกวด (อ้น) แล้วเปนพระศรีกาฬสมุด

นายสนอง (ขำ) แล้วเปนหลวงสิทธินายเวร

นายเสนอ (เปรม)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ