- คำนำ
- ชิต บุรทัต
- สรรเสริญพระคเณศวร
- มหานครปเวศน์คำฉันท์
- ฉันท์ราชสดุดี และ อนุสาวรียกถา
- กาพย์เฉลิมพระเกียรติ งานพระเมรุทองท้องสนามหลวง
- ฉันท์เฉลิมพระเกียรติ งามพระเมรุทองท้องสนามหลวง
- คติของพวกเราชาวไทย
- ชาติปิยานุสรณ์
- เฉลิมฉลองวันชาติ
- ปรีดิปรารมภ์
- เขาย่อมเป็นผู้เก้อเขิน
- ลิลิตสุภาพ จุลธนุคหะบัณฑิต
- ลิลิตสุภาพ พาโลทก ชาดก ในทุกนิบาต
- ๑. มกรา
- อิลลิสชาดก ในเอกนิบาต
- เวทัพพะชาดกคำฉันท์
- กกุฏวาณิชคำโคลง
- ตาโป๋คำฉันท์
- เสียงสิงคาล
- สัตว์หน้าขน
- อุปมาธรรมชาติ
- วัสสานฤดู
- วารวิสาขะมาส
- เหมันตฤดู
- เหมือนพระจันทร์ข้างแรม
- ข้าพเจ้านั่งอยู่ชายทะเล
- ดรุณรำพึงคำฉันท์
- ภาพที่หลับตาเห็น
- เอกเขนกขอบสระ
- ดรุณจตุราภิรมย์
- นิราศนครราชสีมา
- นิราศแมวคราว
- แถลงสุภาษิต
- ชีวิตเราเปรียบด้วยนกบิน
- สัญชาติอีกา
- ไม่อดทนต่อคำสั่งสอน
- เหตุ และ ผล
- ความรู้
- สหลักษณ์
- กวีสี่
- กำเนิดแห่งสตรีคำโคลง
- “สละกันเพราะแต่งงาน”
ดรุณจตุราภิรมย์
๑.จันทรังสี
๑๑ โอ้ชุณหปักข์ครา | ลุนิสา สมัยกาล |
ใดเปรียบประเทียบปาน | ศศิธรบเทียมสอง |
ช่วงโชติพิโรจน์คว้าง | ณ นภางคะเรืองรอง |
ใสสุทธิลำยอง | ยละเล่หะเงินยวง |
โอภาสประภาเพ็ญ | พิศะเด่นจรัสดวง |
งามโดยประการปวง | ปริวรรตมณฑล |
พื้นคัคนากาศ | ก็สะอาดสะอ้านยล |
อย่างเสตะกัมพล | ศุภะลาด ณ แหล่งหาว |
ดอกดวงก็ดั่งดา- | รกะพร่าประกายพราว |
พรอยแพรววะแวววาว | วะวะวับระยับแสง |
เฉกหัตถการเอา | มณิอัคคะอันแพง |
มาเจียระไนแจง | รจิจัดผจงสรร |
โปรยรายประปรายบน | นภดลก็กลกัน |
สีสุกสกาวพรร- | ณถกลตระการกานต์ |
๏ จันทูปเกลศสี่[๑] | นฤมีจะมาพาน |
พ้องคาธระคนราญ | รัศมีพระจันทร |
โสมโสดแอร่มส่อง | ศิริผ่องประภัสสร |
รอบรัชนีกร | ก็ประดับประดาดาว |
แสนงาม ณ ยามชม | อภิรมยะห้องหาว |
แม้จักประจวบคราว | จิตะโศกก็ซาสูญ ฯ |
๒. ยุวนารี
โอ้เยาว์พธูลัก- | ษณะศักดิสมบูรณ์ |
เป็นที่ประเทืองพูน | ปิยะชวนเสน่ห์ชาย |
ยามยลพยุงใจ | พิสมัยคะนึงหมาย |
แนบชิดสนิทกาย | กรกอดตระกองชม |
งามโฉมประโลมแล | ฤจะแปรประจากสม |
ถูกจิตมิคิดรม- | ยะนิราศสวาทขวัญ |
งามสรรพประดับร่าง | นุชะช่างประดิษฐ์ครัน |
ห่มนุ่งจรุงพรร- | ณะสุคนธะอบอวล |
งามยิ้มสมรเย้า | และกระเซ้ากระซี้สรวล |
สาวแย้มแสล้มยวน | นยะน์ยั่วก็ยินดี |
งามอรฉะอ้อนออ- | เซาะพะนอพะเน้าปรีดิ์ |
เพราพริ้งและยิ่งมี | มนะเปรมเกษมสอง |
งามแสร้งละห้อยไห้ | และพิไรระงมปอง |
สำออยสะอื้นลอง | กลเล่ห์ตะลึงหลง |
งามมารยาทวัตร | ปฏิบัติจริตปลง |
เพื่อชายประนอมจง | จิตะน้อมถนอมโฉม |
ปางทุกข์ก็บรรเทา | ประเหลาะเล้าละเลิงโลม |
ปางสุขกระสันต์โหม | สุขะเหิมกระหายหวน |
แสนเอิบสบายอิ่ม | อุระกริ่มกระหยิ่มยวน |
จักเปรียบก็จวบจวน | จะลุโลกทิพาลัย ฯ |
๓. อุทยานสถาน
โอ้อุทยานอัน | รมะนันทะกอปรไป |
ด้วยพฤกษะดอกใบ | รกะแลสล้างหลาย |
สุมทุมและซุ้มหย่อม | รยะย่อมและใหญ่ราย |
เรียบรุกขะริมสาย | รดะแนวสนามสวน |
ต่างสีสลับสรรพ์ | ระบุบรรณระบัดชวน |
ชมไม้ชนิดมวล | บมิรู้จะจืดตา |
ยังเหล่าลดาวัลย์ | สุวคันธะบุปผา |
เผยคลี่ผลิคลายมา- | ลยะแย้มพะเยียสยาย |
ก้านช่อละอออ่อน | อรชรสลอนราย |
หมู่ผึ้งภมรกราย | จระเกลือกประทินเกลา |
ต่างร้องและร่อนแข่ง | เกาะจะแย่งประจำเนา |
ดูดโอษฐะดื่มเอา | มธุเป็นรสาหาร |
ยามเรื่อระวีรัต- | ติสงัดสงบกาล |
ลมชวยระรวยพาน | พะสะบัดระบายโบย |
พากลิ่นผกากำ- | จระนำจรุงโชย |
ฉมชื่นระรื่นโรย | รสะอบตระหลบฆาน |
เป็นที่สราญโส- | มนะโอชะหอมหวาน |
แม้ว่างระหว่างวาร | จะวินิจ ณ กิจใด |
พลันโล่งและโปร่งปลอด | ลุตลอดและเร็วไว |
อุทยานะอาศัย | สุขะสุดเกษมศรี ฯ |
๔. ดุริยดนตรี
โอ้ศัพทะเบญจางค์ | ดุริยางคะดนตรี[๒] |
สังคีตประโคมมี | พิธะถ้วนประมวลมาน |
ครบสิ่งประสมวง | และประจงประนังขาน |
บรรเลง ณ เพลงการ | เสนาะกรรณสนั่นเสียง |
เอกทุ้มประชุมพร้อม | คณะกล่อมและกลมเพียง |
เดี่ยวซร้อง ณ สำเนียง | บมิผิดกระแสผวน |
เครื่องคอยจะคล้อยจัง- | หวะระวังระไวควร |
เคล้าเสียงผสมจวน | รยะหยุดก็ยั้งรอ |
คราเรื่อยก็เอื่อยให้ | ขณะไว้ระหว่างคลอ |
คราวเร็วก็เร่งพอ | บมิขัดวิธีควร |
นักร้องสิร้องส่ง | บทะลงและขึ้นหวน |
เฉื่อยฉ่ำ ณ สำนวน | เพราะสนิทสุสำนาน |
กังวานผสานแว่ว | สรแจ้วสดับปาน |
เสียงการเวกหวาน | อุระวาบวะหวิวไหว |
ยิ่งฟังก็ดั่งเช่น | กะจะเต้นจะเป็นไป |
ตามเพลงเพราะเพลินไพ- | เราะเสมือนกมลลอย |
กำดัดประหวัดหน่วง | มนะง่วงผวาผอย |
เผลอหลงพะวงคอย | จะระงับนิทรารมณ์ |
ลิงโลดประโมทย์มา | ธุระสาธราคม |
เปลื้องทุกข์ระทมกรม | กระอุให้ประทังหาย ฯ |
---------------
ชีวิตชายชั้นรุ่น | ดรุณราว นั้นฤๅ |
เรียบรื่นราบคาบคราว | ครุ่นครึ้ม |
สุขในสี่นี่ยาว | ยืนชีพ ได้นา |
ผิวะมากหลงละโมบปลื้ม | ปลดน้อยถอยชนม์ บารนี ฯลฯ |
[๑] จันทูปเกลศสี่ คือ = “อุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง) ของ พระจันทร์ ๔ อย่าง” ๑. หมอก ๒. น้ำค้าง ๓. เมฆ ๔. ราหู ฯ
[๒] เบญจางค์ดุริยางคดนตรี หรือ เบญจางคิกดุริยดนตรี คือ “ดุริยางคดนตรี (เครื่องดีดสีตีเป่า) ๕ อย่าง” ท่านจัดตามชื่อดังนี้
(๑) อาตตะ เครื่องที่หุ้มหนังข้างเดียว เช่น โทน, รำมะนา, หน้าทับ เป็นต้น
(๒) วิตตะ เครื่องที่หุ้มหนังทั้งสองข้าง เช่น ตะโพน, กลอง เป็นต้น
(๓) อาตตะวิตตะ เครื่องที่หุ้มหนังหมดทั้งตัว เช่น บัณเฑาะว์ เป็นต้น
(๔) ฆนะ เครื่องที่เป็นแท่งทึบไม่ได้หุ้มด้วยหนัง เช่น ฉาบ, ฉิ่ง, กรับ เป็นต้น
(๕) สุสิระ เครื่องที่กลวงเป็นโพรงข้างใน เช่น แตร, สังข์, ขลุ่ย, ปี่ เป็นต้น
แม้นอกจาก ๕ จำพวกนี้ ถ้าได้นามว่า “เครื่องดีดสีตีเป่า” แล้วท่านก็อนุโลมเรียกว่า “ดุริยดนตรี” ทั้งสิ้น ฯ