ความรู้

โคลงดั้นบาทกุญชรฯ  
ความรู้ทุกอย่างแม้น มีคุณ
ยังประโยชน์ให้สำ- เร็จได้
อีกเป็นเครื่องอุดหนุน นำชีพ
เป็นอยู่สะดวกแล้วไซร้ น่าประสงค์
สมควรรวบคว้ารีบ เรียนความ รู้นอ
ผลที่ดีแน่คง คาดได้
เวลาพยายาม เสียเปล่า แลฤๅ
แต่หากคิดใช้ให้ ถูกทาง
อันความรู้เหล่านั้น โดยสภาพ
มีอยู่เป็นของกลาง กล่าวฉะนั้น
ทุกคนก็ย่อมทราบ ดีว่า
บห่อนมีผู้กั้น กีดหวง
มีวีริยะแล้วอย่า รอหยุด อยู่เลย
เต็มรักจงตักตวง ตัดคร้าน
ควรได้เท่าไรสุด พละภาพ เทียวพ่อ
ใครมิมาห้ามค้าน ขัดคอ
มีอย่างเดียวทราบด้วย กันทุก คนแล
โอกาสเรียนไม่พอ เท่านั้น
ความเป็นมนุษย์ขลุก- ขลักอยู่
กำหนดกาลนี้สั้น นักหนา
ไหนจะมีคู่แล้ว มีลูก มาแล
ไหนจะเลี้ยงชีวา อีกด้วย
ไหนจะประกอบปลูก เจริญแก่ สกุลฤๅ
ไหนจะตริต้องม้วย ต่อไป
เกิดเป็นมนุษย์นี้แน่ รุงรัง จริงพ่อ
เรียนตลอดอายุขัย ไม่ได้
เราควรเร่งคิดหวัง เรียนหาก
เลี้ยงชีพมิให้ไร้ แหละดี
รู้น้อยรู้มากนั้น มิเป็น ประมาณ เลย
สุดแต่ปัญญามี อ่อนกล้า
มือใครผิวะยาวเห็น ของชอบ ใจแล
ควรจะสาวได้คว้า รวบเอา
ความรู้ประกอบอ้าง อาทิ ประพฤติแฮ
จัดว่าดีพร้อมเพรา เพริศแพร้ว
ความรู้ท่วมหัวสิ มีอยู่ ไยพ่อ
ตนรอดมิได้แล้ว เหมาะไฉน
ท่านสุนทรภู่ ผู้ จอมนัก กลอนฤๅ
กล่าวว่า รู้อะไร ไม่สู้
รู้วิชา, แต่รู้รัก- ษาอาตม์ รอดแล
เป็นยอดดีล้ำรู้ วิชา
พึงจำพจนาตถ์นี้ ดีนัก
เราจะเรียนอะไรหา ที่ให้
คุณประโยชน์แลจัก เจริญรอด ตนฤๅ
จึ่งนับว่าใช้ได้ สะดวกสม
รู้ใดรู้ตลอดแม้ อย่างเดียว ก็ดี
ไม่สักแต่ลมลม ว่ารู้
สามารถปราชญ์เปรื่องเปรียว ในสิ่ง นั้นนา
เรียกว่ารู้แท้ผู้ หนึ่งแล
แม้รู้มากยิ่งร้อย พันประมาณ ก็ดี
ผิดเหตุกาละเทศแปร ปราศทั้ง
ผู้ที่จะใช้การ ก็ไม่ มีเลย
เท่ากับไม่รู้ตั้ง แต่สูญ
เป็นหมันหมดไป่ได้ ผลดี ใดเลย
ตนกลับจะอาดูร เดือดร้อน
โดยเชื่อว่าตนมี มูลค่า มากเฮย
แบกแต่ความรู้ก้อน ใหญ่โต
ขายใครไม่ซื้อทำ ผิดเชิง แล้วพ่อ
เสียสติวิปริตโท- มนัสเศร้า
เหลวเตลิดเปิดเปิง ไปมาก มายแฮ
นี่แหละความรู้เข้า ฆ่าตน
รวบความว่าหากรู้ อะไรก็ดี
ยึดหลักที่สุดผล เพื่อได้
ชีพตนรอดอยู่ใน โลกมนุษย์ แลนา
อย่าเพ่อคิดเอื้อมให้ สุดสูง
บุญเพรงบริสุทธิ์ได้ อบรม มีฤๅ
คงจะช่วยชักจูง ประจักษ์แท้
แต่ยึดประพฤติสม กับที่ รู้เทอญ
วันหนึ่งไม่พ้นแล้ ลุเรา
เรียนรู้ไม่ถี่ถ้วน วิชาใด ก็ดี
คิดคาดคุยอวดเขา อีกผู้
เรียนรู้แต่เพียงใคร ปรารภ อะไรฤๅ
คอยจะหาถ้อยสู้ แส่เถียง
ตรองมองไม่พบแม้ ฤๅมี
ประโยชน์ตนแต่เพียง กึ่งก้อย
ประโยชน์ท่านก็ดี ดู บ่ เห็นเลย
เขาเกลียดนับร้อยน้อย ประมาณ
ความรู้เช่นนี้ก่อ เกิดผล ร้ายเฮย
คนที่มีสมาจาร สุภาพผู้
จักไม่เห่อเหิมตน ตามพรรค นั้นเลย
รู้มากสอนให้รู้ สึกดี
อันผู้รู้น้อยมัก แสดงตน
เหมือนว่ารู้มากมี มากไซร้
ผู้รู้มากกลับยล ยังพร่อง แท้แฮ
รู้แต่เล็กน้อยไขว้ สับสวน
รู้ใดรู้ถ่องแท้ ทำเนา เถิดนา
เป็นประโยชน์ตามควร แก่ชั้น
ความรู้ว่าตัวเรา ดีกว่า ใครพ่อ
ปราชญ์เรียกความรู้นั้น ว่าเลว
ความรู้ดั่งว่านั้น ของคน โฉดเฮย
มีแต่ผิดแลเหลว แหลกแล้
ผู้ได้ศึกษายล คุณโทษ แล้วแฮ
คงไม่เห็นฉะนั้นแม้ สักคน
โง่ก่อนห่อนโทษโอ้ อวดฉลาด ก่อนฤๅ
พล่ามพล่อยหน่อยพลาดตน ติดค้าง
คมสิผิวะชักปราด สนิมเปรอะ เทียวพ่อ
ป่วยกล่าวเปล่าถ้อยร้าง นฤผล
คมก็คมเถอะให้ รู้แสดง คมพ่อ
แม้มิควรให้ยล อย่าง้าง
เห็นเป็นค่าอันแพง สักหน่อย
คราวที่จำต้องอ้าง อวดเทอญ
ทำในใจบ่อยเข้า คงเห็น
รู้มากหากดำเนิน ผิดไซร้
ให้โทษอประโยชน์เป็น ยาพิษ เทียวพ่อ
ประกอบชอบแล้วได้ ประโยชน์ดี ฯ
----------
โคลงดั้นอันระจิตนี้ นามใน คณะฤๅ
เรียกว่า “แมวคราว” พี- ริยะพร้อง
เป็นคุณใช่คุณไฉน มิทราบ เลยพ่อ
ผู้อ่านอ่านแล้วต้อง คิดเอง ฯลฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ