๏ ไม่รู้ว่าเวลาเช้าจะไปไหน |
จึงวางใจนอนสบายสายเต็มที่ |
เสวยเสร็จจะเสด็จจรลี |
ต้องกาหฬเต็มทีเกือบไม่ทัน |
สามโมงถ้วนคลายกระบวนออกจากท่า |
ล่องลงมาตามนทีรี่เร็วผัน |
เห็นเรือทอดจอดเคียงกันเรียงรัน |
ฟังนี่นันด้วยสำเนียงเสียงพูดจา |
ที่เกาะกลางหว่างตะไคร้ไม่มีอื่น |
ล้วนดาดดื่นด้วยพระสงฆ์ทรงสิกขา |
บันดาที่โดยเสด็จดำเนินมา |
นั่งห่มผ้าคอยเฝ้าเข้าแถวเรียง |
ถึงถ้ำพระพอประทับเข้าเทียบที่ |
เสียงชนีร่ำร้องซ้องแซ่เสียง |
โหนอยู่ยอดไม้ใหญ่ที่ใกล้เคียง |
เกาะกิ่งเมียงอยู่กับที่ไม่หนีไกล |
เจ้านายท่านทูลว่าถ้าเช่นนี้ |
ให้คนต้อนเข้าสักทีก็จับได้ |
ยังทรงเห็นง่ายนักหนักพระไทย |
ครั้นซักไซ้ไปอิกทีมีตัวยืน |
เคยจับไว้ได้เมื่อสองวันมานี้ |
ยังซ้ำมีต่อไปที่รายอื่น |
เอาตัวมาถวายได้ในกลางคืน |
ดูไม่ตื่นราบเชื่องเห็นเงื่องงุน |
ตัวไม่ใหญ่แต่มิใช่เปนลูกเล็ก |
อย่างหนุ่มเด็กฤๅไฉนอยู่ไขว่วุ่น |
ปีนขึ้นสู่เสาส้างอย่างชุลมุน |
ขนขาวขุ่นหน้าพิฦกเหมือนหมึกทา |
วิธีไล่ขึ้นไปช่วยกันสกัด |
โห่สพัดอย่าให้ไปได้ในป่า |
หนีเวียนวงคงจะไต่ต่ำลงมา |
ว่าไม่ช้าสักเท่าใดก็ได้ตัว |
เพียงสองคนไล่จนเพราะมันขลาด |
ไม่เก่งกาจอ่อนเพลียกะเปี้ยกะปั้ว |
คนขึ้นไปบนตลิ่งยังนิ่งซัว |
ตกใจกลัวขึ้นสิจนคนตบมือ |
ที่หน้าถ้ำเต็มทนพ้นจะอยู่ |
แตรกรอกหูเหลือกำลังทั้งอึงอือ |
ซึ่งนั่งอยู่ให้ได้ชมสมคำฦๅ |
ก็เปนดื้อเต็มทีดีอยู่แล้ว |
อันหนทางขึ้นถ้ำจะร่ำเรื่อง |
เปนเนินเนื่องล้วนต้นไม้ใหญ่เปนแถว |
สักห้าเส้นสูงขึ้นไปได้ถึงแนว |
เหลี่ยมเขาแน่วเหนี่ยวกระติบสักสิบวา |
วุ้งชวากปากวิถีสักสี่ศอก |
เปนช่องนอกลาดลงไปในคูหา |
ถึงเวิ้งในใหญ่กว้างสำอางตา |
พระศิลาอยู่ข้างในนั้นหลายองค์ |
ที่ยังดีมีหน้าตักสักสองศอก |
อิกองค์ออกสงไสยให้พิศวง |
เห็นพระเศียรวิปริตผิดทรวดทรง |
แต่นึกปลงว่าเปนที่พระศรีอาริย์ |
ที่เบื้องขวาพระสาวกยืนยกหัตถ์ |
พระเศียรพลัดหายแยกฤๅแตกฉาน |
ชวากในไปข้างหลังพระประธาน |
พระประมาณหน้าตักสักศอกปลาย |
พระสาวกประนมกรท่อนล่างหัก |
ส่วนพระพักตร์ยังดีไม่มีฉลาย |
เห็นพระเศียรหนึ่งวางอยู่กลางทราย |
ให้หลวงนายยกออกไปนอกลอง |
ตั้งพระยืนขืนขัดรัศมี |
เห็นผิดทีกันอยู่ควรคู่สอง |
ทรงสอบสวนเสาะหาท่าทำนอง |
จนต่อต้องกันใหม่ได้ทั้งนั้น |
อันพระเศียรพระศรีอาริย์พานผิดเค้า |
ย้ายมาเข้ากับพระยืนคืนที่มั่น |
พระเศียรที่เอามาลองไม่ต้องกัน |
คิดผ่อนผันไปพระนั่งตั้งพอดี |
ดูทรวดทรงพระทั้งหลายคล้ายของหลวง |
ใครจะล่วงขึ้นมาสร้างกลางวิถี |
คงจะพามาจากราชบุรี |
ดูท่วงทีรูปลม้ายคล้ายคลึงกัน |
แต่จะตั้งอยู่ตรงนี้ฤๅที่ไหน |
นึกสงไสยยังไม่เห็นเปนเหมาะมั่น |
ที่ตรงเวิ้งท้ายถ้ำเห็นสำคัญ |
ดูเชิงชั้นภูมที่ดีชอบกล |
เพดานสูงสืบวาตรงหน้าปล่อง |
สมเปนห้องไว้พระฤๅปะฝน |
จะยกย้ายจากข้างในมาไว้จน |
ต้องถูกค้นปฤศนาหาลายแทง |
ยังมีทางข้างทิศตะวันออก |
เดินซอนซอกเข้าไปได้สามแห่ง |
ล้วนแต่ตื้นติดตัดทางลัดแลง |
ไม่มีแสงสว่างต้องส่องอัคคี |
ในถ้ำนี้ไม่เปนที่สนุกสนาน |
แต่เพดานงามมากหลากหลายสี |
เหมือนกลีบเมฆมัวพยับซับซ้อนมี |
ภู่วารีหยดย้อยห้อยเรียงราย |
นมัสการพระเสร็จเสด็จกลับ |
ลงประทับเรือที่นั่งผังผาดผาย |
ขึ้นเหนือน้ำจ้ำจ้วงทั้งแจวพาย |
จอดที่ปลายตพานน้ำถ้ำเขาเกวียน |
ที่ตรงท่ามีศิลาอยู่ในน้ำ |
บันไดทำเทลาดพาดเฉนียน |
ขึ้นทอดเดียวกรวดตรงไม่วงเวียน |
ถึงพื้นเตียนใต้ชวากปากคิรี |
สูงประมาณสี่วาตรงหน้าเวิ้ง |
วัดแต่เชิงบันไดยืนถึงพื้นที่ |
สิบศอกถ้วนส่วนขวางก็กว้างดี |
ปล่องบนมีชองสว่างเข้าข้างใน |
เลี้ยวข้างซ้ายไปฝ่ายอุดรทิศ |
ถ้ามืดมิดจุดไฟเข้าไปได้ |
ปากช่องกว้างสี่วาถ้าเข้าไป |
ถึงห้องใหญ่สูงเสร็จสักเจ็ดวา |
พื้นสูงสูงต่ำต่ำต้องคลำก้าว |
มีหิ้งยาวริมผนังข้างเบื้องขวา |
ข้างซ้ายเปนเหมือนเช่นแท่นแผ่นศิลา |
จะนิทราเล่นก็ได้ไม่ครุคระ |
มีภู่ดื่นยื่นย้อยห้อยระย้า |
เหมือนมาลาแขวนเล่นเปนจังหวะ |
รางหลืบคั่นเหมือนกับชั้นที่ไหว้พระ |
บางแห่งเห็นเปนระยะยิ่งติดราย |
ที่ชั้นในไปอิกทีนั้นมีช่อง |
เข้าได้สองทางตามความมุ่งหมาย |
ไปทางกลางอย่างเดินได้สบาย |
ต้องตกายขึ้นสูงพยุงตัว |
ถ้าในจิตต์คิดคร้านการปีนป่าย |
ไปข้างซ้ายลับแลบังนั้นยังชั่ว |
แต่ต้องซุดมุดก้มคลานซมซัว |
ระวังหัวอย่าให้โผนโดนเพดาน |
ไปร่วมกันที่ข้างในไม่พ้นก้ม |
ถ้าซานซมวอกแวกหัวแตกฉาน |
ถึงห้องในกว้างขวางอย่างสำราญ |
ภู่ท่อธารน้อยน้อยย้อยเรียงรัน |
ล้วนสีขาวยาวยื่นพื้นน้ำหยด |
งามปรากฎกล่าวแสดงเหมือนแกล้งกลั่น |
มีทางแยกไปอิกสองปล่องหนึ่งนั้น |
ต้องเหยียบยันตามชง่อนหย่อนกายลง |
รอยน้ำอาบคราบผนังดังแก้วแกลบ |
ดูวาบแวบวิจิตรน่าพิศวง |
เหมือนมือช่างสร้างสรรแสร้งบรรจง |
สิ้นประสงค์เสียแต่ลึกนึกระอา |
ยังอิกช่องมิได้ลองฟังแต่เล่า |
เขาว่าเข้านั้นลำบากยากนักหนา |
ต้องคลานถอยหลังลงตรงมรคา |
ลำคูหาสูงเห็นเปนประทุน |
มีหลืบลอดตลอดไปได้ถึงปล่อง |
ถ้าทรงลองแล้วก็เห็นจะเล่นวุ่น |
จะยุ่มย่ามงามใหญ่ได้ชุลมุน |
ถึงต้องรุนกันขึ้นมาดูท่าทาง |
มีชเวิกเวิ้งว้างตามข้างฝา |
ยังซอกแซกไปมาได้ต่างต่าง |
เมื่อเสด็จขึ้นครรไลไปช่องกลาง |
แล้วกลับข้างปล่องซ้ายย้ายทำนอง |
ร้อนกระไรในนี้มีแต่เหื่อ |
จนซาบเสื้อชุ่มครันถึงชั้นสอง |
ออกพ้นถ้ำที่ละม้ายคล้ายห้วงคลอง |
ท่านเก่าเก่าคุยก้องกรี๊กันมา |
ถึงปากช่องลมเฉื่อยเรื่อยระรื่น |
ยั้งหยุดยืนชายวารีที่หน้าท่า |
แล้วจึงตามเสด็จตรงลงนาวา |
ทวนขึ้นมาโดยกลางทางนที |
มาถึงน้ำโจนใหญ่ใจฉันกว้าง |
อยากจะให้จอดขวางอยู่ที่นี่ |
พอรับสั่งให้ยั้งแสนยินดี |
ทอดพระเนตรอยู่ตรงนี้นั้นช้านาน |
นั่งพินิจพิศดูหมู่น้ำตก |
อยากจะยกเข้าไปไว้ในราชฐาน |
จะได้เห็นเปนนิรันดร์ทุกวันวาร |
เสียงท่อธารอุทกหลั่งฟังสบาย |
ถึงเหน็จเหนื่อยเมื่อยล้าแม้มาเห็น |
ก็พาเย็นอกใจให้เหนื่อยหาย |
ที่ในวังทั้งว่าท่าลม้าย |
ไม่มีสายน้ำลั่นทุกวันคืน |
มาทแม้มีเหมือนเช่นนี้ในวังหลวง |
จะนั่งหวงอยู่มิได้ไปที่อื่น |
ยามนิทราพาให้น้ำใจชื้น |
ถึงพลิกตื่นนอนสดับก็หลับพลัน |
เฝ้าเพลินดูอยู่จนออกเรือที่นั่ง |
ขึ้นตามวังกระแสสายค่อยผายผัน |
น้ำโจนใหญ่ไกลมาพอซากรรณ |
เสียงดังลั่นข้างหน้าต่อพอได้ยิน |
คือสายน้ำโจนน้อยทอยระยะ |
รับจังหวะเซงซ่าชลาสินธุ์ |
ให้รอเรือที่นั่งขวางกลางวาริน |
หยุดชมถิ่นพุธารตระการตา |
พิเคราะห์ไปในทำนองสองพุนี้ |
เหมือนวารีพุใหญ่น้อยไปกว่า |
จะเปนด้วยแผ่กว้างต่างตำรา |
ทั้งทีท่าน่ายลละกลกัน |
อันพุนี้มีไม้ใหญ่ชอุ่ม |
ขึ้นปกคลุมงามดีสอดสีกัน |
ส่วนพุใหญ่ข้างหน้าสง่าครัน |
ในเชิงชั้นเปิดเผยน่าเชยชม |
ทรงทอดทัศนาเสร็จเสด็จผ่าน |
สู่สพานเยื้องไปที่ไผ่ร่ม |
เปนท่าขึ้นสู่เทินเนินพนม |
โดยนิยมชื่อน้ำโจนโดนกันปัง |
เขาเช่นนี้มีพ้องกันสองฟาก |
จะรู้ยากจำเติมเพิ่มทิศฝั่ง |
เสด็จวานตวันออกนอกค่ายวัง |
เขานี้ตั้งตวันตกวกขึ้นมา |
ต้องตัดฉายชายตลิ่งลงเปนคั่น |
จรจรัลเข้าไปที่ในป่า |
ทางหกเส้นเปนกำหนดพนาวา |
ขึ้นเหลี่ยมผาไปสักครู่ไม่สู้ชัน |
ถึงหน้าเพิงเวิ้งวุ้งรุ้งภายนอก |
กว้างสี่ศอกปากปล่องช่องผายผัน |
แล้วเข้าซอกกรอกน้อยต้อยต่ำครัน |
ต้องเรียงกันจรลีทีละคน |
สักหกศอกแล้วไปออกเวิ้งใหญ่หน่อย |
เห็นสูงลอยศิลาก้อนซ้อนสับสน |
สาดลงไปได้ถึงพื้นแผ่นดินดล |
เลี้ยวขวาไปถึงเสาเข้าลับแล |
มีทางลอดสอดคลานเข้าไปได้ |
ถึงข้างในทางเปนปล่องสองแฉว |
ไม่ถึงไหนเข้าไปตันกันอัดแอ |
ต้องย่อแต้ตามชอกกลับออกมา |
ที่เวิ้งนี้มีซองอิกช่องเล่า |
เดินตรงเข้าเวิ้งใหญ่ขึ้นไปกว่า |
แต่โดยกว้างที่ตรงนี้สักสี่วา |
แลเห็นฟ้าตามช่องปล่องข้างบน |
ช่องหนึ่งตรงลงมาแต่ยอดเขา |
สว่างเข้ามาข้างในไม่ขัดสน |
อิกปล่องเยื้องไปข้างหน้าริมท่าชล |
ศิลาหล่นลาดรายคล้ายตพาน |
ปีนขึ้นไปไม่สู้ยากถึงปากช่อง |
แลเห็นท้องคงคาป่าละหาน |
แต่ข้างในไปลำบากยากกันดาร |
ต้องอยู่ชานถ้ำกลางหว่างมรรคา |
ถัดตรงนี้มีช่องเปนห้องซอก |
ดูเปนกรอกเข้าไปงามสามวากว่า |
ถึงที่จนวนออกข้างนอกมา |
มีคูหาไปอิกช่องเปนสองทาง |
ส่วนข้างซ้ายฝ่ายนั้นไปตันตื้น |
ย้ายทางอื่นแอบมาข้างขวาขวาง |
เปนประทุนยาวยืดมืดรางราง |
สูงแลกว้างศอกเดียวเจียวอกอา |
คลานเข้าไปถึงข้างในนั้นยิ่งยาก |
แคบเตี้ยมากเข้าทุกชั้นขันนักหนา |
จนลงปลายถึงพังพาบราบอุรา |
พอพ้นซอกออกมาถึงปล่องน้อย |
ไม่ทลุขึ้นตลอดยอดภูผา |
สูงสามวาพิศดูเปนภู่ห้อย |
สายวารีมีไม่ขาดหยดหยาดย้อย |
ขาวหยอยหยอยหยดหยัดอยู่อัตรา |
ที่พื้นดินหินเห็นเหมือนเช่นไข่ |
ต่อยเขาไว้มิให้แตกแปลกหนักหนา |
เหมือนจริงจริงใช่จะแสร้งแกล้งเจรจา |
สายธาราหยดกระเด็นถูกเปนเงา |
ตัวฟองแดงอยู่ข้างในไข่ขาวล้อม |
มิใช่ย่อมตะละใบเท่าไข่เต่า |
จัลเม็ดอย่างใหญ่ได้รูปเค้า |
ลูกเท่าเท่ากันมีสี่ห้าใบ |
ทรงสอดไม้ธารพระกรเข้าค้อนคัด |
ก็แงะงัดจากที่คิรีได้ |
รับสั่งให้ราชโกษาห่อผ้าไป |
เล่าบอกใครจะได้เห็นเปนพยาน |
ในถ้ำนี้มักมีตะไคร่น้ำ |
จับฝาดำดื่นไปเปนหลายด้าน |
ดูชุ่มชื้นพื้นผนังทั้งเพดาน |
ไม่ยลธารธารามาทางไร |
มีแต่เหื่อเห็นพร่างข้างคูหา |
เพริศพราวตาเหมือนอย่างเพ็ชรเม็ดใหญ่ใหญ่ |
ที่ถ้ำนี้มิใคร่มีใครมาไป |
จึงร้างไว้มิได้เรียกสำเนียกนาม |
จึงทรงตั้งชื่อประจำว่าถ้ำแก้ว |
เพราะพร่างแพร้วเห็นตระหนักไม่พักถาม |
ซ้ำมีต้นแก้วป่าท่าทีงาม |
พเอิญยามมีดอกออกเรียงราย |
อันต้นใบนั้นไม่ผิดกับแก้วบ้าน |
แต่ดอกบานกลีบบางห่างขยาย |
ว่าตุมกลัดกลีบห่อพอลม้าย |
แต่กลีบอายอ่อนกว่าในธานี |
เสด็จตรงลงจากปากคูหา |
ต้องผ่านท่าถ้ำเก่าเข้าวิถี |
ไปเส้นหนึ่งจึงขึ้นเหลี่ยมคิรี |
ระยะยี่สิบวาเปนผาชัน |
ปากคูหามีศิลาก้อนใหญ่ขวาง |
ทางสองข้างขวาซ้ายพอผายผัน |
แต่ห้องในกว้างขวางสว่างตวัน |
มีฝาคั่นดูทำนองเหมือนห้องใน |
ศิลาก้อนซ้อนซับสลับสล้าง |
ดูเหมือนอย่างตุ๊กตาก็ว่าได้ |
เปนหลายตัวตั้งระระดะไป |
ต้องจุดไฟเพราะผนังนั้นบังลับ |
มีเวิ้งใหญ่ลงไปได้อิกแห่งเล่า |
แล้วย้ายเข้าตามช่องเหมือนห้องหับ |
อิกสามแห่งแกล้งใส่คะแนนลับ |
ล้วนต้องกลับออกมาใหม่เพราะไปตัน |
คูหานี้ทีงามกว่าถ้ำแก้ว |
ดูพราวแพร้วน่าชมช่างคมสัน |
วารีย้อยพร้อยพร่างไม่ห่างกัน |
ทั้งเชิงชั้นเพิงกระพักยักทำนอง |
ชโงกง้ำเปนชง่อนก้อนซ้อนแซก |
บ้างแยะแยกยลเห็นเปนริ้วร่อง |
ทางน้ำย้อยห้อยรย้าเรียกว่าฟอง |
มีทุกห้องมิได้ห่างสำอางตา |
เสด็จกลับทางเดิมโดยพระบาท |
ยุรยาตรตัดตรงมาลงท่า |
เรือที่นั่งเคลื่อนคล้อยลอยชลา |
มาถึงหน้าแพเรียงพอเที่ยงวัน |
สองทิวามานี้กะเหรี่ยงเฝ้า |
เปนหลายเหล่าตลอดแดนแคว้นเขตรขัณฑ์ |
ทางถึงสามสี่ทิวาก็พากัน |
อุส่าห์ผันผายมาอยู่ท่าคอย |
ดูชื่นชมยินดีเปนที่ยิ่ง |
นับถือจริงอย่างพระไม่ละถอย |
ทั้งลูกเล็กหญิงชายเปนหลายร้อย |
มานั่งคอยอยู่ไม่ว่างข้างพลับพลา |
ของถวายตามมีที่หาได้ |
คือเข้าไร่พักแฟงแตงเปรี้ยวป่า |
ทั้งว่านรากต้นใบไม้เครื่องยา |
มีเสื้อผ้ากะเหรี่ยงบ้างต่างต่างกัน |
ทรงจัดเสื้อสักหลาดประสาททั่ว |
ที่เปนหัวหน้าหมดตามลดหลั่น |
พวกตัวไพร่ได้เงินเปนรางวัล |
ผู้หญิงนั้นผ้าห่มพอสมตัว |
พวกรามัญบันดามาตัดไม้ |
มาเฝ้าได้แจกจ่ายรายจนทั่ว |
ต่างอยากเฝ้าเข้าใกล้ไม่หวาดกลัว |
ล้วนยิ้มหัวทูลพิดสนิทดี |
ตัวพระไทรโยคตายวายชีวาตม์ |
ยังว่างขาดไม่มีใครได้รับที่ |
ทรงเห็นว่าหลวงรักษาจุมพลนี้ |
เปนคนมีกำลังตั้งบ้านเรือน |
ได้บังคับบัญชาบันดาไพร่ |
ที่ตั้งในแนวย่านบ้านป่าเถื่อน |
แล้วขยันการกิจไม่บิดเบือน |
เห็นเงาเงื่อนพอใช้ได้ราชการ |
แต่ก่อนมาเมืองเหล่านี้เปนที่ร้าง |
ตามสองข้างนทีไม่มีบ้าน |
จึงเปนที่คับแค้นแสนกันดาร |
มีแต่ด่านเกณฑ์ไพร่ให้ออกมา |
ครั้นเดี๋ยวนี้มีคนมากกว่าก่อน |
ต้องซู่มอญของฝรั่งทั้งพม่า |
เดินเข้าออกทางนี้มีสินค้า |
มาลงท่าล่องแพในแควนี้ |
หนึ่งผู้ร้ายฝ่ายอังกฤษที่ผิดแผก |
ก็มักแปลกปลอมหน้ามาที่นี่ |
จะติดตามก็ลำบากยากพันทวี |
เพราะไม่มีตาหูรู้ร่องรอย |
ถ้าเมืองอยู่โพธารามข้ามเขตรแขวง |
ด่านร่องแร่งทิ้งขว้างอย่างกร่อยกร่อย |
กว่าจะเกณฑ์กันขึ้นมาช้าตะบอย |
มักเลื่อนลอยหนีหน้าเข้าป่าดง |
แม้เจ้าเมืองกรมการบ้านอยู่นี่ |
จะค่อยดีขึ้นบ้างอย่างประสงค์ |
พระดำริห์โดยดังหวังจำนง |
จึงได้ทรงยกย่องลองประเดิม |
หลวงรักษาจุมพลคนผู้นี้ |
ให้เปนที่พระไทรโยครับยศเพิ่ม |
ประทานเสื้อโหมดเทศพิเศษเติม |
เปนการเริ่มไว้ทีดูดีร้าย |
แต่ประทับอยู่ข้างนอกออกขุนนาง |
จนนภางค์เผือดร้อนตกตอนบ่าย |
เสด็จลงเรือที่นั่งสั่งฝีพาย |
แจวสู่ค่ายรับพม่าที่หาพบ |
ระยะทางห่างจากน้ำโจนใหญ่ |
แปดเส้นไปถึงที่ทางถางบรรจบ |
ตพานน้ำทำบันไดไว้ครันครบ |
เปนหลายทบถึงฝั่งหลังดินดอน |
แล้วทางไปในดงไม้ไผ่ผาก |
ไม่ไกลมากห้าเส้นเปนดินอ่อน |
ถึงปีกซ้ายค่ายต้นหนทางจร |
เปนตอนตอนคันค่ายรายมูลดิน |
สูงตั้งแต่คืบหนึ่งจนถึงศอก |
เปนขอบบอกแนวไปเห็นได้สิ้น |
รับสั่งให้วัดดูรู้รบิล |
ไม่แหว่งวิ่นสี่เหลี่ยมเท่าเทียมกัน |
ยาวสองเส้นเปนระหว่างกลางวางป้อม |
สี่ด้านห้อมที่เห็นเปนเขื่อนขันธ์ |
ห่างค่ายหลวงสามเส้นเปนสำคัญ |
ค่ายใหญ่นั้นเหลื่อมตั้งฝั่งชลธี |
ยาวหกเส้นเจ็ดวาหน้าลงน้ำ |
ป้อมประจำแปดทิศปิดวิถี |
โดยส่วนกว้างสามเส้นเปนรูปรี |
ดูท่วงทีขึงขันเห็นมั่นคง |
ค่ายปีกขวาเหลื่อมเข้ามาเหมือนข้างซ้าย |
แต่ขยายใหญ่กว้างต่างประสงค์ |
สามเส้นแปดศอกถ้วนส่วนแวดวง |
สี่เหลี่ยมลงเค้าข้างซ้ายลม้ายกัน |
แต่ค่ายใหญ่ไปถึงค่ายปีกขวา |
มีปีกกาทัพสมุทสุดขยัน |
ซ้ายปีกกาโอบมามากมายครัน |
จนไปยันบึงหลังตั้งเหมือนดังคู |
ยาวห้าเส้นเปนระหว่างกลางมีป้อม |
เลี้ยวคดค้อมหักมาท่าต่อสู้ |
ที่ชายหนองกองนูนดินพูนดู |
เห็นมีอยู่สี่ห้าท่ารายพล |
ค่ายใหญ่วางห่างน้ำสามเส้นถ้วน |
เปนขบวนนาคนามตามเหตุผล |
พื้นภูมิที่มีทำนองต้องอย่างยล |
ในเชิงกลพิไชยยุทธดีสุดใจ |
ตามขอบค่ายรายเห็นเช่นดินเผา |
ดูเข้าเค้าอิฐหักประจักษ์ได้ |
คิดคเนกันว่าเห็นจะเปนไฟ |
ลวกลามไหม้เสาค่ายทำลายโซม |
ไม้โคนเสาเผาดินที่หลุมสุก |
ด้วยไฟลุกลามชิดติดฮือโหม |
คงใช้ไม้แก่นมั่นกันจู่โจม |
เห็นไม่โคมคำว่าดูน่าฟัง |
ห่างจากค่ายปีกขวาสิบห้าเส้น |
ลำห้วยเปนสองทางที่ข้างฝั่ง |
ปลายร่วมกันยันตรงสู่ดงรัง |
หว่างห้วยตั้งป้อมไว้ปืนใหญ่วาง |
พื้นป้อมต่ำคเนตาห้าหกศอก |
ที่ขอบนอกเนินนูนพูนสองข้าง |
เหมือนเปนโดยธรรมดาดูท่าทาง |
แล้วสืบสร้างขึ้นอิกสองทำนองกัน |
ได้แนวหน้าสี่วาวางระยะ |
เปนจังหวะไว้ระหว่างให้ห่างคั่น |
ทางปืนตรงลำน้ำคุ้งสำคัญ |
ตลิ่งชันเช่นคิรีที่แขงแรง |
รอบค่ายนี้มิใคร่มีต้นไม้ใหญ่ |
มีแต่ในค่ายเห็นเปนหลายแห่ง |
ด้วยแรกตั้งตัดฟันมั่นกลางแปลง |
อาไศรยแฝงฝั่งชันกันศัตรู |
ที่ฟากฝั่งข้างประจิมริมปลายแหลม |
ตั้งค่ายแนมรับหน้าข้าศึกอยู่ |
กว้างเส้นหนึ่งโดยรอบมีขอบคู |
มีป้อมอยู่สี่ด้านที่ย่านกลาง |
ทรงสงไสยว่าจะไม่เพียงเท่านี้ |
แต่ไม่มีเวลาด้นค้นรอบข้าง |
ต้องตกลงเอาเปนใช้ได้พลางพลาง |
พอเปนทางที่ดำริห์ได้ตริตรา |
ทรงตรวจพงศาวดารสอบฐานที่ |
ความก็มีห้วนห้วนชวนกังขา |
เพราะผู้แต่งไม่รู้แห่งอรัญวา |
เปนแต่ว่าย่อย่อต่อกันไป |
ส่วนค่ายนี้เห็นทีเปนท่ารับ |
หาไช่ค่ายกองทัพยกมาไม่ |
เปนที่มั่นกันแดนแผ่นไผท |
ทั้งโตใหญ่แน่นหนากว่าสามัญ |
จึงลงเห็นว่าจะเปนที่ค่ายหลวง |
การทั้งปวงพร้อมสรรพดูขับขัน |
สอบจดหมายเหตุได้ก็ใกล้กัน |
พอยืนยันยลเค้าเข้าทำนอง |
คือเมื่อครั้งปีมะเมียอัฐศก |
พม่ายกเข้ามาตั้งเปนครั้งสอง |
นับในพระบรมวงศ์ทรงปกครอง |
สืบสนองกรุงทวาราวดี |
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า |
เสด็จปราบดาภิเษกปีที่สี่ |
คำนวณตัดมาถึงปัจจุบันนี้ |
รอยสองปีเปนกำหนดจดประมาณ |
ด้วยพม่ายกมาเมื่อปีหลัง |
ดาประดังตลอดแดนแคว้นสถาน |
ถึงแสนกับสามพันเดชบันดาล |
ให้แตกพ่านพ่ายยับกลับไปเมือง |
ตัวไพร่ตายหลายหมื่นกลับคืนคิด |
จะเติมติดต่อยุทธไม่สุดเรื่อง |
จะเอาไชยใช้ที่รี้พลเปลือง |
เพราะเต็มเคืองคิดอ่านเปนการปี |
องค์อินแซะราชบุตรที่สุดหาญ |
มาคิดการหมายมุ่งเอากรุงศรี |
ตั้งอยู่เมืองเมาะตะมะกะโยธี |
ห้าหมื่นมีหมายประมวญจำนวนพล |
แต่งให้เมี้ยนหวุ่นเมี้ยนเมหวุ่น |
สองคนคุ้นลู่ทางกลางไพรสณฑ์ |
ได้เคยคุมทัพหน้ามาประจญ |
พาพหลสามหมื่นพื้นสกรรจ์ |
เข้ามาทำยุ้งฉางวางค่ายเข้า |
ตามลำเนาแนวทางอย่างกวดขัน |
แล้วลำเลียงข้าวปลามาเนืองนันต์ |
ตั้งค่ายมั่นสามสบคอยรบราญ |
ฝ่ายมหาอุปราชยาตราทัพ |
ดูคั่งคับด้วยพหลพลทวยหาญ |
มาตั้งแม่กษัตรยั้งคอยฟังการ |
ได้คิดอ่านราวีให้มีไชย |
ฝ่ายที่กรุงทราบสารโองการตรัส |
ให้เร่งจัดทัพทั้งสองเปนกองใหญ่ |
พลทัพหน้าสามหมื่นพื้นเกรียงไกร |
ส่วนหนึ่งในวังหน้ากล้าสงคราม |
เจ้าพระยารัตนาพิพิธนั้น |
คุมพลพรรค์วังหลวงทั้งปวงหลาม |
เข้าสมทบทัพหน้ายาตราตาม |
ไม่เข็ดขามขยาดย่อต่อดัสกร |
สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า |
ทุกแหล่งเล่าฦๅไชยไหวกระฉ่อน |
เปนจอมพลโยธาทัพหน้าจร |
จากนครสู่สถานด่านอัสดงค์ |
ทัพหลวงพลสามหมื่นพื้นอาสา |
กุมศัสตรายุทธแย้งเครื่องแผลงผลง |
กรมพระราชวังหลังทั้งพระวงศ์ |
เข้าควบคงโดยเสด็จดำเนินพล |
ยกยาตรามาทางสุนัขหอน |
ผ่านนครเข้าในแนวไพรสณฑ์ |
มาโดยลำแม่น้ำน้อยเนื่องตำบล |
จนลุดลไทรโยคยั้งโยธา |
ให้ดำเนินพลไกรไปทางบก |
ท่านสมุหนายกเปนกองหน้า |
ดำเนินก่อนตอนรองที่สองมา |
สมเด็จพระอนุชาคุมทัพไชย |
ดำเนินถึงท่าขนุนระยะนั้น |
จึงคลี่คลายพลขันธ์กระบวนใหญ่ |
หนุนกันเปนจังหวะระยะไพร |
ทัพหน้าใกล้สามสบพบศัตรู |
ตั้งค่ายมั่นกระชั้นชิดปรปักษ์ |
หวังหาญหักรบรอไม่ย่อยู่ |
ทัพวังหน้าหนุนหลังตั้งค่ายคู |
คอยรอสู้ที่สองรองลงมา |
ระยะทางห่างห้าสิบเส้นถ้วน |
เกลือกแปรปรวนประทะทัพรับต้านหน้า |
กองทัพหลวงแหล่หลามมรคา |
ยั้งโยธาทัพใหญ่ที่ในดง |
ระยะทางห่างเจ็ดสิบเส้นเศษ |
คอยฟังเหตุผ่อนเพิ่มเติมพลส่ง |
ฝ่ายทัพหน้าได้ประจญรณรงค์ |
พม่าองอาจหาญออกราญรบ |
สามทิวาก็ระอาอำนาจฤทธิ |
ไม่ต่อติดตื่นแยกแตกตลบ |
ฝ่ายทัพไทยไล่สวนตีทวนทบ |
แต่สามสบจนกระทั่งหลังคิรี |
พิเคราะห์ความตามในจดหมายเหตุ |
กับประเทศทำนองในท้องที่ |
ก็เห็นส่อสมเค้าเข้าท่วงที |
ทางแต่นี้ถึงสามสบครบหกวัน |
ถึงมิใช่ค่ายประชิดติดข้าศึก |
ก็ควรนึกคาดเห็นเปนที่มั่น |
เพราะเปนท่านาวาประชุมกัน |
จัดทับเทียบพลขันธ์เข้ากระบวน |
ทั้งเปนที่สระสมสเบียงทัพ |
ทั้งรบรับปรปักษ์เผื่อหักหวน |
ถูกเยี่ยงอย่างสงครามตามสมควร |
ทรงสอบสวนดูเห็นความเช่นนี้ |
เสด็จลงนาวาที่หน้าค่าย |
ข้ามฟากฝ่ายตวันตกวกวิถี |
ขึ้นประพาสเหนือน้ำลำนที |
มีคิรีริมฝั่งตั้งเรียงราย |
ล้วนชั้นเชิงเพิงผาท่าหลายอย่าง |
ตามขอบข้างท้องคุ้งยุ่งใจหาย |
ที่หัวแหลมนั้นก็เห็นเปนหาดทราย |
แต่เชิงชายชันตั้งไปทั้งนั้น |
ตะไคร้น้ำแถบนี้มีแต่แหลม |
ขึ้นแซกแซมต้นแว่แผ่ผกผัน |
ส่วนท้องคุ้งเนินคิรีมีแต่พรรณ |
กอไม้รวกเรียงรันโหรงขึ้นไป |
บ้างท้องที่นั้นก็มีไม้ไผ่ผาก |
เปนหมู่มากลำห่างสว่างไสว |
บางแห่งเปนดงยืดมืดหมู่ไพร |
ต้นไม้ใหญ่ดังศิขรดูซ้อนซับ |
เสด็จไปสี่เลี้ยวเจียวเทียบทบ |
พอตกพลบค่ำเสร็จเสด็จกลับ |
เกือบทุ่มหนึ่งจึงถึงที่ประทับ |
เสวยสรรพแซ่เสียงกะเหรี่ยงรำ |
เข้ามามีที่ข้างในฉันได้เห็น |
เริ่มแรกเต้นไม้เคาะเปาะเปาะร่ำ |
เช่นเห็นแล้วแต่วานซืนคืนนี้ซ้ำ |
หัวเห็ดย้ำสองอย่างไม่ต่างกัน |
ต่อนี้ตีเถิดเทิงกะเหรี่ยง |
มีฉาบตอดสอดเสียงสำเนียงขัน |
มีผู้ชายร่ายรำทำพัลวัน |
ดูคล้ายพรรค์ฟ้อนแคนแกนเต็มที |
พวกผู้หญิงร้องเพลงวังเวงเสียง |
เข้านั่งเคียงเรียงรันกันทั้งสี่ |
เอระกะช้าใจเห็นใช้มี |
ลงท้ายถี่ซ้อนซ้ำย้ำเนืองเนือง |
เสียงเอเอร่ำไปนับหลายร้อย |
แต่นั่งคอยฟังเค้าไม่เข้าเรื่อง |
ภาษาผิดเราไกลใช้ยักเยื้อง |
เหมือนต่างเมืองกันมาน่ารำคาญ |
ในการเล่นเห็นทีเดียวก็เรียนได้ |
แต่จนใจเรื่องร้องซ้องประสาน |
โสกกระไทยสนุกกว่าดูอาการ |
โปรดประทานรางวัลทั่วทุกตัวคน |
ค่ำวันนี้มีลูกพระวังหิน |
เปนหัวหน้าอยู่ในถิ่นแถวไพรสณฑ์ |
หน้าเอนดูนักหนากล้ากว่าคน |
มาเฝ้าบนพลับพลาหน้าตาดี |
ภาษาไทยก็มิใคร่จะรู้จัก |
ใครทายทักตอบภาษาว่าอู้อี้ |
ดูร่างใหญ่อายุได้สิบเอ็จปี |
ค่ำวันนี้ประทานสร้อยร้อยสวมฅอ |
ล้วนเงินบาทเฟื้องสลึงตรึงสายลวด |
เจาะร้อยกวดติดกันคั่นต่อต่อ |
ดูก็เห็นงามดีมั่งมีพอ |
ทั้งแม่พ่อดีใจไม่มีปาน |
ทั้งไปเฝ้าที่ข้างในได้อิกหลาย |
เต็มสองฟายมือรับกลับไปบ้าน |
เห็นจะนับเปนเศรษฐีมั่งมีนาน |
ทั่วทั้งย่านไม่มีสู้เด็กผู้นี้ |
เขาชื่อว่าซอลาพอต่อไว้หน่อย |
ฉันลืมลอยหลงเหลือเมื่อตะกี้ |
ลองชวนให้เข้าไปอยู่ในบุรี |
กลัวเต็มทีล่ออย่างไรไม่ยินยอม |
เข้าที่นอนนิ่งฟังน้ำหลั่งไหล |
กิ่งกล้วยไม้แขวนตรงส่งกลิ่นหอม |
ถึงมีทุกข์ปลุกปลื้มจนลืมตรอม |
เหมือนขับกล่อมยวนใจให้ไสยา |
จะอยู่นี่อีกราตรีเดียวเท่านั้น |
เสียดายครันคงไม่สิ้นถวิลหา |
เปรมกมลจนหลับกับนิทรา |
จบสาราเรื่องราวที่กล่าวกลอน ฯ |