๏ เมื่อตอนเช้าปรอทหนาวหกสิบสี่ |
มากกว่าเมื่อคืนนี้นับขีดขาน |
แต่ร้อนนั้นราวกันกับเมื่อวาน |
แต่อายแดดดูประมาณไม่จัดนัก |
เวลาบ่ายเสด็จลงสรงสนาน |
เหมือนเมื่อวานว่าไว้ได้ประจักษ์ |
แต่ไม่นานสรงอยู่สักครู่พัก |
เสด็จคืนสู่สำนักที่นั่งใน |
พอบ่ายสี่โมงครึ่งถึงเวลา |
ก็เสด็จไคลคลาหาช้าไม่ |
ทรงเรือคอนโดเล่อล่องลงไป |
ยังบ้านไร่ใต้น้ำกาญจน์บุรี |
นาวาล่องมาตามท้องนทีธาร |
เห็นเรือพ่านจอดหลามตามวิถี |
เรือในกรุงจอดคุ้งฟากข้างนี้ |
เรือค้าขายรายที่ข้างหน้าเมือง |
ไปหน่อยหนึ่งถึงแพรกแม่น้ำน้อย |
แลเห็นดอยยาวตั้งอยู่ข้างเขื่อง |
ไม้ตะพดขึ้นสพรั่งประนังเนือง |
แลออกเหลืองไปทั้งเขาดูเข้าที |
ถึงหาดทรายปลายแหลมเลียบเข้าจอด |
ตะพานทอดเทียบเข้าไปได้ถึงที่ |
เดินตามหาดทรายล้าช้าเหลือดี |
สักสามสี่เส้นได้ไปพลับพลา |
อย่างยี่ปุ่นปันไว้ข้างในข้างนอก |
เข้าโพดรอบรายดอกดกนักหนา |
แก่เสียมากด้วยว่าเนิ่นเกินเวลา |
ต้องเสาะหาเปลือกเขียวเหลียวชำเลือง |
แตงอุลิตติดจะน้อยในไร่นอก |
ฉลากบอกไว้มีที่สุกเหลือง |
ฉันมองดูกลิ้งอยู่ออกนองเนือง |
แต่ลูกเขื่องเต็มทนจนปัญญา |
ที่แถวถั่วฝักยาวขาวเปนพืด |
เห็นเปนยืดยืนเก็บมานักหนา |
ที่ริมนี้มีต้นพริกชี้ฟ้า |
ทั้งพริกล่อนก็เอามาเปนเครื่องแกง |
เจอะมะเขือลูกเดียวเจียวทั้งไร่ |
พบต้นงางงไปไม่รู้แจ้ง |
ต่อถามไต่ได้ความไม่คลางแคลง |
เม็ดยังแดงเพราะไม่แก่แต่เห็นเค้า |
พบยายกริมริมกระท่อมค่อมมาหา |
แกบอกว่าปลูกแตงต้องหยอดเท่า |
ทั่วทุกหลุมมิให้ว่างได้จึงเบา |
หาไม่เต่ามากินสิ้นทั้งนั้น |
ฉันเข้าใจหมายว่าเต่าในน้ำแน่ |
ไปอือออเสียออกแย่นึกก็ขัน |
ถามต่อไปว่าทำไมไม่จับมัน |
ไปให้ปันซื้อขายสบายดี |
แกบอกว่าเต่าบกตัวเหลืองเหลือง |
นึกว่าเรองเต่ากูบเช่นที่นี่ |
/*ถามแกใหม่ว่าเขาใช้กินกันมี |
คนที่นี่เขาไม่กินกันฤๅไร |
แกบอกว่าตัวมันเล็กเหลือจะจับ |
ปีกแขงเหมือนแมงทับกินไม่ได้ |
เล็กเท่าปลายนิ้วก้อยบินก่ายไป |
จึงเข้าใจว่าเต่าทองทึ่งเกือบตาย |
แต่ปลูกไปก็ไม่ได้ต้องรดน้ำ |
จนถึงกำหนดลูกเติบโตหลาย |
ต้องเอาลูกที่ดกลงหมกทราย |
หาไม่หายหวานโสกโพรกแดดไป |
แรกปลูกใหม่ในเดือนสิบเอ็จสิบสอง |
ไม่ขัดข้องคราวดีสี่เดือนได้ |
ของยายกริมเคยทำได้กำไร |
สิ้นทั้งไร่ตลอดปีสี่ห้าร้อย |
แม้ถูกปีที่ไม่ดีเปนคราวขาด |
ได้เพียงยี่สิบบาทก็บ่อยบ่อย |
แล้วกล่าวโทษเจ้าเมืองจ้ำร่ำตบอย |
ว่าโลภใหญ่ใช่น้อยหยุมหยิมนัก |
เล่าว่าเขาวังหีบมีเสือใหญ่ |
ที่ข้างไร่เคยได้ยินเสียงตระหนัก |
พระยาพลับพลาเคยมายั้งหยุดพัก |
ขัดจั่นดักตั้งห้างค้างหลายคืน |
คิดอย่างไรกไม่ได้ต้องไปเปล่า |
ด้วยว่าเปนเสือเจ้ามิใช่อื่น |
เจ้าแม่นี้ศักดิสิทธิฤทธิยั่งยืน |
ใครไม่อาจขัดขืนต้องเคารพ |
แกบูชาขมาโทษท่านทุกวัน |
จึงคุ้มกันไว้มิได้ให้เสือขบ |
มักมาร้องก้องป่าเวลาพลบ |
เงียบเมื่อใดคงได้พบทุกวันไป |
พระราชทานเงินตราห้าตำลึง |
ได้เก็บแตงหน่อยหนึ่งหามากไม่ |
เปนได้มากเต็มทีแกดีใจ |
นั่งทุ่มเหวพวกข้างในใส่พอแรง |
ว่าช่างงามนี่กระไรไม่เคยเห็น |
ดูเหมือนเช่นกับละคอนเขาตกแต่ง |
ชวนร่ำไปแต่จะให้เที่ยวเก็บแตง |
ประจบประแจงทั่วหน้าไม่ว่าใคร |
พอสิ้นแสงสุริยาก็คลาคลาศ |
ออกจากหาดทวนมหาชลาไหล |
น้ำเชี่ยวตืดฝืดช้าเหลืออาไลย |
จนสองทุ่มจึงได้ไปถึงพลับพลา |
การทำไร่ในกาญจน์บุรีนี้ |
พื้นที่อุดมดีเปนหนักหนา |
มีชื่อเสียงดังไปนั้นไรยา |
ที่เรียกว่าเกาะกร่างเปนอย่างดี |
เปนที่สองรองเมืองเพชรบูรณ์ |
ถามไต่ได้เค้ามูลมาถ้วนถี่ |
วิธีทำไร่ยาตำรามี |
พวกเมียจีนเมืองนี้เขาบอกมา |
ว่าลงมือพวนดินในเดือนหก |
เอาแกลบโปรยเม็ดหมกเหมือนตกกล้า |
ไม่เว้นงดรดน้ำทุกเวลา |
ครบเดือนหนึ่งจึงเอามาปลูกชำไว้ |
ยี่สิบวันบรรจบจึงยกร่อง |
แล้วก็ต้องหยุดยี่สิบวันใหม่ |
ถึงกำหนดเด็ดยอดแล้วยั้งไป |
กึ่งเดือนได้ลิดแขนงให้แต่งตัว |
ต่อนั้นไปในกำหนดเจ็ดวันครั้ง |
ลิดแขนงถ้ายั้งแล้วยาชั่ว |
ครบเจ็ดวันเจ็ดคราแล้วอย่ากลัว |
ใบยาจะหนาทั่วถูกวิธี |
แต่ปลูกใหม่มาได้ร้อยทิวา |
ถึงเวลาเก็บใช้เปนได้ที่ |
จึงเก็บใบใกล้ดินที่แก่ดี |
สามราตรีบ่มไว้ให้สุกพลัน |
แล้วฉีกก้านเก็บแต่ใบที่ใช้ได้ |
ม้วนใหญ่ใหญ่เอามาขึ้นม้าหั่น |
ผึ่งแดดวางตากน้ำค้างไว้สามวัน |
ตัดเปนอันอันตามกระบวน |
ห้าอันซ้อนกันนับเปนตั้ง |
ยาลังลังใหญ่นั้นไม่ผันผวน |
สามพันร้อยห้าสิบอันปันจำนวน |
หกร้อยสามสิบถ้วนทางตั้งนับ |
ยาริมดินเลวไปสูบไม่ได้ |
ถึงกลางต้นพอใช้ไม่จำหนับ |
ต่อใบยอดอย่างดีที่บังคับ |
ขายราคาว่าลำดับเอกโทตรี |
ยอดยาดีนั้นว่ามีต้นละใบ |
แล้วยังไม่เหมือนกันไปทุกที่ |
ต่อบางไร่เจ้าของไร่บำรุงดี |
จึงจะมีน้ำมันมากไม่ผากคลาย |
อันไร่ยาถ้าทำถึงสามปี |
ต้องเปลี่ยนที่เพราะว่าจืดจำขยาย |
ยาเมืองนี้ปีหนึ่งออกมากมาย |
เคยจำหน่ายทุกปีมากว่าหมื่นลัง |
แต่พวกไทยไม่ใคร่จะทำมาก |
เพราะลำบากจู้จี้เปนที่ตั้ง |
จีนเขยสู่เปนผู้ทำประจำรัง |
สิ่งอื่นยังมีบ้างในทางนี้ |
ยังไรฝ้ายไร่อ้อยน้อยไม่มาก |
เพราะโรงหีบหายากอยู่ที่นี่ |
ถึงว่าอ้อยตาลพานจะดี |
ก็ไม่มีทุนทำจำต้องงด |
ยังไรพริกมากมีที่ศรีสวัสดิ์ |
ผลไม้ข้องขัดอยู่ข้างอด |
ส้มโอกล้วยเปนดีของมีรส |
แต่กินหมดกันไปในเมืองนี้ |
จนหมากพลูก็อยู่ข้างจะขัดสน |
แม่กลองต้องทนส่งมาถึงนี่ |
นาเข้าทำไม่ใคร่จะได้ดี |
กินเข้าที่หนองขาวแลบ้านน้อย |
มักวิบัติขัดข้องด้วยน้ำท่า |
เข้าปลาไม่ใคร่ดีมีบ่อยบ่อย |
ต้องกินเข้าต่างเมืองฝืดเคืองคอย |
เข้านับร้อยเกวียนมีที่เข้ามา |
ส่วนคนไทยเลิกนาแล้วหาฝาง |
ไม้แดงเสาส้างเที่ยวเสาะหา |
ไม้สักไม้เต็งรังตั้งตัดมา |
ไม้ไผ่ป่าไม้รวกหลายร้อยแพ |
บันทุกเกวียนขนลงสู่ท่า |
แล้วปล่อยลอยล่องมาตามกระแส |
แต่ไม้สักข้างนี้ไม่ดีแท้ |
มีอยู่แต่ตามระยะสระสี่มุม |
ส่วนผักปลาหาไม่ได้ถึงขายซื้อ |
จำนวนชื่อที่ว่าเปนเห็นเกลื่อนกลุ้ม |
ปลากระพากปลาตะเพียนพอมีชุม |
ปลากดปลาเค้าคุ้มค่าคนกิน |
แต่ปลาดุกปลาช่อนชั้นปลาหมอ |
ต้องเที่ยวถ่อมาแต่ราชบุรีสิ้น |
คนในเมืองนี้ก็ไม่ใคร่จะชิน |
ไม่เปนถิ่นสินค้าข้างปลาเลย |
เอะเพ้อไปได้เปนกองพึ่งรู้สึก |
นี่มิดึกแล้วฤๅทำเจียวกรรมเอ๋ย |
ขอจบทีเพียงเท่านี้ต้องลงเอย |
ไว้เฉลยต่อไปในพรุ่งนี้ ฯ |