๏ จากท้องช้างมาวันนี้สี่โมงครึ่ง |
ชั่วโมงหนึ่งวังกระแจะพอจวบใกล้ |
เพราะฝีพายถูกเอ็ดจึงเข็ดไป |
ไม่ปล่อยไหลลอยลงมาตามวารี |
พอเที่ยงครึ่งถึงแก่งสารวัด |
แปลกถนัดนึกว่าไม่ใช่ที่นี่ |
เห็นศิลาโผล่ขวางกลางนที |
หลายก้อนมีรายระระกะไป |
เมื่อขามานึกว่าเขาตื่นเต้น |
ยังไม่เห็นขึ้นลำบากยากตรงไหน |
ศิลาปริ่มริมน้ำเห็นรำไร |
กลัวเกินไปกว่าที่จริงแต่นิ่งฟัง |
พึ่งเห็นสองวันนี้ว่ามีมาก |
ถึงทั้งยากก็ไม่เข็นเช่นครั้งหลัง |
ไม่เอะอะอออึงเสียงตึงตัง |
บางทีนั่งเผลอไปไม่ทันรู้ |
บ่ายวันนี้หนอช่างร้อนจนอ่อนจิตต์ |
ปรอทชิดเก้าสิบเอ็จจนเข็ดอยู่ |
นานนานทีมีพระพายชายชื่นชู |
พัดอู้อู้พอรงับกลับร้อนรน |
ถึงลุ่มสุ่มคลุ้มฟ้านภาพยับ |
ดูอ้าวอับลมหวนชวนเปนฝน |
บ่ายสามโมงสี่สิบห้าก็มาดล |
ดูเร็วกลกันกับว่ามาเรือไฟ |
เขาเห็นว่าเสด็จมาถึงแต่บ่าย |
จึงถวายทางประพาสจากหาดใหญ่ |
สู่บ้านลุ่มสุ่มตั้งหลังขึ้นไป |
ทางไม่ไกลครู่หนึ่งก็ถึงเรือน |
มีหลังเดียวกับยุ้งเข้าเน่าปรากฎ |
จึงได้งดไม่เสด็จเข็ดเปรอะเปื้อน |
จะไม่ว่าพลับพลาทิ้งนิ่งแชเชือน |
แต่ฟั่นเฟือนเลอะไหลไม่ได้การ |
พลับพลานี้มีปะรำลำเรือจอด |
กว้างตลอดปูลาดสอาดสอ้าน |
ดาดใบไม้เปนปะรำทำเพดาน |
ที่กลางย่านนั้นมีที่อาบน้ำ |
กันเปนกรงลงไปที่ชายหาด |
น้ำขนาดเพียงน่องท่องเย็นฉ่ำ |
มีข่ายลวดขึงตรางวางประจำ |
เห็นคล่ำคล่ำหมู่มัจฉาว่ายมาไป |
ล้วนปลาซิวปลาแขยงลัดแลงลอด |
จำต้องตอดตามเช่นเว้นไม่ได้ |
น้ำเชี่ยวคว้างอย่างจะคล้อยลอยครรไล |
เปนน้ำใสพื้นหาดลาดกรวดทราย |
พลับพลาบกยกขึ้นไปไว้บนหาด |
ประรำขาดกับข้างล่างห่างขยาย |
ต้องขึ้นหาดสูงเหินเดินตกาย |
พลับพลาบ่ายหน้าขวางข้างนที |
เหมือนแห่งอื่นยืนตำราเช่นว่าก่อน |
เปนแต่ผ่อนกันฝาเข้ามาถี่ |
เปนสามตอนท่อนหน้าท่าก็ดี |
กันมุลี่เฉลียงโถงโปร่งด้านใน |
ห้องเข้าที่มีพระแท่นตั้งแน่นอัด |
ดูร้อนจัดจนประทับแทบไม่ได้ |
เพราะหาดต้องแตดตลบอบเข้าไป |
ผ้ากันใกล้บังพระพายไม่ชายเชย |
พอแดดดับเปนพยับพยุฝน |
ครวญคำรนกระหึมฟ้าเจ้าข้าเอ๋ย |
ลมยิ่งจัดพัดรุดไม่หยุดเลย |
จนปัดเผยผ้าค่ายกระจายฟู |
สายวิชชุลดาเข้าตาแปลบ |
เปนไฟแวบวาบจ้าฝนซ่าซู่ |
บัดเดี๋ยวหย่อนผ่อนร่ำตกพร่ำพรู |
ไม่ร้างรู้สักกี่รื้ออื้อสำเนียง |
ฟ้าคนองในนภางค์ครางครั่นครื้น |
ยิ่งกว่าปืนใหญ่ลั่นสนั่นเปรี้ยง |
ดูยังสายอสนีลงที่เคียง |
รู้ว่าเลี่ยงหลีกไม่ได้ใจยังกลัว |
พลับพลาทำไม่สำหรับจะรับฝน |
ทุกแห่งหนตามเหล่านี้มีแต่รั่ว |
หากว่าตกไปยังรุ่งจะนุงนัว |
นี่รอดตัวตกไม่ถึงกึ่งราตรี |
เมื่อเสด็จถึงพลับพลาเวลาบ่าย |
กะเหรี่ยงหลายคนพากันมานี่ |
ของถวายชายข้างจะอย่างดี |
ด้วยว่ามีเสือผู้หญิงเปนสิ่งงาม |
อยากทรงทราบเรื่องกะเหรี่ยงเลี้ยงชีวิต |
จึงได้คิดซักไซ้ไล่เลียงถาม |
เปนข้อข้อพอให้ได้ใจความ |
ฉันเรียงตามจดหมายถวายมี |
กะเหรี่ยงนี้มีชาติหนึ่งต่างหาก |
รูปไม่หลากกันกับไทยในทรงสี |
แต่ภาษาต่างแตกแปลกวิธี |
รู้พาทีภาษาได้ทั้งไทยมอญ |
ประพฤติกายคล้ายกันหมดทั้งสิ้น |
เข้าที่กินทำไร่ใช้ผันผ่อน |
อาศรัยฝนทนทำในที่ดอน |
คอยแต่ต้อนสัตวร้ายทำลายรวง |
ครั้นแก่เกี่ยวเก็บซ้อนเปนฟ่อนมัด |
แล้วฟาดฟัดไปให้ป่นจนเมล็ดร่วง |
แล้วซ้อมเปนเข้าสารไม่ขายตวง |
เปนแต่หวงเก็บไว้กินจนสิ้นปี |
กับเข้านั้นสัตวป่าทั้งปลาผัก |
ทั้งจับดักหนูอ้นจนป่นปี้ |
กับเข้าทำซ้ำอย่างทางวิธี |
ทาเกลือจี่ปิ้งไฟใช้เปนพื้น |
ถ้าแม้ปลาหาได้ใช้ต้มย่าง |
บ้างหมักค้างเปนปลาร้าจนราหืน |
เกลือกระปิเปนเวลามาไม่ยืน |
ลูกค้าอื่นมาจำหน่ายขายเปนรดู |
ผลไม้เผือกมันพรรณแฟงฟัก |
อิกแตงผักทั้งสิ้นปลูกกินอยู่ |
น้ำตาลรสเปนอย่างไรเกือบไม่รู้ |
ต่อมีผู้บันทุกไปจึงได้กิน |
การแต่งตัวหัวไว้ผมมวยหมด |
แต่เกล้าลดทางท้ายทอยหน่อยหน่อยสิ้น |
ถ้าป่วยไข้โรคาเปนราคิน |
ก็มักสินลงถึงโกนโล้นก็มี |
เด็กเด็กใช้ไว้เปียเปนเจ๊กบ้าง |
มีห่างห่างไว้เล่นเปนการอี๋ |
ผู้ชายใช้สวมแต่เสื้อเห็นเหลือดี |
เห็นที่มีนุ่งผ้ามาก็ชุม |
ใช้ส้าโหร่งตาโก้งลายต่างต่าง |
บ้างนุ่งกางเกงสอดตลอดหุ้ม |
ส่วนที่ผมมวยนั้นผ้าพันคลุม |
ที่ห่อหุ้มไปทั้งหัวไม่ทั่วกัน |
ส่วนผู้หญิงนุ่งซิ่นทุกถิ่นฐาน |
เสื้อสครานสอดแสงชอบแดงฉัน |
ปักลูกเดือยหลายอย่างมีต่างพรรณ |
ใช้ปักคั่นลวดลายหลายทำนอง |
ผมมวยมักแสกกลางหว่างกระหม่อม |
น้ำมันหอมนั้นมพร้าวซาวไม่หมอง |
ทั้งหญิงชายไม่มีเว้นเห็นทั้งกอง |
เจาะหูช่องสองข้างกว้างกะไร |
มีตุ้มหูเช่นต่างอย่างม้วนสอด |
เงินตลอดจนทองเหลืองเปนเครื่องใส่ |
สักหลาดแดงบ้างอย่างเลวไป |
สร้อยฅอใช้หลายสิ่งทั้งหญิงชาย |
ล้วนลูกเดือยลูกปัดจัดเรียงร้อย |
ทำเปนสร้อยผูกสอดตลอดสาย |
ห่วงเงินสวมคอไว้ใช้มากมาย |
ดูคล้ายคล้ายญวนใช้ใส่ชินตา |
เรือนกะเหรี่ยงไล่เลียงเอาความได้ |
ใช้เสาไม้แก่นบ้างห่างห่างหา |
เสาไม้ไผ่นั้นเปนพื้นดื่นธรรมดา |
มุงหลังคาไม่ใคร่แปลกแฝกทั้งนั้น |
ไม้ไผ่ผ่าหายากไม่มากหลัง |
ฝาแตะบังบ้างใช้ไม้ไผ่กั้น |
มีระเบียงชานทอดตลอดกัน |
ครัวไฟนั้นตั้งไว้ที่ในเรือน |
ยุ้งเข้าไว้ใกล้ที่นอนอิกตอนหนึ่ง |
ฝาแล่นถึงเรือนอยู่ดูรูปเหมือน |
อุส่าห์ทอผ้าใช้ไม่แชเชือน |
มีกลาดเกลื่อนฟูกหมอนที่นอนปู |
อันหยูกยาที่รักษาเมื่อเจ็บไข้ |
ก็บอกให้สืบกันมาแต่ย่าปู่ |
วิชาแพทย์หมอไม่มีใครรู้ |
เคยทำอยู่แต่ทางข้างผดุงครรภ์ |
แม้นคลอดลูกอยู่ไฟใช้นอนพื้น |
เพียงเจ็ดคืนอย่างช้าไม่กว่านั่น |
รกเด็กกรอกกระบอกไม้ไปฝังกัน |
ไม่ฉนั้นซอกคบไม้ไว้ก็มี |
อันโรคาที่รักษากันอยู่ได้ |
คือจับไข้คลอดลูกทำถูกที่ |
โรคผิวหนังนั้นยังไม่เคยมี |
คนพวกนี้เด็กผู้ใหญ่มิได้เปน |
สำหรับบุรุษอย่างไรไม่รู้จัก |
จนถามซักไม่มีใครได้เคยเห็น |
มีโรคจรจำลำบากต้องยากเย็น |
ไม่ว่างเว้นถ้าถึงตายวายชีวี |
โรคพยุปัจจุบันนั้นขยาด |
กับฝีดาดถ้าแม้เปนแล้วเล่นหนี |
ฤๅพาไปทิ้งไว้ในพงพี |
กำลังมีอยู่ไม่ตายวายชีวา |
เมื่อคราวหลังรับสั่งให้ปลูกไว้ |
ได้พ้นไภยไปไม่น้อยถึงร้อยกว่า |
คราวเสด็จครั้งนี้หนองมีมา |
ก็ทราบว่าปลูกให้ไว้เหมือนกัน |
หมากพลูรู้จักกินกันมาก |
ซื้อลูกค้ามาจากในเขตรขัณฑ์ |
หายางไม้เปอชี่ใช้สีฟัน |
ดำเปนมันไปทั่วทุกตัวคน |
ต้นหมากมีที่สระสี่มุมบ้าง |
แต่เปนอย่างขายไม่ได้ใช้ขัดสน |
ต้นพลูมีอยู่ทุกตำบล |
เขาปลูกจนพอใช้ไม่กันดาร |
ปูนขาวเขาเผาใช้ไม่เจือขมิ้น |
ไม่เคยกินกัดยับจนกลับบ้าน |
ต้นยาสูบปลูกไว้พอใช้การ |
แต่ว่าพานจืดไปไม่ฉุนแรง |
สาสนาว่าถือพระพุทธเจ้า |
แต่ข้อเค้าปฏิบัติไม่ชัดแจ้ง |
จนศีลห้าถามไต่ให้แสดง |
ก็เคลือบแคลงเหลวไปไม่ได้ความ |
อันสวดมนต์ขึ้นต้นอุกาสะ |
แล้วเละละต่อไปต้องไต่ถาม |
ว่าเปนภาษากะเหรี่ยงเสียงโครมคราม |
ไม่ใช้ตามคำมคธบทบาฬี |
ว่าบางคนมีศรัทธามาบวชบ้าง |
แต่เลยค้างอยู่ไม่กลับไปที่ |
มีทั้งโพธารามกาญจน์บุรี |
ที่ถือผืนั้นก็มากหลากหลากกัน |
ผีทุ่งกว้างนางไม้ในพฤกษา |
ทั้งเจ้าดงพงป่าพนาสัณฑ์ |
เข้ารคนสาสนาพาพัวพัน |
เปนเส้นไหว้ไปทั้งนั้นในวิธี |
สิ่งสินค้าขมิ้นชันพรรณเมล็ดฝ้าย |
ได้ซื้อขายกันเปนใหญ่ในที่นี่ |
ยังเครื่องยาต่างต่างบางอย่างมี |
ไม่เว้นปีมีลูกค้ามาเปนนิจ |
บันทุกเกลือเยื่อเคยขึ้นมาขาย |
แลกเมล็ดฝ้ายขมิ้นชันต่อกันติด |
พวกเดียวกันนั้นต่างหาเลี้ยงชีวิต |
มิได้คิดแจกจ่ายแลกขายซื้อ |
การปกครองปรองดองกันเปนหมู่ |
ย่อมมีผู้ใหญ่บังคับที่นับถือ |
แล้วแต่กาญจน์บุรีสั่งตั้งถอดรื้อ |
ล้วนมีชื่อเปนตำแหน่งตั้งแต่งไว้ |
อันถ้อยความเปนอย่างไรไม่ใคร่รู้ |
เพราะต่างคนต่างอยู่มิใช่ใกล้ |
ไม่ต้องเสียส่วยสาอากรใด |
ถูกเกณฑ์ใช้ราชการเปนบางครา |
คือเกณฑ์เสื่อเกณฑ์เครื่องยาให้หาส่ง |
อย่างยิ่งยงก็ไม่เกินไปกว่าห้า |
ครั้งหนึ่งสองครั้งบ้างอย่างธรรมดา |
ผู้เกณฑ์มาแต่สถานกาญจน์บุรี |
วิชาช่างที่เปนอย่างผู้ชายใช้ |
คือตัดไม้ทำเรือนฟันเกลื่อนที่ |
จักตอกสานต่างต่างหลายอย่างมี |
การสตรีเย็บปักทั้งถักทอ |
อย่างอื่นนอกนี้ไปทำไม่ได้ |
หนังสือไม่มีผู้รู้กอข้อ |
หนังสือมอญบางผู้ที่รู้พอ |
อ่านย่อย่อได้บ่างอย่างรวมรวม |
ของทำได้ใช้เองในพวกนี้ |
คือเสื้อผ้าตามมีที่สอดสวม |
ย่ามลว้าประจุล้นของปนกรวม |
ไม่ใช่ร่วมเรียงตนคนละใบ |
เครื่องทองเหลืองเครื่องเหล็กล้วนซื้อสิ้น |
จนหม้อดินโอ่งอ่างกระถางไห |
ต้องคอยคราวลูกค้าพาขึ้นไป |
จึงซื้อใช้ตามของที่ต้องการ |
หลวงพลแจ้งอยู่ในแขวงลุ่มสุ่มนี้ |
พวกหนึ่งมีเรียกกะหร่างอยู่ต่างบ้าน |
ภาษาผิดกับกะเหรี่ยงเพียงประมาณ |
มอญกับม่านต่างเค้าไม่เข้าใจ |
พวกกะหร่างอย่างสกกระปรกยิ่ง |
กินจนกิ้งก่าว่าหาเลือกไม่ |
ที่เรือนอยู่ดูยิ่งกับครัวไฟ |
จะอาศรัยแห่งใดไม่ได้เลย |
ขอจบเรื่องกะเหรี่ยงเรียงเพียงเท่านี้ |
ตามที่มีเค้ามูลทูลเฉลย |
เข้าที่ในเรือที่นั่งเหมือนดังเคย |
ต้องลงเอยกันเสียทีไม่มีอะไร ฯ |