๏ เมื่อคืนนอนไม่ใคร่หลับเพราะนับทุ่ม |
ให้กลัดกลุ้มดวงจิตต์ผิดไฉน |
ข้างธานีฤๅก็มีห่วงใย |
ข้างอยากไปฤๅก็แรงแย่งยื้อกัน |
แปดทุ่มเศษสู้ระงับหลับสนิธ |
เขาสกิดปลุกยังกำลังฝัน |
ว่าไปไทรโยคค้างอยู่กลางคัน |
จำได้มั่นแต่ท้องช้างชลพร่างพรู |
แต่ถิ่นฐานทางไศลให้เลื่อนเปื้อน |
เห็นเลือนเลือนเหลวไหลอย่างไรอยู่ |
เผยเนตรจ้องมองนาฬิกาดู |
เห็นจวนตรู่เกือบสางสำอางกาย |
พอเสร็จสรรพกลับคืนเข้าในห้อง |
นึกถึงต้องจากไกลก็ใจหาย |
ชลเนตรแถวถั่งลงพรงพราย |
ผูกคาดด้ายขวัญตฤกนึกให้พร |
แล้วปลงใจว่าจะไปทุรสถาน |
ทางกันดารเดินพักขยักขย่อน |
ถึงพาไปไหนจะสู้อยู่นคร |
หักใจจรจากตรงลงเรือนมา |
พอตีย่ำรุ่งเสร็จเสด็จออก |
โดยทางนอกข้างในตรงลงไปท่า |
เสด็จลงเรือที่นั่งส่งสัญญา |
เรียกแตรมาเป่ากระทั่งเปนกังวาน |
ให้ดำเนินเดินกระบวนถ้วนทุกหมู่ |
ฉันเปิดดูนาฬิกาน่าขนาน |
ได้ย่ำรุ่งสามสิบสี่มีประมาณ |
จากสถานกรุงเทพดำเนินทาง |
เปนหมอกหนาวขาวสลัวทั่วแม่น้ำ |
ไม่เห็นลำเรือทั่วน่ากลัวขวาง |
ปรอทเจ็ดสิบถ้วนจำนวนวาง |
เปนปานกลางไม่สู้หนาวคราวรดู |
เรือลำทรงองค์นี้มีนามว่า |
ที่นั่งหยอดไนยนานับเปนคู่ |
ฟ้าชายทึ่งที่นั่งรองงามฟ่องฟู |
หนึ่งในหมู่นั้นสมเด็จเสด็จทรง |
เสด็จที่บนเรือต้นคู่ชีวิต |
ลำชื่อพิศพาปลื้มไม่ลืมหลง |
ท่านองค์เล็กลอยกระชั้นจำมั่นคง |
ตราพระองค์มีประจำหน้าลำไว้ |
อิกเจ็ดลำทำเปนเรือประเทียบ |
ในรเบียบชื่อประทานอ่านจำได้ |
ลำหนึ่งแลลืมพริบเพราะกะไร |
ต่อไปสิบลำแลกแซกเสียดกัน |
ยังเรือแปลกเหล่าหลายตามลายขาด |
หนึ่งคล้ายอาสน์สรวงตรงทรงเสกสรร |
ลำหนึ่งล่วงอาสน์หล้ามาเรียงรัน |
อิกลำนั้นชื่อว่าฝ่าชลปลิว |
ลำหลังฉิวเฉียดลมชั่งสมชื่อ |
ลมกระพือเพียงจะพลอยเลื่อนลอยลิ่ว |
ขนาดเดียวกันทั้งผองฟ่องเปนทิว |
ธงรื้วรื้ววายุพัดสบัดปลาย |
รูปเรือเลียนอิตาลีเลี่ยนแหล่งวินิศ |
ประดับประดิษฐเก๋งใช้งามใจหาย |
ทั้งนอกในไม้ประกอบกรอบลวดลาย |
น้ำมันรายทาฉาบปลาบเปนเงา |
ที่ลำดีแพรดวงติดห่วงม่าน |
ล้วนสอ้านสอาดสีไม่มีเศร้า |
ที่สามัญกำมหลิดพิศเพริศเพรา |
เหมือนจะเย้ากมลปลื้มลืมวังใน |
ฝีพายพื้นแต่สกรรจ์เลือกสรรจัด |
ได้ฝึกหัดท่าทางเปนอย่างใหม่ |
พร้อมเรือนำเรือตามหลามครรไล |
แต่ฉันไม่ทราบทั่วเพราะมัวมนท์ |
มองเขม้นเห็นฝั่งเปนครั้งแรก |
เห็นเปลี่ยนแปลกนิ่งพินิจคิดฉงน |
ถิ่นวังหลังตั้งแต่ไรมาได้ยล |
ดูรกจนจะเปนป่าพนาดร |
เดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงใหม่ไม่รู้จัก |
แต่ตระหนักตะพานน้ำจำได้ก่อน |
ได้เคยเห็นที่พระเมรุเจนใจจร |
แล้วถอนมาปลูกไว้ใช้ขึ้นลง |
สำหรับโรงพยาบาลการกุศล |
ได้เพิ่มผลบุญนิธิ์อุทิศส่ง |
คนเจ็บไข้ได้อาศรัยดังใจจง |
มดหมอคงคนผู้อยู่ประจำ |
คอยดูแลปรนิบัติจัดรักษา |
ทั้งเวลาดึกดื่นกลางคืนค่ำ |
อาหารต้มอาหารสวยช่วยหาทำ |
จนชั้นน้ำท่าไม่ให้ขาดเคือง |
ทั้งหยูกยาก็ว่ามีชงัดขลัง |
ชื่อเสียงดังอึงอื้อคนฦๅเลื่อง |
ที่ยากไร้ไปอยู่กันนองเนือง |
ช่วยปลดเปลื้องโรคภัยได้สำราญ |
ชาววังในก็พอใจไปรักษา |
ชมกันว่าสบายใจกว่าไปบ้าน |
จนถึงชั้นพวกผู้ดีที่กันดาร |
ไม่รำคาญเคืองหูอยู่สบาย |
เข้าคลองบางกอกน้อยลอยลิลาศ |
มีแพตาดเนืองนองล้วนของขาย |
คนคอยดูอยู่สพรั่งทั้งหญิงชายเ |
รือแจวพายผ่านห้ามปรามกันอึง |
จะร่ำไปไหนจะจบจนพลบค่ำ |
ดูไม่สำคัญอะไรใกล้นิดหนึ่ง |
ไปพ้นแพอิกเปนนานพานจะซึ้ง |
จึงลุถึงคลองมหาสวัสดี |
ไชยพฤกษมาลาอารามหลวง |
เรือผ่านล่วงข้างเฉวียงเคียงวิถี |
วัดข้างในเข้าไปหน่อยหนึ่งยังมี |
ชื่อว่าศรีปวัศยาราม |
น้ำในคลองที่ตรงนี้ลึกสี่ศอก |
เขาร้องบอกแน่ใจได้สอบถาม |
ไม่นึกว่าน้ำจะแห้งเหมือนแจ้งความ |
แลดูตามตลิ่งลดรทดใจ |
ถึงศาลาเจ้าพระยามุขมาสร้าง |
ไว้ที่ข้างลำคลองสามห้องใหญ่ |
เขาเตรียมฝูงกระบือลากมากกะไร |
ทั้งเชือกใช้คนผู้อยู่พร้อมพรัก |
จมื่นราชามาตยมาบังคับ |
เมืองนนท์รับตามแขวงแจ้งประจักษ์ |
กระบือโยงเชือกลากกระชากชัก |
มีตอหลักข้างคลองต้องตัดฟัน |
ทอดตะพานผ่านลำกระโดงทั่ว |
พอจุตัวกระบือเดินดำเนินผัน |
สองตัวลากกระชากเชือกมักชวนพัน |
ต้องแก้กันเกะกะระทางจร |
เรือก็แล่นรีเรื่อยดูเฉื่อยฉุย |
คิดว่าพุ้ยเลนมาช้าเต็มอ่อน |
บัดเดี๋ยวหัวเรือหันเข้ารันดอน |
ต้องถอยถอนตัวกลับนับหลายครั้ง |
กระบือช้าเชือกคว้าตอรอยตัด |
ต้องตวัดวุ่นวายตามชายฝั่ง |
คนวิ่งตามหลามหน้าดาประดัง |
เสียงตึงตังไปทุกทอดตลอดทาง |
จีนคนหนึ่งเปนกำนันพันรองบ้าน |
พอเชือกพานตอไม้เข้าไปขวาง |
จะขลุกขลักกันอย่างไรไปงัดง้าง |
แล้ววิ่งวางวามวู่ชูมือมา |
ตะโกนก้องร้องว่าข้อมือหัก |
รับสั่งซักไซ้ถามตามกังขา |
ก็ให้การฟั่นเฝือเหลือตำรา |
จนนึกน่าแหนงจิตต์คิดระแวง |
ประทานห้าตำลึงพักขยักไว้ |
จะสืบใหม่ให้สว่างกระจ่างแจ้ง |
ภายหลังได้ข้อความตามทรงแคลง |
แต่พลัดแพลงไปอีกอย่างต่างกระบวน |
ว่ามือหักเห็นประจักษ์เปนจริงแน่ |
เว้นไว้แต่ไม่จำเปนเห็นกันถ้วน |
ไปด้วยฤทธิ์แรงโอเดินโซซวน |
ไปม้วนต้วนเตะคันนาจนหน้าเปิง |
ส่วนใครใครนั้นเขาใช้ไม้ง้างงัด |
ฤๅสาววัดตวัดไปไม่ไหลเหลิง |
จะประทานเติมใหม่ก็ใช่เชิง |
กลัวลเลิงเลยกลมจนล้มตาย |
ที่หลักสามตามคลองเปนโคลนค่น |
ยิ่งไปจนพรมแดนแค่นใจหาย |
น้ำศอกถ้วนล้วนแต่เดินด้วยแรงควาย |
แล่นสบายมาบนเลนอิกเปนนาน |
คลองทวีวัฒนาขุดมาหมาย |
จะชักสายน้ำขวางที่กลางย่าน |
กลับตันยิ่งกว่าเก่าไม่เข้าการ |
น่าสงสารเรือลูกค้าที่มาไป |
ต้องหยุดยั้งคั่งน้ำแสนลำบาก |
จ้างเขาลากบาทหนึ่งจึงไปได้ |
เรือโตโตเต็มราคาเขาว่าไว้ |
สามบาทให้ลากส่งลงนที |
คลองนราภิรมย์นิยมหมาย |
มากลับกลายชื่อใหม่ไฉนนี่ |
เรียกมหาบุรีรมย์งมเหลือดี |
เห็นรอยมีเปนแต่ร่องเหมือนคลองนา |
ถึงหลักห้าเขาว่าน้ำสองศอกคืบ |
จับแจวสืบสวนทางไปข้างหน้า |
น้ำลึกลงโดยลำดับนับถึงวา |
ยิ่งต่อมาก็ยิ่งมากจนบากคลอง |
น้ำเจ็ดศอกเมื่อจะออกแม่น้ำใหญ่ |
แจวครรไลเคลื่อนคล้อยเรือลอยล่อง |
ฉันได้ตรวจนาฬิกานับมาลอง |
ถึงปากช่องตวันตกหกชั่วโมง |
ที่สองข้างทางมาล้วนนาไร่ |
ดูทิศใดก็ล้วนมีแต่ที่โปร่ง |
เจ้าของหนึ่งริมวิถีก็มีโรง |
ต้นไม้โหรงร่มกระท่อมเปนหย่อมราย |
ไม่รื่นรมย์ชมอันใดก็ไม่ขัน |
เหมือนเหมือนกันไปทุกถิ่นสิ้นทั้งหลาย |
ตามแถบนี้ว่าเปนที่นาเจ้านาย |
ได้แจกจ่ายมาแต่หลังครั้งขุดคลอง |
ยามกลางวันร้อนวางอย่างอุกฤษ |
ปรอทติดขีดเค้าเก้าสิบสอง |
เรือก็ช้าน่าเบื่อเหื่ออาบนอง |
แสงแดดส่องม่านขึงยิ่งถึงดี |
ต่อออกไปใกล้ลำแม่น้ำใหญ่ |
จึงได้เห็นบ้านเรือนกลาดเกลื่อนถี่ |
กระโจมด่านแปลกตาริมวารี |
ถึงทาสีใหม่เรี่ยมแต่งเตรียมรับ |
เครื่องบูชาตั้งไว้ที่ในนั้น |
เปนช่องชั้นคู่เคียงเรียงลำดับ |
สุริยฉายบ่ายคล้อยย้อยรยับ |
ลาแจ่มจับชลธารฉาดฉานแดง |
บ้านเรือนริมนทีก็มีมาก |
ปักฉลากบอกตำบลทุกหนแห่ง |
แต่นาวามาทห่างอ่านคลางแคลง |
ตวันแย้งเข้าอิกซ้ำยิ่งทำเฟือน |
บ้านฝั่งซ้ายชายจะมากกว่าฝั่งขวา |
เรือนโรงหนาคนผู้ดูกลาดเกลื่อน |
ต่อไปเปนหย่อมย่านหมู่บ้านเรือน |
ดูมากเหมือนอย่างจะไม่ใคร่ห่างกัน |
มีเรือกสวนฤๅไร่ไม่ใคร่เว้น |
เพราะว่าเห็นไม่ถนัดชัดเจนมั่น |
ทั้งอารามตามลำแม่น้ำนั้น |
เรียงคั่นคั่นบ้านรายหลายตำบล |
แจวทวนน้ำร่ำมากว่าโมงหนึ่ง |
จึงได้ถึงที่ประทับคนสับสน |
ถ้าจะคิดระยะทางมากลางชล |
จรดลได้ขนาดที่คาดไว้ |
เก้าชั่วโมงมีเศษเกือบถึงสิบ |
ประเทียบลิบอยู่ข้างหลังยังไหนไหน |
จนเกือบพลบถึงถ้วนกระบวนใน |
ทางครรไลเก้าร้อยเส้นเปนประมาณ |
ที่ประทับทำไว้ใต้คลองหน่อย |
เปนแพลอยปะรำดาดสอาดสอ้าน |
ดูยาวใหญ่กว้างขวางอย่างสำราญ |
ที่ตรงด้านริมฝั่งตั้งฝากัน |
อันด้านหน้ามีปะรำในน้ำกว้าง |
เรือจอดขวางลำซ้อนพอผ่อนผัน |
ที่ตอนเหนือเปนข้างหน้ามีฝาปัน |
ตอนถัดนั้นที่ประทับลำดับมา |
เรือที่นั่งจอดแนบแอบถนัด |
ห้องสกัดต่อไปใช้กั้นฝา |
ล้วนแต่ผ้าขาวดาดสอาดตา |
แล้วติดผ้าแดงทับสลับลาย |
ตอนต่อไปไว้ทอดเรือประเทียบ |
แต่งเรียบเรียบตลอดแพแลเฉิดฉาย |
ปูเสื่อเจียมพรมมีเก้าอี้ราย |
น่าสบายเหมือนจะพักสักเจ็ดคืน |
ที่ตรงข้ามตามโคมน้ำมันหิ้ว |
เปนแถวทิวทอแสงแดงสดื้น |
ยาวจนสุดไนยนาพาครึกครื้น |
ดูเริงรื่นคล้ายอิลูมิเนชัน |
เรือล้อมวงกงกำประจำที่ |
จุดโคมสีมีสำหรับดูขับขัน |
เสียงเคาะฆ้องแข่งขานประสานกัน |
เรือผายผันขึ้นล่องร้องทักทาย |
ท่านผู้หญิงสุ่นมาเวลาค่ำ |
อยู่คอยทำเครื่องร้อนร้อนผ่อนถวาย |
ลงเรือสำปั้นเปล่าบ่าวหญิงพาย |
ทั้งแจกจ่ายเรือข้างในไม่เว้นตัว |
พระยานครไชยศรีที่เปนบุตร |
ก็ดีสุดการงานพานยังชั่ว |
พวกผู้ร้ายบ้ายผาพากันกลัว |
ด้วยไม่มัวเมาทางข้างสบง |
รับสัญญาบัตรมาว่าการใหม่ |
จะยังไม่ถึงปีมีประสงค์ |
จะหาชอบประกอบนามตามจำนง |
ได้สืบวงศ์รับกิจต่อบิดา |
จัดการสรรพรับเสด็จเปนการด่วน |
ทำถี่ถ้วนถูกรบอบชอบหนักหนา |
คิดรอบคอบไม่รคางข้างมึนชา |
ควรชมว่าคนคนนี้เขาดีจริง |
กลางวันนั่งมายังค่ำแสนลำบาก |
มันให้อยากแต่จะเอนรเนนนิ่ง |
จะเขียนไปก็ให้ป่วนชวนเวียนวิง |
ขอจบทิ้งทอดไว้ในเท่านี้ ฯ |