๏ บ่ายสี่โมงข้ามมาท่าทำเนียบ |
หนทางเรียบปราบรื่นลื่นไถล |
เลี้ยวข้างขวามรคาเมื่อขึ้นไป |
เดินไปในหว่างตลาดคนกลาดกลา |
ไม่เปนโรงเปิดโถงเช่นที่อื่น |
รั้วไม้รวกกั้นยืนเปนขอบฝา |
ประตูบ้านร้านตั้งติดกันมา |
ขายสินค้าหลายอย่างต่างต่างกัน |
ที่เมืองนี้นั้นไม่มีอะไรมาก |
หาของฝากไม่ใคร่ได้ดังใจฉัน |
มีแต่ยาฤๅก็ดูอยู่ข้างอัน |
แต่กระนั้นยังต้องตรุดสุดปัญญา |
เขาขายกันนั้นแต่ชั่วยาลังใหญ่ |
ต้องสั่งให้ทำเล็กเล็กเที่ยวเลือกหา |
คนอื่นซื้อเขาไม่ขายเพราะหมายมา |
สำหรับว่าเปนอย่างขายข้างใน |
ลังสี่เหลี่ยมเอี่ยมตาซ้อนห้าชั้น |
แต่กระนั้นหาซื้อไม่ใคร่ได้ |
ลังรีหนึ่งขายสลึงกับสองไพ |
ห่อกระดาษเล็กใหญ่ก็ยังมี |
เสื่อนอนหวายขายราคาห้าสลึง |
อิกแห่งหนึ่งบาทเฟื้องเื้องอย่างหนี |
ไปอิกแห่งบาทหนึ่งลดถึงดี |
ไม่รู้ที่จะกำหนดแน่อย่างไร |
แต่คิดไปก็อยู่ในเปนเรื่องตรุด |
จะเอายุตติลงคงไม่ได้ |
กระแจะตนาวที่นี่เขามีใช้ |
ฉันซื้อได้ยี่สิบอันต่อเฟื้อง |
ของนอกนี้ไม่เห็นมีอะไรขาย |
ล้วนผ้าขาวผ้าลายของทองเหลือง |
ซื้อบางกอกออกมาขายหัวเมือง |
ไม่ได้เรื่องรำคาญขี้คร้านดู |
ของสดคาวผักหญ้าก็หายาก |
แสนวิบากเต็มเบื่อแต่เนื้อหมู |
แต่ยังดิบดำอย่างไรก็ไม่รู้ |
เป็ดไก่เกือบไม่มีผู้จะกินเปน |
แต่สัตว์ป่าพรานหามาได้บ้าง |
อีเก้งกวางนกไก่ฉันได้เห็น |
มักได้มาในเวลาตอนเย็นเย็น |
คนเครื่องเล่นกันท่าไรไม่ได้ความ |
เหลวกันไปไม่ได้ตั้งเครื่องถวาย |
เลยวุ่นวายจนกระทั่งครั้งที่สาม |
เกือบต้องทิ้งชลธารพานจะงาม |
ออกเกิดคร้ามเลยตั้งจนคั่งกัน |
ตามตลาดดาดประรำผ้าขาวเทศ |
ที่วิเศษเสื่อปูดูคมสัน |
โต๊ะบูชาหน้าเรือนเหมือนเหมือนกัน |
มีลูกจันทน์นับหมื่นดื่นไนตา |
บ้างถือมานั่งอยู่ชูพานถวาย |
คนเรี่ยรายอยู่ทุกบ้านขนานหน้า |
เรือนที่นี่มีล้วนแต่แฝกคา |
ที่เปนฝากระดานน้อยไม่ค่อยมี |
มีตึกตั้งหลังเดียวเจียวทั้งย่าน |
คือที่บ้านจีนแสสิ้วซิ้วเต็มที่ |
ทูลถามว่าถ้าจะเฝ้าท่านคราวนี้ |
ใช้วิธียืนฤๅนั่งเปนอย่างไร |
รับสั่งว่าใช้ตำราอย่างโค้งโค้ง |
แกลุกขึ้นตะโพงพุ้ยเสียใหญ่ |
แล้วมีศาลเจ้าจีนต่อออกไป |
ชื่ออาเหนียเรี่ยไรทำไว้พลัน |
ต่อนั้นไปก็ไม่เปนท้องตลาด |
บ้านเรือนลาดเรียงชิดติดเปนหลั่น |
แลเห็นป้อมกำแพงเมืองดูเนื่องกัน |
ประตูใหญ่สร้างสรรค์อย่างหอรบ |
กำแพงยาวสิบสองเส้นเปนคำว่า |
มีเศษสิบสองวาเพิ่มบรรจบ |
กว้างห้าเส้นห้าวาวัดมาครบ |
ประตูใหญ่ได้พบแปดประตู |
ยังช่องกุดใบสีมาว่ามีสอง |
ป้อมมีหกเห็นทำนองนั้นเปนคู่ |
เขาถางเตียนเลี่ยนตาเห็นน่าดู |
จึงได้สู้จดจำเปนตำรา |
เข้าประตูดูเชิงเทินเปนเนินลาด |
ยุรยาตรไปตามทางเห็นข้างหน้า |
ศาลากลางอยู่ข้างมรคา |
ไม่มีฝาห้าห้องท้องกระดาน |
ดูทำอย่างเกลี้ยงเกลี้ยงเฉลียงรอบ |
มิได้ไปสวนสอบถึงสถาน |
เดินค่อยค่อยหน่อยหนึ่งมิได้นาน |
ก็ถึงศาลเทพารักษ์พระหลักเมือง |
ก่อนผนังหลังคากระเบื้องทราย |
มีเขื่อนรายเรียงจังหวะระยะเนื่อง |
ชรอยจะศักดิสิทธิ์ฤทธิเรือง |
เห็นมีเครื่องตุ๊กตามาตั้งไว้ |
เจว็ดเห็นเปนจอมปลวกขึ้นบวกพอก |
ทีจะงอกมานานพานจะใหญ่ |
ศาลทรงเมืองเรืองฤทธาอยู่ขวาไป |
ศาลเสื้อเมืองปลูกไว้ข้างซ้ายมือ |
ศาลเสาไม้แก่นมุงกระเบื้อง |
ได้รับเครื่องบวงบนคนนับถือ |
เห็นยายกริมริมประตูดูจั๊บปรือ |
ถือหนังสือคอยถวายรายผัวแก |
เปนกรมการพนักงานเก็บอาวุธ |
ขอยกบุตรทำไร่ใกล้กระแส |
แกช่างพูดไม่หยุดปากมากแท้แท้ |
เสียงอ้อแอ้ออดไปไม่ขาดคำ |
เข้าประตูต่อไปอยู่ใกล้ติด |
มีตึกปิดบานประตูดูเก่าคร่ำ |
มีเรือนคนที่รักษามาประจำ |
อยู่ในกำแพงรอบเปนขอบคัน |
มีตึกดินอยู่ข้างหลังตั้งตามขวาง |
ทำเปนตึกอย่างโบราณพานจะมั่น |
ไว้อาวุธมีเฉลียงอยู่เคียงกัน |
ประตูปิดประแจลั่นประจำไว้ |
เก็บปืนคาบศิลาขานกยาง |
ปากนกกระสุนกลางเล็กแลใหญ่ |
เปนเมืองด่านเตรียมการเครื่องชิงไชย |
จะได้ใช้คุ้มครองป้องกันแดน |
นึกว่าหมดกันเท่านี้ทีจะกลับ |
รองเท้าคับยิ่งยวดมันปวดแสน |
เหยียบลงไปไม่สนัดพลัดคลอนแคลน |
ปวดปลาบแล่นถึงหัวใจไม่อยากจร |
ออกจากนั้นครรไลไม่หยุดยั้ง |
ถึงหลักฝังอาถรรพ์กันแต่ก่อน |
เมื่อสำเร็จเสร็จสร้างการนคร |
มีอักษรจาฤกหลักศิลาไลย |
ปรากฎเปนสำเนาเค้าคดี |
ใจความตามที่มีอ่านได้ |
ว่าเดือนสี่ค่ำวันนั้นว่างไว้ |
มโรงใช้ศกสี่พิธีกาล |
ได้สวดมนต์ทุกประตูแลหมู่ป้อม |
กลางเมืองพร้อมกันทั่วทุกสถาน |
ยิงปืนใหญ่ได้สามทิวาวาร |
ตั้งศาลาท่อทานทิ้งกัลปพฤกษ์ |
มีละคอนโขนหนังทั้งจีนไทย |
เพลงปรบไก่ตามลบองเสียงก้องกึก |
ดอกไม้เพลิงจุดกลางคืนเสียงครื้นครึก |
ดูพันฦกไทยทานการทั้งปวง |
แผ่กุศลจนข้างปลายมีรายงาน |
ที่ทำการซ้ำอิกทีที่แล้วล่วง |
เครื่องอาถรรพ์พรรณาว่าถึงทวง |
แผ่นทองแดงโดยกระทรวงส่งออกมา |
ราชสีห์คชสารแลรูปเต่า |
กลับมาเข้าพิธีตามที่ว่า |
ฝังลงไว้ในพื้นพสุธา |
ที่ตรงหลักศิลาจาฤกนี้ |
ลงปลายกลายเปนอธิฐาน |
ขอนิพพานดับทุกข์เปนสุขี |
ข้างหลังซ้ำลงวันแลเดือนปี |
อันดิถีที่สมโภชนครนั้น |
ในวันจันทร์เดือนสี่ปีที่อ้าง |
ในข้างแรมสิบสามคำจำได้มั่น |
ศักราชพันร้อยสร้อยสำคัญ |
เก้าสิบสี่ปีวันที่กอบการ |
ในจดหมายข้างท้ายนั้นบอกว่า |
มิใช่ปฤศนาอย่าล้างผลาญ |
กระเทาะยับไปเสียบ้างคนจัณฑาล |
จนถึงอ่านต่อไปไม่ได้ความ |
ถึงจดหมายไว้เช่นนี้มีจะแจ้ง |
ยังคิดแคลงโดยหวังไม่ฟังห้าม |
ขุดกันเสียออกเปรอะเลอะลามปาม |
ตรวจดูตามหลักนี้ไม่มีอะไร |
ออกจากนี้จรลีต่อไปอีก |
ถ้ามีปีกแลจะบินไปจงได้ |
ให้เท้าลอยห้อยอยู่รู้แล้วไป |
เดินไม่ไหวล้าหลังเหื่อพรั่งมา |
มีรั้วบ้านในปราการนั้นน้อยแห่ง |
ด้วยหน้าแล้งดอนจัดขัดน้ำท่า |
ออกประตูช่องกุฏิย้อนกลับมา |
เดินผ่านหน้าป้อมใหญ่ย่านกลางเมือง |
เปนป้อมซ้อนสองชั้นปันจังหวะ |
วางระยะปืนใหญ่ไว้แนวเนื่อง |
โรงจากปลูกครอบใหม่ไว้นองเนือง |
โรงกระเบื้องของโบราณพานจะน้อย |
เสด็จสู่วัดเหนือเมื่อขากลับ |
พระสงฆ์รับอยู่ที่หน้าพากันถอย |
ไปรับเสด็จที่ศาลาพร้อมหน้าคอย |
ไปรับสั่งด้วยสักหน่อยแล้วครรไลย |
ทอดพระเนตรเขตรอุโบสถสถาน |
ท่านสมภารร้อปลงลงทำใหม่ |
ที่ชานวัดจัดปรุงเครื่องบนไว้ |
เรี่ยรายได้ยี่สิบชั่งยังไม่พอ |
พระราชทานเงินจำนวนถ้วนสิบชั่ง |
สมภารยังอ้อยอิ่งวิงวอนขอ |
ให้ทรงช่วยอุปถัมภ์ร่ำงอนง้อ |
ในการต่อไปยังมากยากจะทำ |
อ้างถึงเมื่อเสด็จมาคราวหลัง |
ได้รับสั่งให้เจ้าเมืองอุปถัมภ์ |
ถูกจำเพาะเหมาะคราวถึงแก่กรรม |
จึงเลยค้างร้างร่ำมาช้านาน |
ทรงรับไว้ว่าจะให้เขาช่วยบ้าง |
แม้ขัดขวางอย่างไรให้ไขขาน |
พระทั้งวัดปัจจัยมูลประทาน |
แต่สมภารได้สองครั้งทั้งเมื่อเช้า |
พระที่ตามเสด็จมาห้าสิบสาม |
ทั้งพระเมืองนี้ตามเข้าไปเฝ้า |
พระราชทานจีวรแพรแลเปนเงา |
วัตถุเท่าราคาห้าตำลึง |
เข้าสารจ่ายถวายไปให้พอฉัน |
กับลูกศิษย์ด้วยทั้งนั้นจ่ายจนถึง |
อยู่อาศรัยในกุฎีวัดนี้จึง |
มาเฝ้าอิกครั้งหนึ่งพร้อมหน้ากัน |
แล้วเสด็จครรไลไปเต็นหนึ่ง |
ซึ่งพระยานรรัตนป่วยอยู่นั่น |
ด้วยว่าเปนลำบากมากมายครัน |
จึงโปรดให้ผายผันกลับกรุงไกร |
เสด็จกลับค่ายหลวงล่วงเวลา |
เห็นจะกว่าทุ่มหนึ่งถึงไปได้ |
ประทับอยู่ท้องพระโรงช้ากระไร |
ทรงหนังสือเข้าไปที่ในวัง |
อันเมืองกาญจน์บุรีนี้สร้างใหม่ |
เมืองเก่าเขาชนไก่เปนที่ตั้ง |
พม่าลาดกวาดคนไปหลายครั้ง |
อิกทั้งยากแค้นแสนกันดาร |
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าพิภพ |
ทรงปรารภสร้างใหม่ให้ไพศาล |
จึงย้ายมาปากแพรกแปลกโบราณ |
ประสงค์การค้าขายฝ่ายราชบุรี |
อันเมืองนี้นับเปนที่สำคัญได้ |
จอมไผทได้เสด็จมาถึงนี้ |
ไม่ว่างเว้นราชการงานธานี |
ทั้งเปนที่ประพาสบ้างในบางครา |
เมื่อรัชกาลพระประถมบรมราช |
เสด็จยาตราทัพรับพม่า |
แต่แรกปราบดาภิเษกมา |
ที่ลาดหญ้าหยุดประทับรับดัสกร |
ครั้งที่สองต้องเสด็จยกพหล |
บรรลุดลไทรโยคย่านศิขร |
ทรงนิพนธ์บทบาทนิราสกลอน |
ยังปรากฎเกียรติขจรจนบัดนี้ |
ครั้งที่สามข้ามแดนแคว้นสถาน |
ไปรุกราญเมืองทวายกระจายหนี |
แล้วหนุนทัพออกมารับพระองค์ชี |
นับเปนคราวที่สี่มีนิยม |
ส่วนสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า |
เสด็จมาแต่ในแผ่นดินประถม |
โดยเสด็จชนกนาถราชบรม |
ด้วยชิดชมมิได้ขาดคลาศพระองค์ |
รัชกาลที่สามตามที่นับ |
เสด็จมาขัดทัพแลรับส่ง |
ศิลาก่อเขาในวังดังจำนง |
เปนปีหนึ่งจึงได้คงคืนนคร |
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า |
เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่แต่ก่อน |
เสด็จโดยกระบวนทัพรับครัวมอญ |
ที่หนีร้อนเข้ามาพึ่งบารมี |
ครั้นต่อไปได้เถลิงถวัลยราช |
ก็เสด็จมาประพาสถึงที่นี่ |
ฉันนับไว้ในปัจจุบันนี้ |
ได้เสด็จกาญจน์บุรีเปนสามครั้ง |
บุรีใดในพระราชอาณาเขตร |
ยกแต่ที่มีนิเวศน์ประจำตั้ง |
นับว่าเปนเสด็จถี่มีเรื่องดัง |
ที่กล่าวแล้วมาแต่หลังว่าดังนี้ |
ขอเติมกลอนท่อนปลายเรื่องค่ายหลวง |
กวางทลวงออกมาได้แต่ไม่หนี |
เป็ดไก่ห่านพล่านเดินเพลิดเพลินดี |
ขอจบทีเหลือจดหมดเวลา ฯ |