คำนำ

พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าหญิงผ่อง จะทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ นี้ สมเด็จพระศรีสวินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า มีพระประสงค์จะพิมพ์หนังสือประทานช่วยสำหรับจะได้ถวายแลจ่ายแจกเปนมิตรพลี มีรับสั่งมายังราชบัณฑิตยาสภาให้เลือกเรื่องหนังสือแลจัดการพิมพ์ถวาย ก็เรื่องหนังสือซึ่งเคยพิมพ์แจกในงานมงคลฉลองพระชันษาเช่นนี้ มักเคยพิมพ์พระราชนิพนธ์มาเปนพื้น ข้าพเจ้าเลือกดูหนังสือพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะหาเรื่องซึ่งยังไม่เคยพิมพ์ทีเดียวในเวลานี้ขาดมือยังไม่มี จึงได้เลือกพระราชนิพนธ์กลอนเรื่องไดเอรีซึมทราบกับตามเสด็จไทรโยค ซึ่งเคยพิมพ์ครั้งหนึ่งแต่นานช้ากว่าสิบปีมาแล้ว เปนหนังสือหายาก ผู้ซึ่งยังไม่เคยอ่านก็เห็นจะมีมาก เห็นว่าถ้าพิมพ์ขึ้นอิกครั้งหนึ่ง ผู้ที่จะได้รับไปก็เห็นจะยินดีไม่เลือกหน้า

อธิบาย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันทัดแต่งบทกลอนมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อเสด็จประทับอยู่ณพระตำหนักเดิมสวนกุหลาบ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทระบำแลบทละคอน ระบำนั้นได้มาเล่นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วครั้งหนึ่ง เดี๋ยวนี้หาบทไม่ได้ น่ากลัวจะสูญ สักรวา เพลงยาว โคลง ฉันท์ แลกลอนเบ็ดเตล็ดที่ได้ทรงไว้นั้นมีมาก หอพระสมุด ฯ ได้รวบรวมพิมพ์แล้วแทบทั้งนั้น พระราชนิพนธ์บทกลอนที่ทรงไว้เปนเรื่องใหญ่ คือ

โคลงพระราชพิธีถือน้ำแลคเชนทรัศวสนาน เรื่อง ๑ พิมพ์แล้ว

โคลงดั้นพระราชพิธีโสกันต์ เรื่อง ๑ พิมพ์แล้ว

ลิลิตนิทราชาคริช เรื่อง ๑ พิมพ์แล้ว

บทละคอนเรื่องเงาะป่า เรื่อง ๑ พิมพ์แล้ว

โคลงพระนามพระเจ้าลูกเธอรัชกาลที่ ๔ เรื่อง ๑ พิมพ์แล้ว

บทละคอนเรื่องวงศ์เทวราชเรื่อง ๑ พิมพ์แล้ว

บทกลอนพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีอีกประเภท ๑ ซึ่งเปนจำพวกแกล้งทรงแต่งโดยมีมูลเหตุต่างกัน บางเรื่องทรงพระราชดำริห์เห็นว่าแต่งเปนเรื่องของผู้อื่นทางโวหารจะเหมาะกับเรื่องดีกว่าแต่งเปนพระราชนิพนธ์ของพระราชา จึงทรงพระราชนิพนธ์เปนเหมือนผู้อื่นแต่ง แต่ก็มิได้ปกปิด ในจำพวกนี้มี ๒ เรื่อง คือ

โคลงนิราสท้าวสุภัติการภักดี (นาก) เรื่อง ๑ พิมพ์แล้ว

กลอนตามเสด็จไทรโยค ทรงพระราชนิพนธ์เปนอย่างข้าราชการฝ่ายในแต่งเรื่อง ๑ ซึ่งพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ นอกนี้ที่ทรงพระราชนิพนธ์แทรกอยู่ในเรื่องอื่นเช่นกลอนนิราสรัตนในหนังสือไกลบ้านเปนต้นก็มี

มูลเหตุอีกอย่าง ๑ เกิดทรงเบื่อหน่ายหนังสือชนิด ๑ ซึ่งเจ้านายเรียกกันว่าอย่าง "ซึมทราบ" คือผู้แต่งไม่รู้จักถ้อยจักคำไม่รู้จักอักษรรู้แต่กลอนก็แต่งไป แต่ก็ยังมีคนพอใจอ่าน จึงทรงแต่งบทกลอนอย่างซึมทราบล้อเล่นบ้าง ในจำนวนนี้มีกลอนไดเอรีซึมทราบ ทรงพระราชนิพนธ์ให้เปนของข้าราชการฝ่ายในแต่งเรื่อง ๑ ซึ่งพิมพ์ในสมุดเล่มนี้

ไดเอรีซึมทราบนี้ พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เปนอย่างหนังสือของข้าราชการฝ่ายในแต่ง แกล้งทรงพระราชนิพนธ์ ทั้งวิธีใช้ถ้อยคำแลสัมผัสเช่นหนังสือกลอนอย่างซึมทราบ เพราะฉะนั้นต้องใช้วิธีอักษรอย่างซึมทราบ จึงเปนกลอนได้

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นายกราชบัณฑิตยสภา

วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ