๏ นาฬิกาไก่ขันสนั่นก้อง |
แสงเงินทองเกือบสว่างข้างเวหา |
ทรงเครื่องเสร็จเสด็จทอดทัศนา |
หมู่พลับพลาน้อยใหญ่ฉันไปตาม |
ค่ายหลวงนี้หาที่มีร่มไม้ |
มะม่วงใหญ่ปนอยู่หมู่มะขาม |
ทั้งข้างหน้าข้างในกิ่งใบงาม |
เกือบได้สามสิบถ้วนล้วนร่มชิด |
ถึงพันแสงแย้งส่องไม่ต้องกล้า |
ด้วยพฤกษาร่มใหญ่ใบสนิท |
สีเขียวหย่อนผ่อนแรงแสงอาทิตย์ |
เปนเครื่องปิดร้อนกรองลมต้องกาย |
อันขอบเขตกว้างขวางเปนอย่างใหญ่ |
ใช้ไม้ไผ่ปักทำเปนลำค่าย |
กระแชงกรุบังตาประชากราย |
ตั้งอยู่ชายฝั่งชลพ้นหาดเรียง |
ข้างหน้าค่ายบ่ายสู่อุดรทิศ |
มีเรือนชิดรั้วค่ายชายเฉลียง |
ทั้งสองหลังตั้งอยู่เปนคู่เคียง |
ทางอ้อมเลี่ยงเสาธงอยู่ตรงกลาง |
โรงละคอนปลูกใหม่ใช้ฝาโถง |
ท้องพระโรงรีตั้งเปนหลังขวาง |
ยกพื้นห้าห้องเด่นไม่เว้นวาง |
เฉลียงล่างลดรอบขอบฝาบัง |
ด้านหุ้มกลองสองข้างวางห้องเครื่อง |
กั้นฉากเนื่องแนวเพียงเฉลียงหลัง |
เปนที่เถ้าแก่ได้ระไวระวัง |
หน้าที่นั่งเช้าค่ำประจำทวาร |
ฝาฉากพับปรับชิดสนิทแนบ |
แต่งตามแบบแผนเก่าเสาผูกม่าน |
ฉากกระจกแขวนกลาดดาดเพดาน |
แล้วคิดอ่านเรียงพัดจัดบรรจง |
ล้วนด้ามจิ้วคลี่กระจายลายเลขา |
เปนดารางามวิจิตรพิศวง |
ลับแลเลือกเล่มใช้ที่ใหญ่ยง |
คลี่กั้นตรงช่องทวารบานเบิกลับ |
ฝาค่ายกั้นคั่นเพียงพระโรงหน้า |
ถัดเข้ามามุขกระสันเปนอันดับ |
ยาวไปชนจนหลังที่ประทับ |
ต่อติดกับหลังหน้ามาเกี่ยวพัน |
ยาวสี่ห้องท้องกระดานชานเฉลียง |
เสาลอยเรียงรายม่านมุลี่กั้น |
พนักไม้ไผ่ขัดอัดเสากัน |
อัฒจันท์สองข้างทางขึ้นลง |
ที่หว่างเสาในประทานม่านลูกปัด |
ผูกรวบรัดสองไขเพียงใหลหลง |
ดูแวมวามยามอาทิตย์อัสดงค์ |
ต้องแก้วส่งแสงทอมาต่อตา |
ที่หว่างม่านกล้วยไม้ใส่กระเช้า |
ไม้ไผ่เข้าเดือยขวางอย่างป่าป่า |
แขวนไว้เปนคู่เคียงเรียบเรียงมา |
ล้วนทรงดอกดาษดาดื่นแดงไป |
นกเขาคัดจัดที่คารมกล้า |
มีถุงผ้าแดงหุ้มคลุมกรงใส่ |
แขวนตรงกลางหว่างกระเช้าต้นกล้วยไม้ |
เพดานใช้ผ้าขึงตึงเครียดครัด |
เพดานผูกดาวรายไว้หลายอย่าง |
ด้ามจิ้วกางกลีบลงบรรจงจัด |
ล้วนหลายหลากมากสีมีเลือกคัด |
ขนาดพัดหลายอย่างต่างต่างกัน |
ที่ผนังหลังท้องพระโรงหน้า |
ใช้ริมผ้าถักสับสลับคั่น |
เปนสีเขียวแดงปนรคนพรรณ |
กรึงประดิษฐ์บิดผันเปนกอบอน |
บ้างติดเปนประทุมมาลย์ดอกบานแบ่ง |
ใบอ่อนแฝงใบแก่แลสลอน |
กระจกภาพพสุธาแลสาคร |
ติดพัดซ้อนแซกสลับทับกรอบเรียง |
ระย้าแก้วแกมทองแขวนห้องใหญ่ |
โคมกระดาษกลาดใช้ชั้นเฉลียง |
ที่ประทมขวางหลังตั้งติดเคียง |
คิดบ่ายเบี่ยงย้ายทำนองเปนสองชั้น |
ยาวสี่ห้องช่องทวารบานแกลยัก |
เปนลิ้นชักเสือกมาจากฝากั้น |
เฉลียงโถงโปร่งรอบเปนขอบคัน |
อัฒจันท์สองทางขึ้นข้างบน |
ที่ด้านหลังตั้งขึ้นไปในเฉลียง |
สำหรับเลี่ยงหลีกอาทิตย์มิดสายฝน |
ที่ด้านหน้านั้นประกอบให้ชอบกล |
จรดลโดยแจ้งแกล้งไว้วาง |
น่านั่งเล่นเย็นสบายยามบ่ายคล้อย |
ดูลิ่วลอยลาดตรงลงมาล่าง |
มีเกยย่อต่อเฉลียงเพียงเปนทาง |
มาหลังกลางขึ้นลงไม่วงเวียน |
ช้นบนนั้นปันห้องเปนสองส่วน |
ประดับล้วนแต่ด้วยพัดจัดลายเขียน |
ซุ้มทวารวางแบบดูแนบเนียน |
แต่พัดเพี้ยนตอนล่างล้วนอย่างดี |
คือพัดงานพัดจันทน์คั่นจังหวะ |
พัดเล็กคละปนประกอบขอบเคียงถี่ |
ทั้งอย่างกลมอย่างกลางต่างต่างมี |
ทั้งอย่างที่เล่มยาวดาวเพดาน |
ที่ห้องที่มีพระแท่นทองเหลืองใหญ่ |
พระแท่นไม้พรมลาดสอาดสอ้าน |
มีทั้งตู้ยี่ปุ่นข้างวางเครื่องอาน |
น่าสำราญทั่วทุกแท่งแต่งตามควร |
ที่ลานรอบขอบราชมาฬก |
มีกรงนกใหญ่วางไว้กลางสวน |
ท่าทำนองสองข้างต่างกระบวน |
เปนที่ชวนชูชื่นรื่นอารมณ์ |
ที่แถบขวาหน้าบันไดมีไม้ดัด |
ต้นโมกฉัตรสองข้างวางพอสม |
ตโกฉากหลากตาดูน่าชม |
เปนวงกลมรอบกรงสกุณา |
นกกระลางกางปีกกระพือเต้น |
หัวออกเปนปุยฝ้ายไม่อายหน้า |
ไปไล่รุกบุกจิกนกกระทา |
วิ่งเร่อร่าร้อนตัวเพราะกลัวภัย |
เจ้านกกวักหนักมือดื้อไม่แพ้ |
ออกวิ่งแต้ต้อนตัดสกัดไล่ |
เจ้ากระลางเจ๊งโลดโดดขึ้นไป |
จับต้นไม้ตามหมู่อยู่แจจรร |
ที่สวนซ้ายรายรั้วไม้รวกปัก |
ทางเยื้องยักเคี้ยวคดเปนหลดหลั่น |
ปลูกต้นไผ่ย่อมย่อมเปนหย่อมปัน |
ระยะคั่นไม้ดัดจัดเปนดง |
กระถางตั้งเรียงรายชายถนน |
ปลูกโกรต๋นเรียบเรียงเพียงแลหลง |
ในหมู่ไม้ไว้ระหว่างกลางตั้งกรง |
ขังบุหทรงล้วนแต่เหล่าพวกเขาไฟ |
เจ้าลิงลมหน้าหลิมริมพระที่นั่ง |
นั่งผินหลังหง่อนหง่อริมกอไผ่ |
แล้วยกกรงมยุรามาตั้งไว้ |
เบียดกันในกรงวนจนฝาพัง |
ในสวนนี้ที่เสด็จที่บนประทับ |
ตรงกันกับบันไดกลางหว่างพระที่นั่ง |
มะม่วงคู่หนึ่งใหญ่ใบร่มบัง |
กรงลิ่มตั้งอยู่ใต้นั้นฉันเคยดู |
เปนสองตัวแม่ลูกถูกกักขัง |
เมื่อแม่ยังลูกแอบแนบข้างอยู่ |
เฝ้าซอนหน้ารอาอุดนอนคุดคู้ |
หายไปไหนก็ไม่รู้เมื่อแม่ตาย |
ยังเสือปลาหน้าสั้นมันดุแท้ |
ขู่แร่แช่เล่นเท่าไรก็ไม่หาย |
ไม่เหมือนเช่นตัวเก่าเขาเพริศพราย |
ไม่ดุร้ายน่ารักพักตร์หักงอ |
กรงกระต่ายตัวหายแต่วันแรก |
เห็นจะแหวกหนีไปได้แล้วหนอ |
กระรอกวิ่งขึ้นต้นไม้ไปเปรียวปรอ |
เขาปลูกกอหญ้ากั้นคั่นขอบทาง |
เดินเลี้ยวลดคดค้อมตามหย่อมไม้ |
ล้วนต้นไผ่เรียงลำดับสลับสล้าง |
ตำหนักสมเด็จไว้ทิศใต้วาง |
ตำหนักกลางท่านองค์เล็กแลวิไลย |
ด้วยเจ้านายหลายพระองค์ทรงประทับ |
ต้องขยับขยายบ้างให้กว้างใหญ่ |
อยู่ตรงกับพระที่นั่งข้างหลังไป |
มีต้นไม้ดอกบ้างที่ข้างเคียง |
ตำหนักสามหมู่นี้มีหลังขวาง |
หลังชนข้างหน้าอิกที่มีเฉลียง |
เปิดโถงทั้งสามด้านชานระเบียง |
ห้องน้ำเคียงอยู่ข้างนอกถัดออกมา |
ที่ชั้นในใช้ฉากยี่ปุ่นกั้น |
ผนังนั้นแผงบุกรุกรึงผ้า |
ล้วนตกแต่งเพดานดาดสอาตตา |
ที่ตรงหน้าโคมเหลียนเขียนแขวนไว้ |
บอกนามพระตำหนักตามปักษี |
ซึ่งหมายมีชื่อประจำทำกรงใส่ |
เปนกลอนจองพ้องสำผัสถัดกันไป |
ฉันจำได้ตามรเบียบจะเรียบเรียง |
ที่สมเด็จเพรียกพร้องขุนทองแจ้ว |
ของเสด็จเนื่องแนวแก้วส่งเสียง |
ท่านองค์เล็กที่สามตามกรงเคียง |
ชื่อว่าเอี้ยงร่ำร้องต้องติดใจ |
ตำหนักก้องเขาเขียวเดียวเด่นตั้ง |
อยู่เบื้องหลังในระหว่างหาห่างไม่ |
เหมือนสามหมู่แต่ว่าดูเล็กลงไป |
เรือนข้างในหกหลังตั้งเรียงราย |
ล้วนสามห้องมีรเบียงเฉลียงหน้า |
แล้วกั้นฝาครึ่งหลังสิ้นทั้งหลาย |
ล้วนน่าอยู่ดูเปนสุขสนุกสบาย |
จะบรรยายชื่อไว้ให้ทราบชัด |
อันเรือนต้นแถวทีเดียวเดี่ยวเขาขัน |
ต่อนั้นพรรค์กวักกู่อยู่เคียงถัด |
หมู่คุ่มพลอดทอดแถวแนวบันทัด |
เรือนที่ตัดท้ายลำเนาปลอดเปล้าพร้อง |
เรือนซ้องแซ่กระลางชื่ออ้างเรียก |
กางเขนเพรียกเลี้ยวไปใต้ทั้งสอง |
เรือนเถ้าแก่สองข้างวางทำนอง |
เปนเจ็ดห้องเฉลียงหน้าหันหากัน |
หลังหนึ่งนั้นนามสำเหนียกเรียกแขกเต้า |
หนึ่งนั้นเขาไฟจ้อต่อค่ายกั้น |
ล้วนเปนอย่างข้างยี่ปุ่นไปทั้งนั้น |
ต่างเชิงชั้นกับสถานกาญจน์บุรี |
ที่โน่นใช้ไม้ลำทำเปนฝา |
ดูเข้าท่ายี่ปุ่นมากหลากกว่านี่ |
ทั้งหลังเรือนที่อาศรัยบ่าวไพร่มี |
เสียแต่ที่ร้อนจัดขัดสิ่งเดียว |
พลับพลานี้รื่นร่มลมพัดอู้ |
พื้นที่สู้กันไม่ได้ไม่น่าเที่ยว |
ถึงตัดทางวางวิถีที่คดเคี้ยว |
ก็รกเรี้ยวอย่างป่าไม่น่าดู |
สบายดีแต่บนที่ประทับนั้น |
เย็นทั้งวันยาวกว่าดูน่าอยู่ |
ตวันตกหลังตำหนักปักประตู |
เปนที่อยู่ไก่กระชั้นขันโมงยาม |
กระบอกเข้ากระบอกน้ำทำไว้ให้ |
แต่ยังไม่เคยที่มีป่านล่าม |
เมื่อแรกอยู่ดูเหมือนท่าจะเกิดความ |
คืนที่สามหลุดได้ก็ไม่ไป |
เที่ยวหากินตามเวลาแล้วมาจับ |
ควรจะนับว่าเปนอันสำเร็จได้ |
แต่ทุ่มยามขันเรื่อยเปื่อยกระไร |
ตกอยู่ในรู้ว่าเวลาเช้า |
หลังเรือนแถวแนวทิศประจิมนั้น |
เขาวงก์กั้นผ้าวางเปนทางเข้า |
เดินเลี้ยวลดหลายทำนองต้องลองเดา |
แม้นงมเงาเงอะงะปะช่องตัน |
ต้องถอยมาหาทางที่ถูกใหม่ |
บ้างไถลเลยรอบขอบม่านกัน |
ประตูสามชั้นชิดติดติดกัน |
ลงยืนอั้นอยู่จะไปข้างไหนดื |
ถึงชั้นในใจเต้นเห็นสว่าง |
รีบก้าวย่างที่บางคนจนวิ่งจี๋ |
บางครั้งเลยช่องไปได้ก็มี |
กลับอิกทีหนึ่งจึงถึงข้างใน |
อันพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัศ |
ถนนตัดตรงกลางตามหว่างไร่ |
ยกร่องปลูกผักหญ้าหามาไว้ |
สำหรับใช้ต้มแกงแต่งเครื่องอาน |
ร่องมะเขือมิได้เจือด้วยผักอื่น |
ที่หมู่ขื่นก็เปนขื่นไปทั้งย่าน |
หมู่ไข่เต่าเข้าปนมะเขือจาน |
พวกนมยานรายเจือมะเขือลโว้ |
พริกชี้ฟ้าพริกเทศทั้งพริกนก |
ล้วนดาดดกร่องในใกล้ตั้งโอ๋ |
ตามหัวร่องขิงตะไคร้กอใหญ่โต |
ต้นหอมโหระพาร่องไม่พ้องพัว |
ต้นกระเพราผักชีทั้งยี่หร่า |
ถัดนั้นมาแมงลักผักกาดหัว |
มีทั้งผักกาดน้ำเครื่องทำครัว |
เข้าฟ่างทั่วไปทั้งขอบที่รอบใน |
หมากมะพร้าวปลูกไว้ใกล้หัวร่อง |
เปนแถวท่องรายข้างทางไสว |
พลับพลาสองห้องรอบขอบพาไล |
ล้วนไม้ไผ่เกลาผ่องลอองนวน |
ไม้ลำผ่ามุงหลังคาครอบประกับ |
ซ้อนสลับเหมือนลูกฟูกดูถูกถ้วน |
พื้นเรือนเกลี้ยงเกลาเข้ากระบวน |
ยกแต่ส่วนในประธานชานรอบลด |
กรงกระทาแขวนกลางที่หว่างขื่อ |
โคมเหลียนชื่อที่สำนักประจักษ์จด |
กรอกระทากรุ่มตามนามสมมต |
เครื่องของสดสารพัดจะจัดไว้ |
ทั้งหม้อเข้าเตาเหล็กตั้งเฉลียง |
ครกสากเขียงเชื้ออัคคีมีจนใต้ |
กระบวยพาดตุ่มตั้งขังน้ำใช้ |
หมูเป็ดไก่กินจนเบื่อเหลือก็มี |
แต่เนื้อเม่นเปนของประหลาดอยู่ |
เค้าคล้ายหมูมันไม่จัดผัดปิ้งจี่ |
แกงเผ็ดอย่างเนื้อสมันขยันดี |
ฉันได้ลองครั้งนี้พึ่งรู้รส |
เวลาค่ำทำเครื่องแล้วจึงเลี้ยง |
กินพร้อมเพรียงกันที่ในนี้หมด |
ตั้งแต่วันแรกไปมิได้งด |
จนกำหนดกลับวังยังเสียดาย |
เหนือเขาวงก์ตรงฟากถนนข้าม |
เปนสนามหญ้าใหญ่ยาวไปหลาย |
เล่นโครเกวงใหญ่ได้สบาย |
ไม้รวกรายเรียงลำทำเปนรั้ว |
ฉันยังลืมหลงไว้เปนหลายอย่าง |
เรื่องต่างต่างพรรณาว่าไม่ทั่ว |
กรงกวางวางด้านใต้ไว้อิกตัว |
กับที่หัวค่ายข้างนี้นั้นมีนก |
กระทุงใหญ่เหนียงยื่นยืนส่อมซ่อ |
แคบจ่อนจ่อจนอย่างไรฅอไม่ตก |
ต้นไม้ใหญ่กล้วยไม้ขึ้นเกาะรก |
ดูดื่นดกไปทุกแห่งเหมือนแต่งไว้ |
ทั้งชายผ้านางสีดาค่าคบห้อย |
ใบยาวย้อยยานลงมากว่าศอกได้ |
ปลูกเรือนมักจักคร่อมกรอมต้นไม้ |
หวังจะให้บังแบ่งแสงสุริยน |
คุณเถ้าแก่พากันสั่นสท้าน |
กลัวผิดพานนางไม้เจ้าไพรสณฑ์ |
ไม่มีใครไปอยู่เลยสักคน |
พากันร่นไปยั้งหลังเดียวกัน |
พระที่นั่งหลังกลางข้างเฉลียง |
ต้นไม้เคียงคาบอยู่ดูคมสัน |
ยังต้นน้อยหนึ่งเข้าไปอยู่ในนั้น |
เขาเรียกกันนมสุนัขประจักษ์นาม |
เขียวชอุ่มพุ่มกลมน่าชมดอก |
กำลังออกกลีบเห็นแตกเปนสาม |
คล้ายจำปูนเปนแต่ย่อมกลิ่นหอมทราม |
เหลืองอร่ามตามต้นกล่นเกลื่อนไป |
ยังแต่งเพิ่มเติมดอกไม้จีนประดับ |
สีสลับหลายประการบานไสว |
ในประธานไปอิกทีมีต้นไม้ |
ติดเทียนไว้จุดสว่างเมื่อกลางคืน |
มีเชือกผูกตุ๊กตาที่หาได้ |
ฉะเพาะในเมืองนี้มีดาดดื่น |
เม็ดมะกล่ำมะขามป้อมนั้นเปนพื้น |
ของเมืองอื่นร้านแขกแปลกทำนอง |
คือรูปคนม้าฬาปักษาสิงห์ |
ทั้งค่างลิงผลไม้หาบใส่ของ |
ว่าวเล็กเล็กชักเล่นเห็นเปนกอง |
กระเช้าสองสามใบใส่ลูกไม้ |
ทรงปลิดแจกเจ้านายหลายตระหลบ |
จนหมดครบองค์ละอย่างว่างไม่ได้ |
เปนที่ทรงสำราญบานฤทัย |
ทรงหอบไปนังนุงพะรุงพะรัง |
ประตูด้านตวันออกนอกรั้วค่าย |
ข้ามหาดทรายติดต่อเตาม่อตั้ง |
พื้นปูเรือกถึงน้ำปะรำบัง |
มีฝาจากติดตั้งกำบังตา |
เปนสองทางข้างใต้ใช้เปิดเปล่า |
ด้วยว่าเข้าอยู่ข้างในไม่มีฝา |
ถึงปะรำเรียงทอดจอดนาวา |
ก็วางท่าเหมือนที่อื่นมีดื่นทาง |
เวลาเช้าสองโมงสี่สิบห้า |
ออกนาวาเคลื่อนคล้อยลอยสล้าง |
เดินตามริ้วเรียงกะระยะวาง |
คูสองข้างนทีมีบ้านเรือน |
รายสลับซับซ้อนเปนตอนใหญ่ |
วัดเก่าใหม่ข้างวิถีมีกลาดเกลื่อน |
ครั้นจะร่ำรำพันก็ฟั่นเฟือน |
ด้วยเหมือนเหมือนกันไปมากยากจะจำ |
ยกแต่เมืองแล้วก็ที่บ้านสี่หมื่น |
เรือนดาดดื่นคนผู้ดูคลาคล่ำ |
ทั้งพ่วงแพแลหลามตามลำน้ำ |
ชื่อบ้านกำหนดมีสี่ตำบล |
แต่ปากคลองลองนับถึงแปดแห่ง |
ไม่จะแจ้งนามถนัดเรียงขัดสน |
ถึงวัดวาอารามนามเวียนวน |
เพราะถี่จนเหลือจะทำเปนคำกลอน |
คลองดำเนินสดวกพวกจีนมาก |
ตรงข้ามฟากยืนเปนหมู่อยู่สลอน |
เสียงกึกก้องกาหฬบนดินดอน |
จนเรือจรผ่านไปยังไม่ซา |
มีศาลเจ้าทำใหม่ดูใหญ่กว้าง |
ของพวกข้างที่ไม่ถือสาสนา |
พวกเข้ารีดอยู่ข้างใต้ไกลลงมา |
มีวัดวาอย่างฝรั่งตั้งอยู่ใน |
แลเห็นแต่เสาธงตรงหน้าโบถ |
ดูสูงโสดธงทิวปลิวไสว |
กลองระฆังดังลั่นสนั่นไป |
ฝรั่งใช้เปนคำนับรับเจ้านาย |
มีแตรวงลงมาเป่าตพานน้ำ |
เป่าเพลงสำหรับกรุงมุ่งถวาย |
ไม่สู้ชัดชักเชือนเฟือนตอนปลาย |
กระบวนบ่ายหน้าบากเข้าปากคลอง |
น้ำขึ้นเต็มขอบฝั่งหลากหลั่งไหล |
แง้มข้างใต้โรงร้านทั้งบ้านช่อง |
จีนเข้ารีดเรียงนั่งอยู่ทั้งกอง |
บาดหลวงสองคนพากันมายืน |
พระยาวิเศษสงครามตามกำกับ |
มาคอยรับเสด็จอยูดูชมชื่น |
บ้านเรือนเรียงเข้าไปลึกเห็นครึกครื้น |
กอรวกรื่นเรียงข้างหนทางจร |
ต่อเข้าไปไร่เต็มตลอดลิ่ว |
กล้วยเปนทิวทั้งหมู่ดูสลอน |
บ้างตกเครือเจือปลีมีซับซ้อน |
ทั้งแก่อ่อนดิบห่ามทรามบ่มใช้ |
ต่อตอนนี้มีต้นพริกเปนพื้น |
ดูดาดดื่นสุดตาหาสิ้นไม่ |
ร่องละสองแถวเรียงเคียงกันไป |
หญ้าสักใบหนึ่งไม่ติดลิดถอนเตียน |
ยังร่องไร่หอมกระเทียมดูเรี่ยมแท้ |
เมื่อเล็งแลเหมือนกระดาษลายวาดเขียน |
ล้วนแต่ร่องตรงตรงไม่วงเวียน |
บางแห่งเปลี่ยนปลูกมันพรรณนานา |
ในท้องร่องบางเจ้าของลงเข้าไว้ |
เห็นแต่ใบเบียดกันดูหนั่นหนา |
เปนแบบอยางบางช้างใช้กันมา |
ดูมีหนาแต่ตำบลข้างต้นคลอง |
ตามริมฝั่งตั้งเรือนดูเกลื่อนกลาด |
มีตลาดเรียงรายขายเข้าของ |
จะปราถนาสิ่งใดได้สมปอง |
เรือขึ้นล่องไปมาค้าเปนนิจ |
ในตอนนี้มีวัดจัดสร้างใหม่ |
ดูก็ใหญ่โตพอล้วนก่ออิฐ |
ชื่อวัดโชติการามนามผู้คิด |
เริ่มประดิษฐฤๅอย่างไรไม่ทราบชัด |
มีศาลาห้าห้องของใครสร้าง |
ชำรุดร้างโรเรเซถนัด |
ดูรักษายากกว่าศาลาวัด |
ด้วยว่าขัดสนผู้ดูระวัง |
หมู่หลักเจ็ดเหล่านี้ยังมีไร่ |
ลึกเข้าไปจากคลองทั้งสองฝั่ง |
แลตลอดโล่งไปไร้ไม้บัง |
มีเรือนตั้งอยู่ข้างในไกลพอดู |
ต้องขุดคลองคั่นที่มีทุกแห่ง |
จะได้แบ่งน้ำให้เข้าไปสู่ |
ที่ทำสวนตอนหลังขังร่องคู |
เปนทางผู้ที่รักษาได้มาไป |
ระยะนี้มีปลูกครามแห่งหนึ่ง |
เขาว่าพึ่งจะมาลองปองทำใหม่ |
ไม่เห็นชัดถนัดตาว่าอย่างไร |
รีบครรไลกลัวจะค้างกลางคลองตอน |
สวนเหล่านี้มีผู้ดีเปนเจ้าของ |
มาจับจองที่ไว้ได้แต่ก่อน |
จ้างยกร่องขุดคลองรองทุนรอน |
เรียกจีนจรมีหัวหน้ามารับรอง |
เสียค่าเช่าเข้าอย่างทางถือสวน |
ไม่เกี่ยวกวนอันใดในเจ้าของ |
เช่าสองปีคุ้มทุนวุ่นกันปอง |
ได้ใบจองดีใจเหมือนให้ทรัพย์ |
ต่อผู้ใดชอบพอจึงขอได้ |
นอกนั้นก็มิให้ใครจองจับ |
เรียกค่าเช่าแรงเกินจนเยินยับ |
ผู้เช่ารับไม่ใคร่อยู่แต่สู้ทน |
เมื่อภายหลังครั้งปีมีน้ำใหญ่ |
มาท่วมไร่ไม่ได้ทำซ้ำขัดสน |
จ้าของเรียกค่าเช่าเจ้าเจ๊กจน |
ก็ซอกซนตื่นแตกแยกหนีฮือ |
แต่นั้นมาเกิดตำราขึ้นอย่างใหม่ |
เถ้าแก๋ใดที่จะเข้ามาเช่าถือ |
มักไม่ใคร่มีดีหนีปลายมือ |
บ่นกันอื่ออึงไปใจระกำ |
ที่ทิ้งร้างว่างเปล่ามากเจ้าของ |
ถ้าเช่าต้องลคลาราคาต่ำ |
ถึงกระนั้นมันก็ยังไม่ใคร่ทำ |
ที่กลับซ้ำหนีหายหลายแห่งมา |
จนไม่ได้อะไรเลยด้วยกันหมด |
ต้องเลี้ยวลดกลับกลายยักย้ายท่า |
เห็นพอเหมาะกับระดูจู่ไคลคลา |
ไปเรียกหาอย่างทำนองของกำนัน |
ได้แต่พริกกระเทียมหอมอ้อมค้อมขอ |
แต่เพียงพอใช้สอยค่อยลดหลั่น |
ที่ขี้คร้านฤๅขี้ขลาดก็ขาดกัน |
ต่อใครหมั่นจึงจะไปเก็บได้มา |
ส่วนลูกเธอที่ได้ทรงลงทุนไว้ |
เดี๋ยวนี้ไม่มีใครดูรักษา |
เห็นมีคนทำบ้างข้างมรรคา |
ข้างในหญ้ารกเห็นเปนป่าพง |
พระยาโชฎึกพุกผู้กำกับ |
ได้เคยรับค่าเช่าเอามาส่ง |
จนตลอดสิ้นชีวิตปลดปลิดปลง |
จึงตกลงเลยหายละลายเลือน |
พ้นหลักหกตกที่วารีขอด |
ลึกตลอดสองศอกบอกลดเลื่อน |
เปนพื้นนาสองข้างห่างบ้านเรือน |
ดูไม่เหมือนตอนแรกแปลกทำนอง |
ถึงโคกไผ่เรือนใหญ่มีหลังหนึ่ง |
ดูขังขึงฝานอกชานบานปิดป้อง |
มีศาลาท่าน้ำริมลำคลอง |
ยุ้งเข้าห้องใหญ่กว้างอยู่ข้างเคียง |
เปนที่พักคุณหญิงพันพาบ่าวข้า |
ว่าทำนาอยู่ตรงนี้ที่ทุ่งเกลี้ยง |
เครื่องบูชาหน้าเรือนเขาตั้งเรียง |
ได้ยินเสียงบอกว่านาหลวงทรง |
ไปหน่อยหนึ่งถึงคลองวัดโคกไผ่ |
เห็นหมู่บ้านไรไรไม่ใหลหลง |
พระอุส่าห์ลงมาห้าหกองค์ |
คอยรับส่งเสด็จมีที่ศาลา |
ที่ฝั่งซ้ายรายเกลื่อนเรือนโรงบ้าง |
ดูเปนอย่างปึกแผ่นค่อยแน่นหนา |
ในหมู่นี้มีโรงภาษียา |
ถึงหลักห้าหมดแขวงราชบุรี |
มีกระบือคอยลากมากเปนหมู่ |
เจ้าเมืองอยู่คอยกำกับที่นี่ |
น้ำยังมากไม่ต้องลากจรลี |
ว่าวันนี้น้ำมากจนหลากใจ |
แขวงนครไชยศรีมีนาน้อย |
เห็นเปนรอยเว้นว่างทุ่งกว้างใหญ่ |
เปนบ่อปลามาตลอดทางครรไล |
ว่าทำได้มีผลคนยินดี |
ในหลักสี่หลักสามตามลำดับ |
น้ำขยับสามศอกบอกขึ้นถี่ |
ตั้งแต่ตอนนี้เข้าไปไรนามี |
ดูเต็มทีสองข้างไม่ร้างรา |
พ้นหลักสองไปอิกทีถึงสี่ศอก |
ยิ่งถึงนอกลึกลงไปได้อิกกว่า |
โรงนวดเข้าโรงอยู่ผู้เฝ้านา |
ดูแน่นหนามิได้ห่างว่างขาดตอน |
ที่ฝั่งซ้ายปลายนากระสาจับ |
ต้นไม้กับหมู่ยางสล้างสลอน |
สามต้นต่อกันเข้าไปในพงดอน |
ดูซับซ้อนขาวดาดสอาดตา |
เหมือนต้นทองพันชั่งมาตั้งไว้ |
แต่ไขส่วนให้ใหญ่ขึ้นไปกว่า |
กำลังเพลินเมินทอดทัศนา |
เสียงร้องว่าน้ำตกวกมาดู |
ได้ยินซ่าตาลายหมายว่าเขา |
ดูก็เท่าพุริมฝั่งดังสู้สู้ |
แต่เปนโคลนเคละคล่ำตกพร่ำพรู |
จึงได้รู้ว่าเปนน้ำในลำราง |
วัดสวนส้มกระฏิใหม่ไปทั้งหมู่ |
เลาเลาดูลานวัดจังหวัดกว้าง |
ว่าสมเด็จเจ้าพระยาไปมาทาง |
นี้ช่วยสล้างจริงฤๅไรก็ไม่รู้ |
เขากลัวจะมืดค่ำต้องลำบาก |
จัดคนมากถือดอกไม้ไปรายอยู่ |
เจ้าคนหนึ่งนั้นคำนับจับจุดชู |
เสียงฟู่ฟู่อยู่บนฝั่งแต่ยังวัน |
ตั้งแต่วัดคลองยางอยู่ข้างซ้าย |
มีคนรายเรือนเรียงเสียงสนั่น |
ล้วนทำการค้าขายซื้อจ่ายกัน |
ดูแน่นนันกันไปมากจนปากคลอง |
บ่ายห้าโมงครึ่งถึงที่ประทับ |
เข้าจอดกับแพใหญ่ที่ไต้ช่อง |
ตอนนี้ตัดเปนตำแหน่งแขวงแม่กลอง |
ถ้าจะล่องเรือลงไปก็ไม่ช้า |
แพนครไชยศรีที่ประทับ |
เกณฑ์มารับนี่อิกคราวยาวนักหนา |
จึงลดทอนตอนปลายย้ายต้นมา |
เปนพลับพลาที่ประทับรับประทัง |
แพไม้รวกผูกรายข้างท้ายน้ำ |
เอาผ้าทำฝากั้นกันเบื้องหลัง |
แต่เปลี้ยน้ำเต็มท้นพ้นกำลัง |
ต้องตึงตังจัดจอดทอดนาวา |
ที่ใครมีราชการงานเชิญเครื่อง |
ให้เปลี่ยนเรื่องขึ้นไปรายฝ่ายข้างหน้า |
ที่แพต่ำย่ำเหยียบกันไปมา |
จนเข้าปลาหกกระเด็นเดินเหม็นคาว |
ฉันไม่ได้ไปเห็นเปนแต่รู้ |
ตามคำที่มีผู้มาบอกข่าว |
เวลาค่ำโคมรายคล้ายดวงดาว |
เหมือนที่กล่าวก่อนคล้ายลม้ายกัน |
ยุงที่นี่มีมาเมื่อค่ำคล้อย |
พอดึกหน่อยก็สงัดไม่กัดฉัน |
ตรวจดูปรอทร้อนตอนกลางวัน |
ขึ้นกระชั้นแปดสิบหกจนตกเย็น |
ปรอทหนาวลงราวเจ็ดสิบห้า |
นอนสบายเต็มประดาไม่ว่าเล่น |
ก็หมดข่าวกล่าวความตามที่เปน |
ขอยกเว้นจบบทหมดเท่านี้ ฯ |