๏ เช้าสามโมงถ้วนกระบวนเคลื่อน |
นาวาเลื่อนลอยบากออกจากที่ |
แจวขึ้นมาโดยด่วนทวนวารี |
สามสิบห้านาฑีถึงปากคลอง |
เลี้ยวเข้าภาษีเจริญไม่เขินค้าง |
แลสล้างสวนจากฟากทั้งสอง |
ว่าน้ำสามศอกคืบฉันสืบลอง |
ไม่ถึงต้องฉุดลากลำบากลำบน |
มาถึงคลองคอนกระดีที่ทางลัด |
กระบือจัดมาคอยรับอยู่สับสน |
ดูเบาบางห่างย่านบ่านผู้คน |
ข้างตอนต้นที่ร้างว่างเนืองเนือง |
พ้นหลักห้าเข้ามาจึงมีวัด |
เขียนชื่อชัดหนองแขมอยู่ข้างเขื่อง |
มีศาลาโบถรามงามรุ่งเรือง |
จัดตั้งเครื่องบูชาไว้ในปะรำ |
มีพระสงฆ์ลงมานั่งอยู่ที่นั่น |
สวดชยันโตเรื่อยเสียงเฉื่อยฉ่า |
มีโรงด่านภาษีฝิ่นถิ่นประจำ |
มีคนทำนาหนามาทุกที |
ผ่านยุ้งเข้าโรงนามาไม่ขาด |
บางแห่งดาดโรงร้านชานชิดถี่ |
วางของขายสินค้าในธานี |
ตอนนอกมีสวนใหญ่ปลูกไผ่ราย |
ว่าปลูกต้นส้มโอโตถนัด |
สำหรับจัดเปนสินค้ามาส่งขาย |
ลงกำปั่นบันทุกไปได้สบาย |
ว่ามากมายขายดีมีกำไร |
ยังมีใกล้กันอิกสวนล้วนแต่หมาก |
ก็มีมากมายแท้แลไสว |
ที่นอกนั้นก็เปนนาดาดาดไป |
จนตอนในเปนกระบวนสวนปนนา |
คลองบางแคที่ตรงแง่นั้นมีวัด |
อย่างจังหวัดแขวงบางกอกดูบอกท่า |
โบถก่อช่อฟ้าใบรกา |
เก๋งศาลาหลายหลังทั้งกุฎี |
สำเภายานนาวาท่าไม่เพี้ยน |
ตั้งใจเลียนวัดล่างอย่างเต็มที่ |
เหมือนเช่นเล่นตุ๊กตาน่าปรานี |
เห็นจะมีนายสำเภาเขาสร้างไว้ |
คลองยายเพียนริมเฉนียนมีไม้ดัด |
เขาแต่งตัดกลมชอุ่มเปนพุ่มใหญ่ |
มีพานรองชั้นหนึ่งกลึงด้วยไม้ |
เหมือนพุ่มใช้เข้าพรรษาดูน่าชม |
คลองรางบัวมาอิกทีก็มีวัด |
เปนช่างจัดโต๊ะหมู่อยู่ในรม |
ล้วนลายครามสารพัดคัดเครื่องกลม |
ช่างสะสมเทียบใช้ได้งามดี |
ถัดเข้าไปในนั้มีสวนส้ม |
เห็นน่าชมเรียงแถวเปนแนวถี่ |
ต้นไม้สวนต่างต่างหลายอย่างมี |
บางแห่งที่ว่างบ้างยังห่างกัน |
ตั้งแต่คลองบางหว้าล่วงมาแล้ว |
สวนเปนแนวสนุกดีไม่มีคั่น |
ล้วนหมากพลูคู่เคียงปลูกเรียงรัน |
คิดแบ่งปันเปนระยะจังหวะวาง |
ที่ริมร่องสองแถวแนวขนัด |
รายหมากตัดตามขอบรอบสล้าง |
ที่อกร่องปลูกพลูอยู่ตรงกลาง |
เปนคู่ค้างแถวเคียงเรียงกันไป |
คิดถึงเรื่องหมากพลดูก็ขัน |
ช่างกินกันปรากฎหมดสวนใหญ่ |
ดูแต่ปูนที่เตาเขาเผาไว้ |
ทำตึกได้ราวสักหมู่ดูลาดเลา |
ตามหน้าสวนล้วนแต่มีพระรูปสี |
ทรงเครื่องทีท่าทางเปนอย่างเก่า |
ไม่ลม้ายคล้ายพระองค์คงแต่เค้า |
มาตั้งเข้าอยู่ในหมู่เครื่องบูชา |
ใกล้ปากคลองบ้านช่องยิ่งหนาแน่น |
เปนปึกแผ่นคนผ้านขนานหน้า |
โรงสีเข้าเตาท่อติดต่อมา |
รับสั่งว่าตรงนี้เปนที่เดิม |
ทรงซื้อไว้จะใช้เปนที่ประทับ |
ลงมือจับการใหม่พึ่งได้เริ่ม |
พอได้ราชสมบัติจึงจัดเติม |
โรงสีเพิ่มพอให้เขาเช่าทำการ |
พระองค์อิศรวงศ์เปนองค์ใหญ่ |
จึงโปรดให้เปนเจ้าของท้องสถาน |
ตกอยู่กับจอมมารดามาช้านาน |
เลยประทานทิ้งไว้มิได้คืน |
สองโมงจึงถึงตำบลคลองบางหลวง |
เปนร้านรวงโรงตลาดรายดาดดื่น |
เห็นคนผู้คพิฦกเสียงครึกครื้น |
บ้างนั่งยืนยัดเยียดเบียดเสียดกัน |
ตามโรงร้านบ้านช่องทั้งสองฝั่ง |
ล้วนแต่ตั้งโต๊ะบูชาผ้าม่านกั้น |
บ้างมาหมอบรายเรียงเคียงเคียมคัล |
ต่างชวนกันเริงรื่นชมชื่นบาน |
ที่อารามตามทางชลมารค |
พระสงฆ์หลากเหล่าหลามตามหย่อมย่าน |
ลงมานั่งยังศาลาหน้าตพาน |
ทุกสถานเรียงรายถวายไชย |
ตามน้ำกึ่งนาฬิกานาวาล่อง |
ออกจากคลองตกลำแม่น้ำใหญ่ |
เห็นเรือรบเรียงทอดจอดรายไป |
แต่งธงไว้วายุพัดสบัดพลิ้ว |
เขายืนเพลาเสากระโดงดูลอยเด่น |
ฉันแลเห็นเสียวไส้ใจหวิวหวิว |
ดูเหมือนรูปตุ๊กตาน่ากลัวปลิว |
เรียงเปนทิวหมวกถือในมือชู |
ได้ยินขลุ่ยแตรกลองออกซ้องแซ่ |
ยังซ้ำแตรวงกลบตระหลบหู |
ถึงท่าราชวรดิฐพินิจดู |
คนคอยอยู่มากจริงทั้งหญิงชาย |
เรือที่นั่งเทียบจอดทอดประทับ |
สองโมงกับสี่สิบห้าเวลาบ่าย |
ขุนนางหลามตามเหล่าทั้งเจ้านาย |
มาเรียงรายเฝ้าแหนอยู่แน่นนัน |
เสด็จขึ้นฉนวนน้ำต่างคำนับ |
ประสานศัพท์เซงแซ่แตรสนั่น |
ประทับบนตำหนักแพคนแจจรร |
แต่ตัวฉันครู่หนึ่งจึงขึ้นตาม |
เข้าประตูฉนวนในได้พบพักตร์ |
คนรู้จักชอบพอล้อเลียนถาม |
ทวงของฝากอยากรู้ทั้งเรื่องความ |
ต้องพูดพล่ามตอบต่อพอสมควร |
ดูสับสนคนผู้มากหมู่ใหญ่ |
หลีกครรไลเรือนชานเปนการด่วน |
ถึงที่ห่วงเห็นสบายหายรัญจวน |
เกษมสรวลเบิกบานสำราญใจ |
สิ้นเรื่องราวข่าวนิราสประพาสป่า |
เรื่องนานาไม่ได้จดหาหมดไม่ |
จะขึ้นจากนาวาแสนอาไลย |
ขอว่าใหม่อิกสักนิดติดตอนปลาย |
เรือที่นั่งครั้งขากลับมานี้ |
ผิดกับที่แรกครรไลไปมากหลาย |
ม่านแพรแดงแสงประเทืองดอกเหลืองราย |
มากลับกลายผลัดเปลี่ยนเสมียนลว้า |
มิใช่เลวเลยกระบวนแต่ล้วนปัก |
ดูงามนักลูกเดือยเด่นเหมือนเช่นว่า |
แต่งเพิ่มเติมม่านข้างนอกต่อออกมา |
จนชั้นผ้าลาดข้างในใช้ซิ่นเพลาะ |
มิใช่เช่นอย่างลาวกาวาวกว่า |
ดูหน้าตานั้นเปนพรมช่างสมเหมาะ |
ผ้าคลุมกรงนกเขาเอาเสื้อเลาะ |
ปักฉะเพาะเพริศเพราให้เข้าชุด |
เอาแขวนมาที่ตรงหน้าปะรำขึง |
เรียกได้ถึงสามสี่ดีที่สุด |
นางนุ่งหยี่อยู่ที่เสาเฝ้ายื้อยุด |
อุตลุดไปยังค่ำทำเหมือนคน |
บนหลังคามยุราทั้งกรงใหญ่ |
ถึงสิบนกแต่ล้วนได้ในไพรสณฑ์ |
นางเสือน้อยอยู่ในเก๋งเที่ยวเก่งซน |
วิงวิ่งวนแล้วก็แอบมาแนบนอน |
น่าเอนดูรู้ภาษาว่ากันได้ |
ฉันเกณฑ์ให้นอนฟูกเหมือนลูกอ่อน |
แล้วเอาผ้าปิดท้องลองคลึงคลอน |
ก็ซบซอนหลับไหลไม่ดื้อดึง |
ไม้ตเข้ขบฟันอันยาวใหญ่ |
ติดแพนใช้ผูกเสาเข้าคู่ขึง |
ข้างหลังใช้ผูกไม้ด้ามหอกกรึง |
อิกอันหนึ่งเปนมีดหลาวยาวกระไร |
ผูกหัวเรือเงื้อง่าท่าก่งแต้ |
หางยูงแผ่ที่เพดานตรงม่านไข |
ข้างทวารสองหางกางผูกไว้ |
เขามอใช้ก่อตั้งในถังรอง |
ถังหนึ่งใช้ไข่หินในหุบเขา |
อิกข้างเค้าจะให้เห็นเปนเปลวปล่อง |
ช่างประดิษฐดูงามตามทำนอง |
ตั้งไว้สองข้างทวารตรงบานบัง |
จะขึ้นมาอาไลยมิใคร่หาย |
ยังเสียดายงามเหลือเรือที่นั่ง |
ถึงจะยกขึ้นไปไว้ที่ในวัง |
ไม่เหมือนดังอยู่ในเรือเมื่อกันดาร |
เรือที่ไปแล้วไม่มีลำใดเว้น |
ล้วนของเล่นบันทุกพากลับมาบ้าน |
ส่วนเครื่องยาหาได้หลายประการ |
ที่ทหารรับสั่งให้ไปถามมา |
ล้วนแต่มีที่หลังน้ำโจนสิ้น |
ตัดที่ถิ่นเนินไศลแลในป่า |
กระดังอ้ายอบเชยไทยในวนา |
ทั้งพระยามือเหล็กแส้ม้าทลาย |
ต้นกรันเกราเถาอุ้มลูกดูหนัง |
ต้นกำลังวัวเถลิงเปลือกขี้อ้าย |
ตานขะโมยเหมือดคนฝนทากาย |
แก้ร้อนหายเหือดฉมังได้ดังใจ |
เถากำแพงเจ็ดชั้นเถาวัลิกรด |
รางแดงขดเคียงลำเนาต้นเปล้าใหญ่ |
ชเอมเครือเจือพันเถาวัลิไป |
ต้นหางไหลเถายาวทั้งขาวแดง |
ต้นมวกแดงเถาคันแดงแฝงสค้าน |
พวกทหารเสาะหามาทุกแห่ง |
ทั้งเปลือกคูนเปลือกเลือดเชือดพอแรง |
มาตากแห้งกองไว้ใกล้ที่พัก |
ที่ว่านี้ล้วนแต่ที่ยาชินใช้ |
ถึงมิใช่แพทย์หมอพอรู้จัก |
ที่เข้าใจหาได้หลายอย่างนัก |
เสียงกุกกักเหลือร่ำในตำรา |
ยังไม้ไผ่ต่างต่างอิกอย่างหนึ่ง |
เปนที่พึงใจฉะเพาะเสาะสืบหา |
เล่นหลายอย่างต่างต่างทั้งปล้องตา |
เล่นทั่วหน้ากันไปจนไพร่พล |
เปนไม้เท้าเปนกล่องต้องการใช้ |
ไม้ลำใหญ่ไทรโยคแลตีต้น |
ต้องใช้กุญชรลากลำบากลำบน |
ไปตัดจนลำธารชานเขาแดน |
บ้างต้องการปล้องงามทำต้ามหอก |
เที่ยวซอนซอกเสาะลำบากยากเหลือแสน |
บ้างชอบไม้คุดงอข้อลำแบน |
ทั้งไม้แกนกรันพลิกบิดหงิกงอ |
ไม้ตพดหมดทั้งสิ้นสักเกือบหมื่น |
มีดาดดื่นนาวานักหนาหนอ |
คนละอันนั้นเปนไม่ใคร่จะพอ |
คงเติมต่อสองสามตามต้องการ |
ไม้ตเข้ขบฟันขยันยอด |
เปนข้อขอดคาบทับสับประสาน |
จะไปตัดบัตรพลีมีพิสดาร |
ต่อนานนานจึงได้พบประสบลำ |
พวกนักเลงขะโมยควายทั้งหลายถือ |
สำหรับมือว่ากันวันยังค่ำ |
ทั้งจรเข้ครั่นคร้ามเมื่อข้ามน้ำ |
บ้างก็ทำยิ่งยงถึงลงยันต์ |
พวกนักเลงไม้ดัดก็จัดหา |
ตโกป่าท่วงทีดีขยัน |
ที่ใจเร็วหาใหม่งามไม่ทัน |
ต้องพาดพันค้นคัดเที่ยวจัดซื้อ |
ต้นกล้วยไม้เล่นใหญ่กันคราวนี้ |
อย่างที่มีน้อยจริงยิ่งนับถือ |
ที่ดอกใหญ่สีชมภูดูถึงฦๅ |
เขาอึงอื้อกันว่าได้อย่างใหม่มา |
รองลงไปดอกห่างอย่างสีขาว |
ที่พวงยาวนั้นเปนพื้นมีดื่นป่า |
เปนติดแขวนประจำลำนาวา |
ทั้งข้างหน้าข้างในไม่มีเว้น |
พวกสันทัดถนัดปลูกเฟินต่างต่าง |
ก็เสาะสางสืบหาแซะมาเล่น |
มีหลายหลากมากอยู่แต่ดูเปน |
เหมือนอย่างเช่นในบุรีมีอยู่แล้ว |
บ้างซื้อหาปักษาที่เสียงก้อง |
เขาขุนทองนกกระทากาเหว่าแก้ว |
กระต่ายตุ่นเสือปลาหน้าเหมือนแมว |
ชมดแถวแถบนี้มีอนันต์ |
ยังลูกลิงลูกค่างต่างขนาด |
มีเกลื่อนกลาดหาได้ในไพรสัณฑ์ |
แต่ชนีนี้เปนของต้องการกัน |
แต่ว่าฉันไม่เห็นใครจะใคร่มี |
ยังอิกอย่างข้างผู้ชายชอบหนังสัตว์ |
เที่ยวสืบจัดซื้อทั้งหนังเสือหมี |
เรื่องเขาโคเปนของผู้รู้วิธี |
ชั่วแลดีเลือกทำตามตำรา |
ที่อย่างใหม่ใช้เขากระทิงบ้าง |
ทั้งเขากวางมาประดิษฐ์แต่งติดฝา |
นักเลงเขามอมองปองศิลา |
เที่ยวมองหาเก็บที่มีร่องน้ำ |
ที่สนัดทุบต่อยก็คอยผลาญ |
เที่ยวประหารภู่ห้อยย้อยตามถ้ำ |
แบกเอาไปไว้ตามบุญตามกรรม |
จะไปทำอะไรได้ก็ไม่รู้ |
ที่สันทัดในทางข้างขายของ |
ก็ตริตรองสืบสางหาทางลู่ |
คิดต้นทุนแลกำไรเสียให้รู้ |
ไปเที่ยวจู้จี้ต่อทางขอปัน |
คือยาตั้งยาลังแลเสื่อหวาย |
พอมาขายขึ้นขยับเคี่ยวขับขัน |
พุดทราแผ่นอย่างยิ่งสิ่งสำคัญ |
ซื้อหลายพันพอจำหน่ายหมายกำไร |
หาน้ำตาลกระบอกไปได้กวนเคี่ยว |
แต่สิ่งเดียวเท่านั้นเห็นเปนรวยได้ |
ทั้งของแจกเข้าจ่ายจำหน่ายใช้ |
สงวนไว้คงจะเหลือเมื่อถึงกรุง |
ผลไม้ดิบสุกบันทุกเพียบ |
ของเงียบเงียบบ่มไว้มิใช่นุ่ง |
ทั้งพริกแห้งกระเทียมหอมตอมซื้อนุง |
คงเฟื่องฟุ้งเปนเศรษฐีครั้งนี้เอง |
เสบียงเก่าที่เอาไปจากบางกอก |
จำหน่ายออกราคาแรงแพงเครียดเคร่ง |
คนถามซื้อฤๅออกซ้องก้องครื้นเครง |
ช่องเหมาะเหมงเช่นนี้มีนานนาน |
ถึงไม่สู้ลาภจัดไม่ขัดสน |
ได้แจกจนของถวายจ่ายเข้าสาร |
ส่วนสมเด็จกรมพระผู้กะการ |
คอยเจือจานแจกบ่ายรายทุกลำ |
ถึงที่ไหนได้ปลามาจำหน่าย |
ตั้งร้านจ่ายเนื้อสดหมดทุกส่ำ |
ไม่อดอยากอย่างแต่หลังดังถ้อยคำ |
ที่ฦๅร่ำกันมาว่าเหลือทน |
เว้นแต่ที่มุ่งหน้ามาค้าขาย |
จึงวุ่นวายอึดอัดว่าขัดสน |
เฉลี่ยไปไม่แต่ฉะเพาะตน |
จึงต้องบ่นพึมพำกรรมของแก |
ที่จริงไปไหนทุกทีไม่มีสู้ |
เสียงแต่ผู้สรรเสริญออกเซงแซ่ |
ระวังระไวไปทุกหมู่คอยดดูแล |
ติคงแพ้ชมหนามากกว่ากัน |
มาฟังเขาเล่าถึงฦๅในบางกอก |
ช่างนอกคอกซุกซนฦๅจนขัน |
ดูมากมายฟั่นเฝือเหลือรำพัน |
ที่หนึ่งนั้นพระยานรรัตนตาย |
เปนอย่างดีที่ยังมีไปเจ็บไข้ |
พอช่วยใส่ร้ายแหลให้แพร่หลาย |
นอกจากนี้นั้นยังมีอิกมากมาย |
เลยลามกลายเลอะเทอะออกเปรอะปรึง |
พวกฝีพายเรือที่นั่งตายทั้งห้า |
จะเสด็จกลับมาก็ไม่ถึง |
ท่านในขวาถูกผู้ร้ายป่ายปืนตรึง |
หกล้มผึงแผ่ดิ้นสิ้นชีวา |
ส่วนพระนายสรรเพธผู้ร้ายล้อม |
ต้องแอบอ้อมหลีกลี้หลบหนีหน้า |
ใช่บรรไลยแต่ที่ไปในวนา |
อยู่ภาราก็ให้ตายเสียหลายคน |
ที่ในวังตั้งบาญชีเจ้าถึงห้า |
ยังขี้ข้าวันละสี่ตายปี้ป่น |
คุณหญิงเปลี่ยนวายวับดับชีพชนม์ |
ยังดั้นด้นรู้ล่วงถึงหลวงพระบาง |
ท่านแม่ทัพก็ให้ดับไปเสียด้วย |
ทั้งเขาห้วยเกิดวิบัติข้องขัดขวาง |
น้ำเพียงแข้งแห้งขอดตลอดทาง |
เขาสูงขวางแดนแยกแตกทำลาย |
แม้จะจดหมดสมุดสักสองเล่ม |
จึงจะเต็มคำระบือฦๅทั้งหลาย |
น่าเกลียดคนต้นคิดจิตต์มุ่งร้าย |
มันมุ่งหมายลวงให้วุ่นขุ่นขุ่นกัน |
คนได้ยินสิ้นดีมีแต่เชื่อ |
ไม่รู้เบื่อกลับเห็นเอาเปนมั่น |
ครั้นไม่จริงนิ่งเฉยเลยลืมพลัน |
ที่ปดนั้นลืมไปเสียไม่ฤๅ |
เหมือนนักเลงเล่นหวยเมื่อรวยป๋อ |
ก็อือออว่าขรัวครูดูแน่อื๋อ |
ถึงยามกินกอดเข่าเข้าจับปรือ |
ไม่อึงอื้อว่าขรัวครูดูผิดเลย |
อันที่จริงเจ้าตำราว่าจ้ำจี้ |
เขาก็ดีไปอย่างช่างเฉลย |
ว่าไปได้ไม่เปนภาษาเลย |
แล้วลองเอ่ยใหม่บ้างค้างทุกคราว |
ไปชวนเข้าภาษาคนทนไม่ไหว |
เอาให้ได้ก็ไปค้างอย่างซักส้าว |
ไม่เหลวเลือนเปื้อนไปได้ยืดยาว |
ผู้คิดข่าวฦๅนี้ดีถึงกัน |
มือจับโน่นซนนี่ไม่มีเสมอ |
เอามาเพ้อตกแต่งแกล้งกล่าวกลั่น |
นุ่งตรองตายิบยิบกระซิบกัน |
ดูก็ขันควรเห็นเปนอนิจจัง |
อันที่จริงเสด็จไปในคราวนี้ |
มิได้มีไข้เจ็บจนกลับหลัง |
จะเปนบ้างอย่างประมาทที่พลาดพลั้ง |
ไม่เรื้อรังยืดช้ากว่าสามวัน |
คือท้องเสียปั่นป่วนชวนเปนบิด |
เพราะอาหารวิปริตชวนผิดผัน |
แลเปนหวัดไอจามตามสามัญ |
แล้วเลยครั่นตัวบ้างที่บางคน |
แต่หยูกยาหนาที่มีสำหรับ |
ไปคอยจับจ่ายให้ไม่ขัดสน |
ไม่มีเปนอันตรายตายสักคน |
คิดไพร่พลเกือบหมื่นพื้นที่ไป |
ที่เจ็บไข้ไม่กว่าร้อยละสอง |
ว่าร้ายรองยิ่งใหญ่อย่างไรได้ |
ไม่เหมือนฦๅอื้อฉาวข่าวใส่ใคล้ |
ดีกว่าในนัคราเวลานั้น |
คนทั้งหลายหมายว่าไปพนาเวศ |
ไม่แจ้งเหตุอันใดในเขตรขัณฑ์ |
ในกรุงไม่แจ้งใจข่าวไพรวัน |
จึงดื้อดันเพราะเดาข่าวเล่าฦๅ |
เพราะหูป่าตาเถื่อนเหมือนนอนหลับ |
ต้องเงาทับพูดเพ้อละเมออื้อ |
ร้ายในใจไขออกบอกกระพือ |
เหมือนกระสือชอบชมโสมมมัว |
ที่แท้นั้นเสด็จไหนก็ได้ข่าว |
โทรเลขบอกกล่าวถึงกันทั่ว |
ใช่แต่ในราชการงานพันพัว |
การของตัวบอกใช้ได้ทั้งนั้น |
ที่บ้านไหนใครวิตกถึงพี่น้อง |
แลพวกพ้องที่ไปในไพรสัณฑ์ |
เขาก็มีไปมาพูดจากัน |
เว้นแต่ที่เคอะครันเชื่อคำลวง |
เรือที่ไปก็ไม่มีถึงแตกยับ |
เปนแต่คับคั่งยิ่งชิงกันล่วง |
อยากจะใคร่ไปดังบินสิ้นทั้งปวง |
แย่งทลวงขึ้นหน้าดาประดัง |
น้ำเชี่ยวฉานพานพัดปัดเกะกะ |
ต้องเอะอะสวนซบกระทบกระทั่ง |
จึงชำรุดเล็กน้อยไม่ค่อยฟัง |
ที่ระวังดีดีไม่มีไภย |
ที่มีล่มสองลำทำอวดกล้า |
เปนนาวาน้อยไม่ใช่ลำใหญ่ |
ถึงเช่นนี้ดีกว่าก่อนครรไล |
ชิงกันไม่เปนท่าน่ารำคาญ |
พรรณามาก็สิ้นรบิลข้อ |
ที่รู้พอจดจำร่ำเรียนสาร |
อุส่าห์เพียรเขียนลิขิตพิสดาร |
พอรู้อ่านจบไดรีเท่านี้ เอย ๚ |