๏ ตีสิบเอ็จเอะอะกันนอกค่าย |
รู้สึกกายตื่นนั่งยังหนาวฉี่ |
ปรอทตกหกสิบเอ็ดดิครี |
ย่ำรุ่งมีเศษเวลาห้ามินิต |
เสด็จจากค่ายหลวงล่วงลิลาส |
กระบวนรถคลาคลาศตามหลังติด |
แล้วพระวอต่อไปเดินใกล้ชิด |
ย้อนทางลงตรงทิศทักษิณนั้น |
หน้ากุฎีมีพระสงฆ์ยี่สิบเศษ |
ส่งเสด็จที่เขตรอารามคั่น |
เลี้ยวลงตรงหน้าสเตชัน |
ไปตวันตกสถานกาญจน์บุรี |
ทางทำใหม่เกวียนไปเปนร่องหลุม |
ฝุ่นขึ้นกลุ้มเกลื่อนทางหว่างวิถี |
ออกดงรังไปกระทั่งท้องนามี |
คนในหมู่บ้านนี้มาตั้งทำ |
บ้านตะเข้ลากทองเขาร้องเรียก |
สุดสำเหนียกแปลนามเปนความกล้ำ |
เหมือนกับว่าหลังคามุงด้วยน้ำ |
เรียกตามบุญตามกรรมจำยากเย็น |
ระยะนี้มีแต่กอไผ่เปนพื้น |
ต้นไม้อื่นแลไปมิใคร่เห็น |
ออกที่โถงเห็นโรงเด๊กกระเด็น |
เขาว่าเปนสเตชันเช่นต้นทาง |
เรียกห้วยกรดจดชื่อฉลากปัก |
เห็นลำห้วยเลี้ยวหักไปข้างข้าง |
ไปหน่อยหนึ่งก็พอถึงห้วยขานาง |
พลับพลาวางไว้ข้างซ้ายชายมรคา |
สองหลังต่อกันกันใบไม้ |
ดูโปร่งโปร่งเหมือนยังไม่ได้กั้นฝา |
แม้อยากได้ต้องหับลับไนยนา |
ก็อย่าหาเลยที่นี่ไม่มีบัง |
ประทับอยู่ครู่หนึ่งก็เลยไป |
แต่ข้างในมาถึงเมื่อภายหลัง |
หยุดพักสักครึ่งโมงกระมัง |
ไปครู่หนึ่งถึงที่ตั้งหลักแดนไว้ |
เข้าในแดนเมืองด่านกาญจน์บุรี |
ถึงบ้านดอนกระดีมีนาไร่ |
ดูพื้นป่าท่าทางก็แปลกไป |
ไม่เปนไผ่รกรกเหมือนแรกมา |
พ่างพื้นรื่นราบดังปราบไว้ |
แลไปโล่งเลี่ยนเตียนนักหนา |
ต้นไม้รายคล้ายวาดสอาดตา |
ฝูงปักษาน้อยน้อยลอยล่องบิน |
บ้างจับสายโทรเลขแลเปนแถว |
ไซ้ปีกส่งเสียงแจ้วแล้วโผผิน |
นกตขาบคาบเหยื่อมาหยุดกิน |
พอได้ยินเสียงรถถลาไป |
ถึงบ้านน้อยเดินในระหว่างวัด |
พระสงฆ์จัดปลูกแคร่ขึ้นใหม่ใหม่ |
ออกมานั่งพรั่งพร้อมถวายไชย |
ที่ร่มไม้ในวิถีมีปะรำ |
เลี้ยงน้ำชาโซดาแลน้ำขิง |
สิ้นทุกสิ่งที่บันดาคนคลาคล่ำ |
ตัวจีนเลี้ยงเขาไม่ละมาประจำ |
เปนจีนทำภาษีฝิ่นในถิ่นนี้ |
ตั้งแต่บ้านน้อยมานาตลอด |
ถูกแดดทอดนี้อ่อนด้วยร้อนจี๋ |
เพราะต้นไม้ที่ใหญ่ใหญ่ไม่ใคร่มี |
จนถึงที่หนองขาวที่หมู่คน |
บ้านแห่งใดรั้วไม้รวกสูงสูง |
ด้วยกลัวฝูงขะโมยจะมาปล้น |
อิกอย่างหนึ่งกลัวเสือนั้นเหลือทน |
แต่ก่อนมาวิ่งวนจนในเมือง |
ไม่แต่เรือนเรือกสวนสิ้นทั้งนั้น |
แต่บ่อน้ำก็กั้นคอกเขื่องเขื่อง |
พวกชาวบ้านมาดูอยู่นองเนือง |
ต่างตั้งเครื่องบูชาหน้าบ้านเรือน |
วัดหนองขาวคราวนี้ดีนักหนา |
เกิดปัญหาอย่างดีไม่มีเหมือน |
อยู่ข้างขัดข้องเข็ญเห็นฝืดเคือง |
ดำเนินเรื่องปัญหาว่าดังนี้ |
พระวัดหนึ่งนั้นอยู่ข้างทางเสด็จ |
ปลูกร้านเสร็จดาดปะรำประจำที่ |
คอยถวายไชยข้างทางจรลี |
แต่พื้นมีฉะเพาะพระในวัดนั้น |
เห็นกระบวนม้านำแลตำรวจ |
ก็ก้าวพรวดขึ้นไปนั่งดังจัดสรร |
ปลัด “ข” องค์หนึ่งมาถึงพลัน |
ไปขอช่วยท่านเหล่านั้นแต่ยังยืน |
พวกเจ้าวัดเห็นว่ามาแต่ไกล |
เปนผู้ใหญ่จึงขยับไปที่อื่น |
พร้อมกันนั่งกระทั่งก้นถึงพั้น |
ที่กลางแคร่หักครืนลงทันใด |
ยังมีสมเด็จเจ้านามว่า “ก” |
วิ่งวางมาหาทันขอสักคำไม่ |
ขึ้นนั่งหัวกระดานหักชักสวดไป |
ม้าที่นั่งนั้นใกล้สักสิบวา |
พระที่ตรงพื้นหักจักประมาณ |
จมอยู่ในใต้กระดานเพียงแค่บ่า |
ที่นั่งเคียงสูงเปนหลั่นกันขึ้นมา |
จะย้ายท่าไปอย่างใดก็ไม่ทัน |
พระผู้เปนเจ้าวัดที่จัดแคร่ |
จะควรคิดแก้ไขไฉนนั่น |
ให้ได้สวดรับเสด็จโดยทันควัน |
ปัญหานั้นเปนดังนี้มีเรื่องราว |
ต่อนั้นไปเดินในหมู่ตำบลบ้าน |
พอหมดย่านประทับร้อนตอนหนองขาว |
เปนสองหลังตั้งติดกันตามยาว |
จะขอกล่าวด้วยเวลาที่มานั้น |
ทางห้าร้อยสิบเส้นเปนคำว่า |
กระบวนม้าเร็วรุดสุดขยัน |
เดินสองโมงสี่สิบห้ามาถึงพลัน |
รถผายผันรยะนี้ทีจะช้า |
ถ้าคิดหักพักยั้งทั้งขึ้นรถ |
ประมวญหมดเห็นจะสี่ชั่วโมงกว่า |
รถกับวอต่อกระชั้นทันกันมา |
ที่พลับพลาร้อนรนพ้นกำลัง |
ด้วยอยู่ที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่ |
อายแดดแผดเข้าไปได้ข้างหลัง |
ราษฎรพากันมาดาประดัง |
เห็นแต่นั่งหน้าพลับพลากว่าห้าร้อย |
มีเชี่ยนขันโต๊ะพานตามบ้านนอก |
เข้าหลามสี่ห้ากระบอกขนมขน้อย |
จัดตามจนมีคนละเล็กละน้อย |
มานั่งคอยถวายล้อมอยู่พร้อมเพรียง |
ทรงปราไสไปทุกหน้าที่มานั้น |
ก็ชิงกันทูลสนองออกซ้องเสียง |
ฟังเหน่อหน่าตามภาษาแปร่งสำเนียง |
บ้างถุ้งเถียงทานทัดขัดคอกัน |
ราษฎรเหล่านี้ที่มาเฝ้า |
คนแก่เถ้าบางคนมีที่จำมั่น |
มานั่งเล่าถึงเคยเฝ้าแต่ก่อนนั้น |
เมื่อพระชันษาได้สิบสองปี |
รับสั่งให้ไปแจกเงินประทาน |
ทรงสัณฐานจำไว้ได้ถ้วนถี่ |
สูงกว่าทูลหม่อมใหญ่ในเดี๋ยวนี้ |
รับสั่งว่าอย่าให้ขี้ฉ้อข้านะ |
สิบเอ็ดปีมานี้อิกครั้งหนึ่ง |
พระรูปขึงขังขึ้นจริงจริงหละ |
จะเพดทูลว่ากระไรใช้เจ้าคะ |
เสียงเอะอะอื้ออึงคนึงไป |
ฟ้องพระยากาญจน์บุรีว่าขี้ฉ้อ |
เปนหลายข้อเลี้ยวลดกดขี่ไพร่ |
โจรผู้ร้ายไม่ชำระละทิ้งไว้ |
กำเริบไปทั่วแขวงกาญจน์บุรี |
ทรงรับจะดับทุกข์ให้ตลอด |
จะให้ถอดเจ้าเมืองเสียจากที่ |
ราษฎรทั้งสิ้นก็ยินดี |
เสียงเอิกเกริกมี่ทั้งพลับพลา |
แต่บันดาคนที่มาเฝ้าทั้งนั้น |
ประทานเงินแจกปันเปนนักหนา |
ผู้ใหญ่ได้บาทหนึ่งพึงวิญญา |
เด็กที่มาได้สลึงหนึ่งทุกคน |
พวกหนึ่งนั้นพากันมาว่าเพลง |
เสียงครื้นเครงแก้ไขไม่ขัดสน |
รับสั่งให้เล่านิทานชาวบ้านจน |
เล่าไม่เปนเลยสักคนในหมู่นั้น |
แต่เพียงนิทานยายกะตา |
ที่ปลูกถั่วปลูกงาก็ฟังขัน |
ช่างไม่เล่ากันเลยเห็นเปนอัศจรรย์ |
ทีเวลากลางวันจะทำงาน |
กลางคืนแต่พอพลบสลบหลับ |
นิทานเปนเครื่องสำหรับคนอยู่บ้าน |
จะเล่าได้ก็แต่ในราตรีกาล |
เล่านิทานกลางวันนั้นไม่ดี |
กล่าวกันว่าเทวดาจะแช่งชัก |
คิดดูก็ประจักษ์ได้ถ้วนถี่ |
ด้วยกลางวันนั้นเวลาการงานมี |
ผู้ที่ทำงานป่วยการทำ |
ห้ามเช่นนี้จึงไม่มีเวลาเล่า |
เพราะพวกบ้านนี้เขานอนหัวค่ำ |
ถามถึงการขับร้องเปนลำนำ |
ก็ว่าจำไม่ได้ร้องไม่เปน |
ในบ้านนมีแต่การวิ่งวัว |
ตัวต่อตัวชายหญิงออกวิ่งเล่น |
แม้ว่าจับใครได้ต้องเกณฑ์ |
ให้รำอย่างเถนเถนตามทำนอง |
เรียกกันว่าเพลงโศกกระไทย |
ถ้าแม้ใครไม่รำทำขัดข้อง |
อุ้มไปทิ้งมูลสุนัขในกลางกอง |
รับสั่งให้ลองร้องถวายตัว |
นางตะตรุดทองคำขึ้นรำแต้ |
กระแท้แร้กระแท้แต่ต่างยิ้มหัว |
ที่คนอายไม่ยอมรำทำเล่นตัว |
ตกรางวัลพันพัวก็พวยมา |
ลูกคู่ร้องโศกกระไทยเจ้าแม่เอ๋ย |
โศกกระไทยเจ้าแม่อา |
เจ้าไปไหนมา กินปลาร้ากับสาคู |
กินปลาทูกับลอดช่อง |
ต่างคนร่ายรำตามทำนอง |
ได้รางวัลยิ้มย่องสบายใจ |
บ่ายสองโมงเศษสักสิบห้า |
กระบวนวอล่วงหน้าขึ้นไปใหม่ |
สามโมงเศษเสด็จจากพลับพลาไป |
รถข้างในติดตามหลามรัถยา |
ระยะทางตอนนี้เปนที่ทราย |
ม้าลากฝืดติดตะกายเปนนักหนา |
แต่ที่ป่าท่าสนุกกว่าแรกมา |
ต้นพฤกษามักจะอยู่เปนหมู่กัน |
เหล่าพยอมย่อมย่อมเปนระยะ |
เหมือนคนปลูกเปนจังหวะดังแสร้งสรร |
รดูดอกเดินมาเวลานั้น |
จะน่าชื่นใจครันด้วยกลิ่นอาย |
เสียดายมาเวลานี้ไม่มีดอก |
แต่ใบออกฉอุ่มกว่าไม้ทั้งหลาย |
มขามป้อมก็เปนหมู่อยู่เรียงราย |
แต่ลูกหายไปกระไรไม่เห็นมี |
พวกมาเกวียนข้างหน้าว่ามีมาก |
คงกระชากกันเสียจนออกป่นปี้ |
แม้เข้าไปในป่าคงยังมี |
ข้างวิถีเหลือจะอยู่เพราะผู้คน |
ยังป่าไผ่ไม้ตะพดอยู่พวกหนึ่ง |
ดูออกซึ้งซ้อนสลับไม่สับสน |
ไม่มีไม้อันใดอื่นมาปะปน |
จะนิพนธ์ไปให้ทั่วกลัวยืดยาว |
ที่พ่างพื้นรื่นราบดังปราบสนาม |
ชักให้งามตามที่ด้วยสีขาว |
แม้ไม่แล้งมีหญ้ามาถูกคราว |
จะงามราวกับว่าป๊ากฉันอยากดู |
แม้เดินทางไปข้างไหนไม่มีเขา |
ดูมันเปล่าตาไปอย่างไรอยู่ |
แม้แลเห็นเขาข้างหน้าพาใจฟู |
เขาที่ไหนก็ไม่สู้ไทรโยคนี้ |
ถึงบ้านน้อยเห็นเขาเปนคราวแรก |
แต่ยังแทรกอยู่ในเมฆไม่เต็มที่ |
จนออกจากหนองขาวมาคราวนี้ |
จึงเห็นชัดขึ้นทุกทีตลอดทาง |
เขาหนึ่งใกล้มรคาข้างขวามือ |
เขาเรียกชื่อเขาเมงมีออกอ้าง |
มีเจดีย์วิหารเห็นรางราง |
เขาไปสร้างไว้บนนั้นขยันนัก |
ถัดนั้นเข้าไปถึงไร่ร้าง |
ใครทิ้งขว้างเสียอย่างไรไม่ประจักษ์ |
แลไปนับไม่ถ้วนล้วนต้นรัก |
เห็นจะมีราวสักสี่ห้าร้อย |
แม้นักเลงแต่งนิราสผาดแลเห็น |
คงจะว่าเล่นใหญ่ใส่จ้อยจ้อย |
ด้วยเปนท่าว่าได้มากมิใช่น้อย |
รักอะไรอ้อยส้อยไปตามที |
ถัดเข้าไปต้นไม้ที่มีผล |
เปนสวนคนปลูกสร้างไว้ที่นี่ |
แล้วถึงนาหลังบ้านกาญจน์บุรี |
โคกระบือมากมีอยู่ที่นั้น |
ไปตามทางหว่างไร่ในหมู่บ้าน |
ผู้คนพล่านมาดูอยู่ที่นั่น |
ถึงวัดเทวสังฆารามพลัน |
เปนท่าที่จะผายผันลงนาวา |
ปะรำพระรับเสด็จอยู่ข้างซ้าย |
เปนพระฝ่ายมาแต่อื่นออกดื่นหน้า |
เจ้าของวัดจัดปะรำริมมรคา |
ข้างฝ่ายขวาคอยช่วยอำนวยไชย |
ฉายดินราบปราบลงมาถึงท่าน้ำ |
ยังต้องทำตะพานเรือกอิกยาวใหญ่ |
ลงสำปั้นเก๋งผ้ารับพาไป |
ขึ้นตะพานฉนวนใหญ่หน้าพลับพลา |
เข้าในค่ายคล้ายกับไปในบ้านสวน |
เปนกระบวนอย่างยี่ปุ่นไปทุกท่า |
ได้ที่อยู่สอดคล้องต้องวิญญา |
เหนื่อยนักหนาขอสงบจบสักครั้ง |
ขอเติมสร้อยหน่อยหนึ่งพึ่งได้ข่าว |
คุณท้าวทรงกันดาลตายอยู่ภายหลัง |
พอค่ำพลบจะเอาศพออกจากวัง |
ให้ปิดคลังในวันนี้ไม่มีใคร |
อนึ่งเพิ่มวันประทับอยู่ที่นี่ |
ขึ้นเปนห้าราตรีต่อไปใหม่ |
โปรดให้มีโทรเลขบอกเข้าไป |
ให้ทราบในกรุงเทพที่เลื่อนนี้ ฯ |