๏ จะขอว่าด้วยพลับพลาที่ประทับ |
ครั้งนี้กลับคลายเคลื่อนเลื่อนขยาย |
มาตั้งในดงที่มีไม้ราย |
ไม่อยู่ชายทุ่งดังครั้งหลังมา |
ผันหน้าค่ายไปฝ่ายบุรทิศ |
เยื้องอยู่นิดข้างใต้ไม่ตรงหน้า |
พระแท่นตั้งอยู่ข้างเหนือพลับพลา |
มรคาสามเส้นเปนประมาณ |
พระโรงกว้างอย่างยี่ปุ่นคล้ายหั้นหย่า |
หลังคาซ้อนแฝกหนามีห้องข้าง |
พนักผนังเครื่องตั้งติดแลวาง |
ล้วนเปนอย่างยี่ปุ่นสิ้นไม่กินใจ |
เฉลียงหลังเปนที่นั่งเถ้าแก่พัก |
มีมุขชักมาถึงพระที่นั่งใหญ่ |
เปนสองหลังรีขวางส่วนข้างใน |
ดูกว้างใหญ่ติดตั้งเปนหลังเดียว |
เฉลียงโถงรอบไปใส่พนัก |
ฝาใบพลวงไม้จักชลอมเกี่ยว |
ประจันห้องฉากกั้นสำคัญเจียว |
ดูลดเลี้ยวซอกแซกแปลกทำนอง |
ในท่วงทีกั้นฝาถ้าจะนับ |
ติดต่อกันเปนอันดับได้สามห้อง |
ที่เสวยกว้างใหญ่มิใช่รอง |
ห้องที่สองแต่งพระองค์ตรงกันไป |
ที่ประทมถัดเข้าไปข้างในหน่อย |
ตกแต่งไว้ไม่น้อยงามใช้ได้ |
เฉลียงแขวนกรงนกเขาขันกระไร |
หว่างกรงใช้โคมกระดาษแขวนกลาดราย |
ที่ด้านหน้าท่าดีเปนที่หนึ่ง |
แดดไม่ถึงจนกระทั่งตวันสาย |
จัดเปนที่ประทับเล่นเย็นสบาย |
ไม้กระถางวางซ้ายขวาบันได |
ตำหนักดีสามหลังเปนจังหวะ |
ไว้ระยะห่างห่างเปนอย่างใหม่ |
เรือนแถวหลังตำหนักนั้นลักไป |
คั่นบันไดอ่อนเยิ่นเดินน่ากลัว |
ข้างด้านหลังตั้งปะรำใบไม้สด |
ยกพื้นหมดพออาศรัยกันได้ทั่ว |
ตามทางที่เดินนั้นเขากั้นรั้ว |
ไม่พันพัวกันกับสวนเปนส่วนเดิน |
อุทยานอย่างนี้ดีที่สุด |
หญ้าร้องไห้ใช้กรุดไว้เผินเผิน |
ฉันไปเก็บเอามาเล่นเปนพเนิน |
ดูเพลิดเพลินลดเลี้ยวเที่ยวสำราญ |
กรมพระพระองค์น้อยนั้นผู้กะ |
ให้พระพรหมสุรินทร์เปนนายด้าน |
คนเมืองราชบุรีมาทำการ |
ไม่เนิ่นนานเกือบจะไม่ใคร่ทำทัน |
เวลาค่ำแขวนโคมตามต้นไม้ |
ดูไสวสว่างดีต่างสีสัน |
ตามสวนแขวนโคมกระดาษกลาดทั้งนั้น |
ยามกลางวันมีมู่ลี่คลี่กำบัง |
ล้วนลูกปัดของยี่ปุ่นร้อยเปนลาย |
ที่เปนไม้แขวนมาหน้าพระที่นั่ง |
เมื่อคืนนี้ช่างหนาวเอาจริงจัง |
ห้าสิบเก้าเกินกำลังจะทนทาน |
ส่วนกลางวันนั้นปรอทแปดสิบแปด |
ดูแสงแดดช่างประหลาดแดงฉาดฉาน |
ร้อนแห้งแห้งไม่มีเหื่อเหลือรำคาญ |
ชวนจะพานปวดหัวตัวร้อนรน |
พอบ่ายห้าโมงเศษเสด็จยาตร |
ด้วยพระบาทโดยทางกลางถนน |
เปนกระบวนข้างในขึ้นไปยล |
มณฑปบนเขาใหญ่ถวายเพลิง |
แต่พลับพลามาทางสิบสามเส้น |
แลดูเปนเขาย่อมย่อมไม่ใหญ่เทิ่ง |
ขึ้นบันไดคั่นใหญ่ไปแต่เชิง |
เสียงนับกันเปีงเปีงตลอดไป |
ด้วยตำราว่าใครนับได้มากน้อย |
อายุจะหาลดถอยกว่านั้นไม่ |
ฉันนับได้เก้าสิบแสนเสียใจ |
อยากทำลืมเลยไปให้ถึงร้อย |
เขานี้ยาวราวเก้าเส้นสิบเส้น |
ฉะเพาะเปนยอดสูงขึ้นไปหน่อย |
วางมณฑปที่บนนี้ดีไม่น้อย |
ดูสูงลอยแลรอบเห็นขอบคัน |
มณฑปมีสี่เสาสิบสองเหลี่ยม |
ทำเทียมเมรุยอดอย่างตั้นตั้น |
กว้างสักสามวาได้ในที่นั้น |
มีประตูตรงกันอยู่สองทาง |
มีรูปพระสงฆ์ยืนอยู่ริมเสา |
ดูลาดเลาทีจะทำตามเรื่องอ้าง |
พระกัสสปอภิวาทพระบาทกลาง |
เขาทำอย่างนูนขึ้นมากว่าที่พื้น |
ด้วยตั้งใจจะไม่ให้เปนรอยลง |
โดยประสงค์จะให้เห็นเปนอย่างอื่น |
เหมือนตัดตีนหงายไว้ไม่ใช่ยืน |
แปลว่ายื่นจากรางที่วางไว้ |
ตามคำอธิฐานพระกัสสป |
ได้นอบนบพระบาทสมมาดได้ |
มีฐานรองสูงสักสองศอกขึ้นไป |
ที่ใครใครพูดกันเหลิงว่าเชิงตะกอน |
นอกมณฑปออกไปเดินได้รอบ |
เห็นเขตรขอบหมู่ไม้ไกลสลอน |
ที่พื้นต่ำมีปะรำประทับร้อน |
เสด็จกลับทางก่อนไม่ยักย้าย |
ที่พระแท่นเทือกเขาลูกเก่านั้น |
แต่เตี้ยเตี้ยติดกันมาเปนสาย |
มีโบถส์ฤๅวิหารตั้งทั้งขวาซ้าย |
แต่อยู่ในเรื่องทลายฤๅเลยค้าง |
เปนจะบอกอย่างเอกไม่เศกสรร |
เห็นนานครันแล้วอย่างไรไม่แปลกบ้าง |
ตัววิหารพระแท่นอยู่ที่กลาง |
ดูเปนอย่างบ้านนอกไม่แกรนนัก |
ประดับด้วยถ้วยชามนั้นครามครัน |
แต่น่าบันแลเห็นเปนลายสลัก |
เฉลียงโถงโปร่งดีมีพนัก |
เปนที่สัปรุษพักได้ทำบุญ |
มีทักษิณชั้นล่างกว้างขวางใหญ่ |
สร้างอะไรต่ออะไรกันออกวุ่น |
โรงระฆังพระเจดีย์มีชุลมุน |
มีเสาดุ้นใหญ่ใหญ่ไว้ช่องตะเกียง |
ตั้งตะคันน้ำมันไว้ให้สัปรุษ |
มาตามจุดได้สว่างทางเฉลียง |
เขาว่าคือรังคู่ที่อยู่เคียง |
ลำต้นเอียงโอนเมื่อพระจะนิพพาน |
จึงเอาอิฐปูนก่อหุ้มตอไว้ |
หวังจะให้เปนบูชนีษฐาน |
พระแท่นยาวสิบเอ็จศอกคืบประมาณ |
สังเกตการโดยกว้างสักกว่าวา |
พื้นเพล่เทลงข้างเบื้องล่าง |
ดูท่อนข้างบนสูงศอกคืบกว่า |
ตอนล่างสักสิบเอ็จนิ้วคณนา |
เปนศิลาครุคระไม่น่านอน |
เขาเล่าว่าเดิมมาก็เกลี้ยงเกลา |
ครั้นพระเจ้ามาประทมเปนปัจฐรณ์ |
พระอินทรกลัวพวกประชาจะมานอน |
จึงกลับก้อนศิลาผันแต่นั้นมา |
ที่เบื้องบนนั้นมีเปนที่หมอน |
สูงกว่าปัจฐรณ์สักคืบกว่า |
ผนังหลังก่อประกับทับศิลา |
ชรอยว่าด้านนั้นจะฟันไป |
เพราะเปนเทือกเทินมอต่อกับเขา |
จะไม่เข้ารูปเห็นเปนแท่นได้ |
บนพระแท่นกองผ้าน่าตกใจ |
เปนรูปคนโตใหญ่เห็นเปนเค้า |
เมื่อคราวก่อนเหมือนจะเก็บพระอังคาร |
แต่คราวนี้พิสดารไปกว่าเก่า |
เหมือนคนนอนคลุมหัวเห็นเงาเงา |
ตีนตะแคงเหมือนหนึ่งเขาเขียนรูปพระ |
ยืนเอาส้นชนกัน“อัน”อย่างยิ่ง |
ถ้าเปนจริงจะเหมือนปูดูเปะปะ |
คนเอายืนขึ้นอย่างนั้นคงขันละ |
พอได้ท่าหัวพะปัฐพี |
พระแท่นนั้นฐานปั้นเปนบัวรอง |
แล้วปิดทองทั่วไปจนเต็มที่ |
ราวเทียนทำเปนพนักหักเต็มที |
ฉัตรห้าชั้นกั้นที่สี่เสาราย |
ปลายพระแท่นทำลับแลเปนพระบาท |
อย่างเช่นมีเกลื่อนกลาดกันทั้งหลาย |
โต๊ะหมู่มีพานรองก้อนทองพราย |
ดูมากมายไปกว่าก่อนก้อนเล็กลง |
อันก้อนนี้ที่ว่าเปนพระโลหิต |
คนนับถือศักดิ์สิทธิ์น่าพิศวง |
เดิมก้อนใหญ่จำได้เปนมั่นคง |
เขาบอกตรงว่ายายชีมีศรัทธา |
มาแบ่งกันบังสกุลจนตกแตก |
ฉันเห็นแหลกหลายก้อนก็ดีกว่า |
จะได้ไม่เกิดวิวาทวาทา |
อนิจจาน่าสมเพชเปนพ้นไป |
ผนังด้านหุ้มกลองมีช่องผนัง |
สำหรับตั้งตามตะเกียงในนั้นได้ |
น้ำมันเหลือเก็บเผื่อไปไว้ใช้ |
ใส่บาดแผลอันใดดีทั้งนั้น |
ตรงพระแท่นนั้นแขวนเพดานผ้า |
ถึงสองชั้นคร่ำคร่าหลากสีสัน |
ผนังแขวนพระบทเปนอนันต์ |
พื้นตกั่วดาดมั่นแทนเงินเงา |
เสด็จที่เจดีย์หลังวิหาร |
เปนสถานที่พระพุทธเจ้า |
บ้วนพระโอษฐลงในบ่อต่อลำเนา |
เปนเทือกเขาย่อมย่อมอ้อมขึ้นไป |
มีช่องผาถ้าข้างยาวหกนิ้วเศษ |
กว้างสังเกตเห็นจะสักสี่นิ้วได้ |
ลึกเห็นไม่ถึงศอกแท้แน่แก่ใจ |
ว่าพระบ้วนพระโอษฐไว้ยังมีน้ำ |
ตักขึ้นมามีกลิ่นเหมือนน้ำหมาก |
วิเศษมากใช้อะไรได้ยังค่ำ |
พระพุทธเจ้าเสวยหมากวิบากกรรม |
จะเปนคำละกี่ลูกจึงจะพอ |
ยังหินบดยาข้างขวามือ |
ก็นับถือกันเห็นว่าเปนหมอ |
ตั้งอยู่บนกองศิลาท่ามอซอ |
หมอที่มาสอสอแกลืมไว้ |
แล้วกล่าวว่าถ้าใบไม้เอาไปบด |
ก็เปนยาดีหมดแก้เจ็บไข้ |
เข้าไปใกล้ได้กลิ่นเหม็นสุดใจ |
ด้วยบดไปวันยังค่ำกระหน่ำมา |
การศักดิสิทธิฤทธิเดชพระแท่นนี้ |
เล่ากันมีหลากหลากมากนักหนา |
เรื่องหนึ่งนั้นว่าแขกมาเจรจา |
ว่าพระแท่นนี้น่าจะนอนนัก |
เลือดตมูกตปากตกมากไหล |
ไม่หยุดจนสิ้นใจได้เห็นประจักษ์ |
น้ำบ้วนพระโอษฐนี้ก็ดีนัก |
หยอดตาสักนิดหนึ่งก็หายแดง |
หลังมณฑปถวายเพลิงนั้นมีปล่อง |
ไปเที่ยวท่องเมืองลับแลได้ทุกแห่ง |
แต่มักหลงเหลิงกระจัดเดินพลัดแพลง |
วิชาแรงจึงจะไปได้ดังคิด |
ดูคนไทยศรัทธากันนั้นขันมาก |
นับถือพระแต่ว่าอยากที่ศักดิสิทธิ |
ถ้าบอกจริงจำไม่ได้ให้สวิต |
ปดแล้วติดใจจำเปนตำรา |
พระประถมถึงว่าเก่าสักเท่าใด |
ทั้งโตใหญ่ยิ่งที่นี่งามดีกว่า |
ดูไม่ใคร่มีใครใจศรัทธา |
คนบูชามาไปไม่ใครมี |
ไม่ได้ยินเสียงรฆังกี่ครั้งเลย |
แม่เจ้าเอ๊ยครั้นว่ามาถึงนี่ |
พอสางสางเสียงรฆังประดังตี |
วันยังค่ำคุ้งราตรีตีสองยาม |
ธูปเทียนทองต้องสงวนมาพระแท่น |
กำเทียนแน่นไปทุกคนจนออกหลาม |
จนบ่าวข้าแต่บรรดาที่มาตาม |
อุส่าห์หามกันขึ้นไปไม่เว้นตน |
คุณเถ้าแก่เล่ากันว่าวันนี้ |
ขึ้นไปที่มณฑปแสนขัดสน |
เกือบจะไม่ไปถึงเหนื่อยเหลือทน |
พอถึงบนเข้าไปนั่งตั้งบูชา |
ถวายชีวิตแก่พระสละขาด |
ดูประหลาดขากลับไม่แกล้งว่า |
ตัวเหมือนปลิวลิ่วเลื่อนลอยลงมา |
ไม่เหน็จเหนื่อยกายาเท่ายองใย |
สอนคาถาบาฬีที่ไปว่า |
กำชับกำชากันให้ไปทำให้ได้ |
ขึ้นกับลงผิดกันเปนฉันใด |
ชาเสียไม่รำฦกนึกเทียบทาน |
บ้างมีการบังสกุลกรุ่นยังค่ำ |
จนกรวดน้ำกันอย่างไรในอวสาน |
พระพุทธเจ้าฤๅก็เข้าพระนิพพาน |
น่ารำคาญแผ่ส่วนบุญจะวุ่นครัน |
พระแท่นนี้ว่าเปนที่พระไสยาสน์ |
เทียบพระองค์ดูกับอาสน์ก็เห็นขัน |
องค์พระสูงสามวาตามว่ากัน |
พระแท่นนั่นสิบเอ็จศอกตามบอกมา |
แม้นไสยาสน์แล้วพระบาทคงต้องห้อย |
มิใช่น้อยทำเล่นเปนคืบกว่า |
จะว่าสูงหกศอกตามตำรา |
ที่ว่าว่าชั้นหลังก็ยังแคลง |
ก้อนศิลาที่ว่าก้อนพระโลหิต |
ทรงอาเจียนคงจะติดอยู่ทั้งแท่ง |
เมื่อยังไม่แย่งกันแตกโตพอแรง |
เท่ามะตูมมิได้แกล้งจะใส่ความ |
หนึ่งที่ว่าอาเจียนโลหิตนี้ |
เปนบาฬีผูกไหนจะใคร่ถาม |
จะเปนคนภายหลังตั้งไปตาม |
ที่งุ่มง่ามมุ่งหน้าจะหากิน |
ว่าที่จริงผู้สร้างเขาช่างหา |
ทั้งภูเขาราวป่าท่าดีสิ้น |
สร้างขึ้นควรสมความตามรบิล |
เปนสังเวชนียถิ่นที่ควรไป |
อันตัวฉันนั้นก็มีความเคารพ |
ใช่จะสบประมาทว่านั้นหาไม่ |
แต่อยากให้บอกชัดว่าจัดไว้ |
เปนที่ไหว้บูชาอย่าว่าจริง |
เหมือนอย่างสร้างพระพุทธรูปนั้น |
ใช่เหมือนกันกับพระองค์สิ้นทุกสิ่ง |
ก็ไม่มีใครกล้าว่าท้วงติง |
เพราะไม่ได้อ้างอิงว่าองค์พระ |
ซึ่งฉันพูดนินทามาทั้งนี้ |
ใช่จะกล่าววาทีทางเกะกะ |
ก็กราบไหว้ด้วยสัมมาคารวะ |
แต่ว่าจะให้ว่าจริงนั้นกริ่งใจ |
ทั่วพระแท่นมีที่ดีอยู่เท่านี้ |
เสด็จกลับเกือบราตรีพอเข้าไต้ |
ตระเตรียมตัวกลัวพรุ่งนี้จะช้าไป |
ขอจบไว้เพราะเวลาหาไม่มี ฯ |