- คำนำ
- พระราชนิพนธ์ไดอรีซึมทราบ
- เรื่องตามเสด็จไทรโยค
- คำนำ
- ๏
- วันที่ ๑ วัน ๑ ๕ฯ ๒ ค่ำ
- วัน ๒ ๖ฯ ๒ ค่ำ
- วัน ๓ ๗ฯ ๒ ค่ำ
- วัน ๔ ๘ฯ ๒ ค่ำ
- วัน ๕ ๙ฯ ๒ ค่ำ
- วัน ๖ ๑๐ฯ ๒ ค่ำ
- วัน ๗ ๑๑ฯ ๒ ค่ำ
- วันที่ ๑ ๑๒ฯ ๒ ค่ำ
- วัน ๒ ๑๓ฯ ๒ ค่ำ
- วัน ๓ ๑๔ฯ ๒ ค่ำ
- วัน ๔ ๑๕ฯ ๒ ค่ำ
- วัน ๕ ฯ๑ ๒ ค่ำ
- วัน ๖ ฯ๒ ๒ ค่ำ
- วัน ๗ ฯ๓ ๒ ค่ำ
- วัน ๑ ฯ๔ ๒ ค่ำ
- วัน ๒ ฯ๕ ๒ ค่ำ
- วัน ๓ ฯ๖ ๒ ค่ำ
- วัน ๔ ฯ๗ ๒ ค่ำ
- วัน ๕ ฯ๘ ๒ ค่ำ
- วัน ๖ ฯ๙ ๒ ค่ำ
- วัน ๗ ฯ๑๐ ๒ ค่ำ
- วัน ๑ ฯ๑๑ ๒ ค่ำ
- วัน ๒ ฯ๑๒ ๒ ค่ำ
- วัน ๓ ฯ๑๓ ๒ ค่ำ
- วัน ๔ ฯ๑๔ ๒ ค่ำ
- วัน ๕ ฯ๑๕ ๒ ค่ำ
- วัน ๖ ๑ฯ ๓ ค่ำ
- วัน ๗ ๒ฯ ๓ ค่ำ
- วัน ๑ ๓ฯ ๓ ค่ำ
- วัน ๒ ๔ฯ ๓ ค่ำ
- วัน ๓ ๕ฯ ๓ ค่ำ
- วัน ๔ ๖ฯ ๓ ค่ำ
- วัน ๕ ๗ฯ ๓ ค่ำ
- วัน ๖ ๘ฯ ๓ ค่ำ
วัน ๖ ฯ๙ ๒ ค่ำ
วัน ๑ ๙ฯ ๒ ค่ำ
๏ หน้าพลับพลาที่ตรงนี้นั้นมีถ้ำ | แลเห็นดำอยู่ตรงกลางหว่างเวิ้งขาว |
เห็นเปนช่องคูหาลงมายาว | พึ่งค้นใหม่ในคราวเสด็จนี้ |
ทำบันไดขึ้นไปใหม่จากในน้ำ | ถึงชานถ้ำสามวาว่าเต็มที่ |
เดินเข้าไปถึงหน้าคูหารี | สูงสี่วาสองศอกนอกทีเดียว |
เดินเข้าไปได้คล่องสักสองวา | ต้องตะแคงกายาอย่างเอียงเอี้ยว |
ถ้าเปนซอกกรอกตรงไม่วงเลี้ยว | ไปประเดี๋ยวที่กว้างอย่างน้อยน้อย |
แล้วต้องคลานประมาณสี่วาถ้วน | มีโพรงคด้วนอยู่อิกนิดติดต้องถอย |
ดูท่าทางอยู่ข้างจะโคมลอย | ครั้นจะปล่อยให้ข้างในไปจะช้า |
จึงเสด็จแต่พระองค์แล้วทรงเล่า | ฉันจำได้ไว้เปนเค้าเอามาว่า |
เสด็จกลับเคลื่อนกระบวนด่วนยาตรา | เช้าสองโมงกับสิบห้าเศษนาฑี |
ไปคุ้งหนึ่งถึงแก่งวังเขมร | เกาะตอเปนขึ้นอยู่กลางหว่างวิถี |
น้ำเชี่ยวจัดพัดเรือเบื่อเหลือดี | ทางวารีฝั่งเหนือเรือครรไล |
เขาตาเล็กวังเขมรเห็นอยู่หน้า | เรี่ยวธาราเชี่ยวอย่างคว้างคว้างไหล |
ต่อนั้นน้ำเงียบทีเดียวเลี้ยวคุ้งไป | มีเขาใหญ่ท้องคุ้งสูงพอแรง |
อันเขาปลักมูลกระบือคืออยู่หน้า | มีศิลาเรียงรายเปนหลายแห่ง |
ยังซ้ำเรียวเชี่ยวขวางอยู่กลางแปลง | ศิลาแฝงฝั่งยื่นยืนออกไป |
ที่แก่งปลักมูลกระบือลือชื่อแท้ | สายกระแสเชี่ยวจนวนทนไม่ไหว |
ซ้ำหักเปนข้อศอกออกหนักใจ | ศิลาในน้ำกองออกนองเนือง |
ร่องน้ำเลี้ยวแหลมตะไคร้ไปข้างเหนือ | ต้องครู่ละเก๋งเรือตลอดเรื่อง |
หัวแก่งมีศิลาแดงแสงประเทือง | ก้อนเขื่องเขื่องย่อมย่อมพร้อมทุกอัน |
คิรีหน้าผาเด่นเห็นฝั่งใต้ | สองยอดใหญ่อยู่ข้างหลังตั้งขึงขัน |
ตรงหน้าผาท่าซุงอยู่คุ้งนั้น | ตลิ่งชันฉายบ้างทางลากไม้ |
มีทับอยู่ริมทางไม่ห่างฝั่ง | มีคนนั่งทั้งเด็กแลผู้ใหญ่ |
ทีจะเปนกระเหรี่ยงบ้างฤๅอย่างไร | ทรงซักไซ้สืบความถามหลวงพล |
ได้ความว่านายร้อยคำมาทำป่า | จ้างลว้าข่าสอดในไพรสณฑ์ |
กระเหรี่ยงมีรับจ้างบ้างบางคน | ลากหน้าฝนล่องหน้านี้ทุกปีไป |
คนทำการมีประมาณห้าสิบหย่อน | กับกุญชรชักมีสี่เชือกได้ |
ปีหนึ่งตกอย่างน้อยห้าร้อยใน | แปดร้อยไม้อย่างมากลากลงมา |
แต่ก่อนนี้ว่ามีต้นโตชุม | ตัดกันกลุ้มจนไม้ใหญ่หมดป่า |
ที่ล่องอยู่เดี๋ยวนี้มีกำวา | เพียงสี่ห้าหกเสร็จจนเจ็ดกำ |
เคยตกมาอยู่ในห้าหกร้อยต้น | อย่างมากจนทันประเมินไม่เกินก้ำ |
ค่าตอต้นละสลึงหนึ่งประจำ | ไม้ใหญ่ทำค่าตอต้องต่อเติม |
เปนต้นละบาทหนึ่งถึงขนาด | พิกัดขาดมิได้มีที่ต้องเพิ่ม |
ถึงไม้มีก็ไม่ดีเหมือนอย่างเดิม | ค่าตอเสิมสูงถึงบาทจึงขาดทุน |
อย่างยาวมีเพียงสี่วาสองศอก | จึงลากออกป่าได้ไม่ต้องวุ่น |
ยาวกว่านั้นคัดลากยากชุลมุน | ต้องเข็นรุนตามเขาลำเนาเนิน |
ครั้นจะล่องช่องทางอยู่ข้างยาก | ลดเลี้ยวมากไม่สนัดมักขัดเขิน |
มาตามทางพบบ้างกำลังเดิน | ไม่มีเกินห้าหกกำเปนธรรมดา |
พ้นท่าซุงคุ้งหนึ่งก็ถึงแก่ง | ชื่อดึกดักนามแสดงเปนปฤศนา |
มีตะไคร้สามกอเกาะต่อมา | ชื่อว่าบ้องตี้มีคำแปล |
ว่าห้วยข่าเปนภาษาข้างรามัญ | ไทยเรียกตามไปเช่นนั้นไม่เปลี่ยนแก้ |
ที่หน้าเกาะนั้นเปนแก่งแบ่งสองแคว | ศิลาใหญ่ในกระแสผุดเรียงราย |
อิกทั้งฝั่งที่ตรงนี้นั้นมีห้วย | ก็ชื่อบ้องตี้ด้วยสิ้นทั้งหลายย |
พวกบ้องตี้นี้ไม่ใคร่กระจัดกระจาย | ตั้งแยกย้ายก็แต่ท่าข้างหน้าไป |
มีเกาะตั้งบังอยู่ดูเหมือนหาด | น้ำเชี่ยวปราดเปนเรี่ยวเกี่ยวอยู่ใกล้ |
เปนสองเกาะเหลื่อมเยื้องเบื้องนอกใน | เดินบกได้ถึงบ้องตี้ที่ในดอน |
เปนที่แยกโทรเลขทางทวาย | เติมช่วยสายโป่งสแกทำแต่ก่อน |
เปนแต่ทางที่จะตัดลัดบทจร | มิใช่ตอนตัดทางวางสายมา |
ถัดไปนี้ถึงที่ตำบลประรอม | คำมอญย่อมแปลว่าดุโดยภาษา |
มีหาดวังทั้งเกาะแก่งก้อนศิลา | ล้วนชื่อว่าประรอมสิ้นถิ่นเดียวกัน |
ตอนที่หนึ่งถึงหาดแล้วผาดผ้าย | ทวนน้ำท้ายแก่งเชี่ยวเปนเกลียวลั่น |
ตัวแก่งแจวละอย่าเลอเก้อทั้งนั้น | ต้องถือยันสาวเชือกเกลือกขึ้นไป |
ที่กลางแก่งแกล้งซ้ำทำให้ปวด | มีโขดกรวดเกิดขวางทางน้ำไหล |
น้ำก็ตื้นแต่เปนเกลียวเชี่ยวสุดใจ | หัวเรือไม่ใคร่จะตรงกลับลงมา |
ต้องโยงเชือกโยงปอถ่อยันค้ำ | คนลงน้ำช่วยเข็นเบนบากหน้า |
แม้หัวปั่นหันคว้างขวางธารา | เปนบอกว่าแตกได้ไม่มีแคล้ว |
มีเกาะเล็กเกาะน้อยลอยดาดาด | อิกทั้งหาดหัวแหลมแถมอิกแถว |
พ้นตัวแก่งขึ้นไปยังไม่แล้ว | ต้องไปแจวน้ำเชี่ยวเหนี่ยวอยู่่นาน |
บันดาแก่งในตำแหน่งแม่น้ำนี้ | ยกแต่ที่แก่งหลวงห้วงไพศาล |
ก็แก่งนี้นับเปนที่อย่างกันดาร | เปนสถานที่สองรองลงไป |
ถัดแก่งนี้เห็นคิรีทั้งหลังหน้า | แจวขึ้นมาหมายมุ่งสองคุ้งได้ |
เห็นคลองโป่งฝั่งขวาขาครรไลย | มีท่าบ้านคนอยู่ใกล้ไม่เห็นเรือน |
ไปหน่อยหนึ่งถึงบ้านไทรโยคใหม่ | เรือนหมู่ใหญ่มีคนมากล่นเกลื่อน |
อยู่ชายหาดเห็นสนิดไม่บิดเบือน | จึงคลายเคลื่อนที่นั่งทอดจอดตพาน |
พวกชาวบ้านหญิงชายถวายของ | คนละกอบคนละกองเกือบหมดบ้าน |
ทรงจำแนกแจกจ่ายเงินประทาน | นั่งอยู่กลางสุริย์ฉานไล่ไม่ไป |
กำลังเปรี้ยงเที่ยงเศษเสด็จยาตร | ขึ้นตามหาดคลาเคลื่อนสู่เรือนใหญ่ |
เปนหลังเดียวเฉลียงกว้างกั้นข้างใน | ข้างหน้าใช้ไผ่ลำทำเปนชาน |
ยายมอญแก่แม่บ้านจัดการรับ | ที่นอนพับปูลาดสอาดสอ้าน |
ประทับที่ยกพื้นรื่นสำราญ | แกหมอบกรานพูดขอรับไม่อับอาย |
อันเรือนนี้ที่ข้างในไม่ได้เห็น | ข้างนอกเปนเฉลียงโถงโปร่งใจหาย |
ยกพื้นด้านหุ้มคลองเปนห้องยาย | เข้าของรายกองกลาดดาษดา |
กระดานเรียบเทียบประทังตั้งชามถ้วย | จ่ากระบวยเมื่อจะเก็บใช้เหน็บฝา |
รเบียงล่างวางเครื่องครัวนานา | ส่วนผักปลาแขวนรายไว้ท้ายเรือ |
อันเครื่องมือต่างต่างบ้างเหน็บแขวน | ออกเนืองแน่นเนืองนองกองกลาดเกลื่อน |
นกขุนทองร้องเพรียกเหมือนเรียกเตือน | มิให้เบือนบ่ายบากจากนี้ไป |
อันบ้านนี้เดิมอยู่ที่เมืองไทรโยค | ว่าเกิดโรคปีศาจดุอยู่ไม่ได้ |
หากินยากห่างจากทางลากไม้ | มาตั้งใหม่อยู่ที่นี่สองปีปลาย |
เรือนประมาณสิบหลังดูทั้งหมด | คนกำหนดหกสิบสังกัดหมาย |
เปนพวกมอญรักษาด่านตั้งบ้านราย | กระเหรี่ยงท้ายเขามีสี่ตำบล |
ทำไร่แตงไร่เข้าตัดเสาส้าง | เที่ยวยิงเสือเนื้อกวางในไพรสณฑ์ |
นายด่านเปนหลวงบัญชาว่าผู้คน | ชื่อรักษาจุมพลใจภักดี |
ตัวไม่อยู่ดูการที่ประทับ | ภรรยาคอยรับอยู่ที่นี่ |
คนชราที่ฉันว่าเมื่อกี้นี้ | อายุได้แปดสิบสี่เปนมารดา |
พระราชทานเงินตราห้าตำลึง | กับห่มหนาวผืนหนึ่งปลื้มนักหนา |
ทั้งนารีที่ว่าเปนภรรยา | ก็ได้ผ้าสก๊อดห่มพอสมกาย |
จะทรงซื้อนกขุนทองก็พร้องเพราะ | เจ้าของเจาะจงจิตต์คิดถวาย |
ประทานหกบาทกริ่มยิ้มสบาย | แล้วเสด็จผันผายชมเขตรคาม |
บ้านทั้งหมู่ดูเรือนเกลื่อนเกะกะ | ปลูกเปะปะตามทีไม่มีห้าม |
มียุงเข้าเล้าไก่ใหญ่น้อยตาม | ที่เปนยามมีจนคนครอบครอง |
ปลูกกล้วยอ้อยผักหญ้าประสายาก | ไม่มีมากไม้ผลได้ยลสอง |
คือมพร้าวขนุนนี้มีเนืองนอง | ฉันมุ่งมองหาดอกไม้ไม่ใคร่มี |
เห็นต้นดอกสีชมภูอยู่หลังบ้าน | กำลังบานดาษดาเหมือนผ้าสี |
เขาเรียกต้นอ่อนกันในบ้านนี้ | แต่แดดร้อนเต็มทีต้องแฝงบัง |
ที่นี่มีนายร้อยชันนั้นตัดไม้ | มอญของไทยดอกมิใช่บ่าวฝรั่ง |
ค่อนข้างเปนเศรษฐีมีกำลัง | ว่าถึงตั้งเรือนใหญ่ใช้ฝากระดาน |
ช้างห้าเชือกเลือกจ้างลว่าข่า | สามสิบกว่าทำไม้ในไพรสาณฑ์ |
ได้ล่องสองสามร้อยน้อยประมาณ | ดูเปนท่านของพวกนี้ว่ามีนัก |
เสด็จกลับลงประทับเรือที่นั่ง | ออกจากฝั่งโมงเท่าใดไม่ประจักษ์ |
มีเกาะเล็กริมฝั่งตั้งตรงพักตร์ | ชื่อใช้ยักกันให้รู้เปนคู่เคียง |
เกาะหนึ่งเรียกไม้เปนเห็นอยู่ซ้าย | เกาะไม้ตายอยู่ข้างขวาเรือมาเลี่ยง |
ไปอิกหน่อยหนึ่งศิลาหน้าฝั่งเรียง | ดูเรียบเพียงเขื่อนก่อลออตา |
สูงแต่น้ำถึงหลังฝังแปดศอก | ไม่ยักยอกยาวสามสิบวากว่า |
ที่ขอบเขื่อนเกลื่อนเสมอพสุธา | ตั้งเสมาป้อมก็ใช้กันได้ดี |
ไปหน่อยหนึ่งถึงแก่งท้ายลูกเสือ | ต้องเดินเรือใกล้เกาะฉะเพาะวิถี |
ดูโชนเชี่ยวฉานฉ่าสายวารี | เห็นเขามีหน้าหลังตั้งซับซ้อน |
ดูเหลื่อมบังดังจะนับไม่ถูกถ้วน | เหมือนเรือสวนไปในกรอกซอกศิขร |
ถัดไปนิดชิดข้างหนทางจร | ชายเฟือยอ่อนเปนชวากบากเข้าไป |
เหมือนลำน้ำทำทีให้หนีเข้า | แต่ครั้นเทาแท้ไปไม่ถึงไหน |
เปนแต่ทางพรางหยอกหลอกลวงใจ | ว่าจะซนอยู่ฤๅไม่ได้รู้กัน |
ไปคุ้งหนึ่งถึงศิลาก้อนใหญ่ใหญ่ | เรียงไสวริมฝั่งตั้งบิดผัน |
ถึงบ้านย่านแก่งลูกเสือเรือผ่านพลัน | ต่อตอนนั้นถึงแก่งแปลงเปลี่ยนนาม |
ชื่อว่าหัวลูกเสือเจือชื่อก่อน | ศิลากับนขาวขาวชาวเรือขาม |
น้ำเชี่ยวพันแหลมตะไคร้ไหลโครมคราม | ศิลาตามริมฝั่งตั้งรายไป |
ที่วังพระระยะนี้นั้นมีหาด | มีเขาขาดริมฝั่งตั้งใกล้ใกล้ |
เลี้ยวคุ้งเนื่องเรื่องเขารักประจักษ์ใจ | ตรงฝั่งใต้หาดทรายขยายนาม |
เรียกว่าหาดค่ายเก่าเข้าการทัพ | ตั้งรบรับครั้งใดไม่ได้ถาม |
แล้วตกวังศิลาดาดหาดทรายงาม | ล่วงคุ้งข้ามเขตรตำแหน่งแก่งปรังตา |
คำรามัญนั้นแปลว่าต้นตาล | ศิลาดานหัวหาดมีกลาดหนา |
ก้อนใหญ่ใหญ่ในระหว่างกลางชลา | เห็นเชี้ยวฉ่าเปนละลอกกระฉอกชล |
มีโขดกรวดตั้งต่อฝั่งเหนือ | ต้องโยงเรือสาวพวนสวนสับสน |
รองอยู่กลางหว่างศิลาธาราวน | พอไปพ้นถึงหาดดาดศิลา |
สีแดงแดงแพลงพลัดตัดทางย้วย | มาถึงห้วยแล้วเลยเรี่ยวเชียวนักหนา |
ชื่อก็คงลงเช่นหลังเรียกปรังตา | ทัศนาเห็นต้นไม้ไทรโยคชัด |
เรื่องเขาเกวียนเวียนฉวางมาขวางหน้า | เขาแดนเด่นเห็นขวายาวถนัด |
ศิลารายชายคงคามาตพัด | ทั้งสองฟากบากตัดเปนตอนตอน |
ที่ไหนว่างข้างฝั่งเฟือยตะไคร้ | แล้วหมูไผ่ซ้อนซับสลับสลอน |
ถึงตอนในไม้ใหญ่อย่างดงดอน | พอทินกรยอแสงแฝงเมฆา |
ชนีร้องสองฟากมีมากทั่ว | เสียงปั๋วปั๋วเพรียกไปที่ในป่า |
บ้างห้อยโหนโยนไม้ใกล้มรรคา | ดูหน้าตาหงอยเงื่องเหมือนเชื่องดี |
กำลังชมฝูงชนีที่พฤกษา | คนข้างหน้าโจทย์กันสนั่นมี่ |
ว่าคชาลงมาเล่นวารี | ดูเหมือนชี้กันทุกคนจนเรือรา |
ฉันก็ทึ่งเต็มทนค้นจนพบ | เห็นยืนปรบหูเงื่องเชื่องนักหนา |
งามสรรพสรรพางค์หางงวงงา | แต่ช้างป่าเจียวยังเรียบรเบียบครัน |
นั่งชมเพลินมิได้เมินไปอื่นได้ | เฉลียวใจทำไมมาตัวเดียวนั้น |
ตกลงเปนช้างเลี้ยงเลิกเถียงกัน | มาเกิดขันก็เพราะที่ไม่มีคน |
แก่งท้ายเมืองเขื่องกว้างขวางแม่น้ำ | เรือแจวจ้ำแล้วอย่าเล่นไม่เปนผล |
ได้แต่ถ่อแลจะพอประทังทน | กว่าจะพ้นขึ้นไปได้ใจรอนรอน |
ที่หัวแก่งแขวงประจิมริมฟากฝั่ง | มีเขาตั้งตกวารีมีหนึ่งก้อน |
เมืองไทรโยคอยู่ในพงป่าดงดอน | มพร้าวซ้อนอยูพอเห็นเปนสำคัญ |
ที่เหนือเมืองเนื่องไปไม่สู้มาก | เปนช่องปากคลองมีอยู่ที่นั่น |
กว้างหกวาเรือไปได้ในนั้น | เขาเรียกกันแม่น้ำน้อยจ้อยลงไป |
ทางที่มานี้ก็ว่าแม่น้ำน้อย | เพราะเล็กถอยลงมากว่าน้ำแควใหญ่ |
คนที่อยู่แควนี้ทีเข้าใจ | ว่าพอใช้อยู่เปนอย่างกว้างเต็มที |
ครั้นมาเห็นลำนี้ที่เล็กจ้อย | เรียกน้ำน้อยด้วยมิใช่จะใส่สี |
ด้วยความเห็นเช่นฉันเดาเค้าอย่างนี้ | สายวารีไหลปราดไม่ขาดคลอง |
ต้นธารามาแต่เขาแดนนอก | ข้างปลายแตกแยกออกไปเปนสอง |
คือน้ำน้อยสองสายที่หมายปอง | ชื่อจึงพร้องเพราะว่าหมายสายเดียวกัน |
แล้วเรือเลี้ยวหักตัวที่หัวหาด | เปนพงดาดดื่นเข้าไปถึงไพรสัณฑ์ |
พลับพลาเมื่อปีฉลูอยู่ที่นั้น | เขากลัวกันอยู่เดี๋ยวนี้ว่าผีคนอง |
ไปคุ้งหนึ่งจึงมีคิรีขวาง | บ้างเวิ้งว้างปรุโปร่งเปนโพรงช่อง |
เงื้อมชง่อนซ้อนแซกแปลกละบอง | บ้างเปนปล่องคูหาริมวารี |
เรือน้อยน้อยลอยลอดไปจอดได้ | อยู่ข้างในร่มแสงสุริย์ศรี |
เหลือจะร่ำพรรณาด้วยท่าที | ด้วยว่ามีต่างต่างหลายอย่างนัก |
ที่ท้ายเขาศาลเจ้าไทรโยคตั้ง | ฦๅว่าขลังเรืองฤทธิสิทธิศักดิ์ |
มีคนบนบวงเทพารักษ์ | เพิงผาที่พักเครื่องสักการ |
บนชง่อนคีรีมีต้นกร่าง | สองต้นอย่างสูงใหญ่ริมไพศาล |
ที่หัวหาดตรงนี้มีท่อธาร | เสด็จผ่านเลยไปไม่ได้แวะ |
เปนแต่เห็นไกลไกลได้ฟังเล่า | เที่ยวสืบเค้าข้อความตามเก็บแกะ |
ที่กล่าวไว้พอเต็มเรื่องเครื่องนำแนะ | อย่าค่อนแคะว่าฉันเดาเล่าหลอกลวง |
พุธารานั้นออกมาตรงหน้าศาล | ไหลหลั่งพล่านลงไปที่ในห้วง |
กว้างสองศอกนอกเปนขอบรอบในรวง | เหมือนมะม่วงรูปรีที่น้ำริน |
ที่ต่ออ่างนั้นเปนทางเอี้ยวอ่อน | แล้วกระท้อนตกหักกระพักหิน |
ต่อไปเปนธารตื้นตามพื้นดิน | สามวาสิ้นสุดลงในคงคา |
ที่ซึมออกซอกคิรีมีอิกช่อง | ก็พ่นขึ้นยังอิกสองตามปล่องผา |
มารวมลงธารใหญ่ได้พรรณา | เขาเรียกว่าพุไทรโยคอยู่แทบทาง |
ไปคุ้งหนึ่งถึงเพิงภูผาใหญ่ | เงื้อมออกไปง้ำนทีเปนที่กว้าง |
ลึกสิบห้าวาว่าที่ตรงกลาง | ยาวตามข้างเขาเห็นสองเส้นปลาย |
สูงขึ้นไปได้ถึงแปดวาถ้วน | เรือกระบวนสินทั้งนั้นที่ผันผาย |
เข้าไปจอดทอดข้างในได้สบาย | อย่างเรียงรายไม่ต้องเสียดยัดเยียดกัน |
ในเพิงนี้ที่เปนเช่นกาบหอย | ในสอบหน่อยงามดีเปนสีสัน |
ลายเหมือนอย่างศิลาอ่อนซับซ้อนพรรณ | ข้างบนนั้นน้ำกัดเหมือนเกล็ดปลา |
ที่ริมขอบรอบข้างบนกลภู่ห้อย | สายน้ำย้อยหยาดดูเปนภู่ผา |
รายสล้างเหมือนอย่างแขวนพวงรย้า | งามติดตาติดใจมิได้ลืม |
ที่สุดเพิงเวิ้งปลายท้ายก้นหอย | เปนพุน้อยตุ๊กตามันน่าปลื้ม |
เหมือนลอบต่อท่อมาเล่นเปนการยืม | พอกาดื่มดูไกลก็ไม่รู้ |
ต่อเรือใกล้จึงได้ฟังเสียงหลั่งไหล | เหมือนมาในถ้ำปล่องเสียงก้องอู้ |
มีศิลาปิดขวางอย่างประตู | ช่องเปิดอยู่แต่ฉะเพาะเหมือนเจาะไว้ |
วาวีรินลงรางกว้างสักคืบ | แล้วเซาะสืบตามทางตกอ่างใหญ่ |
กว้างสองศอกออกพร่าบ่าลงไป | ที่ห้วงไม่ใหญ่เห็นเปนสองทาง |
แล้วไหลซาบอาบผาเหมือนหน้าเนิน | สายน้ำเดินตกนทีที่ข้างล่าง |
มีพื้นอยู่เพียงเท่านี้ที่ตรงกลาง | ดูโดยกว้างพอนั่งพักสักห้าวา |
ที่หลังเนินเฟินขึ้นเปนหย่อมเกาะ | เหมือนละเมาะหมู่ไม้ที่ในป่า |
ตะไคร่น้ำคร่ำจับหลังศิลา | เหมือนทุ่งหญ้าเตียนกว้างข้างคิรี |
สายธารคดลดเลี้ยวเหมือนลำน้ำ | แล้วช่วยทำตัดทางหว่างวิถี |
ลดเลี้ยวไปในป่าพนาลี | จัดเปนที่สนามรบมีครบครัน |
แบ่งโยธีมีกองเปนสองเหล่า | พวกหนึ่งเจ้าของประเทศกันเขตร์ขัณฑ์ |
ตั้งบนเนินต้นน้ำที่สำคัญ | คอยป้องกันต้นทางข้างบรรพต |
ทอดตพานผ่านลำนทีกว้าง | ไปตั้งข้างฝั่งขวาเต็มหน้าหมด |
วางป้อมดินเปนระยะไม่ละลด | ชักปีกกามาจดบรรจบกัน |
ยอดคิรีมีเต็นตัวแม่ทัพ | คอยบังคับการยุทธสุดขยัน |
ด้วยเห็นทั่วทุกลำเนาบนเขานั้น | รู้เชิงชั้นปรปักษ์จะหักตี |
โทรเลขรายตลอดจนยอดผา | จะบัญชาอย่างไรได้ถ้วนถี่ |
ปลูกเต็นผ้าหน้าค่ายรายโยธี | ล้วนเสื้อสีแดงทั่วตัวพลไกร |
ส่วนโยธีที่เปนฝ่ายปรปักษ์ | มาอยู่พักค่ายตั้งฝั่งข้างใต้ |
ตั้งป้อมรายชายคงคาเต็มหน้าไป | ลากปืนใหญ่ขึ้นช่องจ้องจุดยิง |
ทำตพานผ่านมหาสาคเรศ | เจ้าของเขตรขัดใจมิได้นิ่ง |
เชิงตพานรบพุ่งกันยุ่งจริง | ทหารม้าฝ่าวิ่งวกอ้อมมา |
ถึงหน้าเขาเจ้าพวกแดงยิงแย้งยุด | อุตลุดเต็มทีที่หน้าผา |
กองสเบียงเลี้ยงดูหมู่โยธา | ก็จัดหาอยู่ข้างหลังกำลังทำ |
บ้างตั้งหม้อต่อไฟใส่กระทะ | ดูเอะอะวุ่นกันวันยังค่ำ |
แต่ค่ายนี้ท่วงทีจะอดน้ำ | เห็นจะจำเปนเพลียต้องเสียที |
พลไกรใส่เสื้อน้ำเงินทั่ว | ดูน้อยตัวกว่าพวกเจ้าของที่ |
บ้านในป่าไปข้างหลังก็ยังมี | เจ้าของหนีเข้าไพรไม่มีคน |
ทั้งควันปืนควันเตาเข้าตาหู | จนจามใหญ่ไม่รู้สักกี่หน |
ถึงดินปืนฟืนหอมยอมเหลือทน | ต้องรอจนธูปหมดจึงจดจำ |
ทูลกระหม่อมทุกพระองค์ทรงตุ๋งตุ๋ง | ดำเนินยุ่งทึ่งจนพ้นจะร่ำ |
จนบ่ายควรจวนกลับจับเก็บกำ | ลงห่อซ้ำเสด็จมาอย่าสงคราม |
พ้นคิรีมีชายเฟือยเรื่อยไปหน่อย | เรือเคลื่อนคล้อยเห็นประจักษ์ไม่พักถาม |
ท่าถ้ำพระเปนระยะเนืองมาตาม | จะขอข้ามไปไว้ว่าเมื่อมาชม |
ต่อตอนนี้มีศิลาร่องน้ำกัด | ท่าเปลี่ยนผลัดไปกว่าอย่างปางประถม |
ที่เอนชายหลายอย่างบ้างแขงคม | บางแห่งร่มบางแห่งแจ้งไม่แฝงบัง |
พ้นหาดต่อกอตะไคร้ไปคุ้งหนึ่ง | ก็พอถึงเขาตกน้ำง้ำขอบฝั่ง |
เปนเขาค้อมอ้อมคุ้งไม่รุงรัง | ศิลาตั้งหัวเขาเข้าเค้าเกวียน |
จึงตั้งนามตามทึกเปนสำเหนียก | ได้ใช้เรียกชื่อขานการอ่านเขียน |
จะขอว่าวันหลังยังจะเวียน | มาพากเพียรจดจำเรื่องถ้ำคู |
ไปนิดหนึ่งถึงเวิ้งเปนเพิงยื่น | ฟองน้ำยืนขึ้นไปเปนเช่นกับภู่ |
คล้ายรูปงิ้วตุ๊กตาทาสีชู | คล้ายรูปหลุยจินจู๊ในเรื่องจีน |
เสียงโจทย์ถามตามกันสนั่นจ้า | ว่าไหนพุตุ๊กตาเห็นแต่หิน |
ตัวพุอยู่ที่ตรงไหนฤๅใกล้ดิน | ไม่รู้สิ้นมุ่งมองตรองหาธาร |
อิกคุ้งหนึ่งถึงตำแหน่งแก่งถ้ำผึ้ง | น้ำเชี่ยวตึงดูดเรือเหลือสงสาร |
ฝีพายถ่อย่อยันแสนกันดาร | จนพ้นผ่านถึงวังจึงตั้งแจว |
เขาน้ำผึ้งถึงน้ำซ้ำชโงก | ดูสูงโกรกพรุนโพรงโปร่งเปนแถว |
เห็นหลายช่องรองนับจับตามแนว | มหดช่องแล้วถ้ำผึ้งถึงที่ปลาย |
แลข้างล่างกว้างประมาณสักศอกหนึ่ง | แต่สูงถึงสิบสองวาน่าใจหาย |
ไม่ได้เพราะว่าชันนั้นมากมาย | ไม่มีชายเชิงฝั่งตั้งบันได |
ในคิรีนี้ไปไม่ไกลมาก | น้ำตกจากถ้ำโว้งโพรงไศล |
ปากช่องมองเห็นจนข้างใน | ดูซึ้งใสเปี่ยมขังวังศิลา |
เสียงครื้นครั่นลั่นพิฦกดังกึกก้อง | คือน้ำตกตามปล่องห้องคูหา |
ส่วนข้างนอกนิ่งแน่เห็นแต่ปลา | ว่ายไปมาเหมือนในอ่างกระจ่างกาย |
เปนน้ำเอ่อเท้อท้นล้นปากช่อง | มาตกต้องกระพักตรงลงเปนสาย |
สท้อนเขาลงในอ่างพร่างกระจาย | แล้วเขาปลายลงข้างล่างทางลำธาร |
ทางลดเลี้ยวเอี้ยวค้อมอ้อมไปซ้าย | ฑิตรงปลายตกน้ำลำละหาน |
สูงราวจักสี่ศอกบอกประมาณ | ดูสอ้านสอาดขาวราวน้ำนม |
ส่วนลำธารกว้างประมาณสักสองศอก | ลึกเปนซอกไปในต้นไม้ร่ม |
ยาวสิบห้าวาถ้วนควรจะชม | มีไม้ล้มน้ำลอดตลอดมา |
เหตุไฉนไม่แจ้งจึงแพลงพลิก | เรียกพุพริกน่าเข็ดเผ็ดนักหนา |
ที่ตรงข้ามตามหาดดาดศิลา | ยาวสักสิบเส้นกว่าน่าอัศจรรย์ |
เกาะตะไคร้แล้วก็ไปถึงท้ายแก่ง | เรียกตำแหน่งน้ำโจนโชนเชี่ยวผัน |
เสด็จลงเรือม่วงล่วงไปพลัน | ที่นั่งใหญ่ไปทันไม่ห่างไกล |
ไปพ้นแก่งแขวงขวาตรงหน้าเขา | สูงไม่เบาปรุโปร่งโพลงไศล |
เรียกว่าถ้ำน้ำโจนระอาใจ | เข้าไม่ได้ไปหน่อยหนึ่งถึงน้ำซับ |
ดูซึมออกซอกศิลามาหน่อยหนึ่ง | ทำไมจึงเรียกพุเพียงสับปลับ |
ไม่มีใครจะใคร่เห็นเปนที่ลับ | ด้วยใกล้กับพุใหญ่เขาไม่ดู |
พ้นตรงนี้ทีเห็นเหมือนเช่นท่า | แต่เขาว่าห้วยน้ำโจนตะโกนกู่ |
ยังไม่เห็นใจเต้นตลอดรู้ | เสียงซู่ซู่กึกก้องท้องนที |
โน่นแน่น้ำโจนใหญ่มิใช่หรือ | เสียงอออืออึงกันสนั่นมี่ |
เห็นประทับอยู่ที่หน้าพุวารี | เรือที่นั่งทอดที่แพบวบลอย |
เพ่งพินิจพิศดูที่ภูผา | สายธาราขาวลอองเปนฟองฝอย |
กว้างสักสิบวาได้มิใช่น้อย | แต่ตกย้อยลงมายาวราวห้าวา |
ไม่เว้นว่างพร่างพรายสายกระแส | ดูเต็มแพร่เพียงแต่อย่างบางกับหนา |
เปนสองตอนผ่อนชั้นกันลงมา | สักแปดวาโดยกว้างที่ข้างบน |
อาบตลอดมิได้ปลอดระยะว่าง | เหมือนปากรางหว่างหลังคาเวลาฝน |
แต่ชั้นรองสองข้างทางสายชล | ตกทดท้นแรงกว่าที่หน้ามอ |
ที่ปลายธารผ่านลงตรงสายเหนือ | บ่าแผ่เพรื่อไปไม่เปนเช่นปากท่อ |
น้ำกระทบตามคั่นหลั่นไหลออ | เหมือนเอาอ่างวางต่อต่อกันขึ้นไป |
ทั้งแคบกว้างย่อมใหญ่นับไม่ถ้วน | รอธารทวนคึกคึกหาลึกไม่ |
ถึงชง่อนตอนเสมอชั้นชไมย | ก็เลยไหลตกตรงลงคงคา |
แต่แยกทางวางจังหวะกะเปนสี่ | กระทบที่แง่ชง่อนตามก้อนผา |
ทีเปนอ่างบางแห่งแบ่งธารา | ได้อาบพร่าแผ่ไปได้ก็มี |
สายข้างใต้ไม่สู้กว้างแต่อย่างยิ่ง | แรงจริงจริงโกรกตรงลงเต็มที่ |
สักวาหนึ่งถึงอ่างรองก้องเกินดี | จนวารีกระแทกท้นพ่นขึ้นไป |
สูงกว่าศอกเปนละลอกกระฉอกฉาน | ที่เชิงชานรับล่างอ่างใหญ่ใหญ่ |
น้ำกระท้อนผ่อนเปนชั้นคั่นบันได | จนตกในคงคาซ่ากระเซน |
ที่ตรงกลางข้างบนชอบกลนัก | เปนเพิงพักงามเอ๋ยไม่เคยเห็น |
เปนถ้ำน้ำงามกระไรไหลเยือกเย็น | ไปนั่งเล่นได้ข้างในไม่เปียกกาย |
ที่หน้าถ้ำน้ำพรางอย่างมุลี่ | กระจกคลี่แผ่นใหญ่ไม่ฉลาย |
ถึงแดดร้อนซ่อนอยู่ในได้สบาย | กระแสสายเสมือนรุ้งพุ่งอัมพร |
ที่อ่างหน้าออกมาตื้นยืนเพียงข้อ | มีแคร่ต่อพอสำนักหยุดพักผ่อน |
ได้ชำระสระอินทรีย์สีกายกร | แล้วจึงจรลงในอ่างข้างซ้ายมือ |
อันวารีมิใช่ตื้นยืนเพียงอก | ที่ล้นตกลงข้างใต้ใหญ่เบาหรือ |
น้ำเชี่ยวคว้างเหมือนสีข้างจะฟัดครือ | ต้องคอยดื้อดึงดันถึงยันกราน |
ที่ชั้นล่างตรงกลางทางน้ำอาบ | พอซึมซาบไปทั้งหน้าผาแผ่ผ้าน |
แต่ต้นไม้นั้นไม่มีที่กันดาร | ต้องคิดอ่านเล่นกรุดขุดมาเติม |
คือต้นปรงกล้วยไม้ใบต่างต่าง | เปนหลายอย่างซ่อมแปลงตกแต่งเพิ่ม |
แต่คนทำเข้าทีดีกว่าเดิม | ฉันนั่งเหิมฮึกใจในนาวา |
พอรับสั่งว่าจะสรงฉันลงก่อน | เที่ยววิ่งว่อนควักไขว่ไปหาผ้า |
เสด็จขึ้นตามทางหว่างธารา | ปีนหน้าผาจนต้องฉุดเกือบหลุดโครม |
โผขึ้นไปได้เพียงอกจะหกหัน | เพราะน้ำดันมาข้างหน้าสุดถาโถม |
พลาดลงมาน้ำผ่าลงหัวโครม | เผ่นกระโจมขึ้นไปได้ดีใจจริง |
เที่ยวอาบเล่นเปนสุขสนุกสนาน | จนถึงธารเที่ยวทุกคุ้งเดินหนุงหนิง |
ไม่มีหนาวเลยสักนิดเหมือนปลิดทิ้ง | เสียแต่วิ่งไปเนื้อเนื้อเจ็บเหลือหน |
สายธาราว่ามากกว่าแต่ก่อน | ฉันเด็กอ่อนจำไม่ชัดข้องขัดสน |
เช่นท้องช้างอย่างเดียวเหนียวสกนธ์ | รสระคนกร่อยฝาดไม่ขาดคง |
เสด็จมาแต่เวลาห้าโมงถ้วน | เล่นน้ำป่วนปั่นไปเหลือใหลหลง |
จนเวลาสุริยาอัสดงค | จึงได้วงเวียนกลับขึ้นพลับพลา |
ดูตำแหน่งแห่งใดไม่ถ้วนถี่ | ผัดพรุ่งนี้หน่อยหนึ่งจึงจะว่า |
ปรอทร้อนที่ในเรือเมื่อขึ้นมา | ผิดเวลาวานนี้ดิครีเดียว |
แปดสิบเก้าเข้าขนาดไม่ขาดเหลือ | เกือบไม่เชื่อจะใคร่เห็นเปนเหี่ยวเหี่ยว |
ด้วยเหื่อไหลไปไม่ขาดประหลาดเจียว | ขอเลิกเลี้ยวลงเปนจบสงบที ฯ |