๗. ตั้งตำแหน่งพระราชาคณะ

ในปีขาลจัตวาศกนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ฝ่ายข้างอาณาจักรได้ตั้งแต่งข้าราชการตามตำแหน่งเสร็จแล้ว ควรจะจัดการข้างฝ่ายพุทธจักร ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งเสื่อมทรุดเศร้าหมองนั้น ให้วัฒนารุ่งเรืองสืบไป จึงดำรัสให้สึกพระวันรัต (ทองอยู่) กับพระรัตนมุนี (แก้ว) ออกเป็นฆราวาส ดำรัสว่าเป็นคนอาสัตย์สอพลอทำให้เสียแผ่นดิน และโปรดตั้งนายแก้ว รัตนมุนี เป็นพระอาลักษณ์ตามเดิม ให้เป็นผู้ขนานพระนามพระองค์เจ้าต่างกรม แต่นายทองอยู่ วันรัต นั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลลงพระอาชญาแล้วจะให้ประหารชีวิตเสีย ด้วยมีความผิดแก่พระองค์มาแต่ก่อน มีพระบรมราชโองการขอชีวิตไว้ แล้วโปรดให้เป็นหลวงอนุชิตพิทักษ์อยู่ในกรมมหาดไทย ดำรัสให้สมเด็จพระสังฆราช พระพุฒาจารย์ พระพิมลธรรม ซึ่งเจ้ากรุงธนบุรีให้ลงโทษถอดเสียจากพระราชาคณะ เพราะไม่ยอมถวายบังคมนั้น โปรดให้คงที่สมณฐานันดรศักดิ์ดังเก่า ให้คืนไปอยู่ครองพระอารามตามเดิมและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ดำรัสสรรเสริญว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้ง ๓ พระองค์นี้ มีสันดานสัตย์ซื่อมั่นคง ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่ร่างกายและชีวิต ควรเป็นที่นับถือไหว้นบเคารพสักการบูชา แม้มีข้อสงสัยสิ่งใดในพระบาลีไปภายหน้า จะให้ประชุมพระราชาคณะไต่ถาม ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้ง ๓ ว่าอย่างไรแล้ว พระราชาคณะอื่น ๆ จะว่าอย่างอื่นไป ก็คงจะเชื่อถ้อยคำพระผู้เป็นเจ้าทั้ง ๓ ซึ่งจะเชื่อถ้อยฟังความตามพระราชาคณะอื่น ๆ ที่เป็นพวกมากนั้นหามิได้ ด้วยเห็นใจเสียครั้งนี้แล้ว แล้วโปรดให้พระสงฆ์วัดบางว้าใหญ่ และวัดโพธารามเข้ามารับบิณฑบาตในพระราชวังทั้ง ๒ พระอาราม ให้ผลัดเวรกันวัดละ ๗ วัน เป็นนิจกาล แล้วให้รื้อตำหนักทองของเจ้ากรุงธนบุรีนั้นไปปลูกเป็นกุฎีถวายสมเด็จพระสังฆราชวัดบางว้าใหญ่ แล้วดำรัสว่า พระสังฆราช (ชื่น) วัดหงษ์ ซึ่งเจ้ากรุงธนบุรีตั้งขึ้นใหม่นั้น ก็เป็นพวกอาสัตย์สอพลอพลอยว่าตาม นายแก้วนายทองอยู่ไปมิได้เป็นต้นเหตุ แต่รู้พระไตรปิฎกมาก เสียดายอยู่ อย่าให้สึกเสียเลย และที่พระวันรัตนั้นว่างอยู่หาตัวมิได้ จึงโปรดตั้งให้เป็นพระธรรมธีรราชมุนี ว่าที่พระวันรัต อนึ่งพระราชาคณะทั้งปวงนั้นก็ว่าตามกันไป ด้วยกลัวพระราชอาชญา ทรงพระกรุณาให้ยกโทษเสียทั้งสิ้น แต่ที่พระธรรมโคดมนั้น ต้องกับนามพระสัพพัญญูเจ้า จึงดำรัสให้แปลงนามเสียใหม่ โปรดให้พระเทพกวี เลื่อนขึ้นเป็นที่พระธรรมอุดมให้พระธรรมโฆษาวัดปากน้ำ เป็นพระเทพกวี ให้มหานาก เปรียญเอก วัดบางว้าใหญ่ เป็นพระพุทธโฆษาจารย์ ให้มหาเรือง ข้าหลวงเดิมวัดบางว้าใหญ่ เป็นพระเทพมุนี ให้มหาเกสรเปรียญโท วัดโพธาราม เป็นพระญาณสิทธิ์ อนึ่ง ที่พระอุปาฬีนั้นก็ต้องกับนามพระอรหันต์ จึ่งดำรัสให้แปลงนามเสียใหม่ ให้มหามี เปรียญเอก วัดเลียบ เป็นพระวินัยรักขิต แทนที่พระอุปาฬี และพระพุฒาจารย์วัดบางว้าน้อยนั้นชราอาพาธลงก็ถึงแก่มรณภาพ ทรงพระกรุณาให้กระทำฌาปนกิจแล้ว ให้นิมนต์พระเทพมุนีไปอยู่ครองอารามวัดบางว้าน้อยแทน จึงโปรดให้พระพรหมมุนีวัดบางว้าใหญ่ เลื่อนที่เป็นพระพุฒาจารย์ โปรดให้มหาทองดี เปรียญเอก วัดหงษ์ เป็นพระนิกรมมุนี ไปครองวัดนาค แล้วโปรดให้พระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี เป็นพระครูศรีสุนทรากษรวิจิตร เป็นตำแหน่งคู่สวดในสมเด็จพระสังฆราช ไปอยู่วัดกลาง แล้วโปรดให้นิมนต์พระอาจารย์วัดท่าหอย คลองตะเคียนแขวงกรุงเก่ามาอยู่วัดพลับ ให้เป็นพระญาณสังวรเถร ให้พระอาจารย์ศรีวัดสมอราย เป็นพระปัญญาวิสาลเถร ให้พระญาณไตรโลก วัดเลียบ เลื่อนที่เป็นพระพรหมมุนี อนึ่ง หลวงธรรมรักษาเจ้ากรมสังฆการีขวา ซึ่งเป็นพระพิมลธรรมก่อนนั้น ต้องสึกครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรี ว่าต้องอธิกรณ์อทินนาทาน ทรงแคลงอยู่ จึงให้พิจารณาไล่เลียงดูใหม่ ก็บริสุทธิ์อยู่ หาขาดสิกขาบทไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้กลับบวชเข้าใหม่ ให้เป็นพระญาณไตรโลกอยู่วัดสลัก โปรดให้มหามีปากแดง เปรียญเอก วัดคอกกระบือ เป็นพระโพธิวงศ์

อนึ่ง พระราชาคณะฝ่ายรามัญนั้นยังหาตัวมิได้ จึงทรงพระกรุณาให้จัดหาพระมหาเถรฝ่ายรามัญ ซึ่งรู้พระวินัย ปริยัติได้ ๓ รูป ทรงตั้งเป็นพระมหาสุเมธาจารย์องค์หนึ่ง พระไตรสรณธัชองค์หนึ่ง พระสุเมธน้อยองค์หนึ่ง เมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงสร้างวัดตองปุขึ้นใหม่ โปรดให้พระสงฆ์รามัญมาอยู่วัดตองปุ และให้พระมหาสุเมธาจารย์เป็นเจ้าอาวาส พระไตรสรณธัชนั้น มีพระราชโองการให้ไปอยู่วัดบางหลวง เป็นเจ้าคณะรามัญ ในแขวงเมืองนนทบุรีและสามโคก พระสุเมธน้อยนั้น โปรดให้ครองวัดบางยี่เรือใน

อนึ่ง ดำรัสว่า วัดแจ้ง วัดท้ายตลาด ทั้ง ๒ พระอารามนี้ แต่ก่อนเป็นวัดภายในพระราชวังไม่มีพระสงฆ์อยู่ จึงทรงพระกรุณาให้สร้างกุฎี เสนาสนะสงฆ์ทั้ง ๒ อาราม แล้วโปรดให้นิมนต์พระเทพโมลีวัดพลับ กับพระสงฆ์อันดับมาอยู่ ณ วัดท้ายตลาด แล้วโปรดให้พระปลัดสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระโพธิวงศาจารย์ โปรดให้พระครูเมธังกร เป็นพระศรีสมโพธิ ให้นิมนต์พระราชาคณะทั้ง ๒ องค์ กับพระสงฆ์อันดับมาจากวัดบางว้าใหญ่ ลงมาอยู่ ณ วัดแจ้ง ให้มีพระสงฆ์ขึ้นทั้ง ๒ พระอาราม

อนึ่ง เมื่อครั้งแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมและเปรียญ ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเหมือนกับข้าราชการ ทรงพระราชดำริเห็นว่าไม่สมควร จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระราชทานนิตยภัตต์เป็นรายเดือนสืบมามิได้ขาด

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ