๑๐๙. กองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์กลับจากเมืองเชียงแสน

ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราชปรึกษาด้วยเจ้าอนุเวียงจันทน์ พระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ว่า เราจะยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน กำลังนี้ก็เป็นเทศกาลฝนผู้คนก็บอบชํ้าอยู่แล้ว จะต้องปล่อยไปทำไร่นาเสียก่อน ต่อตกฤดูแล้งลง จึงนัดหมายให้มาพร้อมกัน นายทัพ นายกอง ไทย ลาว ก็เห็นพร้อมกัน กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช ก็พักอยู่เมืองเหนือ ครั้นถึง ณ เดือน ๔ ก็กะเกณฑ์ผู้คนนัดกองทัพหัวเมืองลาวมาพร้อมกันแล้ว

ลุจุลศักราช ๑๑๖๖ ปีชวดฉศก[๘๘] เป็นปีที่ ๒๓ ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อเดือน ๕ กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช นายทัพ นายกอง ไทย ลาว ก็ยกขึ้นไปเมืองเชียงแสน พม่ามิได้ออกสู้รบ เป็นแต่รักษาเมืองมั่นอยู่ กองทัพเข้าตั้งล้อมเมืองอยู่เดือนเศษจะหักเอามิได้ ด้วยพม่าอยู่ประจำรักษาหน้าที่และบนกำแพงเมืองเป็นสามารถ และกองทัพก็ขัดเสบียงอาหาร แล้วได้ข่าวว่ากองทัพเมืองอังวะจะยกมาช่วยเมืองเชียงแสน ครั้นเดือน ๖ ข้างแรมเป็นเทศกาลฝนตกประปรายลงมาแผ่นดินก็ร้อนขึ้น ผู้คนในกองทัพป่วยเจ็บมาก จะอยู่สู้รบพม่าก็เห็นว่าผู้คนเจ็บไข้มาก เสบียงอาหารก็น้อยลง จะทำการปีไปมิได้ กรมหลวงเทพหริรักษ์ก็ให้ล่าทัพลงมา ยังแต่ทัพลาว พวกลาวในเมืองเชียงแสนอดเสบียงอาหารฆ่า โค กระบือ ช้างม้ากินจนสิ้น พวกลาวชาวเมืองก็ยอมออกสวามิภักดิ์แก่กองทัพเมืองลาว เมื่อกองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์เลิกถอยมาแล้ว โปมะยุง่วนแม่ทัพพม่าเห็นพลเมืองออกหาแม่ทัพลาว เหลือที่จะกดขี่ห้ามปรามไว้ได้ก็ยกทัพหนีไปบ้างกองทัพลาวก็ไล่ตีพวกพม่าแตกหนีไป โปมะยุง่วนแม่ทัพถูกปืนตายในที่รบ นาขวาที่พม่าตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเชียงแสน ก็พาครอบครัวอพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้าแดนพม่าไป กองทัพได้ครอบครัว ๒๓,๐๐๐ เศษ ก็รื้อกำแพงเผาบ้านเมืองเสีย แล้วแบ่งปันครอบครัวกันเป็น ๕ ส่วน ให้ไปเมืองเชียงใหม่ส่วน ๑ เมืองนครลำปางส่วน ๑ เมืองน่านส่วน ๑ เมืองเวียงจันทน์ส่วน ๑ อีกส่วน ๑ ถวายลงมา ณ กรุงเทพฯ โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองสระบุรีบ้าง แบ่งไปอยู่เมืองราชบุรีบ้าง แต่ทัพกรุงนั้นกลับลงมาเปล่าไม่ได้ราชการสิ่งใด ก็ทรงขัดเคืองเป็นอันมาก ดำรัสว่าไม่รู้เท่าลาวให้ลงพระราชอาชญาจำกรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราชไว้ที่ทิมดาบชั้นนอกตรงหลังศาลาลูกขุนฝ่ายซ้ายไว้ ๔ วัน ๕ วันก็โปรดให้พ้นโทษ



[๘๘] พ.ศ. ๒๓๔๗.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ