๗๗. เชิญพระพุทธสิหิงก์มากรุงเทพฯ

ครั้นเสร็จการสงคราม เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ จะเสด็จกลับ พระยาเชียงใหม่ขอมถวายพระพุทธรูป อันทรงพระนามว่า พระพุทธสิหิงก์ เสด็จเชิญลงมาประดิษฐานไว้ในกรุงเทพมหานครแต่นั้นมา

พระพุทธสิหิงก์ปฏิมากรนี้ตามตำนานว่า กษัตริย์ในลังกาทวีป พร้อมด้วยพระอรหันต์สร้างขึ้นเมื่อ พระพุทธศาสนกาลล่วงได้ ๗๐๐ พรรษา แต่นิ้วพระหัตถ์ชำรุดไม่บริบูรณ์มาแต่เมื่อหล่อนิ้ว ๑ พระพุทธสิหิงก์ประดิษฐานอยู่ในเมืองลังกา จนพระพุทธศาสนกาลล่วงได้ ๑๕๐๐ พรรษา

สมัยนั้นพระเจ้ากรุงสุโขทัยอันทรงพระนามว่าพระเจ้าไสยณรงค์มีพระเดชานุภาพมาก พระราชอาณาจักรแผ่ลงมาจนกรุงศรีอยุธยา และตลอดออกไปจนเมืองนครศรีธรรมราช ก็ขึ้นอยู่ในเมืองสุโขทัยด้วย ครั้งหนึ่ง พระเจ้ากรุงสุโขทัยเสด็จลงไปประพาสถึงเมืองนครศรีธรรมราช มีพระราชประสงค์จะใคร่ได้พระพุทธรูปที่มีสิริลักษณะอันงาม จึงเจ้านครศรีธรรมราชรับอาสาแต่งทูตออกไปยังพระเจ้ากรุงลงกา ทูลขอได้พระพุทธสิหิงค์มาถวาย พระเจ้าไสยณรงค์ก็รับเชิญไปไว้ ณ เมืองสุโขทัย

ครั้นพระเจ้าไสยณรงค์สวรรคตแล้ว กษัตริย์ได้ครอบครองเมืองสุโขทัยต่อลงมาอีก ๓ พระองค์ คือพระเจ้าปาลราชโอรสพระเจ้าไสยณรงค์ ๑ พระเจ้าลิทัยโอรสพระเจ้าปาลราช ๑ พระเจ้าโกสิตโอรสพระเจ้าลิทัย ๑ แล้วจึงถึงพระเจ้าอัตถะกลิทัย ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าโกสิตได้ครองกรุงสุโขทัย

ครั้งนั้นสมเด็จพระรามาธิบดี พระเจ้ากรงศรีอยุธยา มีพระเดชานุภาพมาก ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองสุโขทัย พระเจ้าอัตถะกลิทัยสู้ไม่ได้ จึงยอมเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยามาจนพิราลัย เมืองสุโขทัยร้าง สมเด็จพระรามาธิบดี จึงให้เชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาไว้ในกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาพระองค์ ๑ ได้มารดาพระยาญาณดิศ เจ้าเมืองกำแพงเพชรเป็นพระมเหสี พระยาญาณดิศอยากได้พระพุทธสิหิงค์ จึงให้มารดาทูลขอต่อพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาโดยกลอุบายว่า จะทูลขอพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ส่งไปให้แก่พระยาญาณดิศผู้บุตร พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาไม่ทรงทราบในกลอุบาย จึงพระราชทานอนุญาตให้พระมเหสีไปเลือกพระพุทธรูปให้พระยาญาณดิศตามปรารถนา พระมเหสีบนขุนพุทธบาลผู้รักษาพระให้ชี้ให้ทราบว่าองค์ใดพระพุทธสิหิงค์ แล้วก็ถือรับสั่งให้เชิญพระพุทธสิหิงค์ส่งขึ้นไปเมืองกำแพงเพชรโดยด่วน เมื่อเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปได้หลายวันแล้ว ความจึงทราบถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาก็ทรงพระพิโรธ ผ่ายพระมเหสีกราบทูลแก้ว่า มิได้ทราบว่าองค์นั้น คือพระพุทธสิหิงค์ รับสั่งให้เลือกตามพอใจจึงได้เลือกส่งไป ขอพระราชทานรอพอให้พระยาญาณดิศจำลองไว้แล้ว จะให้ส่งพระพุทธสิหิงค์กลับคืนลงมาถวาย ก็โปรดอนุญาตตามการที่ได้พลาดพลั้งล่วงเลยไปแล้ว พระพุทธสิหิงค์จึงได้ไปประดิษฐานอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชรแต่นั้นมา

ในครั้งนั้นพระเจ้ากรรลิราช ได้ครองเมืองเชียงใหม่มีอานุภาพมากข้างฝ่ายเหนือ และพระยามหาพรหม ผู้น้องพระเจ้ากรรลิราชได้ครองเมืองเชียงรายขอกองทัพเมืองเชียงใหม่ สมทบเข้ากับกองทัพเมืองเชียงราย ยกลงมาตีเมืองกำแพงเพชร พระยาญาณดิศเห็นว่ากองทัพเมืองเชียงใหม่ยกลงมามากมายเหลือกำลังที่จ ต่อสู้ ก็ออกไปก่อนน้อม พระยามหาพรหมจึงได้พระพุทธสิหิงค์กลับขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ พระพุทธสิหิงค์ ไปอยู่เมืองเชียงใหม่ได้หน่อยหนึ่ง พระยามหาพรหมทูลขออนุญาตต่อพระเจ้ากรรลิราช เชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นไปเมืองเชียงรายว่าจะเอาไปจำลอง ครั้นไปถึงเมืองเชียงราย พระยามหาพรหมจึงให้ช่างหล่อแก้ไขนิ้ว พระหัตถ์ที่ชำรุดมาแต่เดิมให้ดีขึ้น และจำลองขึ้นใหม่อีกองค์ ๑ แล้วก็รักษาพระพุทธสิหิงค์ไว้ในเมืองเชียงราย หาได้ส่งกลับลงมาเมืองเชียงใหม่ไม่

อยู่มาพระเจ้ากรรลิราชทิวงคต เจ้านายและพระยาท้าวแสนเมืองเชียงใหม่ เชิญสิริราชกุมารอันเป็นโอรสของพระเจ้ากรรลิราชขึ้นครอบครองเมืองเชียงใหม่ต่อไป ไม่เป็นที่พอใจของพระยามหาพรหม จึงยกกองทัพเมืองเชียงรายมาตีเมืองเชียงใหม่ สู้ฝีมือพวกเมืองเชียงใหม่ไม่ได้ ต้องถอยทัพกลับไป พระเจ้าสิริราช จึงยกกองทัพเมืองเชียงใหม่ไปตีเมืองเชียงรายได้เมืองเชียงราย และจับพระยามหาพรหมได้ให้ฆ่าเสียแล้ว พระเจ้าสิริราชจึงให้เชิญพระพุทธสิหิงค์มาไว้เมืองเชียงใหม่

และมีเรื่องราวปรากฏต่อมาว่า เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ได้ เมื่อปีฉลู ตรีศก จุลศักราช ๑๐๒๓[๖๘] ก็ได้เชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาไว้ ณ กรุงเก่าอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาจะเป็นในแผ่นดิน สมเด็จพระเพทราชา หรือแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวห้ายสระไม่แน่ พระราชทานกลับคืนขนไปไว้เมืองเขียงใหม่อีก



[๖๘] พ.ศ. ๒๒๐๔

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ