๑๓๙. งานสมโภชพระแก้วมรกต

ลุจุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมะเส็ง เอกศก[๙๗] เป็นปีที่ ๒๘ ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อ ณ เดือน ๖ ทรงพระราชศรัทธาให้มีการสมโภชพระแก้วมรกตอีกครั้งหนึ่ง ตั้งสวดพระพุทธมนต์ตั้งแต่ ณ วันศุกร์ เดือน ๖ แรม ๗ คํ่าไป จนถึงเดือน ๖ แรม ๙ คํ่า พระสงฆ์ทั้งในกรุงนอกกรุงและหัวเมืองสวดวันละ ๒,๐๐๐ รูป ทั้ง ๓ วัน สำรับเลี้ยงพระสงฆ์ของหลวง ๑,๐๐๐ รูป เป็นของพระราชวงศานุวงศ์ข้าราชการ ๑,๐๐๐ รูป แบ่งเลี้ยงวันละ ๖๖๗ รูป ฉันในพระอุโบสถ ๓๐ รูป หอพระมนเทียรธรรม ๕๐ รูป พระระเบียง ๕๘๗ รูป ฉัน ๓ วันครบพระสงฆ์ ๒,๐๐๐ เวลาเพลเลี้ยงพระสงฆ์ ทำดอกไม้เพลิงด้วย ๑๐๐ รูป ทั้ง ๓ วัน พระราชทานเงินผู้ที่ทำสำรับเลี้ยงพระสงฆ์สำรับละบาทแล้ว มีพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถบอกอานิสงส์วันละกัณฑ์ ครั้น ณ เดือน ๖ แรม ๑๐ ค่ำ เวลาบ่ายตั้งบายศรีแก้ว บายศรีเงิน บายศรีทอง ในพระอุโบสถ เครื่องบายศรีมีกระทงดอกไม้ เวียนเทียนวันหนึ่งแล้วตั้งบูชาไว้ เวลาค่ำมีหนัง มีดอกไม้เพลิงสมโภชเป็นคำรบ ๗ คืน มีละครผู้หญิงข้างใน ที่โรงละครใหญ่และการเล่นต่าง ๆ สมโภชเวลากลางวันพร้อมกันตั้งแต่เดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำ จนถึงเดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำ เป็นคำรบ ๗ วัน มีต้นกัลปพฤกษ์วันละ ๖ ต้น ครั้นรุ่งขึ้น เดือน ๗ ขึ้น ๓ ค่ำ เวลาเช้าตั้งบายศรีแก้ว เงิน ทอง ตอง ในพระอุโบสถ เครื่องบายศรีของกระยาบวชตามอย่างธรรมเนียมบายศรีเวียนเทียนอีกครั้งหนึ่ง การครั้งนั้นโปรดใหตั้งโรงฉ้อทานที่หน้าวัดมหาธาตุ เจ้าครอกใหญ่อัครชายาของกรมพระราชวังหลัง ตั้งโรง ๑ ที่ท่าพระ พระเจ้าน้องนางเธอซึ่งปรากฏพระนามในภายหลังว่า กรมหลวงนรินทรเทวี กับกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ ตั้งโรง ๑ ที่โรงรองงาน พระยาศรีธรรมาธิราช ตั้งโรง ๑ ที่สะพานช้างโรงสี เจ้าพระยามหาเสนาตั้งโรง ๑ ที่สะพานตรงวังหน้า พระยาธรรมาตั้งโรง ๑ ที่หอกลอง เจ้าพระยาพระคลังตั้งโรง ๑ รวม ๖ โรง ท่านข้างในทำโรงน้ำยาโรง ๑ เลี้ยงพระสงฆ์สามเณร ข้าทูลละอองธุลีพระบาทและราษฎรชายหญิง ตั้งแต่ ณ วันเสาร์ เดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ เวลาเช้าไปจนถึง เดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำ ครบ ๑๐ วัน เวลาบ่ายจึงเลิก



[๙๗] พ.ศ. ๒๓๕๒.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ