๑๔๑. พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นปฐมในพระบรมราชวงศ์พระองค์นี้ มีพระนามปรากฏต่อมาในภายหลังว่า พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ นเรศวรราชวิวัฒนวงศ์ ปฐมพงศาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทรวโรดม บรมนารถบพิตร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์ประสูติ ณ วันพุธ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีมะโรง อัฐศก จุลศักราช ๑๐๙๘[๙๙] ณ กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา มีนิวาสฐานอยู่ภายในกำแพงพระนครเหนือป้อมเพชร ครั้นปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๑๑๙ พระชนมายุครบ ๒๑ ปี เสด็จออกทรงพระผนวชเป็นภิกษุอยู่วัดมหาทะลายพรรษา ๑ แล้วลาผนวชเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓๓ ซึ่งปรากฏพระนามเรียกเป็นสามัญว่า ขุนหลวงดอกมะเดื่อนั้น ครั้นต่อมาพระองค์ได้วิวาหมงคลกับธิดาในตระกูลเศรษฐีที่ตำบลอัมพวา แขวงเมืองสมุทรสงคราม อยู่ต่อพรมแดนเมืองราชบุรี จึงเสด็จออกไปรับราชการอยู่ในเมืองราชบุรี ได้เป็นตำแหน่งหลวงยกกระบัตร เมื่อพระชนมพรรษา ๒๕ ปี

ครั้นเมื่อกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา เสียแก่พม่าข้าศึกแล้ว เจ้าตาก (สิน) ตั้งเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี จึงเสด็จเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี เมื่อปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๓๐ พระชนม่ได้ ๓๒ พรรษา ได้เป็นตำแหน่งที่พระราชรินทร์ในกรมพระตำรวจ ได้รับราชการเป็นกำลังของเจ้ากรุงธนบุรีทำการศึกสงครามต่อมา คือ

ครั้งที่ ๑ ในปีชวด สัมฤทธิศกนั้น ได้เสด็จคุมกองทัพกอง ๑ ไปตีด่านขุนทด แขวงเมืองนครราชสีมา ซึ่งเจ้าพิมายให้พระยาวรวงษาธิราชมาตั้งรับทัพกรุงธนบุรีอยู่ ตีด่านขุนทดแตกแล้ว ยกตามพระยาวรวงษาธิราช ลงไปตีได้เมืองนครเสียมราฐอีกเมือง ๑ เมื่อเสร็จศึกเมืองนครราชสีมาครั้งนั้นได้เลื่อนตำแหน่งยศเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจโดยความชอบ

ครั้งที่ ๒ ปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๑๓๑ ได้เป็นแม่ทัพเสด็จไปตีเมืองเขมร ตีได้เมืองพระตะบองและเมืองนครเสียมราฐแล้ว กำลังทำการศึกค้างอยู่พอได้ข่าวเล่าลือว่าเจ้ากรุงธนบุรีทิวงคตจึงยกกองทัพกลับมา

ครั้งที่ ๓ ปีขาล โทศก จุลศักราช ๑๑๓๒ โดยเสด็จเจ้ากรุงธนบุรีไปปราบปรามเจ้าพระฝางมีชัยชนะ ได้เลื่อนตำแหน่งยศเป็นพระยายมราชว่าที่สมุหนายก เมื่อพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา

ครั้งที่ ๔ ปีเถาะ ตรีศก จุลศักราช ๑๑๓๓ พระชนมพรรษา ๓๕ พรรษา ได้เลื่อนตำแหน่งยศเป็นเจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพยกลงไปตีเมืองเขมรพร้อมกับเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งเสด็จไปทางทะเล ตีได้เมืองบันทายเพชรและเมืองบาพนม

ครั้งที่ ๕ ปีมะเมีย ฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ เป็นแม่ทัพหน้าของเจ้ากรุงธนบุรียกไปตีเมืองนครเชียงใหม่ ตีได้เมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน แล้วเสด็จอยู่จัดการบ้านเมือง ได้เมืองน่านมาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาอีกเมือง ๑

ครั้งที่ ๖ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองราชบุรี ในปีนั้นเสด็จยกกองทัพจากเมืองนครเชียงใหม่ลงมาช่วยทัพหลวง รบพม่าได้ชัยชนะ

ครั้งที่ ๗ ปีมะแม สัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ พม่ายกมาตีเมืองนครเชียงใหม่เสด็จเป็นแม่ทัพยกขึ้นไปช่วย แต่พม่าทราบข่าวถอยทัพไปเสียก่อนหาได้รบไม่

พออะแซหวุ่นกี้ยกทัพพม่าเข้ามาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ จึงเสด็จลงมาตั้งรับกองทัพอะแซหวุ่นกี้ที่เมืองพิษณุโลก นับเป็นครั้งที่ ๘ ศึกพม่าครั้งนั้นเป็นศึกใหญ่ยกมาหลายทัพหลายทาง ตั้งล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ทุกด้าน แต่กองทัพไทยต่อรบป้องกันเมืองเป็นสามารถ พม่าเข้าตีหักเอาหลายครั้งก็ไม่ได้เมืองพิษณุโลก จนอะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่าขอดูพระองค์ และสรรเสริญพระปรีชาสามารถที่ทรงต่อรบรักษาเมืองในครั้งนั้น ต่อมาพม่าตั้งล้อมเมืองพิษณุโลกไว้และคอยตัดลำเลียงจากกองทัพหลวงมิให้ส่งเสบียงเข้าไปในเมืองพิษณุโลกได้ แต่รักษาเมืองมาถึง ๓ เดือนเศษ จนเสบียงอาหารในเมืองหมดลงผู้คนอดอยากระส่ำระสาย จึงจำเป็นต่องทิ้งเมืองพิษณุโลกตีหักค่ายพม่าออกไปได้ทางด้านตะวันออกไปชุมนุมทัพอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์

ครั้งที่ ๙ ปีวอก อัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ เสด็จเป็นแม่ทัพยกไปตีหัวเมืองลาวตะวันออก ได้เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองสีทันดร เมืองอัตปือและได้เมืองเขมรป่าดงหลายเมือง คือ เมืองตะลุง เมืองสุรินทร์ เมืองสังข์ เมืองขุขันธ์ เป็นต้น ได้เลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกพิลึกมหิมา ทุกนคราระอาเดช นเรศวรราชสุริยวงศ์ องค์บาทมุลิกากรบวรรัตนปรินายก มีเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรมในปีระกา นพศก จุลศักราช ๑๑๓๙ พระชนม์ได้ ๔๑ พรรษา

ครั้งที่ ๑๐ เมื่อปีจอ สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๔๐ เสด็จเป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองล้านช้าง ตีได้เมืองเวียงจันทน์และเมืองขึ้น และได้เมืองหลวงพระบางมาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาด้วย ในครั้งนี้ได้ทรงเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต และพระบางลงมากรุงธนบุรี

ครั้งที่ ๑๑ เสด็จเป็นแม่ทัพออกไปปราบปรามจลาจลในเมืองเขมร ทำการยังไม่ทันตลอด พอได้ทรงทราบข่าวว่าเกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรีด้วยเจ้ากรุงธนบุรีเสียพระสติกระทำการกดขี่สมณะและข้าราชการอาณาประชาราษฎรให้ได้ความเดือดร้อนร้ายแรง ราชการผันแปรป่วนปั่นไปทั้งพระนครก็เสด็จยกกองทัพกลับจากเมืองเขมร มาถึงกรุงธนบุรี เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ปี มุขมนตรีและประชาราษฎรเป็นอันมาก พร้อมกันกราบทูลอัญเชิญพระองค์ให้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ ทำการพระราชพิธีปราบดาภิเษก เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔[๑๐๐] ปีนั้น พระชนมายุ ๔๗ พรรษา

ตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็ทรงพระอุตสาหะครอบครองแผ่นดินโดยขัตติยานุวัตร ต่อสู้ข้าศึกซึ่งบังอาจมาย่ำยีให้ปราชัยพ่ายแพ้ไปทุกครั้ง ทั้งปราบปรามศัตรูหมู่ร้ายทั้งภายในและภายนอกราบคาบ แผ่พระราชอาณาจักรกว้างขวางยิ่งกว่าแผ่นดินใดๆ ในครั้งกรุงเก่าแต่ก่อนมา ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและประชาชนทั่วพระราชอาณาจักรเป็นอเนกประการ ดังข้อความพิสดารที่ได้กล่าวมาในพระราชพงศาวดารนี้



[๙๙] พ.ศ. ๒๒๗๘.

[๑๐๐] พ.ศ. ๒๓๒๕.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ