๖๓. เมืองทวายสวามิภักดิ์

ในปีกุน ตรีศก จุลศักราช ๑๑๕๓[๖๒] นั้น ฝ่ายข้างเมืองทวาย พระเจ้าอังวะตั้งขุนนางลงมาเป็นเจ้าเมืองกรมการ อยู่รักษาเมืองทวาย จะให้เปลี่ยนเจ้าเมืองกรมการเก่าออกและให้หาเจ้าเมืองกรมการเก่านั้นกลับขึ้นไป ส่วนแมงจันจาเจ้าเมืองทวายเก่ากับจิกแกปลัดเมืองนั้น ได้แจ้งข่าวว่าเจ้าเมืองกรมการตั้งลงมาผลัดใหม่ จึงคิดกันไม่ยอมกลับไปเมืองอังวะ ครั้นเจ้าเมืองกรมการใหม่มาใกล้จะถึงเมือง จึงคิดเป็นกลอุบายออกไป ต้อนรับแต่นอกเมือง ให้จัดของเลี้ยงออกไปเลี้ยงให้กินอิ่มหนำสำเร็จแล้ว ก็ให้ทหารเข้าล้อมจับฆ่าเสียสิ้น แล้วกลับเข้าเมืองคิดการกบฏตั้งแข็งเมืองอยู่

ฝ่ายกรมการเมืองเมาะตะมะแจ้งว่าแมงจันจาคิดการกบฏฆ่าเจ้าเมืองกรมการซึ่งมาผลัดใหม่นั้นเสีย จึงมีหนังสือบอกขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าอังวะ ๆ ได้ทราบก็ทรงพระพิโรธ จึงให้จับสะดุแมงกองบิดาแมงจันจา เจ้าเมืองทวายจะให้ประหารชีวิตเสีย สะดุแมงกองจึงกราบทูลว่า จะขอมีหนังสือไปถึงบุตรให้มาเฝ้า แม้นไม่มาจึงจะรับพระอาชญาตามโทษ พระเจ้าอังวะก็ให้งดไว้แล้ว ให้จำสะดุแมงกองกับภรรยาให้ข้าหลวง คุมตัวลงมาเมืองเมาะตะมะให้มีหนังสือไปถึงบุตร

ฝ่ายพระยาทวาย คิดกลัวพระเจ้าอังวะให้กองทัพยกมาตีเมือง จะต้านทานสู้รบมิได้ด้วยไม่มีที่พึ่ง จึงปลงใจจะขอขึ้นกรุงเทพฯ เอาพระเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงไทยเป็นที่พำนัก ขอกองทัพไทยไปช่วยป้องกันรักษาเมืองแล้วสืบรู้ว่าพระราชภาคิไนยหญิงพระองค์ ๑ ตกมาอยู่เมืองทวายแต่ครั้งพม่าไปตีกรุงเก่าได้กวาดตอนครอบครัวไทยมานั้น จึงไปเชิญพระราชภาคิไนยนั้นมาไต่ถามได้ความว่าเป็นพระเจ้าหลานเธอแน่แล้วทรงผนวชเป็นรูปชีอยู่ จึงจัดให้นางคน ๑ รูปงามเป็นน้องภรรยาพระยาทวายจะส่งเข้ามาถวาย แล้วให้แต่งศุภอักษรจารึกลงแผ่นทองเป็นอักษรภาษาพุกามตามจารีตข้างพม่า ใจความอ่อนน้อมขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาเมืองขึ้นพระมหานครศรีอยุธยา ขอกองทัพออกไปช่วยป้องกันรักษาเมืองกับถวายนางเข้ามาด้วย แล้วให้พระเจ้าหลานเธอมีหนังสือเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณา เป็นอักษรภาษาไทยฉบับ ๑ ให้จัดหาพระสงฆ์ไทยได้มหาแทนรูป ๑ จึงจัดขุนนางทวายเป็นทูตานุทูตถือศุภอักษรและเครื่องราชบรรณาการ พานางทวายซึ่งให้เรียกว่าตะแคง ภาษาพม่าว่าเจ้ากับมหาแทน ให้ถือหนังสือพระเจ้าหลานเธอฉบับ ๑ มาด้วยกับทูตานุทูตทั้งไพร่นาย ส่งมาทางเมืองกาญจนบุรี กรมการเมืองกาญจนบุรีบอกเข้ามายังกรุงเทพมหานคร โปรดมีตราแต่งให้ข้าหลวงออกไปรับทูตทวายเข้ามา

ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ ทูตทวายคือพระสงฆ์ ๑๐ รูปกับเจสูนาระตะมิดกอยอชวา ๑ นาขันตเรียงสา ๑ อดุนนเรสร้อยตองลักแวนอรบา ๑ และหญิงทวายที่เข้ามาถึงกรุงเทพฯ แปลหนังสือพระยาทวายได้ความว่า “แมงจันจาพม่าเจ้าเมืองทวาย เป็นบุตรสะดุแมงกองกินเมืองส่วยชื่อเมืองมัคราโบ เป็นแม่ทัพใหญ่เมืองอังวะ ขอถวายบังคมมายังใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา ด้วยแมงจันจาเป็นเชื้อพม่า บิดามารดาปู่ตาแมงจันจาทำราชการมาแต่ครั้งพระอัยกาของพระเจ้าอังวะมาจนถึงแมงจันจา จะได้มีความผิดสักครั้งหนึ่งก็หามิได้ พระเจ้ากรุงอังวะทุกวันนี้มิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม และสังคหวัตถุ ๔ ประการ ตามพระราชประเพณี สมเด็จพระบรมมหากษัตราธิราชสืบมาแต่ก่อน กลับความจริงเป็นเท็จ กลับความเท็จเป็นจริงขาดจากเมตตากรุณา และผู้รั้งเมืองผู้ครองเมืองปลายด่าน ทำราชการสู้เสียชีวิตก็ไม่ว่าดี เมื่อเดือน ๑๑ ปีกุน ตรีศก ตั้งมองละเจสูลงมากินเมืองเมาะตะมะ ให้บังคับบัญชาชาวเมืองทวาย เมืองมะริด เมืองตะนาว เจ้าเมืองเมาะตะมะให้มาเรียกเอาเงินแก่เมืองทวาย เมืองมะริด เมืองตะนาว ๒ เดือน ๓ เดือนครั้งหนึ่งเงินถึง ๒๐๐ ชั่ง ๓๐๐ ชั่ง อาณาประชาราษฎรได้ความเดือดร้อนนัก แล้วเจ้าเมืองเมาะตะมะแต่งให้มะรุวอนโปจักกายเดิงคุมพม่า ๓๐๐ คน ลงมากินเมืองทวาย จะให้ถอดข้าพระพุทธเจ้าเสีย ข้าพระพุทธเจ้าแต่งให้ปลัดเมืองคุมไพร่ ๕๐๐ คนออกไป พบมะรุวอนโปจักกายเดิงนอกเมืองทางประมาณ ๒๐๐ เส้น จึงกลุ้มรุมฆ่ามะรุวอนโปจักกายเดิง และไพร่ตายสิ้น เมืองมะริด เมืองตะนาว รู้ว่าเมืองทวายยอมเข้ามาพึ่งพระราชกฤษฎาเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร เมืองมะริด เมืองตะนาว ก็ยอมเจ้ามาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาด้วย จึงจัดได้นางและตนไม้ทองเงินเข้ามาถวาย แล้วขอรับอาสาตีเมืองเมาะตะมะ เมืองร่างกุ้ง เมืองจิตตอง เมืองพะสิม ถวายให้ได้ในเดือน ๔ ปีกุน” สิ้นความในหนังสือพระยาทวายแต่เท่านี้

สมุหนายกนำความขึ้นกราบบังคมทูล พระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสให้ทูตทวายอาศัยพักอยู่ ณ โรงรับแขกเมือง ทรงพระกรุณาให้เลี้ยงดูพวกแขกเมืองทวายทั้งนายและไพร่ให้บริบูรณ์ และมหาแทนนั้นก็ให้ส่งไปสำนักวัดบางว้าใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้จัดการทั้งปวงตามอย่างออกแขกเมือง โดยโบราณราชประเพณีบรมราชาธิราชเจ้าแต่ปางก่อนแล้ว เสด็จออก ณ มุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทพร้อมด้วยเสนาบดี มนตรี หมู่ มุขมาตย์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือนประชุมเฝ้า ณ ทิมดาบซ้ายขวาตามตำแหน่ง จึงให้เบิกแขกเมืองทวายเข้ามากราบถวายบังคมในปรำหว่างทิมดาบคด พระยาราชนิกูล กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายเครื่องราชบรรณาการแล้ว อ่านศุภอักษรเจ้าเมืองทวาย เนื้อความในแผ่นทองว่า “ข้าพระพุทธเจ้าแมงจันจา ขอกราบถวายบังคมมาแทบพระบวรบาทบงกชมาศ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา ด้วยข้าพระองค์เดิมเป็นเมืองขึ้นข้าขอบขัณฑสีมากรุงรัตนบุระอังวะ บัดนี้ มีความผิดขัดเคืองกันกับพระเจ้ากรุงอังวะ ๆ จะให้กองทัพพม่ายกมากระทำวิหิงสาการย่ำยีเมืองทวาย ให้สมณพราหมณาจารย์ไพร่ฟ้าประชาราษฎรได้ความเดือดร้อน ข้าพระพุทธเจ้าหาที่พึ่งที่พำนักมิได้ จะขอเอาพระราชกฤษฎาเดชานุภาพพระบารมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง ไปปกครองป้องกันเกศสรรพสัตวนิกรในเมืองทวายให้พ้นภยันตรายแห่งปัจจามิตร ขอรับพระราชทานกองทัพออกไปช่วยป้องกันรักษาเมือง อนึ่งข้าพระองค์ถวายนางอันเป็นประยูรวงศ์เข้ามาเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย แล้วจะขอส่งพระราชภาคิไนย ซึ่งไปตกอยู่เมืองทวายเข้ามาถวายต่อภายหลัง บัดนี้ให้มหาแทนถือหนังสือของพระราชภาคิไนยเข้ามาถวายด้วย อนึ่งจ้าพระพุทธเจ้ากับทั้งกรมการเมืองทวาย เมืองมะริด เมืองตะนาว และอาณาประชาราษฎรทั้ง ๓ เมือง ขอเป็นเมืองขึ้นขอบขัณฑสีมากรุงเทพมหานครศรีอยุธยาเหมือนดังกาลก่อนสืบไปตราบเท่ากัลปาวสาน” ครั้นอ่านศุภอักษรถวายเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็มีพระราชดำรัสปฏิสันถารปราศรัยด้วยทูตานุทูตตามขัตติยราชประเพณีแล้วเสด็จขึ้น อัครมหาเสนาบดีก็พาแขกเมืองออกจากที่เฝ้า นำไปรับพระราชทานอาหารเลี้ยงดู ณ ศาลาลูกขุนมหาดไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เถ้าแก่จ่าโขลน และกรมวังออกไปรับนางทวาย คือ นางเอก ๑ นางโท ๒ สาวใช้ข้าไทย ๕๗ รวม ๖๐ คนนั้น ส่งเข้าไปในพระราชวัง

แล้วโปรดให้เสนาบดีพิจารณาดูหนังสือพระราชภาคิไนยซึ่งส่งเจ้ามาถวาย และไต่ถามไล่เลียงพระมหาแทน ได้ความชัดว่าเป็นพระธิดาของพระเจ้าขุนรามณรงค์สมเด็จพระเชษฐาเป็นพระเจ้าหลานเธอแน่แล้ว จึงให้ถวายไตรจีวร เครื่องสมณบริขาร และพระราชทานเสื้อผาเงินตราเป็นรางวัลแก่ทูตานุทูตกับทั้งสิ่งของพระราชทานตอบแทนออกไป ให้แก่พระยาทวายโดยสมควรแล้วดำรัสสั่งสมุหนายกให้มีตราออกไปถึงพระยาทวาย และส่งทูตานุทูตกับทั้งมหาแทนกลับออกไปเมืองทวายก่อน แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพกับท้าวพระยาหัวเมือง ถือพล ๕,๐๐๐ ยกออกไปช่วยรักษาเมืองทวายและพระราชทานพานทองเครื่องยศให้พระยายมราชคุมออกไปพระราชทานพระยาทวายด้วย



[๖๒] พ.ศ. ๒๓๓๔

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ