หมายรับสั่ง เรื่อง เกณฑ์ไพร่หลวง ไทย มอญ รับแขกเมือง ณ แม่น้ำน้อย จ.ศ. ๑๑๕๓

อธิบายเรื่องรับแขกเมืองทวายสวามิภักดิ์ นี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ตรัสเล่าความเป็นมาของหมายรับสั่งฉบับนี้ไว้ว่า “เรื่องนี้มีเนื้อความในหนังสือพระราชพงศาวดาร เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๓๔ พระยาทวาย ชื่อมังจันจา เกิดเป็นอริกับพม่าจึงพร้อมใจกับกรมการเมืองทวายมาสวามิภักดิ์ ขอเอาเมืองทวายมาขึ้นต่อไทย และครั้งนั้นพระยาทวายแต่งให้กรมการเป็นทูตถือสุพรรณบัฏอักษรสาร และคุมเครื่องบรรณาการเข้ามาถวาย เครื่องบรรณาการนั้นพระยาทวายจัดตามประเพณีพม่า คือนอกจากสิ่งของต่าง ๆ มีนางกุลธิดาเป็นชั้นเอกคน ๑ ชั้นโท ๒ คน พร้อมด้วยสาวใช้ข้าคนอีก ๕๓ รวมเป็น ๖๐ คน และให้พระสงฆ์ ๑๐ รูป มากับทูต ให้มาเป็นพยานการที่ว่าสวามิภักดิ์โดยสุจริตนั้นด้วย ที่ในกรุงฯ จึงจัดกระบวนพาหนะที่กล่าวในนี้ออกไปรับพวกทวายที่แม่น้ำน้อยเมืองไทรโยค พาเข้ามากรุงเทพฯ[๑]

(คัดจากลัทธิธรรมเนียม ภาค ๑๐)

ตัวหมายรับสั่งเรื่องนี้ มีดังต่อไปนี้

วัน ๗ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ คํ่า ปีกุนตรีนิศก (จ.ศ. ๑๑๕๓ ) เกณฑ์ไพร่หลวงไทย มอญ ณ แม่น้ำน้อย พันจันท์ นายชูรอง (เวร) เกณฑ์

เรือศรีสักหลาดรับองค์นาง ฝีพายมอญ บโทน๑[๒] พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๕ พลพายมอญ ๓๐ รวม ๓๕ คน

เรือศรีสักหลาดรับพระสงฆ์ บโทน ๑ พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๕ พลพายกองหลวงสุนทรสาลี ๒๐ กองพระพิพิธเดชะ ๑๐ รวม ๓๕ คน

เรือดั้งตำรวจในซ้าย สมิงอังวะมังศรีคุม พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๔ พลพายกองพระยาพระราม ๓๖ รวม ๔๐ คน มีปืนหามแล่น ๒ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๐ กระบอก

เรือดั้งตำรวจในขวา สมิงพัดตะบะคุม พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๔ พลพายกองพระยาพระราม ๓๐ รวม ๓๔ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๐ กระบอก

เรือดั้งตำรวจใหญ่ซ้าย สมิงโยคราชสายสมรคุม พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๔ พลพายกองหลวงสุเรนทรวิชิต ๕ กองพระพิพิธเดชะ ๑๐ กองพระยานครอินทร์ ๑๕ รวม ๓๔ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๐ กระบอก

เรือดั้งตำรวจใหญ่ขวา พระยาพระรามคุม พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๔ พลพายกองพระยาพระราม ๓๕ รวม ๓๙ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๐ กระบอก

เรือดั้งกรมกลองชนะ (สมิง) สุรจอมคุม พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๔ พลพายกองพระยาเกียรติ์ ๓๕ รวม ๓๙ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๐ กระบอก

เรือกันกรมสัสดีซ้าย พระยาอุดมโยธาคุม พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๔ พลพายกองพระยาพระราม ๓๕ รวม ๓๙ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๐ กระบอก

เรือกันกรมสัสดีขวา (สมิง) ธนูศิลป์คุม พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๔ พลพายกองพระยาเกียรติ์ ๓๕ รวม ๓๙ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๐ กระบอก

เรือดั้ง กรมเกณฑ์หัดแสงปืน พระยานครอินทร์คุม พันหัว ๒ พันท้าย ๒ พลพายกองสมิงปราบเมืองมาร ๕ กองพระยาศรีราชบุตร ๕ กองพระยานครอินทร์ ๑๐ กองพระยาเกียรติ์ ๑๙ รวม ๔๓ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๐ กระบอก

เรือกราบที่ ๑ ลำ ๑ พันหัว ๑ พันท้าย ๑ พลพายกองพระยาเสนาภิมุข ๑๕ รวม ๑๗ คน

เรือกราบที่ ๒ ลำ ๑ พันหัว ๑ พันท้าย ๑ พลพายกองพระยามหานุภาพ ๑๕ รวม ๑๗

เรือกราบที่ ๓ ลำ ๑ พันหัว ๑ พันท้าย ๑ พลพายกองพระยามหานุภาพ ๕ กองพระยาเสนาภิมุข ๕ กองพระมหาเทพ ๕ รวม ๑๗ คน

เรือกราบที่ ๔ ลำ ๑ พันหัว ๑ พันท้าย ๑ พลพายกองพระยาศรสำแดง ๑๕ รวม ๑๗ คน

เรือกราบที่ ๕ ลำ ๑ พันหัว ๑ พันท้าย ๑ พลพายกองพระยาศรีราชบุตร ๑๕ รวม ๑๗ คน

เรือกราบที่ ๖ ลำ ๑ พันหัว ๑ พันท้าย ๑ พลพายกองพระมหาเทพ ๑๕ รวม ๑๗ คน

(รวมทั้งกระบวนเป็นเรือ ๑๖ ลำ ตัวนายกองมอญคุมเรือ ๘ นาย ฝีพาย ๔๗๕ คน)

(คัดจากหมายรับสั่ง จ.ศ. ๑๑๔๒ เลขที่ ๑)



[๑] พวกทวายที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารครั้งนี้ โปรดเกล้าฯ ให้อยู่ท้องที่บ้านทวายเขตยานนาวา ดูหนังสือฟื้นความหลังของเสฐียรโกเศศ ตอนหมายเลข ๑๐

[๒] บโทน คือผู้ติดหน้าตามหลัง (คนใช้) จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ