๒๗. ลดตำแหน่งพระเจ้านครศรีธรรมราช และตั้งเจ้าพระยานครพัด

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเก่าเสียแก่พม่าข้าศึกแล้ว และมีผู้ตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่หลายพวกในครั้งนั้น หลวงนายสิทธิ์ซึ่งได้เป็นที่ปลัดรั้งเมืองนครศรีธรรมราชก็ตั้งตัวเป็นเจ้าแห่งหนึ่ง ครั้นเจ้ากรุงธนบุรีมีอำนาจขึ้น จึงยกกองทัพหลวงลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๑๓๑[๓๘] ได้เมืองนครศรีธรรมราชและจับตัวเจ้านครได้ที่เมืองตานี เจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ทำอันตรายอันใดแก่เจ้านคร โดยทรงพระดำริว่าต่างคนต่างตั้งตัวเป็นอิสรภาพในเวลาบ้านเมืองหาผู้ปกครองมิได้ เจ้านครไม่ได้เป็นกบฏ เป็นแต่ให้เอาตัวเจ้านครเข้ามากักไว้ในกรุงธนบุรี และตั้งเจ้านราสุริยวงศ์ หลานเธอของเจ้ากรุงธนบุรี ออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช อยู่ได้ ๗ ปี เจ้านราสุริยวงศ์ถึงพิราลัยที่เมืองนครศรีธรรมราช

ฝ่ายเจ้านครเข้ามาอยู่ในกรุงธนบุรี ได้รับราชการตามเสด็จไปทัพศึกและได้ถวายบุตรีทำราชการในพระราชวังเป็นพระสนม มีโอรสองค์หนึ่ง เจ้ากรุงธนบุรีไว้วางพระทัยในเจ้านครจึงให้เจ้านครกลับออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปีวอก อัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘[๓๙] ได้รับสุพรรณบัฏเป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสีมา มีเกียรติยศเสมอเจ้าประเทศราช ตั้งพระยาอัครมหาเสนาและจตุสดมภ์สำหรับเมืองนครได้คล้ายกรุงธนบุรี

ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระราชดำริว่า ที่เจ้ากรุงธนบุรียกเจ้านครขึ้นเป็นพระเจ้าประเทศราชนั้นเป็นการเหลือเกินไป จึงโปรดให้ลดบรรดาศักดิ์ลงเป็นเจ้าพระยานคร และให้ลดตำแหน่งเสนาบดีเมืองนครลงเป็นกรมการเหมือนหัวเมืองอื่น ๆ และให้ยกเมืองสงขลาซึ่งขึ้นเมืองนครอยู่ในครั้งนั้นเป็นหัวเมืองขึ้นกรุงเทพฯ ด้วย

ต่อมาเจ้าพระยานครศรีธรรมราชแก่ชราว่าราชการบ้านเมืองฟั่นเฟือนไป มีตราให้หาก็บิดพริ้วเสียหลายครั้ง แล้วจึงได้ตัวเข้ามากรุงเทพฯ จึงโปรดให้เอาออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเจ้าพัด อุปราชเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นบุตรเขยเจ้านคร ให้เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เมื่อปีมะโรง ฉศก จุลศักราช ๑๑๔๖[๔๐] และครั้งนั้นพระยาสงขลามีความผิด จึงโปรดให้เมืองสงขลากลับไปเป็นเมืองขึ้นเมืองนครศรีธรรมราชดังแต่ก่อน



[๓๘] พ.ศ. ๒๓๑๒

[๓๙] พ.ศ. ๒๓๑๙

[๔๐] พ.ศ. ๒๓๒๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ