๕๕. ไฟไหม้พระมหาปราสาท

เมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๗ ขึ้น ๑ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมง ๖ บาท ฝนตกอสนีบาตลงต้องหน้าบันมุขเก็จ พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทติดเป็นเพลิงโพลงขึ้น ไหม้เครื่องบนพระมหาปราสาทกับทั้งหลังคามุขทั้ง ๔ ทำลายลงสิ้น แล้วเพลิงลามไปติดไหม้พระปรัศว์ซ้ายด้วยอีกหลังหนึ่ง และขณะเมื่อเพลิงฟ้าแรก ติดพระมหาปราสาทนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวงศานุวงศ์ทั้งปวง กับข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย และพระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมทุกๆ พระอารามหลวงก็เข้ามาช่วยดับเพลิงพร้อมกันสิ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้ข้าราชการช่วยกันยกพระที่นั่งราชบัลลังก์ประดับมุกซึ่งกั้นเศวตฉัตรอยู่บนพระมหาปราสาทนั้นลงมาพ้น เพลิงหาทันไหม้ไม่ ฝ่ายพระสงฆ์คฤหัสถ์ข้าราชการทั้งปวงที่เข้าสาดน้ำดับเพลิงบ้าง ที่เข้าขนถุงเงินพระราชทรัพย์ในพระคลังลงทิ้งในสระในพระอุทยานภายในพระราชวังบ้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระแสงง้าว เร่งให้ข้าราชการดับเพลิงจนเพลิงดับสงบ

และที่มีเหตุเพลิงอสนีบาตตกลงไหม้พระมหาปราสาทครั้งนั้น ทรงพระปริวิตกว่าจะเป็นอวมงคลนิมิตแก่บ้านเมืองจึงพระสงฆ์ทั้งหลายมีสมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะเป็นประธาน พร้อมกันถวายพระพรว่า ได้ตรวจค้นดูในพระบาลีและคัมภีร์พุทธศาสตร์และโลกศาสตร์ ได้ความตามโบราณคติถือสืบต่อกันมาว่า อสนีบาตตกลงที่ใดย่อมถือว่าเป็นมงคลนิมิตแม้จะเสื่อมเสียทรัพย์สมบัติ ก็เสียแต่เท่าที่ต้องอสนีภัย จะเสียยิ่งไปกว่านั้นหาไม่ ความตามคัมภีร์พิมพานิพพานมีปรากฏว่า ถ้าอสนีบาตตกต้องกำแพงเมืองใด แม้ข้าศึกมาย่ำยีเมืองนั้นก็มีแต่จะปราชัยพ่ายแพ้ไปถ่ายเดียว ว่าโดยโลกศาสตร์ตามนิทานและเรื่องราวที่ปรากฏมาแต่ปางก่อน บางทีอสนีตกต้องศีรษะคนซึ่งผู้หามอยู่เหนือบ่า ผู้นั้นต่อไปได้ดีก็มีบ้าง บางทียกทัพไปอสนีตกต้องช้าง ไปทำศึกได้บ้านเมืองก็มีบ้าง ที่ว่าเป็นนิมิตอวมงคลมิได้พบในแห่งใด พระสงฆ์ทั้งหลายจึงมิได้เห็นว่าเหตุที่อสนีบาตตกต้องพระมหาปราสาทจะเป็นอวมงคลนิมิต ส่วนข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง ก็เข้าชื่อกันกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายไชยมงคล โดยใจความอย่างเดียวกัน

แล้วดำรัสสั่งสมุหนายกให้จัดการรื้อปราสาทเก่าเสีย ให้ฐาปนาปราสาทขึ้นใหม่ย่อมกว่าองค์ก่อน และปราสาทองค์ก่อนนั้นสูงใหญ่เท่าพระที่นั่งสรรเพ็ชญปราสาทกรุงเก่า มุขหน้า มุขหลังนั้นยาวกว่ามุขข้าง และมุขเบื้องหลังนั้นอยู่ที่ข้างในยาวไปจดถึงพระปรัศว์ซ้ายปรัศว์ขวา พระมหาปราสาทองค์ใหม่นี้ยกออกมาตั้ง ณ ที่ข้างหน้าทั้งสิ้น มุขทั้ง ๔ นั้นก็เสมอกันทั้ง ๔ ทิศ ใหญ่สูงเท่าพระที่นั่งสุริยามรินทร์กรุงเก่า ยกปะราลีเสียมิได้มีเหมือนองค์ก่อน แต่มุขเด็จยอดทั้ง ๔ มุมนั้น ยกทวยเสียใช้รูปครุฑเข้าแทนแล้ว ให้ฐาปนาพระที่นั่งขึ้นใหม่ที่ข้างในต่อมุขหลังเข้าไปอีกหลัง ๑ พอเสมอท้ายมุขปราสาทองค์เก่าพระราชทานนามว่าพระที่นั่งพิมานรัถยา แล้วทำพระปรัศว์ซ้ายขึ้นใหม่คงตามเดิมและหลังคาปราสาทและมุขกับทั้งพระที่นั่งพิมานรัถยาพระปรัศว์ดาดด้วยดีบุกเหมือนอย่างเก่าทั้งสิ้น ครั้นการพระมหาปราสาทลงรักปิดทองเสร็จแล้ว จึงพระราชทานนามปราสาทองค์ใหม่ว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ