๑๑๖. ชำระกฎหมาย

ลุจุลศักราช ๑๑๖๖ ปีชวด ฉศก[๙๐] ทรงพระราชดำริว่าฝ่ายพระพุทธจักรนั้นพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์อันสมเด็จพระพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณาประดิษฐานไว้ต่างพระองค์ได้เป็นหลักโลกสั่งสอนบรรพชิตบริษัทและฆราวาสบริษัท ได้ปฏิบัติรู้ซึ้งทางสุคติภูมิและทุคติภูมิและพระไตรปิฎกธรรมนั้นฟั่นเฟือนวิปริตผิดเพี้ยนไปเป็นอันมาก ยากที่จะเล่าเรียนเป็นอายุพระพุทธศาสนาสืบไป ก็ได้อาราธนาประชุมเชิญพระราชาคณะทั้งปวงมีสมเด็จพระสังฆราชและพระธรรมอุดม พระพุทธโฆษาจารย์เป็นประธาน ฝ่ายราชบัณฑิตนั้น พระยาธรรมปรีชาเป็นต้น ให้ทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎก สอบไล่ด้วยอรรถกถาฎีกาให้ถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติ พระไตรปิฎกจึงค่อยถูกถ้วนผ่องใสขึ้น ได้เป็นที่เล่าเรียนง่ายใจแก่กุลบุตรสืบไปภายหน้า ก็เป็นพุทธการกรรมกองการกุศลอันประเสริฐแล้ว

และฝ่ายข้างอาณาจักรนี้ กษัตริย์ผู้ดำรงแผ่นดินนั้น อาศัยซึ่งโบราณราชนิติกฎหมายพระอัยการ อันกษัตริย์แต่ก่อนบัญญัติไว้ได้เป็นบรรทัดฐาน ซึ่งพิพากษาตราสินเนื้อความราษฎรทั้งปวงได้โดยยุติธรรม และพระราชกำหนดบทพระอัยการนั้น ก็ฟั่นเฟือนวิปริตผิดซํ้าต่างกันไปเป็นอันมาก ด้วยคนอันโลภหลงหาความละอายแก่บาปมิได้ ดัดแปลงแต่งตามชอบใจไว้พิพากษาให้เสียยุติธรรมสำหรับแผ่นดินไปก็มีบ้าง

จึงทรงพระกรุณาโปรด จัดข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่มีสติปัญญา คือ ขุนสุนทรโวหาร ว่าที่พระอาลักษณ์ ๑ ขุนสารประเสริฐ ๑ ขุนวิเชียรอักษร ๑ ขุนวิจิตรอักษร ๑ กรมพระอาลักษณ์ ๔ นาย

ขุนหลวงพระไกรศรี ๑ พระราชพินิจจัยราชปลัด ๑ หลวงอัธยา ๑ ลูกขุน ๓ นาย

หลวงมหาวิชาธรรม ๑ ขุนศรีโวหาร ๑ นายพิมพ์ ๑ นายด่อนเปรียญ ๑ ราชบัณฑิต ๔ นาย

ชำระพระราชกำหนดบทพระอัยการ อันมีอยู่ในหอหลวงตั้งแต่พระธรรมศาสตร์ไปให้ถูกถ้วนตามบาลี และเนื้อความมิให้ผิดเพี้ยนซ้ำกันได้จัดเป็นหมวดเป็นเหล่าเข้าไว้ และทรงพระอุตสาหะทรงชำระดัดแปลงซึ่งบทอันวิปลาสนั้นให้ชอบโดยยุติธรรมไว้ ด้วยพระทัยทรงพระมหากรุณาธิคุณจะให้เป็นประโยชน์แก่กษัตริย์จะดำรงแผ่นดินไปภายหน้า ครั้นชำระแล้วให้อาลักษณ์ชุบเส้นหมึก ๓ ฉบับ ไว้ห้องเครื่องฉบับ ๑ ไว้หอหลวงฉบับ ๑ ไว้ศาลหลวงสำหรับลูกขุนฉบับ ๑ ปิดตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ ตราบัวแก้ว ทุกเล่มเป็นสำคัญ



[๙๐] พ.ศ. ๒๓๔๗.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ