๙๓. ได้ช้างเผือกพระเทพกุญชร

ครั้น ณ วันอาทิตย์เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ เมืองนครราชสีมามีหนังสือบอกเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณา ว่าขุนช้างเผือกนายชมรม ๑ นายหั้นหมอ ๑ นายล่าควาญกับหมอมีชื่อขึ้นช้างต่อไป ๗ ช้าง ไปแทรกโพน ณ ป่าภูเขียว ณ วันศุกร์เดือน ๑๑ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีวอก โทศก นายหั้นหมอนายล่าควาญขึ้นช้างพลายยนต์คล้องได้ช้างพังช้าง ๑ หูหางสรรพ จักษุขาวดังผลลำไย ขนขาวสีตัวดังสีหม้อใหม่ ได้ริมแม่น้ำสระพุง นำมาเข้าไม้ไว้ ๕ คืนแล้วออกลำโยงนำข้ามแม่น้ำสระพุงมา ๒ คืน ถึงเมืองนครราชสีมาพักอยู่โรงท่าอิฐริมฝั่งละน้ำตะครอง ทรงพระกรุณาโปรดให้กรมช้าง และช่างปั้น ช่างเชียนขึ้นไปดูจำลองรูปลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย ครั้น ณ วันศุกร์ เดือนอ้ายขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีระกา ตรีศก พระยานครราชสีมา กรมการพร้อมกัน ได้นำนางพระยาช้างสำคัญเดินแต่โรงท่าอิฐรอนแรมมา ๑๗ คืน ถึงเมืองสระบุรีแรมคืน ๑ ผู้รักษาเมืองกรมการได้จัดการสมโภชแล้วยกแต่สระบุรีพักรอนแรมบ้านช้างเริงราง และแรมท่าเจ้าสนุกยกแต่ท่าเจ้าสนุกถึงโรงสมโภช ณ บ้านศาลาลอย สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จขึ้นไปคอยรับอยู่ พระยาศรีธรรมราชาธิราช ข้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกันได้ทำพระราชพิธีพระสงฆ์สวดพระปริตร ๕ รูป สวดฉันแล้วเวียนเทียน เช้า กลางวัน เย็น ๓ เวลา มีงานสมโภชละครโรง ๑ มวย ๑๕ คู่ ปรบไก่วง ๑ หนังโรง ๑ พระราชทานเงินตรา ๕ ชั่ง พระยาศรีธรรมาธิราชเป็นผู้อำนวยการพระราชพิธี พร้อมด้วยพระหมอเฒ่าพราหมณ์พฤฒิบาศ ทำพระราชพิธีทนนไชยบาศเสียไพรขวาดช้างแล้ว นำนางพระยาช้างออกโขลนทวารลงแพ ณ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๕ ค่ำเวลายํ่ารุ่งได้ฤกษ์ออกแพล่องลงมามีเรือชักแพ เรือดั้ง ๖ คู่ เรือกราบ ๔๐ ลำ ณ วันพุธ เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ เวลาเช้า ๔ โมงถึงท่าช้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงไปรับขึ้นจากแพ ตั้งกระบวนแห่ไปโรงสมโภชหน้าพระที่นั่งพลับพลาสูง มีกลองชนะแตรสังข์ เครื่องสูงคู่แห่เดินเท้า มีช้างนำ ช้างตาม ช้างเชือก ช้างต่อ รวม 5 ช้าง ถึงโรงสมโภชแล้ว เวลาบ่ายพระสงฆ์ราชาคณะสวดพระพุทธมนต์วันแรม ๒ ค่ำ ๓๔ รูป แรม ๓ ค่ำ ๓๔ รูป แรม ๔ คํ่า ๓๓ รูป รวม ๑๐๑ รูป รับพระราชทานฉันทั้ง ๓ วัน ถวายผ้าสบงและกระจาด โปรดให้มีงานสมโภชแต่ ณ วันศุกร์ เดือนยี่ แรม ๔ ค่ำไปจนถึง ณ วันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๗ ค่ำ ให้มีหุ่นโรง ๑ ละครโรงใหญ่โรง ๑ ละครชาตรีโรง ๑ บ่ายมีมวยทุกวัน กลางคืนมีหนังคืนละ ๒ โรง มีขับไม้บัณเฑาะว์ทุกคืน ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม ๖ ค่ำ เวลาเช้าพระราชทานอ้อยใหนางพระยาช้างด้วยพระหัตถ์ อ้อยนั้น จารึกชื่อขนานนามว่า พระเทพกุญชร บวรศรีเศวต อมเรศนฤมิตร เผือกผ่องพิศโสภณ มิ่งมงคลเฉลิมขวัญ ชาติฉัททันต์สูงศักดิ์วิลัยลักษณเลิศฟ้า[๘๒] แล้วตั้งบายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน บายศรีตอง ๒ เวียนเทียน สมโภช ๓ วัน โรงสมโภช ๓ ห้อง เฉลียงรอบปิดลายกระดาษผูกม่านทองมีฉัตรเบญจรงค์ ๗ ชั้น ราชวัติเครื่องสูงรอบโรง มีมณฑปที่รดน้ำตั้งเหนือโรงปักตลุงเบญจพาศ มีฉัตรทอง ฉัตรนาก ฉัตรเงิน ปรุราชวัติไม้จริงรอบ มีงานสมโภชคำรบ ๗ วัน ณวันเสาร์เดือนยี่ แรม ๑๒ ค่ำ เวลา ๕ โมงเช้า เสด็จออก ณ โรงพระเทพกุญชร พระราชทานปูนบำเหน็จเงินตราเสื้อผ้าหมอควาญผู้คล้องขุนช้างเผือก เป็นหลวงอภัยคชลักษณ์ เงินตรา ๒ ชั่ง เสื้อเข้มขาบดอกใหญ่ ๑ เสื้อแพรแดง ๑ ผ้าห่มนอนปักไหม ๑ ผ้าปูม ๑ ผ้าเชิง ๑ หมอหั้นผู้คล้องได้เป็นขุนเศวตคชรัตน์ เงินตรา ๓ ชั่ง เสื้อเข้มขาบดอกใหญ่ ๑ เสื้อแพรแดง ๑ ผ้าห่มนอนปักไหม ๑ ผ้ายกก้านแย่ง ๑ ผ้าเชิงปูม ๑ นายล่าควาญเป็นหมื่นสวัสดิกุญชร เงินตรา ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง เสื้อเข้มขาบดอกเล็ก ๑ เสื้อแพรแดง ๑ ผ้าเชิงปูม ๑ ผ้าม่วง ๑ ผ้าห่มนอนปักไหม ๑ นายลาตรวจ นายอยู่ควาญตรวจ เงินตราคนละ ๑๐ ตำลึง เสื้อแพรกิ้นคนละผืน ผ้าห่มนอนปักไหมคนละผืน ผ้าม่วงคนละผืน หมอควาญไปด้วยกันอีก ๙ คน พระราชทานเงินตราคนละ ๓ ตำลึง รวมเงินตรา ๑ ชั่ง ๗ ตำลึง รวมหมอควาญ ๑๔ คนเป็นเงินตรา ๘ ชั่ง ๑๗ ตำลึง ครั้น ณ วันอังคาร เดือนยี่ แรม ๘ ค่ำ เวลาเช้าโมงเศษ โปรดให้แห่พระเทพกุญชรไปลงน้ำ ณ ท่าช้าง กลับขึ้นจากน้ำแล้วแห่เข้าประตูวิเศษไชยศรี ขึ้นโรงในพระบรมมหาราชวัง เวลาบ่ายสวดมนต์สมโภชต่อไปอีกคราวหนึ่ง



[๘๒] ทำเนียบนามภาค ๑ ว่า พระเทพกุญชร บวรศรีเศวต อมรเมศนฤมิตร เผือกผ่องพิศโสภณ มิ่งมงคลนาเคนทร์ คชคเชนทรเฉลิมขวัญ ชาติฉัททันต์สูงศักดิ์ วิไลยลักษณ์เลิศฟ้า.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ