๘๒. เกิดเหตุบาดหมางในระหว่าง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

เมื่อ ณ เดือน ๑๑ เรือวังหลวงชื่อตองปลิว เรือวังหน้าชื่อมังกร จะแข่งกันเปรียบฝีพายแล้ว สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจัดผู้พายสำรับอื่นที่แข็งแรงซ่อนไว้ เมื่อเวลาแข่งจะเอาคนสำรับใหม่ลง ข้าราชการฝ่ายวังหลวงแจงดังนั้นจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบแล้ว ดำรัสว่าเล่นดังนี้จะเล่นด้วยที่ไหนได้ให้เลิกการแข่งเรือตั้งแต่นั้นมา กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็บาดหมางพระทัยไม่ได้ลงมาเฝ้า ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือนอ้ายขึ้น ๑๐ ค่ำ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลลงมาเฝ้ากราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เงินที่พระราชทานขึ้นไปปีละ ๑,๐๐๐ ชั่งนั้นไม่พอแจกเบี้ยหวัดข้าราชการในวังหน้า จะขอรับพระราชทานเงินเติมอีกให้พอแจกจ่ายกัน จึงดำรัสว่า เงินเก็บมาได้แต่ส่วยสาอากร ก็พอใช้ทำนุบำรุงแผ่นดิน เหลือจึงได้เอามาแจกเบี้ยหวัดก็ไม่ใคร่พอ ต้องเอาเงินกำไรตกแต่งสำเภามาเพิ่มเติมเข้าอีกจึงพอใช้ไปได้ปีหนึ่ง ๆ เงินคงคลังที่สะสมไว้ก็ยังไม่มี กรมพระราชวังบวรฯ ไม่ได้ตามพระประสงค์ก็ขัดเคือง มิได้ลงมาเฝ้าเลย ฝ่ายพระยาเกษตร (บุญรอด) เห็นว่าเจ้านายทรงขัดเคืองกันก็กะเกณฑ์ข้าราชการ ให้เอาปืนขึ้นป้อมวังหน้าแล้วให้ตระเตรียมศาสตราวุธ ตั้งนอนกองระวังอยู่ ส่วนเจ้าพระยารัตนาพิพิธสืบรู้ว่าที่วังหน้าจัดเตรียมการเป็นสงครามไม่ไว้ใจแก่ราชการ ก็กราบทูลขอรักษาพระราชวังให้มั่นคงแข็งแรง เกณฑ์คนรักษาหน้าที่และเอาปืนขึ้นป้อมห้าง ครั้งนั้นเกือบจะเกิดการยุทธสงครามแก่กัน ความทราบถึงสมเด็จพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์ ก็เสด็จขึ้นไปในพระราชวังบวรฯ ทั้ง ๒ พระองค์ทรงพระกันแสง ตรัสประเล้าประโลมไปถึงความเก่า ๆ แต่ครั้งตกทุกข์ได้ยากมาจนได้ราชสมบัติขึ้นสมเด็จพระอนุชาธิราชก็มีพระทัยลดหย่อนอ่อนลงสิ้นความพระพิโรธ สมเด็จพระพี่นางทั้ง ๒ ก็เชิญเสด็จให้ลงมาเฝ้าสมัครสมานแต่ในเวลาวันนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับกรมพระราชวังบวรฯ ก็เป็นปกติกันต่อมา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ