๕๖. ปราบรายาเมืองตานี

ครั้นมาถึง ณ เดือน ๘ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีระกา เอกศก จุลศักราช ๑๑๕๑[๕๙] มีหนังสือพระยาพระคลังออกไปถึงองเชียงสือฉบับ ๑ ใจความว่าองเชียงสือบอกข้อราชการศึกเข้าไปเมื่อใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะให้ยกกองทัพออกมาช่วย แต่จะไปทางบกนั้นไกลนักครั้นจะให้ไปทางเรือเล่า เรือรบที่กรุงก็มี ๗๐ ลำ ๘๐ ลำ บรรจุไพร่พลก็ได้น้อย ถ้าองเชียงสือว่างการศึกแล้วก็ให้คิดต่อเรือกูไลให้ได้สัก ๖๐ ลำ ๗๐ ลำ กับเรือกูไลอย่างดีสำหรับเป็นเรือพระที่นั่งเข้าไปถวายด้วย และครอบครัวองโหเตืองดึกชายหญิง ๖๓ คนนั้น ได้มอบให้องไกจัดคุมออกมาด้วยแล้ว ครั้นมาถึง ณ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๐ ค่ำ องเชียงสือมีหนังสือบอกเข้ามาใจความในหนังสือว่าเมื่อ ณ เดือน ๑๑ ปีระกา เอกศก รายาแขกเมืองตานีให้นักกุดาสุงถือหนังสือ และคุมเอาปืนคร่ำทอง ๒ บอก ดาบด้ามทอง ๒ เล่ม แหวนทองประดับเพชรเข้ามาให้ ในหนังสือตานีนั้นว่า รายาตานีมีความพยาบาทอยู่กับกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา รายาตานีจะยกกองทัพเข้ามาตีกรุง ให้องเชียงสือแต่งกองทัพเรือยกเข้ามาช่วยรายาตานีตีกรุงเทพมหานครศรีอยุธยาด้วย และเมื่อองเชียงสือเสียบ้านเมืองแก่ไกเซินแล้วหนีเข้ามาอยู่ ณ กรุง ได้พึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังระลึกถึงพระเดชพระคุณอยู่ จึงมิได้รับของที่รายาตานีที่ให้นั้นไว้ แต่ตัวนักกุดาสุงนั้นจะส่งเข้ามาก็เห็นว่าเป็นแต่นายเรือเล็กน้อย และธรรมเนียมเมืองจีนและเมืองญวนมีกฎหมายห้ามมิให้ทำร้ายแก่ผู้ถือหนังสือเกรงจะเสียประเพณีไป จึงให้พระยาพิมลวารี พระราชมนตรี นำต้นหนังสือรายาตานีเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย ได้ทรงทราบแล้ว ทรงพระดำริว่า รายาผู้นี้เป็นแต่เทือกเถาเจ้าเมืองตานีเก่า มีใจกำเริบโอหังนักไม่เจียมตัวว่าเป็นผู้น้อย คิดองอาจจะมาตีเมืองใหญ่จะละไว้มิได้ จะไปเที่ยวชักชวนเมืองแขกทั้งปวงพลอยเป็นกบฏขึ้นหมด จึงโปรดให้พระยากลาโหมราชเสนา ซึ่งเป็นบิดาเจ้าพระยายมราช (ทองสุก) เป็นแม่ทัพเรือกับนายทัพนายกองยกออกไปเมืองตานี ได้สู้รบกับพวกรายาตานีเป็นสามารถ รายาตานีสู้มิได้ก็หนีไป กองทัพไล่ติดตามไปจับได้ในกุฎีพระสงฆ์ที่วัดแห่งหนึ่ง พระยากลาโหมให้จองจำไว้มั่นคงแล้ว กวาดครอบครัวเมืองตานีกลับเข้ามา มีรับสั่งให้เอาตัวรายาตานีไปจำคุกไว้กว่าจะตาย



[๕๙] พ.ศ. ๒๓๓๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ