๘๑. การพระเมรุพระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดี

ในปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช ๑๑๕๗[๗๐] นั้น การทัพศึกว่างลง ทรงพระราชดำริ จะถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิ สมเด็จพระชนกาธิบดี สนองพระเดชพระคุณ เพราะเมื่อสมเด็จพระชนกาธิบดีสวรรคต เป็นเวลาบ้านเมืองเกิดจลาจล พระราชวงศานุวงศ์กระจัดพลัดพรายกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระพี่นาง สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็หาได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระชนกาธิบดีไม่ จึงโปรดให้สร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่และเครี่องมหรสพสมโภช เหมือนอย่างการพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า

เจ้าอนัมก๊กและองค์สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี เจ้ากรุงกัมพูชา เมื่อได้ทราบข่าวก็แต่งทูตให้คุมสิ่งของเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย ช่วยในการพระเมรุทั้ง ๒ เมือง

ครั้น ณ เดือน ๕ ปีมะโรง อัฐศก จุลศักราช ๑๑๕๘[๗๑] การพระเมรุสร้างเสร็จแล้ว วันขึ้น ๑๓ ค่ำ โปรดให้แห่พระบรมสารีริกธาตุ ออกมาสู่พระเมรุมีการมหรสพสมโภช ๓ คืน ๓ วันแล้ว ครั้นวันแรม ๑ ค่ำ จึงแห่พระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดีสู่พระเมรุ กระบวนแห่พระบรมอัฐิครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงพระราชยานโยงพระบรมอัฐิเอง สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็ทรงพระราชยานโปรยข้าวตอก นำมาในกระบวนและพระราชวงศานุวงศ์ทรงรูปสัตว์สังเค็ต ประคองผ้าไตรเข้าในกระบวนแห่ด้วยหลายพระองค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในครั้งนั้นเป็นอเนกประการ

อนึ่งในการมหรสพสมโภชพระบรมอัฐิครั้งนั้น มีโขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งโขนวังหลวง และวังหน้า แล้วประสมโรงเล่นกลางแปลง เล่นเมื่อศึกทศกรรฐ์ ยกทัพกับ๑๐ขุน ๑๐ รถ โขนวังหลวงเป็นทัพพระราม ยกไปแต่ทางพระบรมมหาราชวัง โขนวังหน้าเป็นทัพทศกรรฐ์ ยกออกจากพระราชวังบวรฯ มาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา ถึงมีปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนลากออกมายิงกันดังสนั่นไป ครั้นถึงวันแรม ๔ ค่ำ เชิญพระบรมธาตุแห่กลับแล้ว เวลาบ่ายวันนั้นถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิด้วยไม้หอมต่าง ๆ และในเวลาที่ถวายพระเพลิงพระบรมอัฐินั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ช่วยกันทรงเชิญพระจิตกาธาน ซึ่งประดิษฐานพระบรมอัฐิไว้ด้วยพระหัตถ์จนถวายพระเพลิงเสร็จ รุ่งขึ้นโปรดให้แห่พระอังคารไปลอยตามพระราชประเพณี



[๗๐] พ.ศ. ๒๓๓๘

[๗๑] พ.ศ. ๒๓๓๙.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ