๔๔. ศึกพม่าครั้งที่ ๒

ฝ่ายกองทัพแกงวุ่นแมงยี่พม่า ซึ่งแตกไปทั้งทัพบกทัพเรือเมื่อปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช ๑๑๔๗[๔๙] ปีนั้น ไปพร้อมกันอยู่ ณ เมืองมะริด แล้วบอกข้อราชการซึ่งเสียทัพถอยมานั้น ขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าอังวะ ซึ่งเลิกทัพไปอยู่ ณ เมืองเมาะตะมะ และกองทัพทางทวายและทางเหนือนั้นก็บอกลงมาทุกทัพทุกทาง และศึกครั้งนั้นพระเจ้าอังวะเสียรี้พลเป็นอันมากทั้งไทยจับเป็นได้และตายด้วยป่วยเจ็บตายด้วยการรบพุ่ง ทุกทัพทุกทางประมาณกึ่งหนึ่ง ที่เหลือกลับไปได้สักกึ่งหนึ่ง พระเจ้าอังวะเสียพระทัยนัก จึงให้เลิกทัพหลวงกลับไปเมืองอังวะ แล้วให้มีตราหากองทัพทางใต้ ทางเหนือนั้นกลับไปเมืองอังวะทั้งสิ้น แต่กองทัพทวายนั้น ให้ยกมาตั้งอยู่เมืองเมาะตะมะ ทัพทางเมืองมะริดนั้นให้ยกมาตั้งอยู่เมืองทวาย แล้วตรัสปรึกษาราชการทัพ กับอินแซะมหาอุปราช ดำริการสงครามซึ่งจะมาตีเอากรุงเทพมหานครให้จงได้ พระเจ้าอังวะจึงให้เกณฑ์กองทัพ ๕๐,๐๐๐ ให้อินแซะเป็นแม่ทัพหลวงยกมาอีกครั้งหนึ่ง

ครั้นปีมะเมีย อัฐศก จุลศักราช ๑๑๔๘[๕๐] ถึง ณ เดือน ๑๒ อินแซะมหาอุปราชก็ถวายบังคมลาพระเจ้าอังวะ ยกทัพบกทัพเรือลงมาพร้อมทัพอยู่ ณ เมืองเมาะตะมะ แต่มาทางเดียวมิได้ยกแขกกันมาหลายทางเหมือนครั้งก่อน อินแซะจึงให้เมียนวุ่นกับเมียนเมวุ่น ๒ นาย ซึ่งเป็นแม่ทัพหน้าครั้งก่อนนั้น ถือพล ๓๐,๐๐๐ ยกมาทำการแก้ตัวเอาชัยชำนะไทยให้จงได้ และแม่ทัพทั้ง ๒ นายก็ยกกองทัพมาถึงเมืองสมิ แล้วให้ตั้งค่ายและยุ้งฉางรายทางเป็นอันมากจนถึงท่าดินแดงสามสบ แล้วให้กองลำเลียงขนเสบียงอาหารมาขึ้นยุ้งฉางไว้ทุกตำบล หวังจะมิให้ไพร่พลขัดสนด้วยเสบียงอาหาร แต่บรรดาค่ายหน้าที่ทั้งปวงนั้นให้ชักปีกกาถึงกันสิ้น แล้วขุดสนามเพลาะปักขวากหนามแน่นหนา บรรดาที่คลองน้ำและห้วยธารทั้งปวงนั้น ก็ให้ทำสะพานเรือกข้ามทุก ๆ แห่ง ให้ม้าและคนเดินไปมาได้โดยสะดวก และจัดการทั้งปวง ครั้งนั้นหมายจะตั้งรบแรมอยู่ค้างปี กองทัพหลวงอินแซะก็ยกหนุนมาตั้งค่ายหลวงอยู่ตำบลแม่กษัตริย์คอยฟังข่าวเหตุการณ์กองหน้าจะได้เพิ่มเติมทัพมาช่วย

ฝ่ายชาวด่านเมืองกาญจนบุรี เมืองศรีสวัสดิ์ เมืองไทรโยค ออกไปลาดตระเวนสืบราชการปลายแดน รู้ข่าวว่าทัพพม่ายกมาอีก ตั้งค่ายมั่นอยู่ ณ ท่าดินแดงสามสบ ก็กลับมาแจ้งแก่กรมการทั้ง ๓ หัวเมือง ๆ ก็บอกข้อราชการศึกเข้ามายังกรุงเทพฯ ในเดือนอ้ายข้างแรม กราบทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบข่าวศึกอันยกมานั้น จึงมีพระราชดำรัสให้เกณฑ์กองทัพในกรุงเทพฯ และหัวเมืองไว้ให้พร้อมสรรพ ครั้งถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลาเช้า ๓ นาฬิกากับ ๖ บาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวร ฯ ก็เสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตรานาวาทัพหลวงจากกรุงเทพฯ ไปโดยทางชลมารค พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหลาย โดยเสด็จตามกระบวนหน้าหลังพรั่งพร้อมเสร็จ โปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวร สถานมงคลและกองทัพเจ้าพระยารัตนาพิฬิธ ที่สมุหนายกไปกองหน้า พลโยธาหาญ ทั้งพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรฯ เป็นคน ๓๐,๐๐๐ ยกล่วงหน้าไปก่อน จึงเสด็จยกพยุหโยธาทัพหลวงกับทั้งกรมพระ-ราชวังหลัง และเจ้าต่างกรมหลายพระองค์เป็นพล ๓๐,๐๐๐ เศษหนุนไป และโปรดให้พระยาพลเทพอยู่รักษา พระนคร

ครั้นกองทัพหน้ายกไปถึงเมืองไทรโยค สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงดำรัสให้กองทัพเจ้าพระยารัตนาพิพิธ และกองทัพพระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร และทัพหัวเมืองทั้งปวง เป็นคน๒๐,๐๐๐ ขึ้นบกยกพลกระบวนช้างม้ารี้พลเป็นกองหน้าล่วงไปก่อน แล้วสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า จึงเสด็จยาตราทัพ พล ๑๐,๐๐๐ ยกหนุนไปโดยลำดับ ครั้นทัพหลวงเสด็จไปถึงท่าขนุน จึงเสด็จพระราชดำเนินพยุหโยธาทัพไปโดยทางสถลมารค หนุนทัพสมเด็จพระอนุชาธิราชไป ฝ่ายกองหน้ายกไปถึงค่ายพม่าซึ่งตั้งอยู่ ณ สามสบก็ให้ตั้งค่ายลงเป็นหลายค่าย สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าก็เสด็จพระราชดำเนินกองทัพหนุนขึ้นไป ตั้งค่ายหลวงห่างค่ายกองหน้าลงมาทางประมาณ ๕๐ เส้น กองทัพหลวงก็เสด็จพระราชดำเนินตามขึ้นไปในเบื้องหลัง ตั้งค่ายหลวงห่างค่ายสมเด็จพระอนุชาธิราชลงมาทางประมาณ ๗๐ เส้นเศษ ดำรัสให้ท้าวพระยานายทัพนายกองแบ่งกองทัพออกจากทัพหลวงและกองทัพกรมพระราชวังบวร ฯ ยกขึ้นไปบรรจบกองหน้าให้เร่งเข้าตีค่ายพม่าทุกทัพทุกกองพร้อมกันทีเดียว

ครั้นถึง ณ วันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ เวลาเช้า จึงท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวง ก็ยกพลทหารออกระดมตีค่ายพม่าพรอมกันทุก ๆ ค่าย นายทัพพม่าก็เร่งพลทหารให้ต่อรบในค่ายทุก ๆ ค่าย พลทัพไทยขุดสนามเพลาะเข้าตั้งประชิดค่ายพม่า ต่างยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบกันทั้งกลางวันกลางคืนไม่หยุดหย่อน เสียงปืนสนั่นลั่นสะท้านไปทั่วทั้งป่า รบกันอยู่ ๓ วัน ครั้นถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ คํ่า ทัพไทยยกหนุนเนื่องกันเข้าไปหักค่ายพม่า พม่าต่อรบเป็นสามารถ ตั้งแต่เวลาบ่ายจนพลบค่ำประมาณ ๒ ทุ่มเศษ นายทัพพม่าเห็นเหลือกำลังจะต่อรบต้านทานมิได้ ก็แตกฉานทั้งค่ายพ่ายหนีไปในกลางคืนวันนั้น กองทัพไทยเข้าค่ายพม่าได้ทั้งสิ้น แล้วยกติดตามไปทันฆ่าฟันพม่าล้มตายและลำบากไปตามทางเป็นอันมากที่จับเป็นได้ก็มาก ฝ่ายอินแซะมหาอุปราชแม่ทัพหลวง ได้ทราบว่าทัพหน้าแตกแล้วก็ตกพระทัยมิได้คิดอ่านจะตั้งรอรบ ก็ให้เร่งเลิกทัพหลวงกลับไปยังเมืองเมาะตะมะ พลทัพไทยไล่ติดตามพม่าไปจนถึงค่ายหลวงแม่กษัตริย์ เก็บได้เครื่องศาสตราวุธเป็นอันมาก จึงมีพระราชดำรัสให้ข้าหลวงไปสั่งกองหน้า ให้จุดเพลิงเผายุ้งฉางพม่า ซึ่งไว้ข้าวปลาเสบียงอาหารเสียจงทุกตำบล แล้วก็ให้ถอยทัพกลับมายังกองทัพหลวง

ครั้นมีชัยชำนะอริราชสงครามภุกามปัจจามิตร เสร็จแล้วก็ดำรัสให้เลิกกองทัพทั้งทางชลมารค สถลมารค กลับคืนยังกรุงเทพมหานคร ในแรมเดือน ๔ ปลายปีมะเมีย อัฐศกนั้น ฝ่ายอินแซะมหาอุปราชเมื่อล่าทัพ กลับไปถึงเมืองเมาะตะมะแล้วบอกข้อราชการซึ่งเสียทัพมานั้นขึ้นไปทูลพระเจ้าอังวะ พระเจ้าอังวะได้ทราบก็เสียพระทัยนัก จึงให้หากองทัพกลับยังพระนคร



[๔๙] พ.ศ. ๒๓๒๘

[๕๐] พ.ศ. ๒๓๒๙

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ