บานแผนกเดิม

ศุภมัสดุ ลุจุลศักราช ๑๒๓๑[๓] สัปปสังวัจฉรวิสาขมาสชุษณปักษ์พารสีดิถีครุวาร เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัตยุบันนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎบุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตรวรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรัตนบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศบรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าจดหมายเหตุพระราชพงศาวดารซึ่งพระเจ้าอัยกาเธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสศรีสุคตขัตติยวงศ์ ทรงเรียบเรียงไว้ สืบลำดับพระวงศ์พระเจ้าแผ่นดินสยาม ตั้งแต่แรกสร้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยามา จนถึงกรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึกนับได้ ๓๓ พระองค์ จึ่งได้ตั้งกรุงธนบุรี นับเป็นปีได้ ๑๕ ปี แล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึ่งได้ทรงฐาปนากรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยา ในประเทศบางกอก ประดิษฐานพระบรมราชวงศ์นี้สืบมา เรื่องความในรัชกาลที่ ๑ ก็ยังหาตลอดไม่ ค้างอยู่เพียงเจ้าพระยายมราชออกไปราชการทัพเมืองทวาย เมื่อปีกุน ตรีศก จุลศักราช ๑๑๕๓[๔] เป็นปีที่ ๑๐ เท่านั้น ข้าราชการเก่าต่อมา มีพระราชประสงค์จะทรงทราบอย่างใดอย่างหนึ่ง มีพระราชดำรัส ถามข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายในก็กราบทูลเล่าถวายหาถูกต้องกันไม่ เพราะไม่มีเรื่องที่เรียบเรียงทำไว้เป็นฉบับเมื่อกาลล่วงนานไปภายหน้าก็จะยิ่งเสื่อมสูญไปทุกชนชั่วบุรุษ จะค้นหาความเก่า ๆ ก็จะไม่ได้ ด้วยมีอันตรายต่าง ๆ ขจัดขจายหายสูญไป ถึงมีผู้พากเพียรจะเรียบเรียงทำขึ้นใหม่ ก็จะไม่สำเร็จประโยชน์ดังประสงค์ได้ ครั้งนี้ทรงพระราชดำริเห็นว่า เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี มีสติปัญญาคัมภีรัธยาศัย และมีความพอใจในการเรียบเรียงหนังสือต่าง ๆ อยู่ จึ่งมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี นานาไพรัชไมตรีบริรักษ์ยุตติธรรมพิทักษราชศักดานุการ ราชสมบัติสารพิพัฒน์ ประทุมรัตนมุรธาธร สมุทรตีรนครเกษตราธิบาล สรรพดิตถการมหิศวรฤทธิธาดา พิพิธกุศลจริยาภิธยาศัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการนานาประเทศ ถือศักดินา ๒๐,๐๐๐ รับจัดการเรียบเรียงพระราชพงศาวดาร โดยลำดับพระบรมราชวงศ์นี้ เริ่มมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๔[๕] ให้บริบูรณ์เป็นฉบับขึ้นไว้ จะได้เป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดินและมีคุณแก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวงสืบต่อไป เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี ได้รับพระบรมราชโองการดำรัสสั่งดังนี้ มีความยินดียิ่งนัก จึ่งกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า การเรื่องนี้ คิดจะฉลองพระเดชพระคุณมาช้านานแล้ว ได้จัดหาเรื่องความต่าง ๆ มาเรียงไว้บ้างกว่าปีมาแล้ว แต่กำลังซึ่งจะทำไปแต่ผู้เดียวเห็นจะไม่ตลอด ขัดข้องอยู่ด้วยจะค้นหาเรื่องความแต่เจ้าพนักงานนั้น ๆไม่ใคร่จะได้ อ้างว่าปลวกทำอันตรายเสียบ้าง ผุเปื่อยไปเสียบ้าง สูญหายไปเสียบ้าง ถ้าอาศัยพระบารมีพระบรมเดชานุภาพโปรดเกล้าฯ ดังนี้แล้ว การเห็นจะสำเร็จได้โดยง่าย ท่านจึ่งได้ค้นหาเรื่องความเก่า ณ ที่ต่างๆได้ที่ปูมบ้าง และค้นได้ที่กรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม กรมพระอาลักษณ์บ้าง จนสิ้นเชิงแล้ว จึ่งได้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ ขอจดหมายเหตุตำราเก่า ๆ ท่านก็มีพระทัยยินดีจัดมาให้ และช่วยสืบหาที่อื่น ๆได้อีกบ้าง ได้ความมาเป็นอันมากและในกรมท่า ความเรื่องจีน ญวนเก่า ๆ มีอยู่โดยมาก ด้วยในรัชกาลที่ ๑ นั้นเจ้าอนัมก๊กฝ่ายญวน ยอมถวายต้นไม้ทองเงิน เป็นเมืองขึ้นกรุงเทพมหานคร ความที่ในกรุงมีสิ่งใดขึ้นก็บอกไปทุกครั้งโดยไม่มีความรังเกียจ แล้วจึ่งได้รวบรวมเรื่องความทั้งปวงเรียบเรียงขึ้น พอติดต่อกันตลอดมาได้ทั้ง ๔ แผ่นดิน ความที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงเรียบเรียงไว้ในท่อนต้นในระหว่าง ๑๐ ปี ยังสังเขปอยู่นั้นก็ได้เพิ่มเติมเข้าบ้าง ครั้นเสร็จแล้วจึ่งให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงทอดพระเนตรแล้วได้ทรงแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อความขึ้นอีกบ้าง แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณและข้าทูลละอองธุลีพระบาท ผู้ชำนาญในการหนังสือสืบสวนชำระต่อไป ในกรมพระอาลักษณ์ พระยาศรีสุนทรโวหาร ที่กรม ๑ หลวงสารประเสริฐ ปลัดกรม ๑ ได้ตรวจดูเรื่องความและอักษรแก้ไขถูกต้องแล้ว

[๓] พ.ศ. ๒๔๑๒

[๔] พ.ศ. ๒๓๓๔

[๕] พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙. ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ยังไม่เคยพิมพ์ พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๓ และที่ ๔ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ