๒. พระราชพิธีปราบดาภิเษก

ครั้น ณ วันจันทร์เดือนแปดบุรพาษาฒขึ้นค่ำหนึ่ง ปีขาลจัตวาศกจุลศักราช ๑๑๔๔ ปี[๗] ให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป นิมนต์พระราชาคณะสวดพระปริตรพุทธมนต์ครบ ๓ วันแล้ว รุ่งขึ้น ณ วันพฤหัสบดีเดือนแปด บุรพาษาฒขึ้นสี่ค่ำ เวลารุ่งแล้ว ๔ บาท ได้มหามงคลฤกษ์ พระบาทสมเด็จบรมนารถบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์ศรีสักหลาด ประดับด้วยเรือจำนำท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง แห่โดยขบวนพยุหยาตราหน้าหลังพรั่งพร้อม เสด็จข้ามน้ำริมคงคามา ณ ฝั่งตะวันออก เสด็จขึ้นฉนวนหน้าพระราชวังใหม่ ทรงพระราชยานตำรวจแห่หน้าหลังเสด็จขึ้นยังพระราชมนเทียรสถาน ทำการพระราชพิธีปราบดาภิเษก ขณะนั้นพระชนมายุได้ ๔๖พรรษา ได้เสวยไอศวรรยาธิปัติถวัลยราชย์ดำรงแผ่นดินสยาม ในกาลครั้งนั้น สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะผู้ใหญ่ประชุมพร้อมกันได้คิดขนานพระนามถวายจารึกลงในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนารถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลยคุณอขนิษฐ์ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร์ โลกเชฏฐวิสุทธิ์ รัตนมกุฎประเทศคตามหาพุทธางกูร บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดี ศรีอยุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมพระราชนิเวศน์มหาสถาน ตามโบราณจารีตสืบมา




[๗] วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ