- คำนำ
- คำปรารภ
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- บทที่ ๔๑
- บทที่ ๔๒
- บทที่ ๔๓
- บทที่ ๔๔
- บทที่ ๔๕
- บทที่ ๔๖
- บทที่ ๔๗
- บทที่ ๔๘
- บทที่ ๔๙
- บทที่ ๕๐
- บทที่ ๕๑
- บทที่ ๕๒
- บทที่ ๕๓
- บทที่ ๕๔
- บทที่ ๕๕
- บทที่ ๕๖
บทที่ ๕๔
๑
รุ่งขึ้นอีกสองวัน ก่อนที่ข้าพเจ้าจะเข็นจักรยานออกจากประตูบ้าน “ตู้ไจ่” เพื่อไปเรียนวรรณคดีโบราณกับประวัติการสร้างตัวอักษรจีนยุคแรก เทียบเคียงกับอักษรภาพของอียิปต์ที่สำนักท่านอาจารย์ฉีเหวินหมิง กริ่งโทรศัพท์ในห้องรับแขกก็ดังขึ้น เมื่อยกขึ้นฟัง เสียงของจรินทร์ก็แล่นมาตามสาย
“ระพินทร์หรือ, แหม ผมต้องขอโทษที่ไม่ได้ไปพบที่จงซานกงหยวนกับที่เป๋ห่าย ผมต้องไปเซี่ยงไฮ้กลับไม่ทัน”
“ผมรอดูอยู่ แต่ก็พบเพื่อนคุยที่ถูกใจทั้งสองแห่ง” ข้าพเจ้าพูดตอบไป
“ผมว่าจะพบคุยกับคุณที่จงซานกงหยวนตอนเช้า แล้วตอนเย็นจะชวนลอยเขาไปให้รู้จักคุณที่เป๋ห่าย เขาเขียนมาว่าจะถึงปักกิ่งตอนกลางวัน แต่พอเช้ายังไม่ทันจะล่อกาแฟเลย ก็ได้รับโทรเลขจากเซี่ยงไฮ้ ลอยเขาให้รีบไปพบ”
“นี่คุณลอยมาปักกิ่งแล้วหรือ ?” ข้าพเจ้าถามเมื่อเขาหยุดเว้นระยะ
“ถึงแล้ว พักอยู่กับผม วันนี้ว่างไปกินข้าวด้วยกันซี”
“ตกลง มีใครอีก ?”
“ก็คิดจะบอกบัว”
“ดี”
บ่ายวันนั้นบัวกับข้าพเจ้าขึ้นหยางเชอไปที่บ้านจรินทร์ เราพบกันก่อนที่โรงเรียนหวาเหวิน ซึ่งบัวยังคงพักอยู่ในฮอสเตลคือเวสท์บิลดิ้งหลังเดิม บัวถามข้าพเจ้าถึงเพื่อนคนไทยคนใหม่ที่จรินทร์เดินทางไปรับมาจากเซี่ยงไฮ้ ข้าพเจ้าก็ไม่รู้อะไรมากไปกว่าเขา ตอนหนึ่งข้าพเจ้าพูดว่า
“บัวเขาเคยพูดไว้หลายหนแล้ว ถึงคุณลอยคนนี้ ตอนแรกก็ไม่บอกว่าชื่อลอย ดูมีชื่อหลายชื่อเสียเหลือเกิน มาตอนนี้มาบอกว่าชื่อลอย ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนเป็นชื่ออะไรอีก ผมก็ชักงง ๆ”
“คุณคิดหรือว่าเขาชื่อลอย ?” บัวถามพลางจุดบุหรี่สูบ
ข้าพเจ้าหยุดคิดสักครู่แล้วตอบว่า
“ก็ไม่รู้ซี แต่ควรจะเป็นชื่อสุดท้าย เขาอาจมีหลายชื่อก็ได้”
“คนมีหลายชื่อ ผมชักไม่สบายใจ” บัวพูดยิ้ม ๆ
“ทำไม ?”
“มันต้องมีอะไรซีถึงได้มีหลายชื่อ”
“คุณว่ามีอะไรเล่า ?”
“ผมก็ไม่รู้”
“แต่ผมอยากพบเขาก่อน เราจะต้องรู้จักเขาสักวันหนึ่ง”
“เขาอาจเหมือนอย่างจรินทร์ก็ได้ เป็นนักท่องเที่ยว”
“ชอบท่องเที่ยว หรือว่ามีอะไรบังคับให้ต้องท่องเที่ยว ?”
บัวหัวเราะ
“นั่นซี ต้องใช้เวลาศึกษากันหน่อย ความจริงคนไทยที่นี่ก็มีไม่กี่คนที่เป็นนักท่องเที่ยว ก็มีแต่จรินทร์”
“คงจะมีลอยอีกคนหนึ่ง”
“ผมว่าคนไทยที่นี่เห็นจะมีแต่คุณกับผมเท่านั้น ที่คิดกลับเมืองไทยเพื่อไปเป็นข้าราชการ”
“งั้นหรือ ?”
“คิดดูซี สนานก็ถูกล้างสมองไปแล้ว กลับเมืองไทยก็อยู่ในเมืองไทยไม่ได้ จรินทร์กับลอยก็คงไม่คิดกลับ เขามีอะไรของเขาซึ่งเราไม่เข้าใจ แล้วก็–มีชูฟ้าอีกคนหนึ่ง นายนั่นก็ไม่รู้ว่าแกจะกลับไปทำอะไร ดูแกล้นชอบกล”
ข้าพเจ้าลุกขึ้นยืน พลิกข้อมือดูนาฬิกาจวนจะได้เวลานัด จึงเร่งให้บัวเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วพากันออกไปหาหยางเชอที่นอกประตูใหญ่
คนลากรถหนุ่มฉกรรจ์ทั้งสองพาเรามุ่งตรงไปยังบ้านพักของจรินทร์ ซึ่งเขาเช่าไว้ใหม่ที่ตรอกเหมียนฮวาหูทุ่งทางซีซิ่วผายโล่ว จรินทร์ชอบย้ายบ้านบ่อย ๆ อ้างว่าเขาอยากได้บ้านที่สวย แต่บ้านใหม่ของเขาแทบทุกหลังข้าพเจ้าก็ไม่เห็นว่าจะสบายว่าบ้านเก่า เหตุผลของเขาข้าพเจ้าไม่เข้าใจ
ที่บ้านหลังใหม่ของจรินทร์แห่งนี้ ค่าเช่าแพงกว่าบ้านเก่าที่ตงเฉิงห้าสิบเหรียญ มีห้องน้ำทันสมัย ผนังโบกปูนใหม่ ทาสีใหม่ มีเตาผิงแบบฝรั่งตรงมุมห้อง ไม่ใช้เตาเหล็กกลมและสูงแบบบ้านทั่ว ๆ ไป มีเก้าอี้นวมพร้อม มีพรมเปอร์เซียค่อนข้างเก่าปูอยู่เต็มห้อง ที่ฝาด้านเปิดออกย่วนก่ออิฐสูงขึ้นมาเพียงเมตรเดียว ต่อจากนั้นก็ตีไม้เป็นตารางทาสีแดง บุด้วยกระดาษสาตามธรรมเนียมซึ่งกันลมหนาวได้เป็นอย่างดี
จรินทร์ลากเราเข้าไปในห้องรับแขก ที่เก้าอี้นวมตัวใหญ่ บุรุษหนึ่งร่างสูงใหญ่ ผมหยักศกสีแดง หน้าออกฝี คิ้วดก โกนหนวดเคราเกลี้ยง ดวงตาดุผิดธรรมดา ริมฝีปากหนา ยืนขึ้นรับการแนะนำจากจรินทร์ เราก้มศีรษะให้กันไม่ไหว้ นั่นเป็นวินาทีแรกที่ข้าพเจ้าได้พบ และรู้จักลอย กอนซาเลส
๒
บรรยากาศไทย ๆ ได้ปกคลุมอยู่เต็มห้อง ผ้าขาวม้าตาหมากรุกสีแดงสลับดำ วางพาดอยู่ที่เท้าแขนเก้าอี้ไม้ดำทางมุมห้องขวามือ หีบบุหรี่เงินมีลายเทพนมวางอยู่บนโต๊ะกลางห้อง ที่สะดุดตาข้าพเจ้าทันทีก็คือหนังสือพิมพ์ภาษาไทย ๒-๓ ฉบับวางอยู่ข้างหีบบุหรี่เงินบนโต๊ะตัวเดียวกัน
ลอยพูดขึ้นก่อนด้วยน้ำเสียงที่ห้าว เป็นเสียงใหญ่ไม่เล็กเหมือนเสียงจรินทร์
“ผมมีมาให้อ่าน ๒-๓ ฉบับ เก่าหน่อย แต่ก็มีข่าวที่น่าสนใจ”
“ที่นี่ไม่เคยเห็นหนังสือพิมพ์ไทยเลย” บัวเอ่ยขึ้น “ทางสถานทูตที่โตเกียวว่าจะส่งหนังสือเก่า ๆ ที่ท่านเจ้าคุณทูตอ่านแล้วมาให้ ก็ยังไม่เคยได้รับสักฉบับเดียว”
ข้าพเจ้าเข้าไปที่โต๊ะกลางห้อง แล้วหยิบหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ขึ้นมาฉบับหนึ่ง เป็นหนังสือเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ข่าวพาดหัวตัวใหญ่ ๆ ทำให้ต้องสนใจทันที
บรรทัดแรก เดลิเมล์พาดหัวว่า
“สั่งถอดโซ่แท่นพิมพ์ศรีกรุงแล้ว”
หัวรองลงมา พาดไว้ว่า
“กลิ่นกบฏกำลังกระจายทั่วพระนคร”
ข้าพเจ้ารีบอ่านข่าวละเอียดซึ่งตีพิมพ์ไว้หลายคอลัมน์ ขณะที่จรินทร์ทำหน้าที่เจ้าของบ้าน คือยกเบียร์และไส้กรอกมาเลี้ยง บัวนั่งฟังลอยพูด ดูเหมือนว่าเขาจะเกิดความสนใจในตัวลอยมากขึ้นทุกที ลอยเป็นคนไม่มีพิธี เขาดูจะเป็นอเมริกันมากกว่าคนไทย ทำตัวง่าย ๆ แต่บางทีก็กร้าว ซึ่งคนไทยที่รู้จักกันใหม่ ๆ มักจะไม่ทำเช่นนั้น
“อีปิ้ดที่เซี่ยงไฮ้มีให้เลือกทุกชาติ” ลอยพูดอย่างสนุกในตอนหนึ่ง “ผมไปลองรัสเซียมาหลายถนน สะอาดกว่าที่หมาเก๊า”
“เกาหลีมีบ้างไหม ?” บัวถาม
“คุณจะเอาสักกี่ร้อย สะอาดเหมือนญี่ปุ่น อยู่กับญี่ปุ่นมาจนเกือบจะเป็นคนญี่ปุ่นไปเสียแล้ว แต่พูดถึงผู้หญิงตะวันออกแล้วตายญี่ปุ่นหมด ถ้าผมจะมีเมียสักคนผมจะเลือกญี่ปุ่น”
“งั้นหรือ ?” เสียงของบัวตื่นเต้นจนจับได้
“ผมเคยได้ยินจรินทร์เล่า คุณบัวเคยอยู่ญี่ปุ่นไม่ใช่หรือ ?” ลอยถาม ตาจับอยู่ที่หน้าหัวหน้าหมวกทรงมะนาวตัดแห่งกองคลังกระทรวงธรรมการหน้าวัดเลียบ
บัวพยักหน้า
“ผมไปอยู่มาปีกว่า”
“เป็นไงบ้าง แม่ซากุระทั้งหลาย ?”
“ก็ดีอย่างคุณว่าน่ะแหละ”
“คุณคงจะเตรียมเจ้าสาวไว้แล้ว ?”
เมื่อถูกโจมตีโดยคาดไม่ถึงแบบแทงใจดำ บัวก็บำรุงขวัญด้วยการหัวเราะยิงฟันขาว
“ผมก็อยากจะคิดว่าได้เตรียมไว้แล้ว” เขาตอบอย่างเล่นสำนวน
“เห็นจะไม่ต้องคิดหรอกครับ คุณบัว คนชั้นเราไปคิดให้เสียเวลาทำไมกัน ผมว่าบุกเลยดีกว่า”
บัวทำหน้าเก้อ ๆ อย่างอธิบายไม่ถูก เพราะถูกใจดำอีกครั้งหนึ่งอย่างคาดไม่ถึง ลอยพูดพรวดพราดออกมาอย่างไม่คิดว่าคู่สนทนาจะรู้สึกอย่างไร ข้าพเจ้าอ่านข่าวเมืองไทยในเดลิเมล์ไปพลาง หูยังคงตะแคงฟังข้อสนทนาของคนทั้งสอง และบางทีก็แอบชำเลืองมองหน้าบัว ซึ่งกำลังเต็มไปด้วยร่องรอยของความไม่สบายใจ ข้าพเจ้ารู้ดีว่าบัวมีใครอยู่ทางโตเกียว ลอยคงไม่รู้หรอกว่ากำลังสอนลูกจระเข้ให้ว่ายน้ำ มือขนาดหัวหน้าหมวกทรงมะนาวตัดแห่งวัดเลียบ ยังจะมีการสอนให้บุกอีกหรือ?
ข้าพเจ้าอ่านข่าวจบแล้วก็วางหนังสือพิมพ์ลง ลอยหันมาถามว่า
“น่ากลัวไหม คุณระพินทร์ ?”
“กลัวอะไร ?” ข้าพเจ้าถามอย่างงง ๆ
“อ้าว ก็คุณอ่านอะไรล่ะ ? ผมมาจากเมืองไทย ทุกคนกำลังกลัวกบฏ ลือกันทุกวันว่าพวกกบฏจะจับพวกเจ้า”
“โตเกียวก็ลือมาถึงปักกิ่ง ผมได้ข่าวจากสถานทูตไทย” บัวเอ่ยขึ้น
“หนังสือพิมพ์ว่า จะมีการจับใหญ่ในเร็ว ๆ นี้ คงจะต้องถูกตัดหัวกันเป็นแถว” ข้าพเจ้าว่า
“แต่เขาก็เปิดศรีกรุง ไม่ปิดตายอย่างที่คิดกัน ผมว่ารัฐบาลใจป้ำดี” ลอยให้ความเห็น
“เดลิเมล์ว่าศรีกรุงถูกปิดล่ามโซ่เพราะบทความเรื่องมนุษยภาพ ของกุหลาบ กุหลาบเขียนได้จังหวะพอดี”
“จรินทร์ว่าคุณเป็นเพื่อนกับกุหลาบ” ลอยพูดอย่างถาม ตาจับอยู่ที่หน้าข้าพเจ้า
“เราเป็นเพื่อนกัน” ข้าพเจ้าพูดเสียงเบา “เราเรียนหนังสือมาด้วยกันที่เทพศิรินทร์”
“กุหลาบมีหัวแรง ผมว่า” ลอยพูดอย่างเดา
“พวกเราคนหนุ่มก็แรงทุกคน เราต้องการก้าวหน้า ม่เหมือนคนแก่ งุ่มง่าม ก้าวขาไม่ออก” ข้าพเจ้าอธิบาย
จรินทร์หัวเราะ
“คุณอย่าพูดอย่างนั้น สักวันหนึ่ง เมื่อคุณเป็นคนแก่ คุณจะเข้าใจคนแก่ คนแก่เห็นมามาก, ต้องรอบคอบ, คนหนุ่มเลือดร้อน ลงเหวง่าย”
“แต่กุหลาบเขามั่นคง เขาคิดก่อนเขียน ผมว่าบทความเรื่องมนุษยภาพของเขา เป็นบทความที่เขียนขึ้นจากความเป็นจริงของชีวิต ความเป็นจริงอันนี้เวลาเปลี่ยนมันไม่ได้ กุหลาบเขาไม่แรง แต่เขามีหลักของเขาซึ่งอาจจะแรง”
“คุณรู้จักกุหลาบดีกว่าพวกเรา” ลอยพูดอย่างเคร่งขรึมแต่ไม่แสดงว่าจะยอมจำนน “เมืองไทยเวลานี้กำลังมองดูกุหลาบ เขาพุ่งขึ้นมาเหมือนพลุ บางทีมันอาจรวดเร็วเกินไปสำหรับความรู้สึกของคนไทย”
“เขาจะไปทางไหน ?” จรินทร์ถาม
“ที่เทพศิรินทร์ เราพูดกันถึงเสรีภาพและความเสมอภาค” ข้าพเจ้าตอบ
“กุหลาบต้องการเสรีภาพกับความเสมอภาคมาก มันเป็นความต้องการที่มาจากความรู้สึก”
“คุณหมายถึงเดมอเครซี ?”
“เราไม่รู้ว่าเราพูดถึงเดมอเครซีหรือเปล่า แต่เราต้องการให้คนไทยมีเสรีภาพที่กว้างขวางขึ้น และมีความเสมอภาคอย่างทั่วถึงกัน ในฐานะเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เดมอเครซี ถ้าไม่มีเสรีภาพและความเสมอภาค ก็ไม่มีความหมายอะไรมากนัก”
ลอยพยักหน้าเห็นด้วย เขาพูดขึ้นอีกว่า
“เวลานี้ กำลังมีคนคบคิดกันจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง คุณเห็นอย่างไร ?”
“เราควรจะเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และความจำเป็น แต่ต้องไม่เปลี่ยนให้เมืองไทยกลายเป็นเมืองจีน ราษฎรไม่มีความหมาย คนกลุ่มน้อยได้อำนาจ แล้วเอาอำนาจไปกดขี่ราษฎร ทำมาหากินอยู่บนหลังของราษฎร”
“ผมเคยได้ยินว่า ในหลวงท่านรับสั่งให้เจ้าคุณศรีวิสารวาจา หาลู่ทางจะให้เมืองไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตย”
“ผมก็เคยได้ยิน ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่น่าบูชา”
“แต่ท่านถูกคัดค้านมาก”
“อันนั้นแหละเป็นจุดอันตราย ถ้ามีการใช้กำลังทางฝ่ายกบฎ บ้านเมืองจะแตกแยก ผมห่วงตรงนี้”
นิ่งกันไปประเดี๋ยวหนึ่ง จรินทร์ก็เอ่ยขึ้นว่า
“ผมพบเจียงเหมยเมื่อวานซืน ที่แคปิตอล เห็นบ่นถึงคุณว่าเงียบไป”
“ผมไม่ได้พบแกหลายวัน เจียงเหมยว่าอย่างไรบ้าง” ข้าพเจ้าถามอย่างสนใจ
“ก็มีเรื่องเดียว เรื่องพี่ชาย”
“เจียงเฟยังคงอาการหนักอยู่ ความหวังยังมืดมัวมาก เมื่อวานตู้หลิงบอกผมว่าเวลาของเจียงเฟใกล้เข้ามาเต็มที”
“ใคร–ตู้หลิง” ลอยถาม
“นายตำรวจสันติบาล ผมเช่าห้องเขาอยู่”
“หนานเฉิงใช่ไหม ?”
“คุณรู้จักหรือ, คุณลอย ?” ข้าพเจ้าถามอย่างแปลกใจ
เพื่อนไทยคนใหม่ที่สุด ชะงัก เมื่อข้าพเจ้าถามสวนขึ้นมา เขานิ่งอึ้งไปสักประเดี๋ยวจึงได้ตอบ
“เปล่า ผมไม่รู้จัก”
“แต่ตู้หลิงอยู่ที่หนานเฉิง” ข้าพเจ้ายืนยัน “คุณพูดถึงหนานเฉิงไม่ใช่หรือ ?”
ลอยนิ่ง ไม่ตอบ ไม่มีคำตอบหลุดออกมาจากปากของเขาเลย และที่น่าแปลกใจก็คือ สีหน้าของเขาเต็มไปด้วยความไม่พอใจ