- คำนำ
- คำปรารภ
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- บทที่ ๔๑
- บทที่ ๔๒
- บทที่ ๔๓
- บทที่ ๔๔
- บทที่ ๔๕
- บทที่ ๔๖
- บทที่ ๔๗
- บทที่ ๔๘
- บทที่ ๔๙
- บทที่ ๕๐
- บทที่ ๕๑
- บทที่ ๕๒
- บทที่ ๕๓
- บทที่ ๕๔
- บทที่ ๕๕
- บทที่ ๕๖
บทที่ ๓
๑
สองปีครึ่งในฮ่องกง–และกวางตุ้ง–ในนครแคนตอน (Canton) บนฝั่งจูเจียงหรือแม่น้ำไข่มุก–นานพอที่จะทำให้ข้าพเจ้ามองดูลูกหลานพระเจ้าหวงตี้ เพื่อนร่วมผิวของข้าพเจ้าด้วยความสงสัย คือ สงสัยว่าคนไหนจะเป็นคอมมิวนิสต์บ้าง ในนครแคนตอน ก่อนที่ข้าพเจ้าจะได้ย่างเหยียบเข้าไปกับฉั่นหว่องฟัด ทายาทเศรษฐีเยาวราช เพียงสองปีคอมมิวนิสต์ได้เข้าไปเผาเมือง รบราฆ่าฟันกัน จนถนนเต็มไปด้วยซากศพต้องขึ้นไปเผากันเป็นรถ ๆ ข้าพเจ้าได้เห็นซากไฟไหม้ ได้เห็นความหวาดกลัวในแววตาของชาวบ้านร้านตลาด ได้ฟังเรื่องราวที่ทรมานความรู้สึก มันทำให้ข้าพเจ้าคิดไปว่า คนที่เกิดมาเป็นราษฎรลูกหลานของพระเจ้าหวงตี้ในยุคนี้ เป็นผู้มีเคราะห์กรรมมาก การปฏิวัติ เมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๑ ทำให้บ้านแตกแหลกละเอียด เพราะ ดร. ซุนยัดเซ็น ผู้เป็นบิดาของสาธารณรัฐจีนได้พลิกคว่ำประเพณีการปกครองซึ่งมีอายุนับพัน ๆ ปีลงภายในวันเดียว เมื่อปฏิวัติแล้วได้ ๑๐ ปีกว่า เลนินกับสตาลินผู้ล้มบัลลังก์ของซาร์ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ก็ส่งเอเย่นต์จอฟฟ์ และมาริงเข้าไปในประเทศจีนเพื่อทำงานใต้ดิน ร่วมมือกับคอมมิวนิสต์รุ่นแรกของจีน คือหลีต้าเจา และเฉินตูซิ่ว ทำการฝังรากลัทธิชนชั้นยุแหย่ให้คนจีนแตกแยกกันเอง นับเป็นปฐมกรรมที่สร้างเมาเซตุงผู้บูชาซองกั๋งขึ้นในหมู่บ้านส้าวซานบนฝั่งแม่น้ำเซียง มณฑลหูหนาน
เมื่อเสียงนายหลอชางแล่นมาตามสายเชื้อเชิญให้ข้าพเจ้าไปกินข้าวอย่างไม่มีพิธีรีตอง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยรู้จักหน้าค่าตากันเลยเช่นนี้ ภาพที่สั่นสะเทือนความรู้สึกในนครแคนตอนบนฝั่งแม่น้ำไข่มุกเมื่อสองปีก่อนก็กลับมาให้เห็นอีก ข้าพเจ้ายืนถือหูโทรศัพท์นิ่ง ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะตอบนายหลอชางคนนี้ว่ากระไรดี
แล้วเสียงห้าว ๆ เป็นภาษาอังกฤษที่ชัดเจนก็แล่นมาอีก
“ว่ายังไง, เธอจะมาคุยกับฉันไหม ?”
คำพูดที่สั้นและห้วน น้ำเสียงบอกความเป็นกันเองแกมบังคับทำให้ข้าพเจ้าวุ่นวายใจมากขึ้น แต่แล้วข้าพเจ้าก็โพล่งออกไปว่า
“เอ้อ–คุณมีธุระอะไรหรือ ?”
มีเสียงหัวเราะแล่นมาตามสาย
“บางทีเธอคงจะงง ฉันเป็นเพื่อนนักเรียนเคมบริดจ์กับปริ๊นซ์อิสสราภรณ์ เธอรู้จักปริ๊นซ์อิสสราภรณ์ไม่ใช่หรือ ?”
“รู้จัก” ข้าพเจ้าตอบสั้น ๆ ความประหลาดใจทำให้ความสงสัยทวีขึ้นกว่าเดิม นายหลอชางรู้เรื่องข้าพเจ้ากับพระองค์เจ้าอิสสราภรณ์ได้อย่างไร
เมื่อข้าพเจ้าเงียบไป เสียงนายหลอชางก็แล่นมาอีก
“เมืองจีนกำลังวุ่นวาย เธออาจจะตื่นเต้นมากไปหน่อยก็ได้ ฉันคิดว่าฉันควรจะอธิบายให้เธอเข้าใจ ฉันเป็นเพื่อนสนิทของปริ๊นซ์อิสสราภรณ์สมัยอยู่อังกฤษ ปริ๊นซ์เขียนจดหมายมาบอกฉันว่า เธอจะมาปักกิ่งกับปริ๊นซ์กำแพง ให้ฉันช่วยดูแลด้วย ให้เป็นการ์เดียนของเธอน่ะแหละ เธอพอจะเข้าใจหรือยัง ?”
ข้าพเจ้าถึงเมืองอ้อ เสด็จพระองค์ชายเจ้านายผู้ทรงมีอุปการคุณของข้าพเจ้าได้รับสั่งมาให้ข้าพเจ้ารู้ตัวก่อนจะเดินทางออกจากฮ่องกงในขบวนเสด็จในกรมกำแพง ว่าท่านได้ทรงฝากฝังข้าพเจ้าไว้กับนาย Lo Cheng สหายสนิทของท่านยุคเคมบริดจ์ ข้าพเจ้าอ่านชื่อสะกอล่าร์อาวุโสผู้นี้ว่าโลชอง คืออ่านตามสำเนียงอังกฤษ ไม่รู้ว่าสำเนียงจีนปักกิ่งเขาอ่านว่าหลอชาง
“อ้อ ครับ–ครับ–ผมเข้าใจแล้วครับ” ข้าพเจ้ารีบตอบออกไปทันทีด้วยความตื่นเต้น” ผมต้องขออภัยครับที่เข้าใจผิด ผมไม่คุ้นกับสำเนียงปักกิ่ง”
เสียงสะกอล่าร์อาวุโสหัวเราะลั่นมาตามสาย
“เธอคงคิดว่าฉันเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้วกระมัง ที่นี่คอมมิวนิสต์ยังมาไม่ถึงหรอก ตกลงไหม–มากินข้าวกันเย็นวันนี้ ?”
“ครับ–ผมไปแน่ครับ แต่ว่า–”
เสียงของนายหลอชางแล่นสวนมาทันที
“ให้บัวเขาพามา บัวเขาเคยมาหาฉันแล้ว เธอพบบัวหรือยัง ?”
“บัวออกไปข้างนอกครับ ยังไม่กลับ”
“ถ้าเขากลับช้า เธอจับรถหยางเชอหน้าโรงเรียนมาก็ได้ บอกให้ส่งบ้านเลขที่ ๓๖ เฉียนเลี่ยงหูทุ่ง ใกล้ ๆ กับโรงเรียนหวาเหวินนี่แหละ”
“ครับ–ผมจะไปครับ ขอบคุณครับ”
๒
หลังจากวางหูโทรศัพท์ ชั่วโมงเศษบัวก็ยังไม่ก็เข้ามา ข้าพเจ้าใช้เวลาสองชั่วโมงวิสาสะกับพวกหมอสอนศาสนานานาชาติที่เป็นนักเรียนกินนอนอยู่ในเวสท์บิลดิ้ง ฝรั่งพวกนี้มีหลายชาติ เขาเป็นกันเอง จิตใจเปี่ยมล้นไปด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ พอรู้ว่าข้าพเจ้าเป็นน้องใหม่ ก็เข้ามาทักทายอย่างไม่มีพิธีรีตอง คนหนึ่งที่ข้าพเจ้าสนใจคือนายไลน์แมน ฮูเว่อร์ ที่สนใจก็เพราะว่าชื่อของเขาเหมือน เปรสิเดนท์ฮูเว่อร์ของสหรัฐอเมริกา และเขาเปิดเผยโอบอ้อมอารีมาก เขายังหนุ่มมีอายุเพียง ๒๘ ปีเท่านั้น
ตอนหนึ่งข้าพเจ้าถามเขาว่า
“อบรมภาษาเสร็จจากที่นี่แล้ว เขาจะส่งเธอไปเป็นครูที่ไหน ?”
ฮูเว่อร์ยกไหล่ ตอบว่า
“ที่ไหนก็ได้ พวกเราไปทั่วประเทศจีน บางทีฉันจะไปหูหนาน”
“หูหนาน” ข้าพเจ้าเบิกตากว้าง “นั่นเมืองคอมมิวนิสต์”
“คอมมิวนิสต์สิดี เราจะได้สอนให้เขาเข้าใจว่า เขาควรจะเลิกเชื่อลัทธิโลกแตกนี่เสียที”
“เธอไม่กลัวถูกยิงเป้าหรือ ?”
“ถ้าเรากลัวเราก็เป็นมิชชันนารี่ไม่ได้ มิชชันนารี่ต้องกล้าเสียสละ พวกเราตายไปหลายคนแล้ว”
“ฉันอ่านหนังสือพิมพ์ลีดเด้อร์เมื่อเช้า มิชชันนารีชาวสวีเดนสองคนถูกพวกคอมมิวนิสต์จับตัวเอาไปตัดศีรษะ อ่านแล้วตื้นตันใจมาก”
ไลน์แมน ฮูเว่อร์ ถอนใจเบา ๆ ความแจ่มใสในสีหน้าและแววตาหมดไป เหลืออยู่แต่ความเคร่งขรึม
“นั่นมิสเตอร์และมิสซิส สเวน เดกิ้น เป็นคนดีทั้งคู่” ฮูเว่อร์พูดเสียงเศร้า ๆ “พระเจ้ารักเขามาก เขาก็ต้องไปก่อน เขาจะต้องไปอยู่กับพระเจ้า ไปดีมีความสุข”
“งานของมิชชันนารี่ เป็นงานที่น่ายกย่องเหลือเกิน” ข้าพเจ้าพูดด้วยความรู้สึกอันแท้จริง
“แต่ก็มีคนเขาวิจารณ์ว่า พวกเรามิชชันนารี่ นำธงของประเทศจักรวรรดินิยมเข้ามาปักไว้ในเมืองจีน หมายความว่าประเทศจักรวรรดินิยมส่งพวกมิชชันนารี่เข้าไปก่อนเพื่อกรุยทาง แล้วกองทัพก็ตามเข้าไป พวกมิชชันนารี่ในเมืองจีนถูกเข้าใจผิดมาก”
“ฉันก็เคยได้ยินคนจีนในฮ่องกงพูดกันอย่างนี้ แต่ฉันไม่เชื่อ” ข้าพเจ้าพูดอย่างจริงใจ “มิชชันนารี่ไม่ได้นำกองทัพจักรวรรดินิยมเข้ามาย่ำยีเมืองจีน แต่นำกองทัพมนุษยธรรมเข้ามาช่วยมากกว่า ที่ปักกิ่งฉันอ่านพบเรื่อง Salvation Army ฉันว่าเป็นกองทัพมนุษยธรรมที่โลกต้องการ เพราะเป็นพี่เลี้ยงคนยากจน”
ไลน์แมน ฮูเว่อร์ ยิ้มด้วยความพอใจแล้วกล่าวว่า
“Salvation Army เป็นสมาคมเผยแพร่คริสต์ศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนท์สมาคมหนึ่ง อังกฤษส่งเข้ามาในปักกิ่ง เมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๖ พร้อมกับสมาคม Y.W.C.A. คือ หลังการก่อตั้งสมาคม Y.M.C.A. ราว ๑๐ ปี Salvation Army ช่วยการศึกษาของเด็กมากมาย ในฤดูหนาวคนยากจนมักจะหนาวตายอดตายอยู่ข้างถนน Salvation Army ก็ช่วยหาที่พักอาศัย ติดเตาผิงให้ มีข้าวต้มร้อน ๆ แจก คนจนในปักกิ่งรอดตายเพราะกองทัพมนุษยธรรมของอังกฤษหน่วยนี้มาก ๆ ทุกปี ความจริงพวกมิชชันนารี่นิกายเนสทอเรียน ได้เข้ามาถึงเมืองจีนตั้งพันกว่าปีมาแล้ว คือในศตวรรษที่ ๗ หลังจากนั้นนิกายอื่น ๆ ก็ได้เข้ามาเรื่อย ๆ ช่วยชาวจีนเรื่องการศึกษาและการกินอยู่ตลอดมา ไม่เห็นมีกองทัพจักรวรรดินิยมตามหลังเขามาเลย บางทีในสมัยนั้นลัทธิจักรวรรดินิยมยังไม่เกิดก็ได้ มาเมื่อเกิดการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมขึ้นในอังกฤษเมื่อศตวรรษที่ ๑๘ โลกก็เกิดแย่งตลาดการค้ากันขึ้น ประเทศที่อ่อนแอได้ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจมากมาย เมืองจีนก็โดนด้วย ตอนนี้แหละพวกมิชชันนารี่ก็เริ่มถูกเข้าใจผิดหาว่าเป็นผู้กรุยทางให้ลัทธิจักรวรรดินิยมเข้ามาย่ำยีเมืองจีน มันเป็นเหตุประจวบมากกว่าจะมีเจตนา”
“เมืองไทยของฉันก็เกือบจะเอาตัวไม่รอด” ข้าพเจ้าโคลงศีรษะ เราเกลียดฝรั่งมหาอำนาจหลายชาติที่เข้ามาปล้นเมืองไทย มีอยู่ชาติเดียวที่เราไม่เกลียด เพราะเขาช่วยเราอยู่ตลอดเวลา คือชาติของเธอนี่แหละ”
ไลน์แมน ฮูเว่อร์ สบตาข้าพเจ้าด้วยความตื่นเต้นและภาคภูมิใจ แววตาของเขาลุกวาวเป็นประกาย
“ฉันมีความสุขที่ได้ยินเธอพูดเช่นนี้” น้ำเสียงของเขาสั่นเล็กน้อย ชาติของเราเป็นชาติที่ต้องการให้มนุษย์อยู่ร่วมโลกกันด้วยความเป็นธรรม แต่ความเห็นแก่ตัวและความฟุ้งเฟ้อลืมตัวของพวกเราบางคนก็ทำให้โลกเข้าใจว่าเราไม่มีความบริสุทธิ์ใจ เราอาจจะต้องเสียชื่อเพราะคนพวกนี้”
“วัตถุยิ่งเจริญ จิตใจก็ยิ่งเสื่อม” ข้าพเจ้าพูดอย่างระมัดระวัง “บางทีงานของพวกมิชชันนารี่ควรจะเปิดแผนกต่อต้านวัตถุนิยมขึ้นสักแผนกหนึ่ง ความเห็นแก่ตัวและความฟุ้งเฟ้อลืมตัวของมนุษย์ยุคใหม่ อาจลดน้อยลงก็ได้”
“ฉันเห็นด้วย” ฮูเว่อร์สวนขึ้นทันที “การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ ๑๘ ทำให้โลกเต็มไปด้วยลัทธิวัตถุนิยม คือ ลัทธินายทุน กับ ลัทธิคอมมิวนิสต์ สองลัทธินี้เกิดพร้อมกัน ในศตวรรษที่ ๑๙ แต่มันก็จะต้องตายไปพร้อมกันเหมือนกันในไม่ช้านี่แหละ เพราะมันทำลายกันเอง”
ข้าพเจ้ามองตาเขาด้วยความสนใจ เขาพูดเป็นปรัชญาที่กินความกว้างขวาง
“ถ้าสองลัทธินี้ตายไป, แล้วอะไรจะมาแทน ?” ข้าพเจ้าถาม
ฮูเว่อร์นิ่งอย่างใช้ความคิด, เม้มริมฝีปากเป็นเส้นตรง แล้วตอบว่า
“โลกในอนาคตจะอยู่กันด้วยลัทธิเศรษฐกิจการเมืองสายกลาง ที่ไม่มีใครกินแรงใคร ทุกคนจะมีกินมีอยู่ มีสวัสดิการ มีอิสรภาพและเสรีภาพ มีการร่วมมือ การขูดรีดกินแรง การเป็นทาสน้ำเงิน การเป็นทาสแรงงาน ในลัทธิทุนนิยมกับลัทธิคอมมิวนิสต์จะสิ้นสุดลง เราจะต้องพบกับโลกใหม่ของชาวอารยะแน่นอน อย่าสงสัยเลย”
๓
ค่ำวันนั้น ขณะที่ข้าพเจ้าเตรียมตัวจะไปกินอาหารในฮอลล์ใหญ่–เป็นอาหารค่ำมื้อแรกในโรงเรียนภาษา “หวาเหวิน” ก็มีเสียงคนมาเคาะประตู เมื่อบอกให้เข้ามา บานประตูที่เปิดออก
“บัว” ข้าพเจ้าร้องเสียงดังด้วยความตื่นเต้น
“ผมไปตามคุณที่โฮเต็ลเดอเปอแกง” บัวตอบเสียงดัง สีหน้าแจ่มใสร่าเริง “ได้เฝ้าเสด็จในกรม ท่านรับสั่งว่า ส่งตัวคุณมาแล้ว”
ข้าพเจ้ากวาดตาดูเรือนร่างของหนุ่มไทยวัย ๒๕ อย่างอบอุ่นใจ เพราะเชื่อว่าจะไม่ต้องเหงาอีกต่อไป บัว ลักษณะโยธิน เป็นข้าราชการกระทรวงธรรมการ ถูกส่งไปเรียนภาษาญี่ปุ่นในโตเกียวสองปีมาแล้ว ขณะนี้ได้รับคำสั่งให้มาเรียนภาษาจีนต่อในปักกิ่ง เขามาถึงปักกิ่งก่อนข้าพเจ้าไม่กี่วัน บัวรู้จักกับข้าพเจ้ามาแล้วที่กรุงเทพ ๆ เขาอยู่ในคณะหมวกทรงมะนาวตัด แห่งสำนักงานปลัดกระทรวง เป็นคนแจ่มใสร่าเริงแบบคนหนุ่ม, พูดตรง, เสียงดัง, แต่งตัวประณีต, ดื่มเก่งเมื่อมีโอกาส หวีผมเรียบเสมอ หน้ารูปไข่ของเขาเป็นหน้าของคนไทย, ไม่ทำให้สงสัยว่าจะเป็นคนจีนไปได้ ดวงตาของเขาแวววาวเต็มไปด้วยชีวิต เป็นดวงตาของพระเอกจอมเสน่ห์
“ผมมาคอยคุณอยู่สี่ชั่วโมงแล้ว” ข้าพเจ้าเข้าไปจับมือบัวบีบแน่น “ไปคุยกันที่ห้องอาหารดีกว่า มีเรื่องจะคุยเยอะ”
เราพากันไปห้องอาหารทางปีกสุดของตึกเวสท์บิลดิ้ง เลือกได้โต๊ะเล็กขนาดสองคนที่ข้างหน้าต่าง เพื่อจะคุยกันได้สะดวก ในห้องอาหารมีโต๊ะตั้งอยู่หลายสิบตัว พวกมิชชันนารี่ทั้งหญิงและชายหลายชาติหลายภาษาทยอยกันเข้าไปนั่งกินอาหารอยู่เรื่อย ๆ บ๋อยแต่งตัวเรียบร้อย กางเกงน้ำเงินแก่ เสื้อขาวแขนยาว เดินเสิร์ฟอยู่ไม่ขาดสาย อาหารที่เสิร์ฟเป็นอาหารฝรั่ง บัวบอกว่าทุก ๆ วันเสาร์ เขามีอาหารจีน แต่สู้พวก หยางโร่ว ที่ตุงอันซื่อฉ่าง ไม่ได้
“คุณจะเบื่ออาหารฝรั่งในเจ็ดวัน ผมเบื่อแล้ว” บัวพูดพลางหัวเราะ “ดูไอ้ปลานี่ซี ไม่เห็นน่ากิน ชืด ๆ จืด ๆ พรุ่งนี้ผมจะพาคุณไปกินหยางโร่ว”
“อะไร–หยางโร่ว” ข้าพเจ้าถาม
“เนื้อแกะ อร่อยเด็ดขาดไปเลย แต่คนที่ไม่เคย จะต้องทนกลิ่นของมันไปก่อนตอนแรก ๆ แล้วยังมีอาหารรัสเซีย ผมชอบโอเดิฟของมัน จานเล็ก ๆ ส่งมาเป็นสิบ ๆ จาน” บัวอธิบายทำมือประกอบไปด้วย “แล้วก็ยังมีผู้หญิงรัสเซียอีก”
“ผู้หญิงรัสเซีย” ข้าพเจ้าทวนคำ นึกไปถึงปอปอฟ “ผู้หญิงรัสเซียขายอาหารใช่ไหม ?”
“ขายทุกอย่าง” บัวหัวเราะอย่างครึกครื้น
“ไม่กลัวไปติดโรคคอมมิวนิสต์มาหรือ ?” ข้าพเจ้ามองตาเขา
“พวกรัสเซียขาว ตัวสะอาด ๆ ทั้งนั้น ไม่มีโรคหรอก” บัวอธิบาย “ที่ปักกิ่งนี่ พวกรัสเซียขาวหนีเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ บ้านแตกสาแหรกขาด เห็นแล้วก็น่าสงสาร บางคนมีเชื้อสายราชวงศ์พระเจ้าซาร์ก็มี เมื่อคืนวานผมพบผู้หญิงรัสเซียขาวคนหนึ่งที่คาราซาร์ สวยหยดย้อยทีเดียว นัยว่าเป็นพวกราชวงศ์”
“ถ้าคุณบอกว่าสวย ผมเชื่อ” ข้าพเจ้าพูดยิ้ม ๆ
“สวยจริง ๆ นะ ชื่อก็เพราะ...เหมือนชื่อคนไทย”
ข้าพเจ้าสบสายตาเขาคล้ายจะถาม เขาก็พูดต่อไป
“ชื่อ วารยา”
“วารยา” ข้าพเจ้าท่องเบา ๆ “เย็นหูเอาเรื่องทีเดียว คุณคงจะชอบมากซีนะ”
บัวสั่นศีรษะ
“ผู้หญิงคนนี้มีอะไรพิเศษ ๆ ชอบกล ไว้ตัว เป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว ผมเข้าไม่ติด ได้แต่เต้นรำ”
“ขนาดคุณเข้าไม่ติด แล้วใครจะเข้าติด” ข้าพเจ้าหัวเราะ
“คุณลองดูบ้างซี ว่าไม่ได้นะ มันเรื่องของโชค” บัวยิ้มที่มุมปาก
“คุณคงไปมาทุกหัวระแหงแล้ว ใครเป็นไก๊ด์ ?”
“เหล่าจาง คนลากรถหน้าโรงเรียน” บัวพูดพลางหั่นเนื้อในจานไปพลาง “ที่ฮาตะเหมิน แถวลีเกชั่นควอเตอร์ มีเกาหลีเยอะแยะเป็นดงทีเดียว ผมจะพาคุณไปเยี่ยม ๆ มอง ๆ เล่น ค่ำวันนี้ก็ได้ ตื่นเช้าก็ไปอาบน้ำที่แถวหนานเฉิง ที่นี่ก็น้อง ๆ ญี่ปุ่น เขามักไปอาบน้ำกันตามโรงอาบน้ำร้อน อาบแล้วก็นอนได้ตั้งครึ่งค่อนวัน อุ่นสบายไปเลย”
ข้าพเจ้าหลับตาเห็นเซี่ยงไฮ้ในเขตเช่าญี่ปุ่น มีเกาหลียั้วเยี้ยไปหมด เป็นแบบเมืองท่าแท้ แต่ปักกิ่งไม่ใช่เมืองท่า เป็นเมืองศูนย์ของวัฒนธรรมที่มีอายุนับพันปี มันไม่ควรจะมีรอยบาปของผู้หญิงพวกนี้
เมื่อเห็นข้าพเจ้ายังนิ่งอยู่ บัวก็เล็คเชอร์ต่อไป
“ผมมันชอบเรียนชีวิต ที่โตเกียวผมก็เรียนเสียจนจบหลักสูตร ตาพัวพ่อครัวสถานทูตเป็นอาจารย์ใหญ่ มันช่วยภาษาผมมาก ไม่กี่เดือนผมก็พูดญี่ปุ่นเป็นน้ำ”
“ผมว่าอีกไม่ช้าคุณก็คงพูดปักกิ่งเป็นน้ำเหมือนกัน” ข้าพเจ้าหัวเราะแล้วบัวก็หัวเราะตาม “ในโตเกียวคงมีอะไรดี ๆ เยอะแยะซึนะ เขาว่าผู้หญิงญี่ปุ่นดีที่สุดในโลก”
“ผมก็ไม่รู้ว่าจะมีชาติไหนที่ดีกว่า แต่ผมคิดว่าถ้าผมแต่งงานกับผู้หญิงญี่ปุ่น ผมจะต้องมีความสุขมากทีเดียว”
“คุณเคยคิดหรือ ?” ข้าพเจ้าเลิกคิ้ว สบตาเขาเพื่อจะค้นหาความจริง
บัวหลบตาลงต่ำ ถอนใจเบา ๆ นิ่งอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งก็พูดว่า
“มีผู้หญิงญี่ปุ่นคนหนึ่ง ตระกูลซามูไร ทำงานธนาคาร สถานทูตจ้างเขามาสอนหนังสือญี่ปุ่นให้ผมทุกเย็นในตอนแรก ๆ ต่อมาเราก็กลายเป็นเพื่อนที่รักกันมาก”
“แล้วยังไง ?” ข้าพเจ้ายังจ้องหน้าเขาอยู่
“แล้วเราก็เกิดชอบกันขึ้น” เสียงของบัวจริงจังรอยยิ้มหายไป “นี่ผมต้องจากเขามา เราสัญญากันว่าจะไปแต่งงานกันในเมืองไทย”
“ก็ไม่เลว” ข้าพเจ้าพูดอย่างจริงใจ “แปลว่าคุณจะต้องมีความสุขที่สุด เมื่อกลับเมืองไทย”
“แต่ผมสังหรณ์ใจชอบกล” บัวยิ้มอย่างพยายาม “อย่าพูดถึงเขาเลย มันอยู่ที่พรหมลิขิต”
๔
หลังอาหารค่ำ บัวชวนข้าพเจ้าไปคุยในห้องของเขา เราคุยกันอยู่เกือบเที่ยงคืน เรื่องที่คุยเป็นเรื่องของคนหนุ่มที่มีแต่ความหวังของฤดูชุนเทียนซึ่งดอกไม้บาน และท้องฟ้าโปร่ง ลมพัดเย็นสบาย ดูเหมือนว่าทั้งบัวและข้าพเจ้าจะรู้สึกว่า ชุนเทียนจะเป็นของเราได้จนตลอดชีวิต เมื่อหิมะละลายแล้ว ดอกไม้ก็จะบาน และจะบานอยู่ไม่รู้โรย มันเป็นความเพ้อฝันของคนหนุ่ม ความหนุ่มทำให้เรารู้สึกว่าในโลกนี้ไม่มีความตาย ไม่มีความเสื่อม มีแต่ความหรรษาและความรุ่งโรจน์ เราลืมไปว่าเรากำลังอยู่ในแผ่นดินที่เลือดกำลังนอง น้ำตากำลังไหล เรามองเห็นแต่ดอกเหมยและดอกเถาสีชมพู ที่จะบานรับเรารออยู่ข้างหน้า โอ้, ความหนุ่ม.... ความหวัง.... มันเป็นแต่ภาพลวงตา มันผ่านมาแล้วมันก็จะผ่านไป... มันจะไม่กลับมาอีก
บัวผู้มีขาเพื่อตระเวนโลกด้วยความหนุ่มที่ไม่มีความตาย ได้เล่าเรื่องกรุงปักกิ่งที่เขาเข้ามาอยู่ได้เพียงสัปดาห์เดียวให้ข้าพเจ้าฟังจนลืมง่วง ชีวิตในนครโบราณเพียงเจ็ดวันก็ทำให้เขามีเรื่องเล่าได้อย่างยืดยาว ตั้งแต่เรื่องกินไปจนถึงเรื่องนอน เขาเล่าเรื่องเป็ดปักกิ่ง, เรื่องหยางโร่ว เรื่องกบฏบ๊อกเซ่อร์, เรื่องทหารนานาชาติที่เข้าไปตั้งมั่นอยู่ในสถานทูตแล้วเที่ยวรังแกคนจีนกลางถนน เรื่องคุนหมิงหู เรื่องผู้หญิงรัสเซีย ผู้หญิงเกาหลี และผู้หญิงญี่ปุ่น เรื่องยิงเป้าคอมมิวนิสต์ และพ่อค้าฝิ่น, เรื่องจางโซหลิน กับจางโซเหลียง และขุนศึกวูแป็ะฟู, เฟงยุกเสียง, จางจุงชาง, ฯลฯ เรื่องขอทานและฝุ่นที่มีชื่อเสียงของกรุงปักกิ่ง, ฯลฯ แล้วในที่สุด เขาก็เล่ามาถึงมหาวิทยาลัยเยียนจิง (Yen Ching) ที่เขาไปเที่ยวมาเมื่อสองวันก่อน เขางัดเอาภาพถ่ายที่เขาถ่ายมามากมาย ระหว่างตระเวนอยู่ในมหาวิทยาลัยอันใหญ่โตแห่งนี้ในวันนั้นมาให้ข้าพเจ้า ในจำนวนภาพหลายสิบภาพเหล่านี้ บัวเป็นเอาภาพบุคคลผู้หนึ่งออกมายื่นให้ดูแล้วว่า
“ว่าไง, ระพินทร์, คุณอยากรู้จักตัวจริงไหม ? ถ้าต้องการรู้จัก ผมจะพาไป”
ข้าพเจ้ารับภาพนั้นมาดู แต่แล้วก็ต้องตกตะลึงจังงังคล้ายถูกสะกดจิต