- คำนำ
- คำปรารภ
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- บทที่ ๔๑
- บทที่ ๔๒
- บทที่ ๔๓
- บทที่ ๔๔
- บทที่ ๔๕
- บทที่ ๔๖
- บทที่ ๔๗
- บทที่ ๔๘
- บทที่ ๔๙
- บทที่ ๕๐
- บทที่ ๕๑
- บทที่ ๕๒
- บทที่ ๕๓
- บทที่ ๕๔
- บทที่ ๕๕
- บทที่ ๕๖
บทที่ ๑๕
ในท่ามกลางข่าวเรื่องญี่ปุ่นจะยึดแมนจูเรีย ซึ่งเป็นข่าวที่ทำให้ข้าพเจ้าไม่ไว้ใจตัวเองว่าจะสามารถอยู่ในนครปักกิ่งได้ต่อไปหรือไม่นั้น ก็มีข่าวที่ชาวปักกิ่งตื่นเต้นกันยกใหญ่ผ่านแทรกเข้ามา ข่าวนี้ก็คือ ข่าวดักกลาส แฟร์แบงค์ ยอดพระเอกหนังบู๊สมัยภาพยนตร์เงียบจะมาเยี่ยมปักกิ่ง และจะมาแสดงตัวที่ห้องโถงโรงเรียนหวาเหวิน บัวเอาหนังสือพิมพ์ลีดเด้อร์ ที่กระจายข่าวนี้มาให้ข้าพเจ้าอ่าน มิสปอปอฟพบบ้านเจ้าในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ก็พูดถึงพระเอกนักดาบอเมริกันเป็นคำแรก มิสปอปอฟเป็นแฟนของนายแฟร์แบงค์ ซึ่งข้าพเจ้าไม่ประหลาดใจ เพราะข้าพเจ้าก็เป็นแฟนของเขามาตั้งแต่สมัยอยู่กรุงเทพ ฯ ข้าพเจ้ายังไม่ลืมเครื่องหมาย “โซโร” ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากรอันเป็นโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งในยุคนั้น ไม่ลืมวงดนตรี “นายกุ๊น” ซึ่งเป็นดนตรีประกอบภาพยนตร์เงียบที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยที่เก้าอี้ชั้นดีราคา ๕๐ สตางค์ของโรงภาพยนตร์พัฒนากรเต็มไปด้วยตัวเรือด ดักกลาส แฟร์แบงค์ได้บุกเข้าปักกิ่งตามวันกำหนด และได้ไปแสดงตัวบนเวทีโรงเรียนหวาเหวินตามที่ได้ประกาศไว้ วันนั้นผู้คนทั้งจีนฝรั่งได้ไปชุมนุมกันในห้องโถงหน้าเวทีจนไม่มีที่จะนั่ง ข้าพเจ้าเห็นหน้านายแฟร์แบงค์แล้วก็เกิดความคิดถึงเมืองไทยขึ้นมา, คิดถึงพัฒนากร, คิดถึงเทวันนักเขียนมือหนักเพื่อนร่วมโรงเรียนเทพศิรินทร์, คิดถึงประนุทเพื่อนบ้านถนนบรรทัดทองผู้มีความอ่อนหวานสวยงามเหนือหญิงสาวทุกคนที่ข้าพเจ้าเคยพบในเมืองไทยก่อนที่จะจากไปโดยเรือ “คาลกัน” เมื่อก่อนการปฏิวัติ ๔ ปี
ในวันนั้น, นอกจากความตื่นเต้นที่ข้าพเจ้าได้รับจากนายดักกลาส แฟร์แบงค์ ยอดดาราภาพยนตร์อเมริกันแล้ว ข้าพเจ้ายังได้รับความตื่นเต้นจากบุคคลผู้หนึ่ง บุคคลผู้นี้คือ วารยา ราเนฟสกายา
วารยามาดูตัวนายดักกลาส แฟร์แบงค์ตามลำพัง ไม่มีเหลียงเป็นองครักษ์ ข้าพเจ้าพบวารยาเมื่อตอนข้าพเจ้า ขอถ่ายรูปนายแฟร์แบงค์ที่หน้าตึกโรงเรียน เพราะวารยาขอเข้าไปถ่ายรูปร่วมด้วย
“ทำไมเธอไม่ไปอยู่ฮอลลีวู้ด” ยอดดาราอเมริกันถามขึ้นในตอนหนึ่ง “ฉันคิดว่าเธอจะเป็นดาราได้ในวันเดียว”
วารยาหัวเราะเสียงใส
“ขอบคุณ ถ้าฉันเป็นดาราได้ในวันเดียว ฉันก็คงไปฮอลลีวู้ดเสียนานแล้ว”
“ฉันคิดว่าเธอควรจะแสดงภาพยนตร์ได้ สายตาของฉันคงไม่หลอกฉันแน่ เธอคงเป็นพวกหมอสอนศาสนาอยู่ที่นี่” นายแฟร์แบงค์ชวนพูดต่อไป
วารยายิ้มไม่ตอบ ข้าพเจ้าจึงตอบแทน
“มิสราเนฟสกายามาจากเปโตรกราด ไม่ได้มาสอนศาสนา”
ยอดดาราอเมริกันหัวเราะเสียงดัง
“งั้นหรือ ? อ้อ ! มาจากเปโตรกราด ฉันอยากไปเปโตรกราดจัง อยากไปหาที่ทำภาพยนตร์ที่นั่นสักเรื่องหนึ่ง เขาคงไม่ขัดข้องไม่ใช่หรือ ?”
“ไม่แน่ แต่เขาอาจอนุญาตถ้าทำเรื่องโฆษณาคอมมิวนิสต์” วารยาตอบ
ดักกลาส แฟร์แบงค์ หัวเราะอย่างขบขันเอามือซุกลงในกระเป๋าโอเวอร์โค้ทสีน้ำตาล ส่ายตัวไปมา
“ฉันเคยดูภาพยนตร์คอมมิวนิสต์หลายเรื่อง เค้าเรื่องแปลกดี แต่ทุกเรื่องเดินแนวเดียวกันหมด”
“ก็เป็นของธรรมดา เพราะเขามีคนเขียนเรื่องอยู่คนเดียว มีผู้กำกับอยู่คนเดียว ทั้งเรื่องทำตามคำสั่งของคน ๆ เดียว” วารยาพูดยิ้ม ๆ
นายแฟร์แบงค์มองหน้าหญิงสาวชาวเปโตรกราดอย่างแปลกใจ เขาคงไม่คิดว่าจะได้ยินชาวเปโตรกราด พูดแบบที่ชาวเปโตรกราดไม่ควรพูด
“เธอคงไม่ชอบภาพยนตร์ที่ทำโดยคน ๆ เดียว ?” เขาถามอย่างฉลาด
“ฉันไม่เคยชอบ” วารยาตอบ “ศิลปะเป็นของกลาง เป็นของคนทุกคนทั่วทั้งโลก ศิลปะไม่ใช่เครื่องมือของนักการเมือง”
“ฉันเข้าใจแล้ว” นายแฟร์แบงค์พูดอย่างมีชัย “อา! ในที่สุดฉันก็ได้พบชาวเปโตรกราดที่ฉันต้องการ เธอพร้อมที่จะให้เกียรติพวกศิลปินที่ไม่เป็นเครื่องมือของนักการเมืองอย่างพวกฉันไหม ? ฮอลลีวู้ดต้องการเธอแน่, มิสราเนฟสกายา”
อาการยิ้มของวารยา แสดงการไว้ตัวอย่างเห็นได้ชัด หญิงสาวสั่นศีรษะช้า ๆ อย่างผู้ดี แล้วตอบด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล
“ขอบคุณค่ะ มิสเตอร์แฟร์แบงค์ ฉันไม่คิดว่าฉันควรจะเป็นศิลปิน”
“เธอก็ควรจะชอบศิลปะ, ฉันรู้...ขอโทษนะถ้าฉันรู้ในสิ่งที่ฉันไม่ควรจะรู้ !” เขาหัวเราะอย่างองอาจ แบบที่ข้าพเจ้าเคยเห็นโซโรหัวเราะในจอ
“คนที่รักศิลปะไม่จำเป็นจะต้องเป็นศิลปิน” วารยาตอบช้า ๆ แต่หนักแน่นในที “ความรักในศิลปะเป็นเรื่องของจิตใจ แต่การเป็นศิลปินเป็นเรื่องของการแสดงออกซึ่งศิลปะ”
“หมายความว่าศิลปินอาจไม่รักศิลปะก็ได้” ดาราชื่อก้องโลกซักอย่างสนใจ
“ไม่แน่ค่ะ ศิลปินที่อยู่เพื่อศิลปะ เขารักศิลปะ แต่ศิลปินที่อยู่เพื่อเงิน เพื่อประโยชน์ที่เขาควรจะได้จากอิทธิพลอำนาจ เขาอาจรักศิลปะน้อยไปก็ได้”
“ฉันควรจะเชิญเธอไปเล้คเช่อร์ที่โรงถ่ายฮอลลีวู้ด” นายแฟร์แบงค์จ้องหน้าวารยาด้วยสายตาอันคมวาว เป็นสายตาของพระเอกที่ช่ำชองเวทีทั้งในจอและนอกจอ “เธอด่าพวกศิลปินแสบดี แต่มันก็เป็นความจริง ศิลปินของเราขายตัวให้แก่เงินมีอยู่ไม่น้อย ในบางประเทศศิลปินก็ขายตัวให้แก่อำนาจ”
“ฉันมีความเห็นว่า เวลานี้ศิลปินในประเทศเผด็จการ มักจะต้องขายตัวให้แก่อำนาจ ส่วนศิลปินในประเทศที่เงินเป็นใหญ่ ก็ขายตัวให้แก่เงิน โลกเราทุกวันนี้ต้องการศิลปินที่เป็นตัวของเขาเอง–อยู่เพื่อศิลปะ เพราะศิลปะเป็นอาภรณ์ของศิลปิน ฉันว่าศิลปินที่อยู่เพื่อศิลปะเป็นผู้สร้างโลกให้มีความสุขความสวยงาม โลกเราสกปรกหยาบคายโหดร้ายทารุณมากขึ้นทุกวัน มันควรจะสวยงามและน่าอยู่ ถ้าเรามีศิลปินที่มีความนับถือตัวเอง และยืนอยู่เพื่อศิลปะให้มากกว่านี้”
คำพูดของวารยาเปลี่ยนสีหน้าที่ยิ้มแย้มของดักกลาส แฟร์แบงค์เจ้าของบทบาทของโซโรคนแรกในจอภาพยนตร์ ให้เคร่งขรึมไปในทันที แววตาอันเต็มไปด้วยประกายแห่งความร่าเริงของเขาซึมเซาลงจนเห็นได้ชัด เขาพูดอย่างจริงใจว่า
“เธอพูดความจริง, มิสราเนฟสกายา ศิลปินทุกคนในฮอลลีวู้ด... ฉันว่า...ศิลปินทุกคนทั่วโลก...ควรจะฟังเธอ โลกเราจะสวยงามน่าอยู่กว่านี้ ถ้าเราอยู่เพื่อศิลปะ”
เมื่อยอดดาราอเมริกันอำลา ดร. เพทตัส ผู้ให้กำเนิดโรงเรียนหวาเหวิน กลับไปยังโฮเต็ลเดอเปอแกงแล้ว ข้าพเจ้าก็ถือโอกาสเชิญวารยาเข้าไปถือโอกาสเชิญวารยาเข้าไปดื่มน้ำชากันในห้องอาหารของโรงเรียนที่ตึกเวสท์บิลดิ้ง วารยารับเชิญทันทีโดยไม่ลืมชำเลืองไปดูบัว ซึ่งจ้องอยู่ห่างออกไปสัก ๓-๔ เมตร คล้ายกับจะถามว่า จะไม่เอาตัวเขาไปกินด้วยหรือ ข้าพเจ้าแสร้งทำเป็นไม่เข้าใจความหมาย รับเดินนำคนสวยชาวเมืองเปโตรกราด เดินดุ่มไปตามทางสิเมนต์ใต้ต้นวิลโล่ ตรงไปยังตึกขาวที่เราเรียกกันว่า เวสท์บิลดิ้ง ซึ่งตั้งห่างออกไปเพียงไม่เกินสี่สิบกว่าเมตร
ในห้องอาหารซึ่งมีพวกฝรั่งมิชชันนารีหลายชาติหลายภาษานั่งกินน้ำชากันอยู่หลายโต๊ะ วารยาเลือกโต๊ะริมหน้าต่างซึ่งมีแสงสว่างสาดเข้ามาจากรัศมีของดวงตะวันที่จวนจะตกลับหลังคาบ้านโบราณในนครปักกิ่ง ลงไปในทะเลทรายโกบี เรานั่งกินน้ำชากันด้วยความรื่นรมย์ นกหวงยิงคู่หนึ่งชนสีทองซึ่งคงจะบินหลงขึ้นมาจากนานกิน กำลังเกาะอยู่บนกิ่งไผ่ริมหน้าต่าง ส่งเสียงร้องเพลงอย่างไพเราะให้เราฟัง
“โลกเราจะสวยงามน่าอยู่กว่านี้ ถ้าเราอยู่เพื่อศิลปะ” ข้าพเจ้าเอ่ยขึ้นในตอนหนึ่ง “ดักกลาส แฟร์แบงค์พูดไว้เมื่อกี้ ฉันว่าเขาพูดความจริงที่ลึกซึ้งมากทีเดียว เธอว่าอย่างไร วารยา ?”
“คนที่รักและเข้าใจศิลปะเท่านั้นที่จะเข้าใจคำพูดของเขา” วารยาตอบช้า ๆ ขณะที่วางถ้วยชาลงกับจานรอง “เวลานี้คนอย่างสตาลิน กำลังทำลายความหมายของศิลปะ จนไม่มีอะไรเหลือให้เราภาคภูมิใจชาติของเราได้อีกแล้ว เขาพากันเป็นนักวัตถุนิยมไปหมด พยายามรีดเอาประโยชน์จากทุกสิ่งทุกอย่าง แม้จนกระทั่งซากศพที่เขาเอาไปทำปุ๋ย ศิลปะเป็นปรอทที่วัดความสูงของหัวใจมนุษย์ แต่เขาก็ดึงมันลงมาเป็นเครื่องมือของการเมือง, ทำลายคุณสมบัติอันสูงส่งของมัน, คือความล้ำลึก, ความงามตระการ และความรื่นรมย์สุขสงบ เขาฉีดยาพิษเข้าไปในศิลปะ เอาศิลปะเป็นเครื่องมือที่ร้อนเป็นไฟ สำหรับโฆษณาลัทธิเศรษฐกิจการเมืองของเขา อย่างที่เป็นบาปกรรมที่สุด เพราะทำให้คนคิดว่าศิลปะต้องทำประโยชน์เหมือนค้อนกับเคียว แท้จริงแล้วศิลปะไม่ได้ทำประโยชน์ แต่มันมีประโยชน์ในตัวของมัน สุดแท้แต่คนจะดึงเอาประโยชน์ของมันออกมาเป็นอาหารของจิตใจได้แค่ไหนแล้วแต่ความละเอียดอ่อนลึกซึ้งของจิตใจแต่ละคน”
ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ข้าพเจ้ารู้จักวารยา ราเนฟสกายา ซาบซึ้งมากขึ้นจากคำพูดของเธอเพียงไม่กี่ประโยคนี้ วารยารู้จักความสูงต่ำของมนุษย์ คนที่รู้ว่าอะไรทำให้มนุษย์ต่ำและสูง ย่อมจะต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าสูงแค่ไหน และในการรู้จักตัวเองนี้เขาไม่จำเป็นต้องรู้และแสดงความต่ำสูงของเขาออกมา เขาเพียงแต่เก็บมันไว้ในชีวิตวิญญาณอย่างเงียบ ๆ และอย่างไม่รู้ตัว แต่มันก็แสดงออกมาเองอย่างสงบเงียบ–อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เจาะจงและไม่เอะอะโวยวาย
“ฉันอยากให้ดักกลาส แฟร์แบงค์ มานั่งอยู่ที่โต๊ะนี่ด้วย” ข้าพเจ้าสบตาวารยาด้วยความรู้สึกที่จับใจบอกไม่ถูก “คนเรามีศิลปะเป็นปรอทสำหรับวัดความสูงต่ำของจิตใจ เราดูความสูงความต่ำของมนุษย์ ที่รสนิยมในศิลปะ เรารู้จักคนที่เราอาจไม่รู้จักชื่อ จากดนตรีที่เขาฟัง...จากภาพที่เขาชอบ...จากหนังสือที่เขาอ่าน...จากบ้านที่เขาอยู่...จากสีที่เขารัก สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกว่าเขาสูงต่ำแค่ไหน ศิลปะไม่มีชั้น ไม่มีวรรณะ มันเป็นของกลาง แต่มันบอกว่ามนุษย์ยังต้องมีชั้น มีวรรณะ เพราะความละเอียด ความหยาบของจิตใจแต่ละคนไม่เหมือนกัน–และไม่มีทางจะเหมือนกันหรือคล้ายกันได้เลย ถ้าปัญหาสังคมยังแก้ไม่ได้”
วารยาพยักหน้าเห็นด้วย นิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งกล่าวว่า
“จริงของเธอ มนุษย์ยังต้องมีชั้น ดูแต่ในรัสเซียของสตาลินซี มันก็หนีชั้นไม่ได้–คือชั้นผู้ครองเมืองมีรถเก๋งขี่, มีปราสาทราชวังอยู่, มีอาหารดี ๆ กิน แล้วอีกชั้นหนึ่งคือชั้นพวกทางการเมือง–ทาสแรงงานอยู่กินไปวันหนึ่ง ๆ เหมือนวัวควายที่เขาขังอยู่ในคอก แต่ศิลปะไม่มีชั้น, ไม่มีชาติ, ไม่มีวรรณะ ศิลปะมีแต่ความงามความสงบ และมีเสรีภาพที่หาขอบเขตไม่ได้ ฉันคิดว่าโลกจะสวยงามและเป็นสุขถ้าเราเอาศิลปะนำหน้าเศรษฐกิจ อย่าไปเอาเศรษฐกิจมานำหน้าศิลปะ”
“แต่ถ้าเราจัดระบบเศรษฐกิจให้ดี, อย่าให้คนมีกินแรงคนไม่มี, อย่าให้รัฐกินแรงราษฎร, เราก็ควรจะมีสังคมที่ศิลปะกับเศรษฐกิจเดินไปด้วยกันเป็นหน้ากระดานได้” ข้าพเจ้าพูดช้า ๆ อย่างใช้ความคิด “ระบอบเศรษฐกิจที่ฉันว่านี้มีความสวยงาม, มีความเสมอภาค, มีเสรีภาพอย่างเป็นธรรม–อย่างกว้างขวาง–เหมือนศิลปะ เราไปกันได้ดี มันอยู่ที่ว่าเมื่อไหร่มนุษย์จะรับเอามาใช้เท่านั้น”
ขณะนั้นบัวโผล่เข้ามาในห้องอาหาร กวาดตาดูรอบๆ เมื่อเจอตาข้าพเจ้า เขาก็เดินเข้ามาหา
“ขอโทษ, บ๋อยไปตามที่ห้องคุณ มีโทรศัพท์มาจากเยียนจิง เจียงเหมยขอพูดด้วย”
ข้าพเจ้าใจเต้นผิดปกติ แต่ก็ไม่ต้องการจะหาเหตุผล ขอโทษวารยาแล้วก็เดินออกไปที่โทรศัพท์ซึ่งอยู่ในห้องบันได ข้าพเจ้ารู้สึกว่าวารยาได้มองข้าพเจ้าด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยความรู้สึก แต่จะรู้สึกอย่างไรนั้น ข้าพเจ้าไม่มีทางจะเข้าใจได้