บทที่ ๓๓

สนานชะงักอย่างมีพิรุธ แต่แล้วก็พยายามยิ้มให้อ่อนโยนเพื่อกลบความรู้สึกในสีหน้า เขาเดินตรงเข้ามาที่โต๊ะของเราแล้วพูดว่า

“ไม่นึกเลยว่าจะพบกันที่นี่” เขาพูดเป็นภาษาไทย

“ไม่ได้คุยกันหลายวัน” ข้าพเจ้าพูดอย่างยิ้มแย้ม ทำน้ำเสียงให้เป็นธรรมดา “คุณจะมาหาอะไรกินใช่ไหม ? มานั่งด้วยกันซี”

สนานไม่ตอบออกมาในทันที เขากวาดตาไปรอบ ๆ ห้องคล้ายกับจะมองหาใครสักคนหนึ่ง แล้วจึงนั่งลง

“ผมมาหาหนังสือสักสองสามเล่ม” เขาพูดเสียงปกติ เพราะดูจะคุมสติได้แล้ว “หนังสือเก่าที่นี่มีสารพัด ผมเข้าเมืองเป็นต้องมาวนเวียนอยู่แถวนี้”

ดูเหมือนว่าเขาจะพยายามแก้ตัวว่าเหตุใดจึงต้องมาที่ตุงอันซื่อฉ่างบ่อย ๆ ข้าพเจ้านึกขึ้นได้ว่า หวูเพิ่งจะผ่านไปเมื่อตะกี้นี้เอง

“ผมก็มาหลงหนังสืออยู่ที่ตลาดหนังสือเก่านี่นาน ๆ เหมือนกัน ผมซื้อหนังสือไว้ได้หลายร้อยเล่มแล้ว”

“คุณสนใจหนังสืออะไรบ้าง ?” สนานชวนพูดต่อไป

“ประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์” ข้าพเจ้าตอบ

“คุณชอบเศรษฐศาสตร์มากหรือ?”

“ผมสนใจ จะว่าชอบทีเดียวก็ไม่ถูก”

“เราควรจะสนใจกับเศรษฐศาสตร์” สนานพูดอย่างออกความเห็น ชีวิตอยู่ได้ด้วยท้อง ท้องเป็นเรื่องแรกที่ต้องทำให้อิ่ม ถ้าท้องไม่อิ่มมันก็ยุ่ง”

“นั่นซี ปัญหาของโลกทุกวันนี้ก็มีสำคัญอยู่ข้อเดียว”

“อะไร ?” บัวถามอย่างสงสัย เพราะมัวเพลินอยู่กับเบียร์หวู่ซิง

“ท้อง” ข้าพเจ้าตอบ

“ผมว่าความสงบ” บัวคัดค้านแล้วดื่มต่อไป

“ความสงบจะมีได้ก็เพราะท้องอิ่ม” สนานชี้แจง

“เมืองจีนไม่สงบ ถ้าคิดอย่างคุณว่า ก็แปลว่าคนจีนหิวใช่ไหม ?” ข้าพเจ้าถาม

“ใช่ เราหิวจนตายเป็นแพกันทุกปี แต่นักปฏิวัติของเราก็ไม่สนใจจะแก้ปัญหาเรื่องความหิวเลย”

“ผมว่าคนจีนหิวเพราะความล้มเหลวของระบอบการปกครอง” บัวให้ความเห็น “ระบบนายพลของเมืองจีนเป็นต้นเหตุของความล้มเหลว เมื่อการปกครองล้มเหลว เศรษฐกิจก็ดีไม่ได้ เพราะมันไม่มีแผน, ไม่มีเป้า”

สีหน้าสนานแจ่มใสทันที เขาจ้องหน้าบัวด้วยแววตาเป็นประกาย ดูเหมือนว่าคำพูดของบัวได้แทงเข้าไปในกลางใจดำของเขา

“จริง, มันไม่มีแผน, ไม่มีเป้า เขาปล่อยกันไปตามบุญตามกรรม คนจนก็แย่ ใครมีเงินมีอำนาจก็กดขี่ขูดรีดคนจนสบาย มันเป็นระบอบของใครดีใครได้ ทีใครทีมัน มือใครยาวสาวได้สาวเอา ผมว่าเมืองจีนต้องแก้ที่ระบอบ วิธีของ ดร. ซุนแก้ไม่ได้”

“คุณจะแก้ยังไง ?” ข้าพเจ้าจ้องหน้าเขาด้วยสายตาที่ค่อนข้างเคร่งเครียด

“แก้ให้คนจนไม่ต้องหนาวตายอดตายปีละล้าน ๆ” สนานตอบ

“คุณจะใช้วิธีการอย่างไร ?” ข้าพเจ้าถามอีก

“ต้องปฏิวัติอีก” เขาตอบสั้น ๆ แล้วก็นิ่งไปประเดี๋ยวหนึ่ง คล้ายกับจะคิดให้รอบคอบ “คุณคงไม่เข้าใจ เพราะคุณมาจากเมืองไทย”

“เอ๊ะ, ทำไม ?” ข้าพเจ้ายังคงจ้องตาเขาอยู่ บัวก็เริ่มมีปฏิกิริยาเมื่อได้ยินคำว่าเมืองไทย

“คุณคงเคยทราบดีว่าในเมืองไทย เขาไม่ยอมให้มีตำราเศรษฐศาสตร์ นักเรียนนอกพระยาพานทองคนหนึ่งไปเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มา ก็จะเขียนหนังสือที่ว่าด้วยเศรษฐศาสตร์พิมพ์ออกขาย แต่ก็ต้องระงับไป เพราะท่านไม่ชอบ”

“เศรษฐกิจของเราดีอยู่แล้ว ทุกคนร่มเย็นเป็นสุข อาจยังไม่ถึงเวลาที่เราจะอ่านตำราเศรษฐศาสตร์กันก็ได้” ข้าพเจ้าชี้แจง

สนานหัวเราะเสียงดัง

“ผมแว่วมาว่าเมืองไทยเขากำลังคิดปฏิวัติกัน ผมเข้าใจว่าเมื่อปฏิวัติแล้วคนคงจะเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ได้อย่างกว้างขวางเหมือนประเทศอื่นๆ”

“คุณรู้จากใครว่าเมืองไทยจะมีการปฏิวัติ ?” บัวถามด้วยความสนใจ

สนานเหลือบตาไปดูเขา แล้วยิ้มอย่างมีความหมาย

“ผมรู้ทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทย”

“คุณรู้ทุกอย่าง” บัวเบิกตากว้างอย่างแปลกใจ

“พวกนักเรียนไทยในปารีส กำลังคิดกันจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง บางคนเป็นคนหัวแรงมาก ผมจึงว่าเมืองไทยจะต้องสอนวิชาเศรษฐศาสตร์กันเป็นการใหญ่ เมื่อปฏิวัติแล้ว”

ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าสนานเอาอะไรมาพูด ด้วยความอยากรู้จึงถามว่า

“คุณรู้ได้ยังไงว่านักเรียนไทยในปารีสกำลังคิดปฏิวัติ? ผมยังไม่รู้เลย”

บุรุษหนุ่มนิสิตมหาวิทยาลัยเยียนจิง ยิ้มโดยไม่เปิดปาก ท่าทางของเขาแสดงว่าเขามีความภาคภูมิใจตัวเองที่มีความรอบรู้กว่าข้าพเจ้า

“นักเรียนไทยคนหนึ่งในกลุ่มนี้ เป็นเพื่อนสนิทกับญวนคนหนึ่ง เรารู้จากญวนคนนี้”

“ใคร ?” ข้าพเจ้าถามทันที

“ผมบอกชื่อไม่ได้” สนานตอบเสียงเฉียบขาด “แต่ผมรู้ว่าญวนคนนี้ก็หัวแรงมาก เป็นนักปฏิวัติที่กำลังคิดจะโค่นฝรั่งเศสในอินโดจีน”

“แปลว่าญวนคนนี้ก็เป็นนักปฏิวัติเหมือนกัน” บัวแซมขึ้นมา

“เขาเป็นนักปฏิวัติ เป็นนักชาตินิยม แล้วก็–” สนานไม่พูดต่อไป

“อะไร ?” ข้าพเจ้าจ้องหน้าเขาเพื่อจะอ่านความรู้สึกในแววตาของเขา

“ผมไม่อยากพูด ผมบอกให้ได้เพียงว่า ญวนคนนี้เป็นนักเศรษฐกิจ เขาต้องการเปลี่ยนระบอบเศรษฐกิจของญวน”

“ผมพอเข้าใจ” ข้าพเจ้าพูดเสียงเบาแต่หนักแน่น “แปลว่าคุณรู้เรื่องนักเรียนไทยในปารีสคิดปฏิวัติมาจากญวนคนนี้”

สนานพยักหน้า ไม่พูดอะไร เรานิ่งกันไปนาน ข้าพเจ้าไม่อยากจะเชื่อว่าสนานพูดความจริง มันเหลือที่จะเชื่อได้ ข้าพเจ้าไม่เคยคิดว่าจะมีนักเรียนไทยในปารีสคิดปฏิวัติ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคนที่คิดจะยึดอำนาจการปกครองอยู่ในกรุงเทพฯ มากกว่าจะเป็นนักเรียนในปารีส

“คุณรู้จักญวนคนนี้ดีงั้นหรือ” ข้าพเจ้าถามต่อไปอย่างระมัดระวัง

“ผมไม่รู้จัก แต่พวกของญวนคนนี้มาอยู่ปักกิ่งคนหนึ่ง เขาติดต่อกันทางจดหมายนานแล้ว ผมก็เลยรู้เรื่องเมืองไทยว่าปฏิวัติมาตั้งสองปีแล้ว” สนานหัวเราะในคออย่างภาคภูมิใจ ผมยังรู้สึกว่านักเรียนปารีสพวกนี้ เวลานี้อยู่ในกรุงเทพฯ กำลังรอเวลาจะยึดอำนาจ”

ข้าพเจ้านึกหัวเราะในใจ สนานรู้มากเกินไป ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าสนานพูดความจริง เขาอาจแต่งเรื่องคนญวนในปารีสขึ้น เพื่อจะอวดตัวว่าเขาเป็นคนกว้างขวางรู้ดีกว่าข้าพเจ้าก็ได้

ลูกจีนมหาเศรษฐีถนนเยาวราช ควักบุหรี่ออกมาจุดสูบพ่นควันโขมง ข้าพเจ้ากับบัวนั่งนิ่ง ยังนึกไม่ออกว่าจะพูดอะไรต่อไปดี ในขณะนั้นความรู้สึกบางอย่างผ่านแวบเข้ามาในใจ ข้าพเจ้าแน่ใจว่าสนานเป็นฝ่ายซ้ายแน่ ข้าพเจ้าจะต้องเผชิญหน้าเขาในเมืองไทย เมื่อเราเรียนจบกลับกรุงเทพ ฯ แล้ว ข้าพเจ้าไม่รู้ว่ารัฐบาลไทยจะให้ข้าพเจ้าทำอะไร แต่การที่ข้าพเจ้ารู้จักสนาน ลูกชายมหาเศรษฐีถนนเยาวราช ย่อมเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก ข้าพเจ้านึกถึงคนจีนในเมืองไทยซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย คนเหล่านี้เข้ามาอาศัยเมืองไทยอยู่, ทำมาหากินด้วยความขยันขันแข็ง และเป็นคนสุจริตเป็นส่วนมาก มันจะเป็นการน่าเสียดายและน่าเสียใจอย่างยิ่ง ถ้าบางคนในกลุ่มคนจีนเหล่านี้ จะบังเอิญไปเป็นเพื่อนกับสนานเข้า ด้วยความทะเยอทะยานทางการเมือง ข้าพเจ้าภาวนาอยู่ในใจ ขอให้คนไทยคนอื่นเป็นมิตรต่อกัน, ซื่อตรงต่อกัน, และรักกันเหมือนอย่างที่ได้เป็นมาแล้ว ตั้งแต่สมัยในประวัติศาสตร์ ข้าพเจ้าไม่ต้องการให้เราแตกแยกกัน เพราะความคิดและความทะเยอทะยานอยากเป็นใหญ่ของคนจีนคนไทยบางคน แต่ว่า–ข้าพเจ้ารู้ดีว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้คนหมดความทะยานอยาก โลกวุ่นวายก็เพราะมนุษย์ต้องการมี ต้องการเป็นมากกว่าอะไร ประวัติศาสตร์เปลี่ยนเพราะมือคนไม่กี่คนมาทุกสมัย จริงอยู่ เหตุแวดล้อมมันช่วยบันดาล, แต่ถ้าไม่มีคนอย่างเคลมังโซ ก็จะไม่มีฮิตเลอร์ และถ้าไม่มีฮิตเลอร์ บางทีเมาเซตุงก็คงยึดอำนาจไม่ได้ เพราะญี่ปุ่นคงไม่กล้าบุกเมืองจีน และเมื่อญี่ปุ่นไม่บุก เมาเซตุงก็คงถูกล้อมอยู่ในความหนาวและความแห้งแล้งที่เยียนอาน คงจะไม่มีปืนญี่ปุ่น เหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นมาผลักดันให้ยืนขึ้น จนสามารถขับไล่เจียงไคเช็คตกทะเลไปอยู่ในเกาะไต้หวันได้ ประวัติศาสตร์เปลี่ยนเพราะคนไม่กี่คน แต่ต้องมีเหตุการณ์เป็นแรงหนุน เมืองไทยที่รักของข้าพเจ้าจะเปลี่ยนไปอย่างไร ข้าพเจ้ายังเดาไม่ได้ แต่คนไทยที่ทะยานอยากนั้นมีแน่ และเหตุการณ์ที่คอยผลักดันนั้นมีแน่ ปัญหามันมีอยู่ว่า คนไทยคนนั้นหรือหลายคนจะทะยานอยากไปทางไหนและไปอย่างไร และเหตุการณ์จะผลักให้เมืองไทยเลี้ยงคว่ำไปทางไหน มันเป็นเรื่องของโลกและชีวิต–เรื่องของคน–แต่มันก็หนีเรื่องของกรรมไม่พ้น คนไทยมีกรรมอย่างไร ก็จะต้องชดใช้กรรมไปอย่างนั้น พูดอย่างนี้ดูคล้ายกับว่าจะนอนรออยู่ในทางแห่งกรรม ข้าพเจ้าไม่ได้หมายความอย่างนั้น ข้าพเจ้าขอเน้นว่าชีวิตต้องเคลื่อนไหวไปตามธรรมชาติวิสัย แต่จะเคลื่อนไหวอย่างไร–เคลื่อนไหวไปทิศไหน–มันเป็นเรื่องของฟ้าดิน

จากตุงอันซื่อฉ่าง ข้าพเจ้าแยกกับบัวและสนาน ข้าพเจ้าพุ่งไปเยี่ยมวารยา เธอกำลังนั่งอ่าน The Leader ในห้องนั่งเล่นข้างหน้าต่างกระจก เธอกระวีกระวาดต้อนรับข้าพเจ้าด้วยความดีใจ

“วันนี้เธออยู่บ้าน” ข้าพเจ้าทักขึ้นก่อน “ทุกทีตอนนี้เธอมักจะออกไปเดินในเซ็นทรัลป๊าร์ค”

วารยายิ้มอย่างชื่นบาน ซึ่งดูเหมือนจะพยายามซ่อนความมืดมัวที่ซุกไว้ในใจ

“ฉันตั้งใจจะไปโบสถ์สักหน่อย”

“โบสถ์ ?”

“วันนี้วันอาทิตย์”

ข้าพเจ้านึกขึ้นได้

“จริงซี ฉันลืมไป เธอจะไปโบสถ์ไหน”

“ก็ที่เคยไปนั่นแหละ เซนต์ไมเคิล”

“ถนนมาร์โคโปโล ฉันรู้จักคุณพ่อไลแมนเกีย”

“เป็นชาวกวางตุ้ง”

“บุตรอาจารย์แอนดรูว์ หลิง ท่านเคยสอนฉันที่เซนต์สะตีเว่น”

“เธอหมายถึงฮ่องกง”

“สะแตนเลย์–ฮ่องกง”

“ยังมีคุณพ่อเคลอมังต์ ฉันก็ได้พึ่งท่านอยู่ตลอดเวลา” วารยามีแววตาเศร้าลง “คุณพ่อเคลอมังต์เป็นคนเข้าใจชีวิต ท่านไม่ได้สอนตามไบเบิล ท่านเอาชีวิตจริง ๆ มาพูด ได้ประโยชน์มาก คนเรานี่แปลกนะเธอ, ชอบให้มีคนปลอบ”

ข้าพเจ้าหัวเราะเบา ๆ

“มันไม่ใช่เรื่องแปลกหรอก, วารยา มันเป็นสัญชาตญาณ”

“สัญชาตญาณ ?”

“คนเราเกิดมาด้วยความกลัว ศาสนาเกิดจากความกลัว คนต้องการที่พึ่งก็ต้องมีศาสนา เธอเข้าไปนั่งในโบสถ์ เธอสารภาพบาป, เธอสวดมนต์, เธออ่านไบเบิล, เธอร้องเพลงสวด เหล่านี้ช่วยให้เธอมีสมาธิ, มีแรงใจที่จะต่อสู้กับความกลัว เธอว่าพระเจ้ามาช่วยปลอบใจ แต่ที่แท้เธอปลอบใจตัวเธอเอง แต่ว่าเธอต้องการสื่อ, ต้องการคำสวด, ต้องการเพลงที่ร้อง, ต้องการแสงที่ส่องลอดกระจกเข้ามาทางผนัง กระจกสีเขียว สีแดง สีเหลือง สีม่วง ต้องการรูปพระเจ้า–พระเยซู–ต้องการหลวงพ่อ–สวมกระโปรงสีดำ–คอแขวนไม้กางเขนเป็นเงิน–ต้องการเสียงของท่าน–ต้องการฟังท่านพูด ท่านก็พูดตามเรื่องที่ท่านเคยพูดมาตั้งหมื่นตั้งแสนครั้ง แต่เธอฟังเป็นว่าท่านปลอบใจ แล้วเธอก็ใจสบาย นั่นมันจิตวิทยาแห่งความกลัว คนเรากลัวชีวิต เราต้องการแม้แต่รูปปั้นหรือดวงอาทิตย์ดวงจันทร์มาปลอบประโลม ให้ชีวิตอบอุ่น รวมความว่าเราเอาชนะความกลัวไม่ได้ เราต้องพึ่งของอื่นคนอื่น แต่ที่แท้ไอ้ของอื่นคนอื่นนอกตัวเรานั้น มันก็เป็นแต่สื่อที่ช่วยให้เราเกิดสมาธิ–เกิดแรงใจเท่านั้น มันช่วยให้เราเป็นตัวของเราเอง โดยเราไม่รู้ตัว มันช่วยให้เรากล้าหาญขึ้น มันช่วยให้เราใช้ตัวของเรา–ใช้จิตของเรา–สู้กับความกลัว มันก็เท่านี้เอง นี่แหละพระเจ้า! นี่แหละยีซัสไครสต์ ! นี่แหละพระอัลหล่าห์ !”

“เธอสวดเก่งดี” วารยาหัวเราะชอบใจ

“จริงหรือไม่จริงล่ะ, วารยา” ข้าพเจ้าจ้องหน้าเธอ

“เธอพูดความจริง เรากลัวชีวิต”

“แต่เราต้องไม่กลัวชีวิต”

“เธอทำให้ฉันกลัวชีวิตน้อยลง” วารยาพูดเสียงเบาค่อนข้างแหบแห้ง

ข้าพเจ้าชะงัก สบตาเธอ วารยาหลบตาลงต่ำทันทีแล้วไม่พูดอะไร ข้าพเจ้าจึงเอ่ยขึ้นอย่างระมัดระวังว่า

“อะไรทำให้เธอคิดว่าฉันทำให้เธอกลัวชีวิตน้อยลง ?”

“คำพูด–จิตใจ–ทุกอย่างในตัวเธอ, ระพินทร์”

ข้าพเจ้าแกล้งหัวเราะ

“วันหนึ่งฉันคงเป็นพระเจ้า!”

“เธอเป็นพระเจ้าแล้วสำหรับคนที่มีทุกข์” วารยาพูดยิ้ม ๆ แต่จริงใจ “เธอแก้ทุกข์ให้คนทุกคนที่เป็นเพื่อนของเธอ ฉันรู้ว่านอกจากฉันแล้ว เธอยังจะพยายามแก้ทุกข์ให้เจียงเฟ–แล้วก็–เจียงเหมย–”

ข้าพเจ้าใจเต้นอย่างหาเหตุผลไม่ได้ นิ่งอยู่สักประเดี๋ยวจึงพูดว่า

“ทุกคนกำลังมีทุกข์รวมทั้งตัวฉันเอง”

วารยายื่นหน้ามาใกล้ข้าพเจ้า พูดเป็นเสียงกระซิบว่า

“เธอมีทุกข์อะไรจ๊ะ, ระพินทร์ ?”

ข้าพเจ้าถอนใจยาว

“ฉันมีทุกข์ เพราะฉันอาจกำลังเป็นต้นเหตุให้เธอมีทุกข์นะซี, วารยา”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ