- คำนำ
- คำปรารภ
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- บทที่ ๔๑
- บทที่ ๔๒
- บทที่ ๔๓
- บทที่ ๔๔
- บทที่ ๔๕
- บทที่ ๔๖
- บทที่ ๔๗
- บทที่ ๔๘
- บทที่ ๔๙
- บทที่ ๕๐
- บทที่ ๕๑
- บทที่ ๕๒
- บทที่ ๕๓
- บทที่ ๕๔
- บทที่ ๕๕
- บทที่ ๕๖
บทที่ ๕๒
๑
บนยอดเนินเล็กกลางทะเลสาบเป๋ห่ายในพระราชวังฤดูหนาวอันปกคลุมมืดครึ้มไปด้วยดงสนที่หวงใบ เจดีย์ป๋ายถาทรงระฆังสีขาวโพลนยืนนิ่งอยู่ในความสงัดของบริเวณเป๋ห่ายกงหยวน ขณะนั้นเป็นเวลาโพล้เพล้ ดวงตะวันในปลายฤดูหนาวก่อนที่ดอกเหมยจะเริ่มออกตุ่มตามกิ่งที่ใบโกร๋น กำลังลับลิ่วลงไปทางขอบฟ้า อันมีทะเลทรายโกบีทอดสกัดอยู่เป็นแผ่นใหญ่ยาวสุดสายตา นาฬิกาข้อมือบอกเวลาเพียงสิบเจ็ดนาฬิกาเศษเท่านั้น แต่ความมืดสลัวของท้องฟ้ากำลังเข้ามาคลุมปักกิ่งเหมือนผ้าแพรหางโจวสีน้ำเงินแก่ที่พายุหอบเอามาจากอ่าวเป่จื๋อลี่ที่เชื่อมทะเลเหลือง ข้าพเจ้าแยกกับชูฟ้า หลังอาหารว่างแล้วก็ไปเยี่ยม ดร. เจียง ที่ชิงเหนียนห้วย คุยกับเธอครูใหญ่ อดเล่าเรื่อง ชูฟ้าหรือหลินฉู่หวาให้ฟังไม่ได้ ดร. เจียงหัวเราะชอบใจ บอกว่าเธอเคยอ่านหนังสือที่ชูฟ้าเขียน เธอเข้าใจว่าเป็นคนจีนกวางตุ้ง ไม่คิดว่าเป็นหวาเฉียวเกิดในเมืองไทย มีเลือดไหหลำอยู่ครึ่งหนึ่ง
“เป็นคนมีความคิดแปลกประหลาด ฉันว่าเป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง” ดร. เจียง ให้ความเห็น “เขาจะกลับเมืองไทยไหม ?”
“ก็คงจะกลับ เพราะบ้านเขาอยู่ในเมืองไทย” ข้าพเจ้าตอบ
“เมืองไทยคงจะไม่มีใครคิดแปลก ๆ อย่างเขาเป็นแน่” นายแพทย์หญิงผู้มีชีวิตอยู่เพื่อชีวิตของผู้อื่นจะได้คงอยู่ พูดยิ้ม ๆ
“แต่ชูฟ้าเราก็มีเหตุผลของเขานะหมอ” ข้าพเจ้าพูดอย่างระวังตัว “ทุกวันนี้คนเกิดมากกว่าคนตาย วันหนึ่งคนจะแน่นโลก ปัญหาของโลกจะยิ่งแก้ยากขึ้นทุกวัน”
“แต่เราไม่แก้ด้วยการทำลาย” ดร. เจียง ค้านขึ้นอย่างตรงไปตรงมา “ฉันอยากจะคิดว่านายคนนี้เป็นคอมมิวนิสต์มากกว่าอะไร เพราะคอมมิวนิสต์ต้องการสร้างด้วยการทำลาย”
“ชูฟ้าเกลียดเมาเซตุง”
ดร. เจียง หันมาจ้องหน้าข้าพเจ้าทันที
“ว่าไงนะ ใครบอกเธอ ?”
“เขาบอก”
“เรื่องโกหกละต้องยกให้คอมมิวนิสต์เขา ลูกไม้เขามาก ฉันว่าชูฟ้าจะเป็นอะไรไม่ได้นอกจากคอมมิวนิสต์ ฉันยังไม่เคยอ่านหนังสือที่เขาเขียนสักประโยคเดียว ที่ด่าคอมมิวนิสต์”
“เท่าที่เขาพูดให้ฟัง” ข้าพเจ้าหยุดคิดเพื่อลำดับข้อความให้รัดกุม “ชูฟ้า เป็นตาวอิสต์”
ข้าพเจ้าคุยอยู่กับ ดร. เจียง จนถึงเวลาอาหารเย็น จึงลากลับไป นึกขึ้นได้ว่านัดจรินทร์ไว้ที่เป๋ห่ายกงหยวนตอนเย็น จรินทร์บอกว่า ถ้าไม่มีอุปสรรค เราจะมีเพื่อนคนไทยอีกคนหนึ่ง ที่กำลังเดินทางมาจากหมาเก๊า
ข้าพเจ้านั่งหยางเชอตรงไปยังเป๋ห่ายกงหยวน ขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังจะหมดแสง อาหารค่ำและหวงเจี่ยวที่เหลาริมทะเลสาบเป๋ห่าย คงจะทำให้อารมณ์หนุ่มของเราคึกคักเป็นพิเศษจนได้เวลาที่จะไปฮาตะเหมินแผ่นดินแห่งนางในราตรีที่ทำให้พวกเราได้รู้จักเมืองเกาหลีทั้ง ๆ ที่เรายังไปไม่ถึง ข้าพเจ้าคิดว่าคงจะได้พบคนไทย เพื่อนของจรินทร์ กอนซาเลส ซึ่งจรินทร์บอกว่าเดินทางมาจากหมาเก๊า ถ้ำใหญ่ของหม่าเจี้ยงและผู้หญิง
เดินข้ามสะพานหินขาวสลักอย่างวิจิตรมีอายุนับร้อยปี ไปยังเกาะน้อยกลางน้ำ ซึ่งเจดีย์ป๋ายถาสถิตอยู่บนยอดเนินสน ข้าพเจ้าสวนทางกับศาสตราจารย์หวูมี่ แห่งมหาวิทยาลัยชิงหวา ท่านผู้เฒ่านักเรียนอังกฤษรุ่นนายหลอชางใส่หมวกสักหลาดสีเทาใบเก่า ซึ่งใช้อยู่ใบเดียวทุกฤดูกาล ปกปิดเรือนผมซึ่งมีอยู่ค่อนข้างบางมาก ท่านอยู่ในชุดต้าผาวยัดสำลีสีเดียวกับหมวก แว่นตากรอบเงินครอบอยู่บนดั้งจมูกที่มีรอยคอดเห็นถนัด ภายใต้คิ้วอันหนาและหยาบ สายตาอันกล้าแข็งของท่านลอดกระจกแว่นที่หนาขึ้นทุกวัน พุ่งมายังข้าพเจ้าอย่างเคร่งเครียดตามเคย พร้อมกับยิ้มกว้างและทักทายด้วยคำพูดที่ค่อนข้างแห้ง แต่จริงใจ
เรายืนคุยกันบนสะพานหินขาวสักครู่ ศาสตราจารย์หวูมี่ ผู้เป็นการ์เดี้ยนอีกคนหนึ่งของข้าพเจ้าในปักกิ่ง ได้แนะให้ข้าพเจ้าพยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองจีน และทำชื่อเสียงไว้มาก เมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๙ โดยได้ต่อต้านรัฐบาลนักปฏิวัติที่ฉวยโอกาสสวมรอยการปฏิวัติของ ดร. ซุนยัดเซ็น โดยคัดค้านไม่ให้ขายแผ่นดินจีนแก่ญี่ปุ่นได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ในประวัติของระบอบประชาธิปไตย “เก๊กเหม็ง” ที่เกิดก่อนการปฏิวัติในรัสเซียของเลนินหกปี มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เป็นศูนย์กำเนิดสำคัญของความคิดแนวใหม่เรื่องชาตินิยม และการต่อต้าน เพื่อระบอบประชาธิปไตยที่ยังมองไม่เห็นฝั่ง การที่ศาสตราจารย์หวูมี่แนะให้ข้าพเจ้าเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ อาจเป็นเพราะท่านต้องการให้ข้าพเจ้าได้ศึกษาชีวิตจิตใจของนักศึกษา ที่สืบสายเลือดของบรรยากาศแห่งขบวนการ “หวู่ซื่อยุ่นตุ้ง” ซึ่งยืนขึ้นเพื่อชาวจีนมากกว่า ๔๐๐ ล้านคน เมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๙ ก็ได้ ข้าพเจ้าได้ความคิดริเริ่มเรื่องการเข้าไปในรั้วเหล็กสีน้ำตาลแก่ของตึกโบราณสีอิฐ แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง จากท่านศาสตราจารย์ผู้นี้ ท่านเป็นกำลังใจให้ข้าพเจ้าต่อสู้อย่างสุดตัว เพื่อเข้าไปเป็นนักเรียนไทยคนแรก ที่ได้มีโอกาสเป็นศิษย์ของท่าน ดร. เจี่ยงเมิ่งหลิน อธิการบดีของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ผู้เป็นนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงมากของประเทศจีน และในเวลาเดียวกัน ก็ได้มีโอกาสศึกษากับท่าน ดร. หูชื่อ (Dr. Hu Shih) ผู้นำขบวน “หวู่ซื่อยุ่นตุ้ง” คนหนึ่ง เมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๙ และเป็นนักปรัชญาจีนที่โลกรู้จักดี มีประวัติอยู่ในทำเนียบคนสำคัญของโลก
เมื่อผละจากท่านศาสตราจารย์หวูมี่แล้ว ข้าพเจ้าก็เดินเลาะไปตามถนนที่ปูด้วยหินแผ่นโต ๆ เลียบชายเนินเจดีย์ป๋ายถา ไปทางทิศเหนือจนถึงเหลาริมทะเลสาบ ซึ่งจรินทร์คงจะรอพบอยู่กับสหายคนไทย ที่มาจากหมาเก๊า
ที่เหลาแห่งนี้ มีคนไม่กี่คน อาจเป็นเพราะยังวันอยู่ก็ได้ ข้าพเจ้าไม่พบจรินทร์หรือผู้ใดที่ควรจะเป็นเพื่อนหน้าใหม่ของเรา แต่ขณะที่ยืนลังเลอยู่นั้น ก็ได้ยินเสียงที่เจนหูดังมาจากโต๊ะตัวหนึ่งริมลูกกรงชายน้ำ ซึ่งหิมะและน้ำแข็งกำลังเริ่มจะละลาย
ข้าพเจ้าหันหน้าไปดู ก็พบเหลียงกวงต้าน นักเรียนบอสตันมิตรสนิทของวารยา เขาโบกมือให้ แล้วชี้เก้าอี้แสดงกิริยาให้ข้าพเจ้าไปคุยกับเขา
ข้าพเจ้าเดินเข้าไปหา ด้วยความแปลกใจนิด ๆ ที่เหลียงไม่มีผู้หญิงสวย ๆ ติดมาด้วยเหมือนอย่างที่พบเขาทุกคราว เขามาคนเดียว เบื้องหน้ามีหวู่ซิงผีเจียวตั้งอยู่ขวดหนึ่ง พร้อมด้วยถ้วยแก้วสองใบ
เมื่อเห็นข้าพเจ้าจับตาดูถ้วยแก้วที่ตั้งคู่กันอยู่ โดยที่ใบหนึ่งยังว่างเปล่า ไม่มีน้ำสีเหลืองแม้แต่หยดเดียว เขาก็อธิบายว่า
“หลี่เค่อจ่างเขาจะแวะมาที่นี่” หยุดเว้นระยะนิดหนึ่งแล้วก็พูดต่อไปว่า “นั่งคุยกันสักครู่ซี เธอก็อยากถามเขาเรื่องเจียงเฟไม่ใช่หรือ ?”
ข้าพเจ้าเกิดความสนใจทันที นั่งลงตามคำเชิญ แล้วเหลียงก็รินเบียร์ส่งมาให้ พร้อมกับพูดว่า
“เธอคงมีนัด ?”
ข้าพเจ้ายิ้มอย่างยอมรับ
“มีเพื่อนคนไทยมาจากหมาเก๊า”
“อ้อ ! ดีใจที่เธอจะได้เหงาน้อยลง แต่วารยาก็ช่วยเธอมากไม่ใช่หรือ ?”
คำพูดประโยคสุดท้ายของเหลียง ทำให้ข้าพเจ้าแปลบในใจ นึกหาคำตอบที่ดีที่สุดก่อนที่จะเปิดปากพูดออกไป
“ฉันเป็นคนเคราะห์ดีที่ใคร ๆ ก็ช่วยให้อยู่ปักกิ่งได้ทน”
“แต่ไม่ใช่เพราะทนอยู่” เหลียงหัวเราะ “วารยาเล่าให้ฉันฟังว่า เธอได้เพื่อนใหม่มาจากเมืองไทยชื่อ ชูฟ้า”
ข้าพเจ้าพยักหน้า
“เป็นหวาเฉียว ปู่อยู่ในเกาะไหหลำ เขาเกิดในเมืองไทย เคยได้ยินชื่อจากเจียงเหมย”
“ชูฟ้าเป็นคนที่หลีเค่อจ่างกำลังถามหา” เหลียงพูดเสียงเบา “เธอคบกับเขาระวังตัวหน่อยนะ”
“เรื่องอะไร ?” ข้าพเจ้าจ้องหน้าเขาอย่างสนใจ
เหลียงส่ายหน้า ทำท่าเบื่อหน่าย
“คนพวกนี้ คิดแต่จะเป็นใหญ่ เมืองจีนมีนักปฏิวัติมากมายเหลือเกิน”
“ชูฟ้าน่ะหรือเป็นนักปฏิวัติ ?” ข้าพเจ้าพูดเป็นเชิงขอคำอธิบาย เพราะบางทีอาจเป็นประโยชน์ที่จะศึกษาจิตใจของชูฟ้าต่อไป
“ชูฟ้า เป็นคอมมิวนิสต์ อีกไม่ช้าก็จะถูกยิงทิ้งตามแบบฉบับของตำรวจที่นี่ เธอเคยไปดูเขาประหารชีวิตกันที่เทียนเฉียว ทางเซาท์ซิตี้หรือยัง ? เดินเลยบ้านตู้หลิงที่เธออยู่ไปหน่อยเดียวก็ได้ดู เขาใช้ปืนสั้นเพียงกระบอกเดียว ใช้กระสุนนัดเดียว จ่อเข้าที่ท้ายทอย โป้งเดียวก็ถีบลงหลุมไป มัธยัสถ์ลูกปืนดีที่สุด”
ข้าพเจ้านั่งนิ่ง ในใจมัวคิดถึงคำที่ว่าชูฟ้าเป็นคอมมิวนิสต์ ข้าพเจ้าคุยกับโอเวอร์ซีไชนีสคนนี้มาหยก ๆ ชูฟ้าเป็น ตาวอิสต์ ไม่ใช่คอมมิวนิสต์
“ชูฟ้าน่ะหรือเป็นคอมมิวนิสต์ ?” ข้าพเจ้าพึมพำ
“ชูฟ้าบูชาเมาเซตุง”
“แปลก ! ฉันเคยคุยกับเขา เขาไม่ใช่พวกเมาเซตุง”
“ไม่จริง ชูฟ้าเป็นคนของเมาเซตุง สักวันหนึ่งเธอจะรู้”
ข้าพเจ้าโคลงศีรษะช้า ๆ
“ตำรวจบอกใช่ไหม ?”
“พวกมหาวิทยาลัยเยียนจิงก็พูดกัน ชูฟ้าต้องการให้เมาเซตุงครองเมืองจีน เขาว่าต้องการให้เกิดสงครามตะวันออก”
“อ้อ, เข้าใจ เขาไม่ต้องการเมาเซตุงหรอก เขาต้องการสงครามต่างหาก”
เหลียงเรียกซากูระมาขวดหนึ่ง แล้วพูดว่า
“นั่นแหละเขาต้องการเมาเซตุงละ เขาต้องการให้เมาเซตุงเป็นพระเจ้าองค์เดียว”
ข้าพเจ้าหัวเราะ
“ฉันว่า ชูฟ้าต้องการให้เมาเซตุงเป็นเพชฌฆาตมากกว่า เป็นทูตมรณะของมนุษยชาติเช่นเดียวกับ เลนิน—สตาลิน”
“ไม่เข้าใจ” เหลียงพูดเสียงกระชาก แล้วกรอกเบียร์เข้าไปอึกใหญ่
“ชูฟ้าต้องการลดคนในโลก เขาว่าโลกยุ่งเพราะมีคนมากไป–ทำมากไป มีความต้องการมากไป สงครามกับโรคระบาด จะช่วยลดจำนวนคนลง แล้วคนที่ดุร้าย บ้าคลั่ง อย่างเมาเซตุง หรือสตาลิน จะเป็นคนสร้างสงครามที่ไม่มีชาติ คนจะฆ่ากันจนโลกสงบไปเอง เธอฟังให้ดี คนที่ชูฟ้าบูชา คือ เล่าจี๊อ–ไม่ใช่เมาเซตุง”
๒
ขณะนั้น เราเห็นใคร ๆ ในเหลาพากันยืนขึ้นและส่งเสียงเอะอะ ทุกคนมองไปยังฝั่งทะเลสาบทางทิศตะวันออก ก็เห็นคนประมาณสิบกว่าคนกำลังวิ่งออกมาจากฝั่งลัดเลาะไปตามผิวน้ำแข็งตรงไปยังจุดดำเล็ก ๆ ที่พื้นน้ำแข็งซึ่งกำลังจะละลายออกเป็นน้ำเพื่อต้อนรับฤดูดอกไม้บานแห่งชุนเทียนของปักกิ่ง จุดดำนั้นมีลักษณะคล้ายศีรษะคนมาก ข้าพเจ้าเพ่งตามองอย่างตื่นเต้น ในที่สุดก็เห็นมีมือชูขึ้นมาข้างหนึ่งพ้นพื้นน้ำแข็ง คล้ายกับจะขอความช่วยเหลือ คนสิบกว่าคนที่วิ่งออกมาต่างก็พยายามเร่งฝีเท้า แต่สังเกตได้ว่าทุกคนระวังตัวมาก คงจะกลัวพื้นน้ำแข็งยุบลงเพราะน้ำแข็งได้บางลงทุกวัน เนื่องจากอากาศเริ่มอบอุ่นแล้ว ภายในไม่กี่สัปดาห์ ทะเลสาบเป๋ห่ายก็จะพ้นสภาพจากทะเลน้ำแข็ง กลายเป็นทะเลน้ำจืดอันใสแจ๋วซึ่งไหลซึมมาจากน้ำพุบริเวณเขาซีชาน สักครู่หลายคนที่จ้องดูภาพประหลาดตรงหน้าซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่เกินห้าร้อยเมตรได้ร้องขึ้นเกือบพร้อมกันว่า
“คน !—คนตกน้ำ !”
เหลียงหันหน้ามาพูดกับข้าพเจ้าว่า
“บ้าจริง! นี่มันสปริงแล้ว ดันลงไปเดินเล่นบนน้ำแข็งทำไมกัน หาที่ตายเปล่า ๆ”
ข้าพเจ้าไม่พูดอะไร ตายังจับอยู่ที่ภาพอันตื่นเต้นตรงหน้า คนสิบกว่าคนที่วิ่งไปบนผิวน้ำแข็งอย่างระมัดระวัง บัดนี้ได้ไปถึงบ่อน้ำแข็งที่คนเคราะห์ร้ายผู้นั้นตกลงไปลอยคออยู่ในน้ำอันเย็นยะเยือกแล้ว เขาเอาไม้ยาวทอดเข้าไปที่ขอบบ่อ ร้องตะโกนให้ผู้นั้นจับเสียงดังก้องสะท้อนพื้นน้ำแข็งอันกว้างใหญ่มาถึงเหลาที่เรายืนดูอยู่ได้ยินอย่างถนัด เสียงตะโกนเอะอะดังอยู่สักประเดี๋ยวหนึ่ง เราก็เห็นมนุษย์ผู้ยังมีโชคที่จะได้เห็นดอกเถาแห่งฤดูชุนเทียนบานต่อไปอีกอย่างน้อยระยะหนึ่ง ก็ถูกลากขึ้นมาจากบ่อน้ำแข็งช้า ๆ อย่างระมัดระวัง เพราะถ้าใช้กำลังลากเร็วเกินไป ก็อาจทำให้ผิวน้ำแข็งเกิดการแตกแยกขึ้นได้ ซึ่งบางทีทุกคนที่ลากอยู่ก็อาจลงไปอาบน้ำแข็งกันอีกซึ่งไม่ใช่ฤดูที่จะลงไปอาบเลย
ข้าพเจ้าหายใจยาวอย่างโล่งอก นั่งลงคุยกับเหลียงต่อไปอีกครู่ใหญ่ ก็ไม่เห็นจรินทร์กับเพื่อนไทยคนใหม่ผ่านเข้ามาในเหลาตามนัด จรินทร์ผิดนัดอีก บางทีเพื่อนของเขาอาจยังมาไม่ถึงปักกิ่งก็ได้
ข้าพเจ้ากลับไปบ้านตู้หลิงที่หนานเฉิง หรือที่ฝรั่งเรียกว่าเซาท์ซิตี้ พอเข้าไปในห้องซึ่งใช้ทั้งนอนและเขียนหนังสือ ก็เห็นกระดาษชิ้นหนึ่งวางอยู่บนโต๊ะข้างเตียงนอน เมื่อเข้าไปหยิบขึ้นมาอ่าน ก็พบข้อความสั้น ๆ เป็นภาษาจีนว่า
วลาดิมีร์ตกบ่อน้ำแข่งที่เป๋ห่าย เวลานี้อยู่ พี.ยู.เอ็ม.ซี. วารยาโทรศัพท์มาเมื่อกี้
เสี่ยวเม่