- คำนำ
- คำปรารภ
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- บทที่ ๔๑
- บทที่ ๔๒
- บทที่ ๔๓
- บทที่ ๔๔
- บทที่ ๔๕
- บทที่ ๔๖
- บทที่ ๔๗
- บทที่ ๔๘
- บทที่ ๔๙
- บทที่ ๕๐
- บทที่ ๕๑
- บทที่ ๕๒
- บทที่ ๕๓
- บทที่ ๕๔
- บทที่ ๕๕
- บทที่ ๕๖
บทที่ ๕๑
๑
แม้สนต้นที่เรานั่งอยู่ใต้กิ่งก้านสาขาอันแผ่ไพศาล จะมีอายุนับร้อยปี แต่เราก็ยังเห็นมันแตกใบอ่อน รับชุนเทียนที่ก้าวย่างเข้ามา ใบอ่อนเป็นฝอยสีเขียวสดตัดกับท้องฟ้าสีครามหม่นของการเริ่มฤดูที่ธรรมชาติจะตั้งต้นระบายโลกด้วยสีที่มนุษย์ผสมไม่ได้อีกครั้งหนึ่งนี้ ได้เป็นสัญญลักษณ์ที่ยืนยันว่า สนโบราณที่ขึ้นอยู่เต็มจงซานกงหยวน หรือสวนสาธารณะของ ดร. ซุนยัดเซน ในใจกลางมหานครปักกิ่ง ยังจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก อาจจะเป็นพันปีถ้าสงครามไม่ด่วนเข้ามาทำลาย มันเป็นต้นไม้ที่ยืนยง–เป็นสัญญลักษณ์ของความมีอายุยืน มันเคยยืนอยู่บนภูเขาท่ายซาน...ภูเขาหวาซาน...ก่อนยุคขงจื๊อ...เล่าจื๊อ–ก่อนยุคหวงตี้–หรือแม้ตั้งแต่ยุคของเหยาผู้ยกทวีปขึ้นเหนือมหาสมุทร และต้นสนหรือซงชู่นี้ทำให้ข้าพเจ้าคิดไปไกล ต้นสนยืนอยู่คู่ขุนเขา ระบายสีเขียวสดให้แก่ทวีปของเหยา โดยไม่ทิ้งใบแม้เวลาคงเทียนเมื่อหิมะตกพรู สร้างความสวยงาม ความสงบร่มเย็นให้แก่โลกอันแสนวิเศษนี้ แต่มนุษย์เกิดมาเพียงครู่เดียวแล้วก็เน่าเหม็นไป ขนเอาความอยากที่ไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักพอมาสร้าง ๆ แล้วก็ทำลายเสีย เหี้ยมโหดเห็นแก่ตัว เมามัวอยู่กับอำนาจวาสนา บ้าคลั่งอยู่กับความมืดบอด ทำตนเป็นสัตว์ที่ยังไม่ยอมทิ้งดงดิบ แล้วโลกก็วุ่นวาย ห่างไกลกับเงาร่มอันเป็นระรื่นสงบสงัด ใต้ต้นสนบนยอดเขาหวาซานของสานุศิษย์เล่าจื๊อ หรือเหลาจื่อในสำเนียงปักกิ่ง วันนั้นเงาร่มของสนคู่ราชบัลลังก์แมนจู ซึ่งมีอายุนับด้วยศตวรรษในจงซานกงหยวนก็ให้ความร่มรื่นอันเย็นฉ่ำ เต็มไปด้วยความสงบเงียบแก่ชูฟ้ากับข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีความสบายใจเป็นพิเศษเพราะเงาไม้อันร่มเย็นตามธรรมชาติของมัน แต่ขณะเดียวกันข้าพเจ้าก็อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมชูฟ้า นิมนิรันดร์ หนุ่มฉกรรจ์ผู้นี้จึงไม่มีความเย็นเหมือนต้นสน เขาเกิดมาดูโลกได้เพียงยี่สิบกว่าปี ก็คิดจะทำลายชีวิต ทำลายโลกที่เขาถือว่าเป็นศัตรู ส่วนต้นสนซึ่งยืนอยู่คู่ฟ้านับร้อยนับพันปีมีแต่ให้ความร่มเย็นแก่มนุษย์อย่างเงียบสงบและมั่นคง ทนทานต่อความร้อนความหนาว ไม่บ่นพร่ำรำพัน และไม่ทำลาย มนุษย์ได้สร้างได้ทำลายโลกด้วยชีวิตอันสั้นของแต่ละคน แต่ต้นไม้ใบหญ้ามีแต่สร้างและทำให้โลกสวยงามอยู่ตลอดกาล ได้ยืนหยัดยึดเอาความนิ่งความสงบเสงี่ยมเจียมตัวเป็นสรณะ ยอมให้มนุษย์ทำลายด้วยมีดด้วยขวาน...และในบัดนี้...ด้วยอาวุธร้ายที่จะเผามันให้เป็นขี้เถ้า....เพื่อจะทำให้โลกกลายเป็นดวงไฟดวงใหญ่ตามเดิม...หรืออย่างน้อย ก็ทำให้โลกแล้งเป็นทะเลทราย
เงาร่มใต้ต้นสนซึ่งควรจะช่วยให้โลกร่มเย็นชั่วนิจนิรันดร์ ทำให้ข้าพเจ้าวาบหวามในใจเมื่อชูฟ้า นิ่มนิรันดร์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเยียนจิง ผู้เป็นหวาเฉียวหรือโอเวอร์ซี ไชนีส ซึ่งเกิดในแหลมทองได้เอ่ยขึ้นอีกว่า
“ผมเชื่อมั่นของผมว่าคนยิ่งเกิดมาก ความทุกข์ในโลกก็ยิ่งมีมาก สิ่งที่จะแก้ความทุกข์ของเราได้ก็คือ ต้องทำให้มนุษย์ตายเสียให้มากที่สุด และต้องวางแผนคุมกำเนิดให้ดีที่สุด”
ข้าพเจ้ามองตาเขาเป็นเชิงถาม ชูฟ้าจึงพูดต่อไป
“คุณคงคิดว่าผมเสียสติไป แต่ผมพูดความจริง คนเราเกิดมาก ความต้องการก็ยังมีมาก เมื่อต่างคนต่างต้องการ การเบียดเบียนกันแย่งชิงกันก็หนีไม่พ้น เพราะมันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่จะต้องต่อสู้เอาชีวิตให้รอด ไม่มีใครยอมตาย การเบียดเบียนกันทำให้เกิดความทุกข์ เกิดปัญหาเศรษฐกิจ เกิดปัญหาความอดอยากยากจน เกิดปัญหาสังคมร้อยแปด ศาสนาช่วยไม่ได้ เพราะความชั่วเกิดเร็วกว่าและเกิดมากกว่าความดี การศึกษาก็ช่วยไม่ได้ เพราะการศึกษาสอนความเจริญทางวัตถุมากกว่าความเจริญทางจิตใจ การศึกษาอย่างที่ทำกันอยู่เดี๋ยวนี้เป็นแต่เครื่องยั่วยุให้โลกวุ่นวายมากขึ้นอีก ผมเห็นว่าปัญหาของโลกอยู่ที่การเพิ่มของคน ถ้าเรายังขืนปล่อยให้คนล้นโลกเราจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย ในวันสุดท้ายโลกจะต้องกลายเป็นเมืองนรก ความร่มเย็นและความสวยงามของธรรมชาติจะไม่มี เพราะมันจะถูกทำลายไป หรือถ้ายังเหลืออยู่ มนุษย์ก็จะมองไม่เห็น หรือเห็นก็ไม่รู้สึก เพราะมันทุกข์ถึงที่สุดจนไม่อยากคิดถึงอะไรอีก”
“ผมพอจะเข้าใจความหมายของคุณ” ข้าพเจ้าพูดเสียงเศร้า ๆ “แล้วคุณจะทำให้มนุษย์ลดจำนวนน้อยลงได้อย่างไร ?”
“ทำลายเสีย !” เขาตอบอย่างไม่ต้องคิดให้เสียเวลา
“ฆ่า ?”
“ความตายคือทางรอดของโลก” เสียงของเขายังหนักแน่นอยู่
ข้าพเจ้านั่งงงเหมือนถูกของหนัก ๆ ตกใส่ศีรษะ
“คุณจะทำให้คนตายได้อย่างไร ?”
เขาหัวเราะอย่างไม่ไยดี
“ผมคนเดียวทำไม่ได้ แต่ทุกคนจะช่วยผม ทุกวันนี้เขาก็กำลังช่วยผมอยู่แล้ว”
“ช่วย ?”
“ฮิตเล่อร์ช่วย, มุสโสลินีช่วย, สตาลินช่วย...” เขาหัวเราะอีก “ในเมืองจีนเมาเซตุงจะช่วยมากกว่าใคร...แล้ว...พวกซามูไรญี่ปุ่น”
“สงคราม”
“คุณเข้าใจถูกแล้ว เราจะฆ่ากันทั้งโลกเพื่อลดจำนวนมนุษย์ให้น้อยลง ทฤษฎีนี้ผมตั้งชื่อให้ว่าทฤษฎีแห่งการทำลาย”
“ถ้าเช่นนั้นคุณต้องการให้โลกรบกันใช่ไหม ?” ข้าพเจ้าถาม
“แต่ก่อนผมแอนตี้สงคราม” เขาพูดโดยไม่มองหน้าข้าพเจ้า สายตาของเขาจับอยู่ที่ท้องฟ้าสีครามหม่นชายกิ่งสน “ผมเกลียดสงครามมาก เพราะมันนำความทุกข์มาให้มนุษย์ แต่แล้วผมก็ได้สติ ผมเห็นในมุมกลับว่า สงครามอย่างเดียวเท่านั้น ที่จะนำความสุขความสงบมาให้มนุษย์ได้ มนุษย์กำลังเป็นโรคมะเร็ง มันต้องผ่าตัดใหญ่ สงครามคือการผ่าตัดใหญ่ เมื่อผ่าตัดแล้วมนุษย์จะลดจำนวนลง จะเริ่มมองเห็นสาเหตุของทุกข์ว่าเกิดจากความโลภ ความหลง จะเริ่มรักความสงบ ลดการเบียดเบียนกัน จะเริ่มเข้าใจกัน และออกมาจากดงดิบ สงครามจะทำให้มนุษย์และเห็นสัจธรรมของชีวิต ความโง่ ความมืดบอด จะค่อย ๆ หมดไป”
ข้าพเจ้านั่งนิ่ง คำพูดของชูฟ้าทิ่มแทงใจ เพราะทุกคำข้าพเจ้ารู้สึกว่าเขาพูดออกมาจากหัวใจ ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิง ไม่มีแผนโฆษณาโกหกอย่างที่นักการเมืองนักการค้าชอบทำให้โลกวุ่นวายเพื่อประโยชน์ที่ตัวเองจะได้ ไม่มีปัญหาเลย ชูฟ้าได้คิดอย่างอกุศล...แต่จิตของเขา...ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกว่าไม่ใช่อกุศล การกระทำเท่านั้น–คือวิธีผ่าตัดใหญ่–เป็นบาป ที่ยากจะเข้าใจได้
๒
นกกางเขนสองตัวสีดำขาวบินมาจับอยู่ที่ปลายกิ่งสนกิ่งหนึ่ง มันส่งเสียงพูดกันจู๋จี๋ด้วยความสุข ชูฟ้าชี้มือให้ข้าพเจ้าดูแล้วพูดว่า
“คนเราจะมีความสุขเหมือนนก ถ้าเราหยุดสร้างเสียที เราสร้างเพราะเราต้องการ แต่เรายิ่งสร้างเราก็ยิ่งต้องการมากขึ้น เวลานี้เราสร้างมากเกินไป กินแรงคนอื่น กินแรงตัวเองมากเกินไป เราต้องทำลายเสียบ้าง เหมือนกาแฟในบราซิลที่เราต้องโยนทิ้งทะเล ผมกำลังรอสงครามโลก–สงครามฮิตเล่อร์ สงครามทานากา คุณคอยดู สักวันหนึ่งในเร็ว ๆ นี้แหละยุโรปจะมีนโปเลียนอีก มันจะเป็นการทำลายครั้งใหญ่ของมนุษย์ หลังจากสงครามไกเซ่อร์แล้วเราก็จะมีการทำลายครั้งสำคัญมากและใหญ่มากติดตามมาอีกในอายุคุณอายุผม คือการทำลายระหว่างชนชั้น....ไม่ใช่ระหว่างชาตินั้นชาตินี้......แต่ระหว่างคนกับคนไม่มี การทำลายครั้งนี้แหละ คนทั้งโลกจะลุกขึ้นฆ่ากันไม่เลือกชาติไม่เลือกภาษา ผมว่าผมจะรอโอกาสของผม–โอกาสที่ผมจะมีโลกใหม่ ที่มีมนุษย์เหลือไม่กี่คน เราจะกลับไปหายุคเล่าจื๊อ ซึ่งคนสามารถมีชีวิตได้เหมือนนกบนกิ่งสน–มีความสุขสงบร่มเย็นอยู่กับธรรมชาติที่สวยงาม–มีความพอใจเพราะรู้จักพอ–มีความต้องการเพียงแค่ชีวิตต้องการเท่านั้น–ไม่มีอะไรล้นเหลือ–ไม่มีอะไรฟุ้งเฟ้อ–เราจะมีแต่ความพอดี–แล้วทุกอย่างโดยเฉพาะเศรษฐกิจก็จะปรับตัวเองเข้ามาหาความพอดี ไม่มีกำไรมากเกินไป เพราะเหตุที่ไปกินแรงคนอื่นเขามา และไม่ขาดทุนมากเกินไป เพราะเหตุที่ไปถูกคนอื่นกินแรง เมื่อกำไรขาดทุนปรับตัวเข้าสู่ความพอดีได้ คนจะเลิกกินแรงกัน แล้วเราก็จะมีชีวิตที่รู้จักพอ ไม่โลภ, ไม่กอบโกย, ไม่เบียดเบียนคนอื่น นี่แหละ, ระพินทร์, โลกใหม่ ที่จะมีสันติภาพถาวร”
ข้าพเจ้าแอบถอนใจใหญ่เบา ๆ อย่างที่กลัวชูฟ้าจะได้ยิน แต่เขาก็รู้ว่าข้าพเจ้าแอบทำเช่นนั้น และเข้าใจดีว่าทำไมข้าพเจ้าจึงทำเช่นนั้น
“คุณจะต้องไม่เห็นด้วย” เขาพูดยิ้ม ๆ
“ผมว่า โลกใหม่ของคุณมันเป็นไปไม่ได้หรอก ชูฟ้า” ข้าพเจ้าพูดช้า ๆ อย่างระมัดระวัง “คุณคิดอย่างสวยงาม แต่มันเป็นจริงไม่ได้ ยุคของเล่าจื๊อมันผ่านไปนานแล้ว ลัทธิหวูเหวยมันจะกลับมาอีกไม่ได้แล้ว”
“ผมอาจจะบันดาลให้มันเป็นอย่างผมคิดไม่ได้ เพราะผมมีมือเพียงสองมือ” เขาชูมือขึ้น แต่ธรรมชาติมันจะบันดาลของมันเอง ธรรมชาติมันต้องทำได้ น้ำในลำธารมันต้องไหลลงมาจากภูเขา แต่ทุกวันนี้มนุษย์เราอุตริใช้กำลังดันน้ำให้ไหลกลับขึ้นไปบนภูเขา เราฝืนกฎของธรรมชาติเราอาจฝืนได้ชั่วเวลาหนึ่ง แต่จะฝืนอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ เวลาจะชนะเราสักหนึ่ง เพราะเวลาคือพระเจ้าที่บงการชีวิตให้อยู่อย่างธรรมชาติ ไม่ใช่อยู่อย่างฝืนธรรมชาติ”
“แปลว่าคนทำผิดเพราะสร้าง ความเจริญของโลกเป็นความผิดใช่ไหม ?” ข้าพเจ้าถาม ตาจับอยู่ที่หน้าของนักคิดที่อาจอ่านคัมภีร์ต้าวเต๋อจิงมากเกินไป และยึดมั่นอยู่ในลัทธิ “หวูเหวย” มากเกินไป
“คนเราทำผิดไม่ใช่เพราะสร้าง แต่เพราะสร้างมากเกินไปจนไม่รู้จักพอ” เขาพูดช้า ๆ อย่างชัดคำ “เวลานี้พูดกันเฉพาะในเมืองจีนเมาเซตุงก็สร้าง เจียงไคเช็คก็สร้าง จางโซเหลียงก็สร้าง หลูกวง สนาน เจียงเฟ ก็สร้าง ทุกคนคิดว่าการแก้ปัญญาของสังคมต้องสร้างอย่างเดียวตามวิธีของแต่ละคน ไม่เคยมีใครคิดว่าการสร้างมีแต่จะเพิ่มความวุ่นวายให้มากขึ้น ผมเคยเถียงกับหลูกวง เขาว่าโลกอยู่ได้เพราะการสร้าง–การทำงาน ผมว่าโลกจะพังทลายเพราะเราสร้างมากเกินไป–ทำงานมากไป”
“คุณคงไม่ชอบหลูกวง ?” ข้าพเจ้าถามขัดขึ้น
“เขาสร้างความทุกข์ให้แก่มนุษย์” ชูฟ้าตอบอย่างหนักแน่น ด้วยความมั่นใจตัวเอง
“คุณก็คงไม่ชอบเมาเซตุงด้วย ?”
“เมาเซตุงทำท่าจะเป็นนักบุญเมื่อสมัยเด็ก แต่พอใหญ่โตมีอำนาจวาสนา เขาก็กลายเป็นผู้ร้ายฆ่าคนจำนวนล้าน เพราะคลั่งความคิด ที่ฝืนธรรมชาติมนุษย์ ผมไม่ชอบเมาเซตุง เพราะเขาไม่ใช่ผู้ดับทุกข์ แต่เป็นผู้ก่อทุกข์ แต่เขาก็เป็นคนมีประโยชน์ เพราะเขาจะช่วยทำลายมนุษย์ให้มีจำนวนน้อยลงเช่นเดียวกับนโปเลียน และไกเซ่อร์”
ข้าพเจ้านึกถึงเจียงเฟ อยากจะรู้ว่าชูฟ้ามีความเห็นในตัวบุคคลผู้นี้อย่างไร จึงถามว่า
“แล้วเจียงเฟเล่า ? คุณคงรู้จักไม่ใช่หรือ ? คุณก็คงไม่ชอบเขาเหมือนกันใช่ไหมล่ะ ?”
ชูฟ้า นิ่มนิรันดร์ เหลือบตามองดูนกกางเขนสองตัวที่ยังคงจับกิ่งสนจู๋จี๋กันอยู่ตรงหน้า แล้วก็ตอบอย่างใช้ความคิดว่า
“เจียงเฟก็พยายามสร้าง เขากำลังนำคนจีนยุคใหม่ขึ้นมา แต่เขาจะสร้างไม่สำเร็จ ถ้าไม่มีใครช่วยเขาทำลาย”
“แล้วใครล่ะจะช่วยเขาทำลาย ?”
“เวลาจะตอบคุณ แต่ผมสงสัยว่าเวลาอาจจะตอบไม่ทันก็ได้”
“ทำไม ?” ข้าพเจ้าชะโงกหน้าเข้าไปหาเขาอย่างไม่รู้สึกตัว
“คุณก็รู้ดี–ในเมืองจีนเวลานี้–คนตายได้ทุกเวลา”