- คำนำ
- คำปรารภ
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- บทที่ ๔๑
- บทที่ ๔๒
- บทที่ ๔๓
- บทที่ ๔๔
- บทที่ ๔๕
- บทที่ ๔๖
- บทที่ ๔๗
- บทที่ ๔๘
- บทที่ ๔๙
- บทที่ ๕๐
- บทที่ ๕๑
- บทที่ ๕๒
- บทที่ ๕๓
- บทที่ ๕๔
- บทที่ ๕๕
- บทที่ ๕๖
บทที่ ๒๔
๑
คืนนั้นหลังจากการเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อฉลองวันอิสรภาพของวลาดิมีร์ได้ผ่านไปแล้ว วารยาก็ขออนุญาตพ่อไปคาราซาร์กับข้าพเจ้า วลาดิมีร์อนุญาตแต่โดยดี คุยกันอีกครู่หนึ่ง วารยาก็ชวนข้าพเจ้าออกไปจากคาบารอฟส์ก์
พอโผล่ออกไปนอกถนนซึ่งค่อนข้างมืดสลัว เพราะไฟถนนมีแสงไม่พอ เทศบาลคงมีเงินน้อยไป พวกคนลากรถซึ่งเป็นขาของชาวปักกิ่ง ๙๙.๙๙ เปอร์เซ็นต์ก็รุมกันเข้ามาล้อม ส่งภาษาพื้นเมืองเอะอะ ต่างคนต่างจะให้ไปคันของตน เราเลือกคนลากรถหนุ่มฉกรรจ์ได้สองคน คะเนว่าจะต้องมีฝีเท้าดี เราไม่ผิดหวัง รถลากชั้นดีเกือบจะหุ้มด้วยทองเหลืองทั้งคัน ขัดมันแวววาวเมื่อกระทบแสงไฟ วิ่งไล่กันไปอย่างรวดเร็ว บ่ายหน้าไปทางคาราซาร์
ตลอดทางซึ่งเราใช้เวลาไม่กี่นาที ข้าพเจ้าก็ครุ่นคิดถึงถ้อยคำและท่าทางของวลาดิมีร์ มีอะไรหลายอย่างที่ชวนให้สะดุดใจ วลาดิมีร์จะต้องมีแผนการอะไรสักอย่างหนึ่งแน่นอน ถนนใหม่ของเขาคืออะไร ? มันจะต้องเป็นถนนที่เขาคิดว่าปลอดภัยสำหรับวารยา แต่วารยามีภัยอะไรเล่า? นี่คือปัญหาที่ข้าพเจ้าอดเอามาคิดไม่ได้
เมื่อถึงคาราซาร์แล้ว ข้าพเจ้าก็พาวารยาไปที่โต๊ะตรงมุมห้องโถงด้านตะวันตกซึ่งเงียบดี เพราะอยู่ห่างจากฟลอร์เต้นรำ เบียร์ซากุระช่วยให้เราคุยกันด้วยอารมณ์ที่ชื่นบานตลอดเวลา เราออกเต้นรำกันเพียงสองรอบ เพราะทั้งวารยาและข้าพเจ้าพอใจกับการนั่งพูดกันถึงสิ่งที่ชีวิตต้องการ มากกว่าจะออกไปโลดเต้นอยู่กับเสียงดนตรี เราต่างคนดูเหมือนจะมีความรู้สึกว่าเรามีความในใจที่อยากจะพูดกัน เราไม่ต้องการให้มันหนักอึ้งอยู่โดยไม่หาโอกาสระบายมันออกมา
ข้าพเจ้าไม่คิดว่าความในใจของเรานี้ เราเจตนาจะสร้างมันขึ้น เหมือนคนหนุ่มคนสาวทั้งหลาย มันไม่ใช่ความในใจอย่างที่หนุ่มสาวทุกคนมี
มันเป็นความรู้สึกที่ว้าเหว่เปล่าเปลี่ยวมากกว่าอย่างอื่น ขอให้เชื่อเถิด สาบานได้ว่าข้าพเจ้าไม่ได้รักวารยา แต่มีอะไรหลายอย่างเหลือเกินในตัววารยา ที่จูงใจให้ข้าพเจ้าต้องสนใจ บัวไม่เคยเข้าใจข้าพเจ้า เขาเชื่อสนิทว่าข้าพเจ้ากำลังหลงรักวารยาอย่างมากมาย เขาไม่เห็นด้วย แต่เขาไม่ได้พูดออกมา บัวมองวารยาอย่างผู้หญิงสาวธรรมดา ซึ่งเขาคิดว่า เขาได้ผ่านมาแล้วอย่างโชกโชนในกรุงเทพฯ และในโตเกียว เขาว่าข้าพเจ้าไม่ประสา ข้าพเจ้าใหม่เกินไปสำหรับผู้หญิง ก็อาจจะจริงของเขา ในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักผู้หญิง ไม่เคยถูกตัวผู้หญิง ในฮ่องกงข้าพเจ้าขังตัวเองอยู่กับ Pokfulum House และ Stanley House เพื่อนฝูงเขาหนีเที่ยวกันตอนหลัง Prep คือการเรียนตอนกลางคืน ข้าพเจ้าไม่เคยไปไหนกับเขา เต็มใจสมัครเป็นยามประตูคอยเปิดประตูให้เมื่อเขากลับตอนหลังเที่ยงคืน และบางคืนก็ต้องเสี่ยงกับการถูกครูจับได้ เพราะอาจารย์ Tang Ying Lan หรืออาจารย์ Tam Cheung Huan บางทีก็ลุกขึ้นมาเดินตรวจตึกนอนตอนดึก ๆ ที่ Stanley หลังเกาะฮ่องกงอันเป็นที่ตั้งของ St. Stephen s College ข้าพเจ้าได้ใช้ชีวิตให้หมดเปลืองไปด้วยการเรียนอย่างหนัก ในเวลาฮอลิเดย์ก็ออกไปเที่ยวบนแผ่นดินใหญ่ หรือมิฉะนั้นก็ออกไปนั่งเขียนรูปในซอกหินชายหาด ซึ่งมีสุมทุมพุ่มไม้ร่มเย็นสบาย เป็นชีวิตที่ขลุกอยู่กับธรรมชาติอันสวยงามมากกว่าจะอยู่กับผู้หญิงที่สวยงาม มันเป็นมุมสงบที่สุดในชีวิตของข้าพเจ้า แม้ ๖๒ ปีจะได้ผ่านไปแล้วในบัดนี้ ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้พบมุมสงบมุมใดเท่าเทียมกับที่ข้าพเจ้าได้พบที่ Stanley มันเป็นมุมสงบในวิมานของธรรมชาติ ที่ไม่มีมนุษย์ย่างกรายมาให้เห็นเป็นการกวนระบบประสาท มีแต่น้ำทะเลใสแจ๋ว ในซอกหิน มีทรายขาวสะอาด มีโขดหินที่มนุษย์ไม่สามารถจะประดับให้งามเหมือนได้ มีแผ่นน้ำอันไกลลิบสุดขอบฟ้า แสดงความกว้างใหญ่ไพศาลที่ช่วยให้ชีวิตพ้นจากการถูกบีบด้วยแผ่นคอนกรีตในตัวเมือง แล้วก็...ยังมีฟ้ากับลมซึ่งพาจิตของเราท่องเที่ยวไปในจักรวาลที่หาความสิ้นสุดไม่พบ นั่นคือมุมสงบ–ต่างกับมุมสงบในวัดที่ข้าพเจ้าหนีเข้าไปหาพระธรรม ข้าพเจ้าพยายามเข้าให้ถึงแก่นพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ประสาทข้าพเจ้าถูกทำลายด้วยเสียงที่นักธรรมเขาทะเลาะกัน เขาเถียงกันด้วยโทสะและอคติ แต่ละคนก็ว่าตัวถูก ไม่มีใครผิด ข้าพเจ้าไม่คิดว่านั่นเป็นมุมสงบ ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ควรจะเป็นของยาก ถ้าเราไม่ทำให้ยาก เราพูดกันมากไปจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ฟังแล้วถึงวยงงไปหมด จนไม่สามารถจะเข้าถึงแก่นธรรมของท่านได้ ข้าพเจ้าว่านักธรรมหลายคนกำลังสรางบาป เพราะอคติอันเป็นโมหะของเขา ได้สร้างกำแพงใหญ่บดบังไม่ให้เราเห็นแก่นของธรรม บาปอันนี้เป็นบาปที่หนักมาก เพราะทำให้เราไม่สามารถจะหลุดพ้นจากทุกข์ได้
๒
จากมุมสงบของ Stanley ข้าพเจ้าก็ก้าวเข้าไปในมุมที่ไม่สงบของปักกิ่ง ข้าพเจ้าพบรอยเลือด พบน้ำตา พบความทุกข์ยากของประชาชน พบความคิดโกง ความเหี้ยมโหด เห็นแก่ตัวของพวกนายพล พบลิ้นที่ไม่มีกระดูกของนักการเมือง พบคอมมิวนิสต์ที่คิดว่าการทำลาย คือการสร้างสรรค์ พบคนขอทานที่อดตายหนาวตายอยู่ข้างถนน และในขณะเดียวกันก็พบผู้ขูดรีดทั้งหลาย นั่งกินนอนกินอยู่บนหลังของราษฎร แล้วในที่สุด–ข้าพเจ้าก็ได้พบวารยา ราเนฟสกายา–พบความทุกข์ใจที่คงไม่มีใครในปักกิ่งจะสามารถล่วงรู้ได้ แต่ข้าพเจ้าก็คิดว่าในชั่วโมงแรกที่เรานั่งอยู่ด้วยกันที่คาราซาร์ตามลำพังสองต่อสองเป็นครั้งแรกนี้ ข้าพเจ้าควรจะต้องรู้อะไรบ้าง
“เราจะไม่เต้นรำกันอีกสักเพลงหรือวารยา ?” ข้าพเจ้าถามขึ้นในตอนหนึ่ง เมื่อเห็นวารยานั่งซึมไปคล้ายกับมีอะไรอยู่ในใจ
“อย่าดีกว่า ระพินทร์ ฉันอยากจะนั่งอยู่เงียบ ๆ อย่างนี้ดีกว่า” วารยาหันมาสบตาข้าพเจ้า “เธอชอบเต้นรำมากหรือ ?”
“ฉันเต้นรำด้วยความจำเป็น” ข้าพเจ้าตอบ
“ไม่ชอบ ?”
“ไม่เคยชอบ เพราะมันไม่ใช่สมบัติของคนไทย”
“แต่มันไม่ใช่ของเลวไม่ใช่หรือ ?”
“ก็ไม่มีอะไรเลว ถ้าเราไม่ทำให้มันเลว”
วารยาหัวเราะ
“เธอพูดเก่งเสมอ เธอควรเรียนกฎหมาย”
“เพื่ออะไร ?”
“เพื่อสร้างความยุติธรรมให้แก่ประชาชน”
ข้าพเจ้าส่ายหน้าแล้วหัวเราะ
“เธอคิดหรือว่า กฎหมายคือความยุติธรรม ? เธอคิดหรือว่าขึ้นศาล คือการเข้าหาความยุติธรรม”
“มันก็เป็นวิธีที่ดีที่สุด วิธีเดียวที่มนุษย์จะได้รับความยุติธรรมอย่างมากที่สุดที่จะมากได้”
“เธอพูดไม่ผิด มันเป็นวิธีเดียวที่มนุษย์จะได้รับความยุติธรรมอย่างมากที่สุดที่จะมากได้” ข้าพเจ้าหัวเราะ “กฎหมายให้ความเป็นธรรม ถ้าเป็นกฎหมายที่ดี แต่การขึ้นศาลมันก็เหมือนขึ้นเวทีมวย ใครมีศอกมีเข่าก็ต้องใช้ ใครขึ้นไปยืนให้เขาชกเอาข้างเดียว แบบนี้ความยุติธรรมที่แท้จริงมันก็เกิดไม่ได้”
“ก็จริงของเธอ” วารยามองตาข้าพเจ้าแล้วยิ้ม “มีคนคิดกันว่า กฎหมายและผู้พิพากษาจะช่วยให้โลกมีสันติสุขได้ เธอว่าอย่างไร ?”
ข้าพเจ้าสั่นศีรษะ
“ก็อาจจะช่วยได้บ้างสักหนึ่งเปอร์เซ็นต์ สันติสุขของโลก ผู้พิพากษากับกฎหมายบันดาลไม่ได้ สันติสุขมันมาจากท้องของประชาชน ถ้าท้องประชาชนอิ่ม โลกก็สงบ”
“เธอคิดอย่างนั้นหรือ ?” วารยาถามช้า ๆ อย่างตรึกตรอง
“ไม่ใช่คิด ฉันเชื่อ” ข้าพเจ้าตอบอย่างมั่นใจ “คนเราถ้าปล่อยให้หิวแล้วมันก็วุ่นวาย ความหิวสร้างความปั่นป่วนให้แก่โลก ถ้าเรากำจัดความหิวไม่ได้ ก็อย่าคิดเลยว่าเราจะพบสันติภาพถาวร”
“แต่เราจะกำจัดความหิวได้อย่างไรล่ะ ระพินทร์” วารยาถามอย่างสนใจ
“การกินแรงกันตั้งแต่โลกเริ่มมีมนุษย์ไม่กี่คน จนกระทั่งมีเป็นพัน ๆ ล้านคนในขณะนี้ เป็นต้นเหตุของความหิว ถ้าจะกำจัดความหิว ก็ต้องกำจัดการกินแรงให้หมดไป พวกคอมมิวนิสต์พยายามกำจัดการกินแรง เพื่อให้ประชาชนอิ่ม แต่เขาไม่รู้ว่าเขาทำผิดวิธี วิธีของเขาก็คือกำจัดเสรีภาพการทำมาหากินของราษฎร นั่นมันก็เท่ากับจำกัดการเคลื่อนไหวอย่างอิสระของการเศรษฐกิจ ผลที่เกิดขึ้นก็คือความขาดแคลน แล้วก็เขายังทำผิดมากขึ้นอีก ซึ่งทำให้ราษฎรมีความทุกข์ยากมากขึ้น คือเอาราษฎรไปเป็นทาสแรงงานของรัฐ เขาช่วยคนให้พ้นจากการถูกกินแรงจากคน แต่เขากลับเอาขื่อคาใส่คอคนให้รัฐกินแรง หมายความว่าในประเทศคอมมิวนิสต์ก็ยังมีการกินแรงอยู่ ความหิวความขาดแคลนก็ยังจะต้องมีอยู่”
“แล้วเธอจะทำอย่างไร ?” วารยาถามสวนขึ้นทันที
“การกำจัดการกินแรงที่ประชาชนไม่เสียเสรีภาพ ไม่ถูกรัฐกินแรงแทนบุคคล เรามีอยู่วิธีเดียวเท่านั้น–คือวิธีสหกรณ์”
“แต่โลกจะเป็นสหกรณ์ได้หรือ ระพินทร์ ในเมื่อพวกนายทุนเขาไม่ยอมเคารพแรงงาน ?”
“นั่นคือปัญหา” ข้าพเจ้าตอบแล้วถอนใจเบา ๆ “เรากำลังยืนอยู่ที่ทางแยก เราจะไปทางไหน ? ฆ่ากันให้หมดโลก หรือว่าเราจะร่วมมือกันเพื่อสันติภาพถาวร”
๓
เราเรียกอาหารว่างมา เพราะท้องเริ่มหิว นาฬิกาบอกเวลา ๒๓ นาฬิกากว่าแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าวารยาควรจะกลับก่อนเที่ยงคืน
“เร็วเหลือเกิน” วารยาพูดอย่างบ่น “ฉันอยากจะคุยกับเธอให้นาน ๆ โอกาสอย่างนี้ฉันไม่ค่อยจะได้มีนัก”
“แต่เธอจะมีได้เสมอ ขอให้เรียกฉันถ้าเธอต้องการ” ข้าพเจ้าตอบ
“ขอบใจ ระพินทร์” วารยายิ้มเศร้า ๆ “ฉันมีความสุขมากคืนนี้–เธอคงไม่รู้หรอกว่า ฉันสุขอย่างไร”
ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนมีอะไรพุ่งเข้ามาที่หัวใจ นั่นเป็นคำสารภาพของวารยาหรือ ? ข้าพเจ้าไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น
“วารยา” ข้าพเจ้าเรียกชื่อเธอแล้วก็ใจเต้นไม่สามารถจะพูดอะไรอีกได้
“อะไรจ๊ะ ระพินทร์ ?” วารยาสบตาข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าหนีตาเธอทันที ข้าพเจ้าหมดความสามารถจะเผชิญกับแววตาอันเต็มไปด้วยความรู้สึกของเธอได้ ปักกิ่งกำลังสงัด เที่ยงคืนกำลังย่างเข้ามา หัวใจของเราวังเวงบอกไม่ถูก แต่ข้าพเจ้าก็เอาชนะตัวเองได้
“ชีวิตเป็นของยาก เรายังรู้จักมันไม่พอ” ข้าพเจ้าเอ่ยขึ้น เกือบจะไม่รู้ว่าได้พูดอะไรออกไป และหมายความว่าอย่างไร
“ยากมากหรือ ระพินทร์” วารยาถามเสียงเครือ
ข้าพเจ้ารู้สึกคล้ายตื่นจากภวังค์
“ฉันพูดอะไรออกไป วารยา เธอลองทวนคำพูดของฉันอีกทีซิ” ข้าพเจ้าพูดอย่างงงงวย
“เธอบอกว่าชีวิตเป็นของยาก”
“อ้อ!” ข้าพเจ้านิ่งคิด “ฉันว่าอย่างนั้นหรือ ? เธอล่ะ เธอเห็นอย่างไร ?”
“ฉันอยู่มาด้วยความยาก ก็ถูกของเธอ” วารยาตอบ
“เรายังรู้จักชีวิตไม่พอ เธอกับฉันยังมีอายุน้อยเกินไปที่จะรู้จักชีวิต”
“แต่เราก็ได้พบความจริงของชีวิตไม่น้อยแล้วไม่ใช่หรือ ระพินทร์”
“สิ่งที่เราพบเป็นเพียงน้ำหยดเดียวในทะเล”
“ถ้าเธอคิดเช่นนั้น เราก็จะไม่รู้จักชีวิตเลยจนกระทั่งเราตาย”
“จริงอย่างเธอว่า เราจะไม่รู้จักชีวิตเลยจนกระทั่งเราตาย ชีวิตคืออะไร ? ไม่มีใครตอบได้”
“แต่เราไม่เป็นทาสของชีวิตไม่ใช่หรือ ? เราไม่ได้กลัวชีวิตไม่ใช่หรือ ? หรือเธอกลัว ?”
ข้าพเจ้าหันไปสบตาหญิงสาวชาวเปโตรกราด พยายามยิ้มเพื่อกลบความรู้สึกในใจ
“ฉันไม่เคยกลัวชีวิต ไม่เคยกลัวคน ไม่เคยกลัวอะไร แต่ฉันกลัวตัวเอง”
“กลัวตัวเอง” วารยาแย้มตากว้างด้วยความประหลาดใจและดีใจระคนกัน
“ฉันกลัวความต้องการของตัวเอง–แล้วก็–ฉันกลัวว่าความต้องการของฉันจะไปทำให้คนอื่นเขาเกิดทุกข์”
ในความมืดสลัวของแสงไฟสีน้ำเงินอ่อน ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าได้เห็นสีหน้าของวารยาเปลี่ยนไป ความสุขในแววตาได้หมดไปอย่างรวดเร็ว