บทที่ ๓๒

บ่ายวันหนึ่ง บัวกับข้าพเจ้าไปเล่นเทนนิสที่สนาม พี.ยู.เอ็ม.ซี. ตามคำเชิญของ ดร. เผิง และ ดร. เจียง เสร็จจากการเล่นแล้วเราก็ไปนั่งพักกินน้ำชากันที่สโมสรแพทย์ ดร. เผิง ได้เล่าเรื่องการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาให้ฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ เมื่อวานนี้ เรื่องที่เล่านั้นทำให้ข้าพเจ้าเห็นห่วงเจียงเฟมากขึ้น ดร. เผิงเล่าว่า เมื่อบ่ายวานได้มีการประชุมนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยฝู่เหริน หรือ Catholic University และเจียงเฟเป็นประธาน นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยในจีนเหนือได้ส่งผู้แทนมาประชุม และที่ประชุมได้ลงมติว่าให้ส่งคำเรียกร้องไปยังรัฐบาลนานกิง ให้จัดตั้งค่ายฝึกนิสิตนักศึกษาขึ้น โดยมีปักกิ่งเป็นศูนย์ ค่ายฝึกนี้มีการสอนวิชาการทหารโดยเฉพาะ ทั้งนี้ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสเข้าร่วมการต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งจะต้องยึดแมนจูเรียและจีนเหนือแน่นอนในไม่ช้านี้ และมติอีกข้อหนึ่งของที่ประชุมก็คือองค์การนักศึกษาในจีนเหนือจะทำการติดต่อกับองค์การนักศึกษาในจีนกลางและจีนใต้ เพื่อให้ดำเนินการเรียกร้องการตั้งค่ายฝึกเช่นเดียวกัน มติข้อสุดท้ายซึ่งสั่นสะเทือนรัฐบาลนานกิง ของจอมพลเจียงไคเช็คมาก ก็คือเรื่องการเดินขบวน ที่ประชุมได้บอกกล่าวรัฐบาลไว้ล่วงหน้าว่า รัฐบาลจะต้องทำการต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น ทั้งในทางการทูตและการทหารอย่างเข้มแข็งเด็ดขาด จะไม่มีการออมชอมถอยหลังแบบสมัย ค.ศ. ๑๙๑๙ ซึ่งได้มีการเดินขบวนกันทั่วประเทศ เฉพาะรัฐบาลต้วนฉีร่วยได้ยอมออมชอมกับญี่ปุ่น ซึ่งกำลังบุกรุกจีนทั้งทางการเมืองและการเศรษฐกิจ อันจะเป็นผลให้เมืองจีนถูกยึดครองโดยสัญญาที่ไม่เป็นธรรมอย่างที่จีนเคยถูกฝรั่งเศสกับอังกฤษ ตลอดจนรัสเซีย, เยอรมนี และมหาอำนาจอีกบางประเทศได้เคยทำมาแล้ว ก่อนการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๑๑ การเดินขบวนต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น และนโยบาย “เข่าอ่อน” ของรัฐบาลต้วนฉีร่วยในยุคนั้นเป็นการตื่นตัวของนักศึกษาในสมัยแรก ซึ่งมีคอมมิวนิสต์รุ่นแรกของจีนเป็นผู้วางแผน ความจริงข้อนี้ทำให้รัฐบาลนานกิงของจอมพลเจียงไคเช็ค ต้องตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่า คอมมิวนิสต์เป็นผู้วางแผนกำหนดนโยบายก่อความปั่นป่วนขึ้น โดยอาศัยแผนทานากาของญี่ปุ่นที่มุ่งเข้ายึดแมนจูเรียและจีนเหนือในขณะนั้นเป็นข้ออ้าง และรัฐบาลนานกิงได้สงสัยนักศึกษาเกือบทุกคนว่า อย่างน้อยก็เป็นเครื่องมือของคอมมิวนิสต์ อันมีเมาเซตุงเป็นผู้วางแผนจัดการให้คอมมิวนิสต์แทรกซึมเข้ามาในกลุ่มนักศึกษา รัฐบาลนานกิงได้เพ่งเล็งหัวหน้านักศึกษาทุกคน ว่าต้องเป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งนิยมเมาเซตุงแน่นอน เพราะฉะนั้นผู้ใดที่วางตัวเป็นหัวหน้านักศึกษา จึงถูกตำรวจตีตราแดงหมายหัวไว้ และเจียงเฟประธานนักศึกษามหาวิทยาลัยฝู่เหรินก็เป็นผู้หนึ่งที่ตำรวจติดตามเพื่อจะเอาตัวไปเข้าคุก ซึ่งหมายถึงการเก็บเงียบ ไม่มีวันจะให้ใครได้เห็นตัวอีก ดังที่นักศึกษาจำนวนไม่น้อยได้ถูกเก็บหายไปทีละคนสองคน ตลอดสมัยที่กองทัพชาติของจอมพลเจียงไคเช็ค ได้เปิดการทำศึกกับเมาเซตุง ผู้ยึดครองลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง และตั้งรัฐบาลโซเวียตซ้อนขึ้นมาในประเทศจีน ซึ่งกำลังเต็มไปด้วยพวกนายพล “ผู้รักชาติ” นับร้อย ที่คุมทหารเที่ยวยึดเมืองนั้นเมืองนี้ไว้เป็นสมบัติของส่วนตัว และทำการเก็บภาษีรีดไถประชาชน เอาเงินมาเลี้ยงกองทัพของตน ซึ่งต่างก็ประกาศว่าต้องการสร้างประชาธิปไตยแบบจีน ๆ ให้แก่ประชาชนชาวจีน ที่ถูกระบอบฮ่องเต้และจักรวรรดินิยม กดขี่รีดไถมานานแล้ว

บทบาทของนักศึกษาในจีนเหนือ ซึ่งมีปักกิ่งเป็นศูนย์ในขณะนั้น ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นทุกวัน เพราะความกดดันของแผนทานากาแห่งรัฐบาลทานากาของญี่ปุ่นได้เพิ่มความร้ายแรงยิ่งขึ้นทุกที นับตั้งแต่ขุนพลจางโซหลินได้ถูกระเบิดตายอย่างลึกลับบนรถไฟ ตอนที่ถอยออกจากปักกิ่งจวนจะถึงสถานีนครมุกเด็นแห่งแมนจูเรีย เมื่อเวลารุ่งสางของวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๘ ก่อนที่ข้าพเจ้าจะเดินทางไปถึงนครปักกิ่งประมาณสองปี ข้าพเจ้าควรจะชี้แจงไว้สักเล็กน้อย ถึงสถานการณ์ในแมนจูเรียและจีนเหนือขณะนั้น ซึ่งเป็นสาเหตุในขั้นมูลฐานที่ทำให้เกิดการเดินขบวนของนักศึกษาในปักกิ่งและจีนเหนือ ซึ่งมีเจียงเฟเป็นผู้นำคนหนึ่ง ระหว่างที่ข้าพเจ้ายืนดูเป็นพยานอยู่ที่นั่น นายพลทานากา นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเป็นซามูไรคนสำคัญที่สุด ที่มีนโยบายจะทำให้เมืองจีนเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่น ทั้งในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ทานากาเป็นผู้วางแผนกำหนดข้อเรียกร้อง ๒๑ ข้อ (The Twenty One Demands) เพื่อจะบุกจีนทางการเมืองและเศรษฐกิจหลังจากสงครามโลกได้สงบลงเพียงปีเดียว ข้อเรียกร้อง ๒๑ ข้อ และความพ่ายแพ้ของจีนในที่ประชุมสงบศึก ณ กรุงปารีส (The Paris Peace Conference) เมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๙ ได้ทำให้นักศึกษาเดินขบวนต่อต้านญี่ปุ่นและรัฐบาล “เข่าอ่อน ของจีนเป็นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ การเดินขบวนครั้งนั้นได้ผลเกินคาดหมาย จีนได้รอดจากการเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่น และรัฐบาล “เข่าอ่อน” ของต้วนฉีร่วยก็ล้มไปในที่สุด ญี่ปุ่นเข้าครองจีนตาม “แผนทากา” ไม่ได้ ทานากาตอนนั้นเป็นรองเสนาธิการทหารแห่งกองทัพอาทิตย์อุทัย เป็นซามูไรที่มีความตั้งใจเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว และเหี้ยมหาญที่สุดในกองทัพบกของญี่ปุ่น ทานากาได้เป็นทหารที่เล่นการเมือง เขาได้ชัยชำนะทางการเมืองตลอดมา เพราะนโยบายขยายอำนาจแบบจักรวรรดินิยมเข้าไปในเมืองจีน ซึ่งถูกใจชาวญี่ปุ่นในขณะนั้น ทานากาได้ก้าวขึ้นสู่ความมีอำนาจสูงสุด ในปี ๑๙๒๗ ซึ่งรัฐบาลวากัตซูกิ ลาออกและทานากาก็เข้าเป็นรัฐบาลแทน ประชาชนชาวญี่ปุ่นส่วนมากคาดหมายกันว่า ทานากาจะต้องนำวิญญาณของข้อเรียกร้อง ๒๑ ข้อกลับมาอีก และ “แผนทานากา” คงจะทำเป็นนโยบายการเมืองที่สำคัญที่สุด ซึ่งคงจะทำให้ญี่ปุ่นได้เข้าครอบครองจีน และเป็นมหาอำนาจอันยิ่งใหญ่ในตะวันออก อำนาจทหารได้ปกครองญี่ปุ่นอยู่ทั่วราชอาณาจักรอาทิตย์อุทัยในขณะนั้น ญี่ปุ่นได้กลายเป็นนักจักรวรรดินิยมแทนฝรั่ง ซึ่งได้เข้ามาครอบครองเมืองจีน ทำตัวอย่างให้ดูตลอดร้อยกว่าปีที่ได้ผ่านไปในตะวันออกไกล (Far East) นโยบายของรัฐบาลทานากาได้เป็นไปอย่างที่ชาวญี่ปุ่นชาวจีนตลอดจนชาวฝรั่งได้คาดไว้ ทานากาส่งกองทัพเข้ายึดซานตุงทันทีใน ค.ศ. ๑๙๒๗ เพื่อสกัดกองทัพจีนชาติของจอมพลเจียงไคเช็ค ไม่ให้ผ่านขึ้นไปยึดครองจีนเหนือ อันเป็นนโยบาย “รวมชาติ” หลังจากที่ ดร. ซุนยัดเซ็น ได้ถึงแก่กรรมแล้วด้วยโรคมะเร็งในตับ ที่โรงพยาบาล พี.ยู.เอ็ม.ซี (P.U.M.C.) ณ ใจกลางเมืองปักกิ่ง เมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๕ แต่จอมพลเจียงไคเช็คไม่ใช่บุคคลที่ยอมแพ้ง่าย ๆ กองทัพชาติของเจียงได้บุกบั่นไปยึดครองจีนเหนือจนได้ในอีกปีหนึ่งต่อมา คือใน ค.ศ. ๑๙๒๘ ทานากาไม่อาจจะสกัดกั้นกองทัพมดของจอมพลเจียงได้ จึงได้ออกแถลงการณ์ฉบับเด็ดขาดที่สุด บอกกล่าวให้จอมพลเจียงไคเช็ครู้เสียแต่เนิ่น ๆ ว่า กองทัพชาติของรัฐบาลเจียงจะต้องไม่เข้าไปในแมนจูเรียอย่างเด็ดขาด ถ้าขืนยุ่มย่ามติดตามจางโซหลินซึ่งกำลังเตรียมการถอยออกจากปักกิ่ง เข้าไปในแมนจูเรียให้จงได้ ก็จะต้องเกิดสงครามแน่นอน เมื่อได้ประกาศแล้ว ญี่ปุ่นก็ระดมกำลังส่งกองทัพเรือนหมื่นเข้าไปตั้งอยู่ในนครมุกเด็น เมืองหลวงของแมนจูเรีย หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า The Three Eastern Provinces การที่ญี่ปุ่นส่งกองทัพเข้าไปตั้งอยู่ในแมนจูเรียโดยพลการเช่นนี้ ทำให้เหตุการณ์ในตะวันออกไกลก้าวไปสู่ขั้นรุนแรงจนโลกต้องร้อนใจมาก สันติภาพในโลกซีกตะวันออกกำลังพังทลาย ขณะนั้นข้าพเจ้าได้เดินทางไปถึงฮ่องกงและต้องหยุดชะงักอยู่ที่นั่น ไม่สามารถจะขึ้นไปเรียนที่ปักกิ่งได้ในทันที ข้าพเจ้ามองดูเมืองจีนด้วยความงุนงง เพราะเพิ่งจะเริ่มเห็นเมืองจีน หลังจากที่ได้อ่าน “เก๊กเหม็ง” ของ ดร. ซุนยัดเซ็น มาจากหนังสือเรื่อง “ความกระจัดกระจายแห่งเมืองจีน” ซึ่งท่าน “อัศวพาหุ” ได้แปลออกเป็นภาษาไทย จากฉบับภาษาอังกฤษของ ดร. เอมิล โยเสพ ดิลลอน หนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้าได้อ่านด้วยความสนใจอย่างยิ่ง ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนเทพศิรินทร์

แล้วจุดเดือดของความอลหม่านในจีนเหนือก็มาถึง เมื่อเวลา ๕.๓๐ น. ก่อนอาทิตย์อุทัย เมื่อขบวนรถไฟซึ่งบรรทุกจางโซหลิน “นโปเลียนแห่งจีนเหนือ” ผู้ปราชัยออกไปจากปักกิ่ง ในคืนวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๘

ความตายอย่างเอน็จอนาถของขุนพลจางโซหลิน ผู้เริ่มชีวิตด้วยการเป็นอ้ายมหาโจรหนวดแดง และได้ไต่เต้าขึ้นไปจนได้เป็น “นโปเลียน” แห่งจีนเหนือ ได้เป็นกระดิ่งสัญญาณที่บอกให้โลกรู้ว่า “สงครามแมนจูเรีย” ได้กำลังเริ่มต้นแล้ว (รายละเอียดของเรื่องนี้ ข้าพเจ้าได้เขียนส่งมาลงหนังสือพิมพ์วิทยาจารย์ เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๗๔) เรากำลังรอวันคืนที่ญี่ปุ่นจะบุกแมนจูเรียในจีนเหนือ ซึ่งเราเชื่อกันว่าจะต้องรุดใกล้เข้ามาแล้วอย่างน่าหวาดกลัว

แล้วเสด็จในกรมกำแพง ฯ ก็ได้เสด็จถึงฮ่องกงในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ (ค.ศ. ๑๙๓๐) ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งจากรัฐบาลไทยให้โดยเสด็จ ฯ จากฮ่องกงขึ้นไปยังปักกิ่งและได้ถึงปักกิ่งในฤดูชิวเทียนปีนั้น เราเดินทางขึ้นสู่แผ่นดินจีนโดยทางเรือ ได้แวะที่เซี่ยงไฮ้ ๒-๓ วัน ขณะนั้นเซี่ยงไฮ้ก็กำลังพูดกันถึงญี่ปุ่นจะยึดแมนจูเรีย แม้แต่คนกลางคืนผู้มีชีวิตอยู่ตามไนท์คลับดื่มด่ำอยู่กับความบ้าคลั่งของวัฒนธรรมตะวันตกก็อดที่จะพูดถึงแมนจูเรีย และความตายของ “นโปเลียน” แห่งจีนเหนือไม่ได้

ในปักกิ่ง ข้าพเจ้าได้พบเจียงเฟ เจียงเหมยดังที่ได้เล่ามาแล้ว และข้าพเจ้าก็ได้ทราบจากวลาดิมีร์ ตลอดจน ดร. เผิง แห่ง พี.ยู.เอ็ม.ซี. ว่าเจียงเฟกำลังประชุมนักศึกษาเพื่อต่อต้านการบุกของญี่ปุ่น และเตือนรัฐบาลของจอมพลเจียงไคเช็คว่า ต้องไม่ใช้นโยบาย “เข่าอ่อน” อย่างที่รัฐบาลต้วนฉีร่วยได้ใช้มาแล้วเมื่อสมัยนักศึกษาเดินขบวนคัดค้านทั่วประเทศ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ และที่ข้าพเจ้าห่วงใยที่สุดก็คือ เจียงเฟกำลังถูกตำรวจมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ที่กำลังสร้างความปั่นป่วนขึ้นในปักกิ่งเพื่อประโยชน์ของเมาเซตุง ซึ่งกำลังตั้งรัฐบาลโซเวียตขึ้นในหูหนาน แห่งลุ่มน้ำแยงซีเกียง

หลังจากที่ได้สนทนากับ ดร. เผิงและ ดร.เจียง ที่สโมสรแพทย์ พี.ยู.เอ็ม.ซี. จนพลบค่ำ ข้าพเจ้ากับบัวก็อำลากลับ เราแวะตุงอันซื่อฉ่าง ตลาดสรรพสินค้าอาหารของปักกิ่ง เพียงจะกินหยางโร่วอาหารที่เราโปรด เราเข้าไปในร้านอาหารของตาแก่เหล่าจาง ซึ่งตั้งมาตั้งแต่สมัยฮ่องเต้ ที่นั่นเราต้องเผชิญหน้ากับหลูกวงโดยไม่คาดคิดเลย

หลูกวงเดินเฉียดมาที่โต๊ะของเรา ยิ้มกับเราอย่างเคร่งขรึม แล้วก็เดินผ่านเลยไปโดยไม่พูดอะไร พอเขาคล้อยหลังก็มีชายฉกรรจ์ร่างสูงใหญ่ ใส่เสื้อต้าผาวสีน้ำเงินแก่เดินตามไป ไม่ต้องสงสัย นั่นคือตำรวจลับซึ่งกำลังติดตามนักศึกษาทุกคนที่สงสัยว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์

บัวพยักหน้ากับข้าพเจ้า แล้วพูดขณะที่รินเบียร์ห้าดาวใส่แก้วให้ข้าพเจ้า

“ผมยังนึกไม่ออกว่า ถ้าญี่ปุ่นยึดแมนจูเรียจนต้องรบกันถึงปักกิ่ง เราจะไปอยู่กันที่ไหน ผมอาจจะต้องกลับญี่ปุ่นก็ได้”

“คุณคงอยากกลับญี่ปุ่นเต็มทีแล้วซี?” ข้าพเจ้าหัวเราะอย่างมีเลศนัย

“เอาอีกแล้ว คุณกำลังจะกล่าวหาผมอีกแล้ว” บัวสวนขึ้นทันที ทำหน้าไม่พอใจ

“ไม่ใช่กล่าวหา ผมพูดถึงหัวใจของคุณ”

“ผมไม่ได้หมายความว่าผมจะไปอยู่ญี่ปุ่น เพราะคิดถึงเขา”

ข้าพเจ้าหัวเราะอีก

“แต่มันก็อบอุ่นที่คุณจะได้อยู่ใกล้โทมิโกะ”

“ผมไม่เถียง แต่ผมพูดถึงเหตุการณ์ในปักกิ่ง คุณคิดหรือว่าเราจะอยู่ในปักกิ่งต่อไปได้ ถ้าเกิดสงครามในจีนเหนือ ?”

“ผมฟังคำสั่งจากรัฐบาลไทย” ข้าพเจ้าตอบสั้น ๆ

“เสด็จท่านคงจะเป็นห่วงเรา” บัวพึมพำ

“ผมอยากไปคุยกับนายหลอชางอีก เสด็จท่านฝากเราไว้กับเพื่อนนักเรียนอังกฤษของท่านคนนี้ นายหลอชางคงจะมีอะไรบอกเราบ้าง”

“แต่เราเป็นคนไทย อยู่ดูสงครามสักทีก็ดีเหมือนกัน” บัวทำท่าคล้ายกับจะเปลี่ยนความคิด เขาคงจะพยายามแก้ตัวเรื่องโทมิโกะ

“เราไม่มีสถานทูตที่นี่ ต้องอาศัยสถานทูตไทยในโตเกียว เกิดเรื่องคงหาความคุ้มครองไม่ได้”

“ก็วิ่งเข้าสถานทูตอังกฤษ ผมรู้จักเลขาที่สาม”

“ก็เป็นทางหนึ่ง แต่ผมอยากให้สถานทูตในโตเกียวฝากเราให้เป็นทางการ มันค่อยแน่นอนหน่อย”

“ก็ต้องเขียนหนังสือบอกทางโตเกียวไปขอให้ท่านทูตช่วย”

แล้วการสนทนาของเราก็วกมาหาเจียงเฟ

“หลูกวงเป็นคอมมิวนิสต์แน่” ข้าพเจ้าเอ่ยขึ้น “แต่ไม่ใช่เจียงเฟ”

“แต่เจียงเฟเป็นประธานนักศึกษา เขาต้องถูกสงสัยแน่นอน”

“เจียงเฟไม่ชอบหลูกวงกับสนาน”

“ผมรู้”

“เจียงเหมยจะตัดสินใจยังไงเรื่องสนาน”

“คุณว่าสนานเป็นแดงใช่ไหม ?”

“เข้าใจว่าแดงมากกว่าน้ำเงิน”

“ผมพบเขาเมื่อวานที่หน้าโรงหนังแคปิตอล”

“อ้อ” ข้าพเจ้ามองตาบัวเพื่อขอให้พูดต่อไป

“ผมถามเขาว่า เขาจะกลับเมืองไทยไหมเมื่อเรียนจบแล้ว เขาบอกว่ากลับแน่”

“เขามีแอมบิชันสูงเกินไป” ข้าพเจ้าส่ายหน้า “เขาจะต้องคิดว่าเขาจะได้เป็นใหญ่ในแหลมทอง อย่างน้อยก็ในมลายู ซึ่งเขามีเพื่อนแซ่หลินอยู่ที่นั่น”

“เออ, สนานก็พูดถึงเพื่อนคนนี้ให้ผมฟังเหมือนกัน” บัวทำท่านึกขึ้นได้ “เขาบอกว่าหลินชวนเขาให้ไปอยู่ในมลายู”

“อ้อ, ยังงั้นหรือ ? ผมจำได้ว่าสนานเคยพูดว่ามลายูเป็นดินแดนปฏิวัติ ผมไม่รู้ว่าเขาหมายถึงอะไร”

“ก็คงจะหมายไปตามเรื่องของเขาซี คำว่าปฏิวัติทุกวันนี้ มันก็ต้องแบบอย่างว่า”

“แบบอะไร ?”

“มันก็ต้องเอียงซ้ายหรือซ้ายไปเลย” บัวหัวเราะในคอ

ข้าพเจ้าหัวเราะ

“เมืองจีนก็เอียงซ้าย ดร. ซุนเอาคอมมิวนิสต์เข้ามาร่วม แต่แล้วก็ต้องแตกกัน แต่ว่ามันก็สายไปเสียแล้ว เมาเซตุงเกิดเป็นพระเจ้าขึ้นมาเสียแล้ว สนานเขาคงคิดว่าเมาเซตุงคงจะทำให้เขาเกิดเป็นพระเจ้าองค์เล็ก ๆ ขึ้นมาได้ ในทะเลใต้ แต่ต้องไม่ใช่เมืองไทยนะ”

“ผมเสียดายสนาน เขาคิดอย่างนี้เขาจะอยู่เมืองไทยได้ยังไง พ่อแม่ของเขาก็ยังอยู่แถวเยาวราช พ่อเป็นนายทุน ลูกชายเป็นคอมมิวนิสต์ มันก็สนุกดี”

“เรื่องพ่อเรื่องแม่ไม่สำคัญเลยในระบอบคอมมิวนิสต์” ข้าพเจ้าส่ายหน้า “ลูกอาจฆ่าพ่อก็ได้ถ้าจะต้องรักษาประโยชน์ของลัทธิของเขา ความกตัญญูไม่มีความหมาย เขาต้องการความสำเร็จอย่างเดียวเท่านั้น”

“คุณพบเจียงเหมยบ้างหรือเปล่า ?” บัวมองหน้าข้าพเจ้าด้วยท่าทางที่อยากรู้อะไรสักอย่าง

“พบ” ข้าพเจ้าตอบแล้วหยุดคิดนิดหนึ่ง “คุณคงจะถามต่อไปว่า เจียงเหมยจะตัดสินใจยังไง ผมเชื่อว่าเจียงเหมยต้องการชาติมากกว่าชั้น”

บัวยกเบียร์ห้าดาวขึ้นดื่มแล้วพูดว่า

“สำหรับสนาน เขาก็คงเลือกลัทธิมากกว่าความรัก”

“คุณเข้าใจถูกแล้ว บัว” ข้าพเจ้าตอบ แต่ก็ต้องชะงัก เพราะสนานเดินตรงเข้ามาพอดี เขาสบตาข้าพเจ้ากับบัวแล้วก็ยิ้มอย่างแข็งกร้าว

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ