- คำนำ
- คำปรารภ
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- บทที่ ๔๑
- บทที่ ๔๒
- บทที่ ๔๓
- บทที่ ๔๔
- บทที่ ๔๕
- บทที่ ๔๖
- บทที่ ๔๗
- บทที่ ๔๘
- บทที่ ๔๙
- บทที่ ๕๐
- บทที่ ๕๑
- บทที่ ๕๒
- บทที่ ๕๓
- บทที่ ๕๔
- บทที่ ๕๕
- บทที่ ๕๖
บทที่ ๕
๑
บ้านนายหลอชาง ที่เฉียนเลี่ยงหูทุ่ง เป็นบ้านคหบดีที่ใหญ่โตมาก แต่ถึงจะใหญ่อย่างไร ก็ยังคงเป็นแบบบ้านชาวจีนแห่งลุ่มแม่น้ำเหลืองอยู่นั่นเอง–คือเป็นตึกชั้นเดียวสร้างด้วยดินเหนียวผสมฟาง หลังคาลูกฟูก ปลูกหันหน้าเข้าหากันทั้ง ๔ ทิศ ตรงกลางเป็นลานสิเมนต์ใหญ่ เรียกว่า ย่วน บ้านในปักกิ่งไม่เคยเปลี่ยนรูปทรงให้พลิกแพลงไปตามสมัยเวลา ยังคงรักษาแบบที่จำลองมาจากเต๊นท์ในสมัยมากกว่าห้าพันปี ซึ่งชาวจีนยังเป็นพวกเร่ร่อนที่อพยพกันเข้ามาในลุ่มแม่น้ำเหลืองจากทิศตะวันตก ซึ่งยังพิสูจน์กันไม่ได้ ไม่ได้ชัดว่าเป็นที่ใด ลุ่มแม่น้ำเหลือง หรือที่เรียกว่าแม่น้ำอึ้งโหหรือหวงเหือ เป็นลุ่มแห่งการก่อตั้งประเทศจีนซึ่งมีอายุยืนยาวมาจนถึงปัจจุบันนี้นับได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างน้อยสี่พันปี วัฒนธรรมความเจริญของจีนส่วนใหญ่ ได้ถือกำเนิดมาจากลุ่มน้ำแห่งประวัติศาสตร์แห่งนี้ และบ้านของชาวจีนซึ่งจำลองมาจากรูปเต๊นท์สมัยเร่ร่อน ก็ยังคงยืนแบบเดิมมาอย่างท้าทายกับกาลเวลา บ้านแบบตะวันตกไม่เคยเข้าไปแย่งที่ได้เลย แม้ในสมัยที่หิมะปักกิ่งได้กลายเป็นสีแดงไปในปัจจุบัน ต่างกับบ้านไทยเดิมซึ่งได้ผุพังจมหายไปในนครบางกอกแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จนแทบจะหาดูไม่ได้ ร้อนถึงฝรั่งที่รักเมืองไทย ต้องเที่ยวไปเสาะหาซื้อบ้านไทยที่ยังเหลือซากอยู่มาปลูกไว้ในกรุงเทพ ฯ เพื่อเก็บเงินบำรุงคนตาบอด จากนักท่องเที่ยวที่อยากจะรู้ว่าบ้านไทยมีรูปร่างเป็นอย่างไร
เราทั้งสอง–คือบัวกับข้าพเจ้า–ขึ้นรถหยางเชอซึ่งมีคนลากฝีเท้าดีไปถึงบ้านนายหลอชางเมื่อพระอาทิตย์ได้ตกลับส่วนโค้งของทะเลทรายโกบีไปแล้ว ประตูบ้านคหบดีผู้นี้เป็นประตูบ้านเศรษฐี คือมีลักษณะที่ถอดแบบมาจากประตูพระราชวังจื่อจิ้นเฉิง หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า Forbidden City คือ บานประตูไม้หนาสามนิ้วกว่า ทาสีแดงเลือดนก สูงใหญ่มหึมา มีห่วงทองเหลืองขนาดใหญ่ห้อยอยู่ทั้งสองบาน เหนือประตูเป็นหลังคาลูกฟูกคลุมยื่นออกมาสามเมตรกว่า มีเสากลมตั้งรับสองเสาทาสีแดงเช่นเดียวกัน บัวเข้าไปเคาะประตูด้วยวิธีกระแทกห่วงทองเหลืองลงบนแผ่นทองเหลืองที่ติดอยู่กับบานประตู สักครู่เหมินฝางหรือคนเฝ้าประตูก็มาเปิดประตูให้พาเราเข้าไปยังตึกดินเหนียวด้านตะวันออกหรือที่เรียกว่าตงฝาง เปิดประตูเข้าไปเป็นห้องโถงใหญ่ห้องเดียว จัดเป็นห้องรับแขกมีโต๊ะไม้ดำฝังมุกขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางมุมขวามือใกล้หน้าต่าง สำหรับรับประทานอาหาร กลางห้องตั้งเก้าอี้นวมใหญ่ตามความสะดวกใจของเจ้าของบ้านซึ่งเป็นนักเรียนอังกฤษ มีโต๊ะไม้ดำฝังมุกแบบจีนตั้งอยู่ตรงกลาง ที่ฝาห้องด้านตะวันออก ตั้งโต๊ะไม้ดำฝังมุกขาสูง บนโต๊ะนี้มีแจกันลายจีนสูงสองฟุตกว่าตั้งคู่ บนฝาตรงกลาง ห้อยภาพเขียนสมัยหมิงขนาดใหญ่ และบนฝาสองข้างหัวท้ายของโต๊ะไม้ดำขาสูงนี้ ก็ห้อย ต้วยจึคู เขียนอักษรจีนด้วยลายมือที่มีศิลปะเยี่ยม เป็นคำที่เต็มไปด้วยปรัชญา อันเป็นที่นิยมของชาวจีนผู้บูชาคติธรรมของขงจื๊อ
นายหลอชางนั่งคึยอยู่กับแขกสองคน คนหนึ่งเป็นฝรั่งร่างสูงเพรียว อีกคนหนึ่งเป็นคนจีน กำลังอยู่ในวัยหนุ่ม แต่งตัวแบบสากล เมื่อเห็นเรา ท่านคหบดีนักเรียนเคมบริดจ์เจ้าของบ้านก็กระวีกระวาดลุกขึ้นมาต้อนรับ แล้วแนะนำให้รู้จักกับแขกทั้งสองที่กำลังมองดูเราอยู่ จากการแนะนำนี้เราก็รู้ว่าฝรั่งร่างสูงเพรียวชื่อ แอลเลน บราวน์ ส่วนหนุ่มจีนแต่งสากลท่าทางองอาจนั้นชื่อ เหลียงกวงต้าน นักเรียนบอสตัน จบปริญญาวิศวกรรมศาสตร์
ข้าพเจ้านั่งลงระหว่าง แอลเลน กับเหลียง นายหลอชางคุยให้คนทั้งสองฟังว่า ข้าพเจ้ากับบัวเป็นใคร แอลเลนสนใจที่ข้าพเจ้าเป็นนักเขียน เขาบอกว่าเขาเป็นผู้แทนหนังสือพิมพ์ The North China Star แห่งเมืองเทียนสิน เขาอยากไปเมืองไทย และอยากคุยกับคนไทย ส่วนเหลียงนั้นนั่งขรึมมากกว่าพูด แต่เขาก็ยิ้มแย้มแจ่มใสดี
ตอนหนึ่งนายหลอชางพูดเป็นภาษาอังกฤษว่า
“นี่, แอลเลน ถ้าเธอจะไปเมืองไทย ฉันขอแนะนำระพินทร์ เขามีชีวิตกว้างขวางอยู่ในบางกอก”
“ผมจะไปปีหน้า” แอลเลนตอบ “ผมจะต้องไปเป็นผู้สื่อข่าวที่นั่น บางกอกกำลังจะสำคัญ ญี่ปุ่นกำลังจ้องอยู่ เธอจะอยู่ปักกิ่งกี่ปี ?” เขาหันมาทางข้าพเจ้า
“เมื่อจบปริญญาแล้ว” ข้าพเจ้าตอบ “อย่างน้อยก็ห้าปี ต้องเรียนภาษาก่อน”
เหลียงดึงกล้องออกจากปาก เลิกคิ้วมองหน้าข้าพเจ้าอย่างสนใจ
“ห้าปีในปักกิ่ง–จะไปได้ตลอดหรือ ?” เขาถามเป็นสำเนียงอเมริกัน
“ทำไม ?” ข้าพเจ้ามองตาเขาอย่างไม่เข้าใจ
“ญี่ปุ่นจะบุกเสียก่อนน่ะซี มุกเด็นก็กำลังจะไปไม่รอด ซัมเมอร์นี้จะอยู่ถึงหรือไม่ก็ไม่รู้”
“คับขันมาก” แอลเลนพูดอย่างบ่น “การเมืองในจีนเหนือมันแย่จริง ๆ นานกิงจะเอายังไงก็ดูไม่ออก”
“เปรสิเดนท์ เจียง ยังเอาชนะเมาเซตุงไม่ได้” นายหลอชางโคลงศีรษะช้า ๆ “ถ้าต้องรบญี่ปุ่น เมาเซตุงก็สบาย บางทีเมืองจีนจะขาดเป็นสองท่อน ท่อนล่างตั้งแต่แม่น้ำแยงซีลงไปเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ท่อนบนลุ่มแม่น้ำหวงเหือ ญี่ปุ่นจะเข้ามาครอง เธอมาปักกิ่งผิดเวลาเสียแล้วละ ระพินทร์ ปริ๊นซ์อิสสราภรณ์คำนวณผิดแน่”
“แต่ผมอยากดู” ข้าพเจ้ายิ้มพูด “อยู่เมืองไทย ไม่มีอะไรตื่นเต้น ผมชอบผจญภัย”
“นักหนังสือพิมพ์ก็อย่างนี้แหละ” แอลเลนหัวเราะ “เธออยู่ปักกิ่งแทนฉัน ฉันไปอยู่แทนเธอในเมืองไทย เออ ระพินทร์ เอาไหมล่ะ เธอช่วยเขียนให้ North China Star หน่อย เขียนอะไรเกี่ยวกับเมืองไทย เขียนเรื่องพระเจ้าแผ่นดิน เราอยากรู้เรื่องพระเจ้าแผ่นดิน ฉันเคยอ่านเรื่อง The King and I.”
“นี่–มิสเตอร์บราวน์...”
“เรียกฉันว่า แอลเลน”
“แอลเลน เรื่องที่เธออ่านฉันไม่รับรอง คนไทยไม่ได้เขียน”
“ก็ฉันให้เธอเขียน” แอลเลนหัวเราะ
“เธออยากรู้อะไร ?”
“อะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน เราไม่เคยมีพระเจ้าแผ่นดิน”
ข้าพเจ้าสบตาบัว เขาหันไปทางแอลเลนแล้วพูดว่า “ถ้าจะให้คนไทยเขียนเรื่องพระเจ้าแผ่นดิน เราก็ต้องเขียนเรื่องความจงรักภักดี”
“นั่นแหละ ดีนัก เราอยากรู้ความรู้สึกของราษฎรคนไทย คุณหลอชางบอกว่าคนไทยรักพระเจ้าแผ่นดินมาก”
“เมืองไทยอยู่ได้เพราะเรามีพระเจ้าแผ่นดิน” ข้าพเจ้าชี้แจง “พระเจ้าแผ่นดินปกครองเราอย่างพ่อปกครองลูก เราพอใจระบอบพ่อเมือง มันเป็นประเพณีเก่า”
“ไทยเป็น Absolute Monarchy ประเทศสุดท้ายในตะวันออก คนไทยไม่คิดเปลี่ยนแปลงระบอบบ้างหรือ ?” แอลเลนถามอย่างมีเจตนา
“ราษฎรคนไทยไม่คิด เรากลัวนกกะสา” ข้าพเจ้าตอบ หลังจากนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง
“นกกะสามันมักจะบินมาหลังการปฏิวัติที่เกิดเพราะคนกลุ่มน้อย” แอลเลนอธิบาย “คุณหลอชางก็บอกว่าเมืองจีนเวลานี้มีนกกะสา งั้นไม่ใช่หรือครับ ?” เขาหันไปหาสกอล่าร์อาวุโส ผู้มีอายุมากกว่าเราเท่าตัว
“มีหลายตัว” นายหลอชางยิ้ม แต่รอยยิ้มนั้นไม่มีความแจ่มใสอะไรมากนัก “ต่อไปนี้ นกกะสาตัวใหม่ ๆ กำลังบินมาทั้งเหนือทั้งใต้ ราษฎรของเราก็เลยแย่ทั้งขึ้นทั้งล่อง”
เราคุยกันอีกครู่หนึ่ง เจ้าของบ้านผู้สูงอายุก็เชิญเข้าโต๊ะอาหาร อาหารของนายหลอชางเป็นอาหารจีนปนฝรั่ง สิ่งที่ข้าพเจ้าสนใจคือ หมานโท่ว ก้อนกลม ๆ ใช้กินต่างข้าว อันที่จริงมันก็ซาละเปาดี ๆ นี่เอง ผิดกันเพียงมันไม่มีไส้เท่านั้น
ที่โต๊ะอาหาร นายหลอชางเล่าให้ฟังถึงชีวิตในอังกฤษเมื่อวัยหนุ่ม เล่าละเอียดไปจนถึงการเที่ยวเตร่กับเพื่อนนักเรียนไทยที่โซโห “ปริ๊นซ์ อิสสราภรณ์ เป็นคนไม่ถือตัวเลย เราสนิทกันมาก เขียนมาฝากให้ดูแลเธอ แล้วให้ฉันไปเที่ยวเมืองไทยเมื่อเธอกลับ”
ข้าพเจ้ารับรองว่าจะพาเที่ยวเมืองไทยให้สนุก นายหลอชางก็พูดต่อไปว่า
“เมืองไทยของเธอเป็นเมืองโชคดี ห่างกับคอมมิวนิสต์ ห่างกับญี่ปุ่น ไม่มีอะไรต้องร้อนใจ ฉันอยากเกิดเป็นคนไทย”
“ไม่ต้องเกิดใหม่หรอกครับ” บัวเอ่ยขึ้นอย่างติดตลก “ผมว่าไปอยู่เมืองไทยเสียเลย ไปสอนวรรณคดีอังกฤษในมหาวิทยาลัยของเรา”
นายหลอชางหัวเราะในคอ โคลงศีรษะช้า ๆ แล้วถอนใจเบา ๆ
“ไม่สำเร็จแน่ ปริ๊นซ์ อิสสราภรณ์ก็ชวนฉันเหมือนกัน” หยุดคิดนิดหนึ่ง “ฉันเกิดที่นี่ มันก็ต้องตายที่นี่ จะทิ้งบ้านทิ้งเมืองไปได้ยังไง”
“แต่ท่านก็ทำอะไรไม่ได้ไม่ใช่หรือ ?” แอลเลนแย้ง
“ฉันแก่เกินไปที่จะเอาตัวรอด” นายหลอชางพูดเสียงหนัก “ชีวิตไม่สำคัญ จิตใจสำคัญกว่า เราต้องทำให้ลูกหลานของเราขวัญดี ถ้าลูกหลานของเราเสียขวัญเพราะเราทิ้งเขาไป ชาติของเราก็คงไปไม่รอด”
“แต่บางคนก็หนีไปอยู่อเมริกาแล้ว อย่างพวกแซ่หวาง” แอลเลนสอดขึ้นอีก
“มันเป็นเรื่องน่าอับอายขายหน้า” นายหลอชางพูดเสียงเครียด “มันคอร์รัพชั่นกัน โกงชาติโกงประชาชน เสร็จแล้วก็หนีเปิดเอาตัวรอดไปอยู่สวิสบ้าง อยู่อเมริกาบ้าง เงินร้อย ๆ ล้านเหรียญมันก็ขนเอาไปฝากรอไว้เรียบร้อยแล้ว ไปนอนกินทั้งชาติก็ไม่หมด อ้ายคนทรยศพวกนี้—มันต้องตั้งสมาคมมังกรดำอย่างญี่ปุ่น”
การสนทนาเปลี่ยนจากเรื่องบ้านเมืองไปหาศิลปวรรณคดีตลอดจนประวัติศาสตร์ของปักกิ่ง นายหลอชางเป็นสกอล่าร์แท้ มีความรอบรู้สารพัด โดยเฉพาะเรื่องวรรณคดีอังกฤษ วรรณคดีจีน ตลอดจนการปฏิวัติของ ดร. ซุนยัดเซ็น ซึ่งทำให้จีนกลายเป็นเลียดก๊กอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกินอาหารอิ่มกันเรียบร้อยแล้ว เหลียงกวงต้านก็ขออนุญาตไปโทรศัพท์ พอพูดโทรศัพท์เสร็จ เขาก็อำลาเจ้าของบ้านและพวกเรากลับไปอย่างรีบร้อน อ้างเหตุว่ามีธุระสำคัญ
เจ้าของบ้านตระกูลเก่ารั้งเราทั้งสามไว้คุยต่อไปจน ๒๒ นาฬิกาเศษ จึงปล่อยให้กลับ บัวกระซิบข้าพเจ้าว่า “แอลเลนเขาจะพาไปคาราซาร์ คุณคงได้พบวารยาแน่ แต่อย่าใจเต้นแรงนักนะ”
๒
จากเฉียนเลี่ยงหูทุ่ง รถลากพาเราทั้งสามพุ่งไปยังคาราซาร์ บริเวณเมืองทูตหรือลีเกชั่นควอเตอรส์ คาราซาร์เป็นไนท์คลับขนาดใหญ่ ตั้งขึ้นเพื่อสนองความต้องการของลูกค้าในเมืองทูต ซึ่งโดยมากมักเป็นทหารรักษาการณ์ของชาติ ๑๑ ชาติ ที่เข้ามาคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่สถานทูตหลังจากที่พวกกบฏบ๊อกเซ่อร์ได้เข้าโจมตีสถานทูตนานาชาติ เมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๐ เพื่อแก้แค้นที่จีนถูกชาติมหาอำนาจรังแก คืนนั้นแขกขาประจำมีไม่มากนัก แอลเลนอธิบายว่าคงจะยังไม่ดึกพอ บัวกวาดตามองหาวารยาแต่ก็ไม่พบ จึงถามบ๋อยคนหนึ่งที่เข้ามาเสิร์ฟ ก็ได้ความว่าวารยาออกไปกับเหลียงเมื่อสักครู่ นัยว่าจะไปงานปาร์ตี้ที่บ้านนายพลคนหนึ่ง
“เรามาช้าไป เจ้าวิศวกรนักเรียนบอสตันมันไวกว่า” บัวพูดอย่างบ่น “แต่พรุ่งนี้คงจะไม่พลาดหรอก อดใจไว้หน่อยนะ”
“ก็ไม่เดือดร้อนอะไร” ข้าพเจ้าพูดคล้ายกับไม่สนใจ แล้วก็กวาดตาไปที่ฟลอร์ ซึ่งมีคนเต้นรำอยู่ไม่กี่คู่
“เธอต้องการพบวารยามากนักหรือ ?” แอลเลนถาม “เปล่า” ข้าพเจ้าตอบสั้น ๆ แล้วก็ไม่อธิบายอะไรอีก
“วารยาเป็นคนสวย แต่สวยอย่างเศร้าไม่มีอะไรโลดโผน ฉันว่าเธอจะต้องเบื่อมากกว่า” แอลเลนหัวเราะ “ฉันเบื่อหลายอย่าง ไว้ตัวจนเกือบจะกลายเป็นจองหอง ทำตัวราวกับเป็นเจ้าหญิงราชวงศ์โรมานอฟ”
“วารยาอาจจะเป็นเจ้าหญิงก็ได้” บัวให้ความเห็น “มีคนพูดกันว่าวารยามีเชื้อเจ้า พ่อของวารยาก็อยู่ในปักกิ่ง เป็นพวกโรมานอฟ”
“เป็นคนดูไม่ออก” แอลเลนโคลงศีรษะไปมา “ทำท่าเป็นผู้ดี แต่มันมากไป”
“วารยาเป็นผู้ดี อย่างน้อยก็ควรจะต้องเคยอยู่ในราชสำนัก เขาพูดกันอย่างนี้” บัวชี้แจงต่อไป “เพราะเหตุนี้แหละ ใคร ๆ ก็สนใจกับวารยา”
“บัว เธอมีความรู้เรื่องวารยาดีพอใช้ ใครบอกเธอ ?” แอลเลนถาม
“เลขานุการทูตญี่ปุ่น ฉันพบเมื่อคืนก่อน เราเคยรู้จักกันที่โตเกียว”
“วารยาเป็นผู้หญิงลึกลับเกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้” นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันพูดช้า ๆ พลางยกว้อดก้าขึ้นจิบ “ฉันเคยพบวลาดีมีร์ พ่อของวารยา แต่ก็ไม่ได้ความจริงอะไรมากนัก”
เรานั่งอยู่ที่คาราซาร์จนใกล้จะเที่ยงคืน วารยาก็ยังไม่กลับมา ออกไปยืดเส้นในฟลอร์หลายรอบจนเส้นยึดกันทุกคน บัวเลยออกความเห็นว่าควรจะลองไปเยี่ยมชีวิตมืดในราตรีแถวเฉียนเหมิน ในฐานะที่เป็นคนหนุ่มที่กว่าจะแก่ก็อีกหลายสิบปี แอลเลนไม่ขัดข้อง เพราะดูมีความช่ำชองอยู่ไม่น้อย เนื่องจากมีอาชีพในทางหาเรื่องมาเขียนหนังสือให้คนอ่าน ส่วนข้าพเจ้าก็ยอมให้เขาลากไป เพราะใจจริงก็อยากจะรู้ว่าชีวิตมืดในปักกิ่ง มันมืดอย่างไร
แอลเลนพูดภาษาปักกิ่งได้อย่างพอจะเอาตัวรอด ในฐานะที่เป็นนักหนังสือพิมพ์เขาเจนลู่ทางดีอีกด้วย จึงทำหน้าที่เป็นไก๊ด์โดยเราไม่ต้องว่าจ้าง เขาพาเราเข้าไปในหูทุ่งหรือทางซอยหลายแห่ง และสำนักต่าง ๆ ของชีวิตราตรี ทั้งที่มีใบอนุญาต และไม่มีใบอนุญาต พวกไม่มีใบอนุญาตเขาเรียกว่า ป้านกวนเหมิน แปลว่า แง้มประตูไว้ ไม่เปิดทั้งสองบาน บรรดานางราตรีที่เราพบมีอยู่หลายชนิด พวกพื้นเมืองแต่งตัวด้วยผ้าฝ้ายหยาบ ๆ สีน้ำเงิน ค่าตัวไม่กี่สิบถุงเส่อ คิดเป็นเงินไทยก็ไม่ถึงสลึง๑ พวกชั้นดีหนึ่ง แต่งเสื้อผ้าไหมสีสดงดงาม แพรวพราวไปด้วยเพชรนิลจินดาของเทียม ค่าตัวของพวกนี้มีอยู่หลายชนิด ชนิดนั่งกินน้ำชาคุยกัน คิด ๑ เหรียญ ประมาณ ๖๐ สตางค์ ชนิดค้างคืนคิด ๘ เหรียญ ประมาณ ๕ บาท นักท่องราตรีโดยมากนิยมการค้างตลอดคืน พอรุ่งเช้าก็นั่งรถลากไปโรงอาบน้ำ อาบน้ำร้อนแล้วก็นอนหลับอยู่ที่โรงอาบจนบ่าย แอลเลนมีความรู้เรื่องชีวิตมืดของคนพวกนี้ดีพอใช้ทีเดียว สมกับเป็นนักหนังสือพิมพ์ผู้มีหน้าที่จะต้องรู้จักชีวิตทั้งในที่สว่างและที่มืด เขาเล่าให้เราฟังว่า ชีวิตมืดในปักกิ่งได้มีมานับเป็นพันปี เริ่มต้นจากในราชสำนัก มีไว้สำหรับผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ สมัยราษฎรไม่นิยม ประชามติเหยียดหยามชีวิตแบบนี้มาก แม้หญิงที่นอกใจสามี ก็ต้องมีโทษหนัก บางทีก็ถึงถูกประหารชีวิต ความชั่วทางประเวณีไม่ระบาดออกมาถึงประชาชน เพราะประเพณีกีดกันไว้อย่างแข็งแรงมาก แต่หลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๑๑ เจ้าแม่เสรีภาพและการตื่นวัฒนธรรมฝรั่ง ได้ไหลบ่าเข้าไปในเมืองจีน เหมือนน้ำหลากจากป่าเขาลำเนาไพร ทำให้ประเวณีของศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นการค้า เริ่มตั้งแต่ในหมู่บ้านที่ยากจนไม่มีจะกิน หญิงชาวบ้านทั้งสาวและไม่สาวพากันขายประเวณีให้พวกทหารของบรรดานายพลที่เดินทัพผ่านไปผ่านมาในสงครามชิงอำนาจบาทใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นทุกหัวระแหง ทหารเหล่านี้ซื้อประเวณีจากหญิงชาวบ้านในราคาไม่กี่สิบถุงเส่อ หรือไม่กี่สตางค์แดง แต่ทั้ง ๆ ที่ราคาแสนจะถูก ก็มักไม่จ่าย เพราะมีปืนเป็นอำนาจอยู่ในมือ พวกนายพลเก็บค่าต๋งฟรีทั้ง ๆ ที่ทุกนายพลต่างก็มีฮาเร็มกันประจำตัว มีหญิงชั้นดีคอยบำบัดความใคร่นับร้อย ด้วยค่าจ้างที่รีดเอามาจากประชาชน และด้วยการโกงกิน นั่นคือผลผลิตทางสังคมอย่างหนึ่งของการปฏิวัติ ที่ไม่คำนึงถึงความแตกแยกของชาติที่ถูกล้มประเพณีกษัตริย์อายุพัน ๆ ปีลงในวันเดียวเพื่อจะสร้างโรม ความยากจนได้ปล้นชีวิตไปจากชาวบ้านอย่างทารุณ ความอดอยากทำให้พ่อแม่ต้องขายลูกหญิงให้ไปเป็นโสเภณีเพียงราคาไม่กี่เหรียญ การขายประเวณีในปักกิ่งหลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๑๑ ได้ทำกันอย่างเปิดเผยและแพร่หลายไปตามซอกตามตรอก ซึ่งสมัยกษัตริย์มีแต่ความบริสุทธิ์ของผู้หญิงที่รุ่งเช้าหลังจากคืนแรกของการสมรสพ่อแม่พากันภาคภูมิใจที่ได้เห็นหยดเลือดติดอยู่บนที่นอน
-
๑. หมายเหตุ: ค่าของเงินไทยเมื่อ ๔๐ ปีก่อน ไม่ใช่เดี๋ยวนี้–ผู้เขียน ↩