- คำนำ
- คำปรารภ
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- บทที่ ๔๑
- บทที่ ๔๒
- บทที่ ๔๓
- บทที่ ๔๔
- บทที่ ๔๕
- บทที่ ๔๖
- บทที่ ๔๗
- บทที่ ๔๘
- บทที่ ๔๙
- บทที่ ๕๐
- บทที่ ๕๑
- บทที่ ๕๒
- บทที่ ๕๓
- บทที่ ๕๔
- บทที่ ๕๕
- บทที่ ๕๖
บทที่ ๒๑
๑
จดหมายคุณมาลัย ชูพินิจ ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๔๗๒
“ผมไม่มีอะไรจะแก้ตัวคุณเลย ในการที่มาเขียนถึงเอาจนเดี๋ยวนี้ จะว่าใจจืดใจดำเลวทรามอย่างไรผมรับผิดทุกอย่าง ขออย่างเดียวอย่าเพ่อเกลียดเสีย การที่นิ่งเงียบมาเกือบปีนี้ ที่จริงเป็นความผิดอย่างที่ยกโทษให้กันไม่ได้ แต่ก็หวังในมิตรภาพของเราว่า คุณจะให้อภัยแก่เพื่อนผู้เกือบจะเสียคนสักครั้งหนึ่ง หรือหลาย ๆ ครั้ง ที่ว่าเสียคนนั้นหาใช่เหลวไหลในส่วนความประพฤติอะไรมิได้ เหลวไหลในส่วนสมองอัน Serious เกินไปนั่นเอง เวลานี้เหมือนคนเกิดใหม่ จิตใจค่อยสบาย อย่างไรก็ตาม ผมจะพยายามฝึกฝนใจให้หนักแน่น สมกับที่คุณเชื่อใจต่อไป ถ้าคุณได้อ่าน “ธาตุรัก” ของผมคงจะเห็นได้ว่า จิตใจมันอ่อนไปตามเรื่องเต็มที เวลานี้จิตตานุภาพก็ค่อยกล้าแข็งแล้ว เชื่อว่าจะทำงานได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยต่อไป
ความเป็นอยู่ในระหว่างหมู่คณะของเราเวลานี้สามัคคีกลมเกลียวกันตามเคย หนังสือเจริญขึ้นตามลำดับ คุณกุหลาบผู้รับหน้าที่เป็นกัปตันก็เข้มแข็งดีมาก หนังสือของเรานำหน้ารายปักษ์ด้วยกันทุกฉบับ พวกเราทุกๆ คนต่างก็กระโดดลงสู่สนามคนละรอบสองรอบแล้ว ยังแต่คุณกับคุณสุกรี มีคนเป็นอันมากกำลังจ้องดูว่าเมื่อไหร่จะได้เห็นคุณบ้าง สำหรับคุณสุกรีนั้นคงยังไม่มีหวังอีกนาน เพราะกำลังออด ๆ แอด ๆ เต็มที๑ เมื่อต้นปีคราวปิดเทอม ผมมีโอกาสไปเที่ยวพิษณุโลก, สวรรคโลก, สุโขทัย, กำแพงเพชร, สี่เมืองรวมเวลา ๑๕ วัน คนเดียว ออกรู้สึกคิดถึงคราวที่เรากะจะไปเที่ยวชุมพร ก่อนคุณจากมาครั้งนั้น ที่จริงมันก็ไม่มีอะไรสนุก นอกจากป่าและเขาตามที่พวกเราชอบ แต่การเที่ยวทางภาคเหนือค่อนข้างผิดกับทางใต้ เพราะจู่ ๆ มักได้เผชิญภัยสนุก ๆ เสมอ อะไรก็ไม่สนุกเท่าเดินทางจากสุโขทัยไปกำแพงเพชร ทั้งเปลี่ยวทั้งแสนกันดาร ตามธรรมดาเขาเดินทางกัน ๒ วัน ผมไปรวดเดียวถึง อย่างไรก็ตามวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อคุณกลับมาแล้ว เราคงมีโอกาสไปเที่ยวที่นั่นอีกแม้จะออกน่ากลัว แต่ก็เป็นของสนุกสำหรับเราผู้ชอบเผชิญภัย ผมได้ส่งรูปถ่ายบางรูปมาให้คุณด้วย จะเล่าก็คงยืดยาวเต็มที อีกอย่างหนึ่งก็จะขึ้นไปกำแพงเพชรอีกในวันสองวันนี้ คงจะได้รายละเอียดส่งไปให้คุณอีกภายหลัง
จดหมายฉบับนี้ ถ้าห้วนหรือไม่สมกับที่คุณตั้งใจคอยอ่าน โปรดให้อภัยอีกสักครั้ง, เพราะกำลังเหนื่อยจากเรื่องที่เพิ่งเขียนเสร็จเต็มที ผมจะพยายามที่สุดที่จะเขียนไปอีกโดยเร็ว ไม่ให้เสียความรักและความหวังดีที่คุณมีต่อผม อย่างไรก็ตาม, โปรดเข้าใจเสมอว่า ความรักของผม ของเพื่อนทุกคน, ที่มีแก่คุณนั้น แม้เวลาจะเนิ่นนานหรืออยู่ห่างไกลกันเพียงไร ก็ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้จืดจางได้ ผมและเพื่อนทุกคนต่างหวังใจแน่วแน่อยู่เสมอว่า คุณจะกลับมาประเทศสยามพร้อมด้วยชัยชำนะอันงาม ต่างเชื่อในความสามารถ และความเพียรของคุณอยู่ถ้วนทั่วแล้ว
บ้านสบายดีทุกคน ผมเสียใจมากที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปเยี่ยม แต่ก็มีเวลาพบกับคุณนายและคุณนิเสมอ ขอให้ผมทราบด้วยว่า บรรดาหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ มีใครส่งอะไรไปให้บ้างหรือเปล่า เหมาะสำหรับคนหนุ่มผู้หวังจะทำดี ถ้ายังไม่มีหรือขาดเล่มไหนบ้างโปรดบอก ผมจะส่งไปให้ ขออภัยจบเพียงนี้ จะเขียนมาอีก
รักและคิดถึงอย่างยิ่ง
มาลัย
จดหมายของคุณมาลัย ชูพินิจ และจดหมายของคุณโชติ แพร่พันธุ์ ทำให้ข้าพเจ้าต้องตรึงตัวเองอยู่บนเก้าอี้โยกหน้าโต๊ะหนังสือเป็นเวลานาน โดยลืมเสียสิ้นว่าเวลาอาหารกลางวันได้ผ่านเลยไปเกือบครึ่งชั่วโมงแล้ว ข้าพเจ้านึกไปถึงภาพซึ่งทรมานใจที่ท่าเรือบอเนียว เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๔๗๑ วันนนเรือ “คาลกัน” ของบริษัทบัตเตอร์ฟิลด์แอนด์สะแวรส์ ได้พาข้าพเจ้ากับคนไทยอีก ๔ คน เดินทางออกไปยังทะเลจีน โดยมีฮ่องกงเป็นเป้าหมาย คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ คุณมาลัย ชูพินิจ คุณโชติ แพร่พันธุ์ และมิตรสนิทนอกวงการหนังสือพิมพ์อีกมากมายได้ไปส่งข้าพเจ้าที่ท่าเรือ เรามีเวลาคุยกันสองชั่วโมงกว่าก่อนเรือจะเคลื่อนออกไปสู่อ่าวไทย ข้าพเจ้าตื่นเต้นที่จะได้มีโอกาสไปเห็นเมืองจีนที่กำลังนองเลือด แต่ในขณะเดียวกันก็เปล่าเปลี่ยวใจ เพราะจะต้องจากทุกคนไปเป็นแรมปี คุณพ่อยื่นมือให้ข้าพเจ้าจับ เมื่อข้าพเจ้ากราบลาท่าน เป็นครั้งแรกที่พ่อจับมือกับลูก เพื่อจะมอบความเป็นผู้ใหญ่ให้แก่ลูก “ขอให้มีความสำเร็จและปลอดภัย” นั่นเป็นคำสุดท้ายของท่าน ข้าพเจ้าสบตาท่าน แววตาของท่านมีทั้งความอ่อนโยนและความกล้าแข็ง ข้าพเจ้าได้สำนึกว่าข้าพเจ้าพ้นจากความเป็นเด็กแล้ว ตั้งแต่นี้ไปข้าพเจ้าจะต้องเดินไปในถนนสายใหม่ของชีวิตตามลำพัง, ต้องต่อสู้และต้องรับผิดชอบต่อตัวเอง เหมือนลูกนกที่เริ่มบินออกจากรัง ชีวิตจริง ๆ ได้ตั้งต้นแล้วในวันนั้น ทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้ามีอายุได้เพียง ๑๙ ปี ๑๑ เดือนกับ ๗ วัน–ยังไม่ทันถึง ๔๐ อย่างที่มีคนพูดกันว่า life begins at forty.
ท่านเจ้าคุณจรัลชวนะเพท ท่านอาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ ซึ่งได้ปกครองข้าพเจ้ามาตั้งแต่ชั้นประถมหนึ่ง พ.ศ. ๒๔๕๘ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่งเป็นปีที่ข้าพเจ้าได้ประกาศนียบัตร ชั้น ม. ๘ ประโยคมัธยมบริบูรณ์ ได้ก้าวเข้ามาสวมพวงมาลัยให้ข้าพเจ้า ในชุดผ้าพื้นสีกรมท่าและเสื้อขาวกระดุมห้าเม็ด ซึ่งเราเห็นอยู่เป็นประจำที่เทพศิรินทร์ ท่านให้ปัจฉิมวาจาว่า “ขอให้เธอสำเร็จกลับมา เราเทพศิรินทร์จะรอเธอ” ข้าพเจ้ากราบลงกับฝ่ามือของท่านด้วยความตื้นตันใจ
๒
“เราจะพบกันอีก” คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์จับมือข้าพเจ้าบนก่อนเรือจะเคลื่อนมาเพียง ๕ นาที แล้วพูดเสียงเบาแต่หนักแน่นมั่นคง คุณมาลัย ชูพินิจ จับมือข้าพเจ้าไว้ทั้งสองข้าง แล้วพูดว่า “คุณจะพบวัตถุดิบอีกมากในเมืองจีน เขียนมันออกมาให้หมด มันเป็นความจริงที่พวกเราควรจะต้องรู้” ข้าพเจ้าบีบมือคุณมาลัยแล้วตอบว่า “ผมจะเขียนทุกอย่างที่ผมเห็น ผมจะบอกพวกเราว่าเราจะมองข้ามเมืองจีนไปไม่ได้”
คุณโชติ แพร่พันธุ์ ในชุดกางเกงแพรสีโศก สวมเสื้อนอกกระดุมห้าเม็ด หวีผมแสกกลาง หอบร่างอันเล็กบางยุคหนุ่มน้อยขึ้นมาบนดาดฟ้าเรือ “คาลกัน” เกือบเป็นคนสุดท้าย เราจับมือกันอย่างลูกเทพศิรินทร์–อย่างเพื่อนเก่าที่เคยฟาดแข้งกันมาในสนามหน้าตึกแม้นนฤมิตร “เฉวียงมาไม่ได้ ธงไทย กำลังขึ้นแท่น ให้ผมมาบอกว่ามีอะไรดีๆ ก็เขียนมาให้ ธงไทย บ้าง จะเป็นการ์ตูนหน้าปกก็เอา คุณโชติบอกข้าพเจ้า “ผมจะเขียน” ข้าพเจ้าตอบ “ส่ง ธงไทย ให้ผมอ่านบ้างนะ ผมอยากอ่านเรื่องที่คุณเขียน” คุณโชติหัวเราะอย่างร่าเริงตามนิสัยแล้วตอบว่า “ผมมีแต่ข่าวให้คุณอ่าน นี่ก็จะต้องไปเมืองชลอีกแล้ว เฉวียงเขาให้ไปเอาข่าวคดีฆ่านายพูด” ข้าพเจ้าจับแขนคุณโชติบีบแล้วพูดว่า “คุณเล่าเรื่องเก่งกว่าพวกเราทุกคน เขียนออกมาเป็นเรื่องอ่านเล่นบ้างซี ผมติดเสน่ห์โวหารของคุณมาตั้งแต่อยู่โรงเรียน” คุณโชติหัวเราะอีก ตอบด้วยอารมณ์สนุกว่า “ผมจะถามฟ้าดินดูก่อน”
แล้วเรือ “คาลกัน” ก็เปิดหวูดสัญญาณแสดงว่า ถึงเวลาแล้วจะต้องถอยเรือออกท่า ทุกคนที่มาส่งรีบขึ้นบก เรือถอยห่างจากเขื่อนทีละคืบทีละศอก ภาพทุกคนอันเป็นที่รักค่อย ๆ เล็กลง–เล็กลง เมื่อเรือกลับลำได้เรียบร้อย กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งหัวเตรียมออกไปยังปากอ่าว ข้าพเจ้าก็โผไปยังกราบเรืออีกด้านหนึ่ง เห็นทุกคนโบกมือให้ ข้าพเจ้าโบกตอบ แต่ดูเหมือนเรี่ยวแรงจะหมดไปเสียแล้ว
ตลอดคืนในเคบินเรือ “คาลกัน” ข้าพเจ้านอนหลับๆ ตื่นๆ คิดถึงบ้าน...คิดถึงประนุท...คิดถึงเพื่อนเก่าอันเป็นที่รัก กลุ่มของเราซึ่งมี คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นกัปตัน คงจะเขียนกันต่อไป เราเกิดมาเขียน มันเป็นชาตากรรม เราเลือกงานที่เรารัก เราไม่สนใจว่าตัวหนังสือที่เราปั้นขึ้น มันจะจ่ายเราพอค่าข้าวสารหรือไม่
ตอนตีสี่ข้าพเจ้าลุกขึ้นมาบันทึกเหตุการณ์ที่ท่าบอเนียว เมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนไว้ในสมุดความทรงจำเล่มหนาถึง ๕ นิ้ว ซึ่งคุณบุญทอง เลขะกุล แห่งโรงพิมพ์อักษรนิติ ได้จัดทำให้เป็นพิเศษ สำหรับเขียนสิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นในเมืองจีน ในสมุดเล่มนี้ข้าพเจ้าเขียนชีวิตของข้าพเจ้าลงไป–ชีวิตในฮ่องกง, ในกวางตุ้ง, ในเทียนสิน, ในปักกิ่ง ในว่านโล้วซาน, ในซีซาน, ในทุกแห่ง แม้แต่เซี่ยงไฮ้ ปากน้ำแยงซี ซึ่งคนจีนถูกวัฒนธรรมฝรั่งลอกคราบ จนเกือบจะเหลือแต่กางเกงใน และในสมุดเล่มนี้เองที่ข้าพเจ้าเอาหิมะของชีวิตที่ยังไม่ละลายมาเขียนตามความต้องการของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” เพื่อจะให้มันละลาย
นั่งอยู่หน้าโต๊ะหนังสือในห้องเล็กไม่กี่ตารางฟุตของตึกเวสท์บิลดิ้ง ปล่อยให้ความคิดล่องลอยไป จดหมายเก่า ๆ ของคุณมาลัย ชูพินิจ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ คุณโชติ แพร่พันธุ์ ถืออยู่ในมือ ข้าพเจ้ากำลังอยู่ในโลกของข้าพเจ้า คือโลกหนังสือพิมพ์ โลกของตัวหนังสือที่อิสระเสรี ไม่มีผู้เผด็จการคนไหนจะเข้ามาทำลายให้สูญไปจากโลกนี้ได้ มันเป็นโลกของดวงความคิดที่จองหองด้วยความเชื่อมั่น อาจเป็นอคติหรือความลำเอียง แต่มันก็เป็นความลำเอียงที่ยังไม่เคยมีใครมาพิสูจน์ว่าเป็นความผิด ข้าพเจ้ามองเห็นห้องเกษมศรี ของครูอบ ไชยวสุ หน้าวัดตองปุ บางลำภู ซึ่งเป็นสำนักงานของหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษรายปักษ์” ของพวกเรา ที่คุณมาลัยเขียนไว้ในจดหมาย จดหมายเก่า ๆ ที่นอนอยู่ในแฟ้มอีกหลายฉบับ เขียนมาจากที่นั่น อ.ก. รุ่งแสง กับคุณ “งามพิศ” เจ้าของกลีบกุหลาบสีแดงซึ่งส่งกลิ่นของกลอนรักทำให้ “ชื่นใจ” กับพรรคพวกคลั่งรักกันอย่างวุ่นวาย ก็เขียนอยู่ที่นั่น หรืออย่างน้อยก็แอบปิดแสตมป์มาจากสาธร ตำบลสมมติ ให้บุรุษไปรษณีย์มาส่งไว้ที่นั่น โดยเฉพาะกลอนรักอันลือชื่อ ไม่มีวันตายของ “งามพิศ” เทพธิดาที่มองไม่เห็นตัวของชาวคณะสุภาพบุรุษ วัดตองปุ จากสุภาพบุรุษรายปักษ์, กลุ่มของเราซึ่งมีคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นกัปตันได้บุกต่อไปด้วยกระเป๋าที่ว่างเปล่า แต่ด้วยปากกาที่คมและแข็ง, ผ่านมรสุมของยุคบางกอกการเมือง, ไทยใหม่, ผู้นำ, จนถึงยุคประชาชาติ ถนนหลานหลวง ซึ่ง “ท่านวรรณ” เป็นเจ้าของ
ที่ปักกิ่งข้าพเจ้ายังมองไม่เห็นความล่มจมของ “ประชาชาติ” เพราะขณะนั้นกำลังอยู่ในยุคทอง “บาร์บารา” ขึ้นเวทที่ “ประชาชาติ” โจมตีฮิตเลอร์ และ “ท่านผู้นำ” ของเมืองไทย จนถูกไล่ออกมาพร้อม ๆ กับ คุณกุหลาบ คุณมาลัย กับพวก มันเป็นเรื่องตลกและอันตรายที่สุด ที่บังเอิญความอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์ กับความอยากเป็นใหญ่ทางการเมือง ได้เข้ามาซ้อนกันอยู่ในจิตใจของคนคนเดียวกัน แต่มันก็เป็นถนนของชีวิตที่ต้องคดเคี้ยวไปมา หาความแน่นอนไม่ได้ และถนนชีวิตสายนี้ได้นำกลุ่มของเรามาเปิดประชามิตร และสุภาพบุรุษราคา ๓ สตางค์ ขึ้นที่โรงพิมพ์อักษรนิติ บางขุนพรหม ก่อนข้าพเจ้าออกบวชปีเดียว แล้วถนนของกลุ่มเราก็สุดลง ยุคทองผ่านไปเป็นอดีตตามวงเวียนของวัฏฏะ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ไปออสเตรเลีย มันเป็นเรื่องของอนิจจังความไม่เที่ยง เราอยู่ใต้กฎแห่งกรรม ความคิดของเราก็หนีกฎนี้ไม่พ้น มันมาถึงยุคที่ต่างคนต่างคิด, แต่ก็ด้วยความสุจริตใจ ความคิดที่ไม่เหมือนกันเรื่องชาติบ้านเมือง ทำให้เราต้องแยกถนนกันเดิน...ด้วยน้ำตาที่ไหลรินอยู่ในหัวใจ
ที่เก้าอี้หน้าโต๊ะหนังสือในตึกเวสท์บิลดิ้งวันนั้น, ข้าพเจ้าไม่เคยคิดว่าเวลาคือพระเจ้าแห่งการเปลี่ยนแปลง, ไม่เคยสนใจ วงเวียนของวัฏฏะ ไม่เคยคิดว่าเราจะต้องมาเดินถนนกันคนละสาย ข้าพเจ้าไม่เคยเชื่อว่าเมืองจีนจะเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้ง ๆ ที่หลูกวงได้ใบ้ให้รู้ ข้าพเจ้าคิดแต่ว่าใดใดในโลกนี้ไม่เป็นอนิจจัง....ทุกสิ่งเป็นของแน่ไม่แปรเปลี่ยน ถูกทีเดียว, ชีวิตตั้งต้นเมื่ออายุ ๔๐ ขณะนั้นข้าพเจ้าอายุได้ ๒๒!
๓
กินอาหารกลางวันแล้ว ข้าพเจ้าก็เข้าไปคุยกับบัวในห้อง ซึ่งอยู่ห่างจากห้องของข้าพเจ้าเพียง ๑๐ ฟุต บัวคุยให้ฟังว่าเขาได้รับจดหมายจากสมาชิกคณะหมวกทรงมะนาวตัดของเขาฉบับหนึ่ง เล่ามาว่า กรุงเทพ ฯ กำลังซุบซิบกันทุกหัวระแหงเรื่องคนคิดกบฏ...เรื่องวงเวียนของวัฏฏะ ๑๕๐ ปี...เรื่องการสร้างสะพานพุทธยอดฟ้า ฯ.... แล้วก็เรื่องหนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง” ถูกปิดล่ามโซ่เพราะบทความเรื่อง “มนุษยภาพ” ที่เขียนโดย “กุหลาบ สายประดิษฐ์” กลิ่นตุ ๆ ของการกบฏโดยไม่หวาดเกรงต่อความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำพระพิพัฒน์สัตยากำลังระเหยออกมาจากมุมมืด ๆ ที่นั่น–ที่นี่ แต่ตำรวจไม่สนใจเท่าที่ควรจะสนใจ เพราะเบื้องบนเบื้องล่างก็คิดกันว่า คนคิดกบฏไม่ควรจะมี–คนเนรคุณไม่ควรจะมี แต่เจ้าของจดหมายที่เล่ามาก็แซมความเห็นไว้ว่า มันไม่ใช่เรื่องของการเนรคุณ, หากเป็นเรื่องของการแสดงออก ซึ่งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของอธิปไตยแห่งชาติ เขาว่ามันเป็น people’s will.
ข้าพเจ้าพูดขึ้นในตอนหนึ่งว่า “ผมยังไม่เข้าใจว่าจะมีการกบฎกันเพื่ออะไร คุณเดาได้ไหมว่าใครจะคิด ?”
บัวโคลงศีรษะแล้วพูดว่า “เมื่อผมอยู่ญี่ปุ่นก็มีคนจากกรุงเทพ ฯ ไปคุยให้ฟังที่สถานทูต เขาบอกว่าพวกนักเรียนนอกจะคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง”
“ใคร ?” ข้าพเจ้าถามทันที
“ก็ไม่รู้ซี แต่แว่วมาว่าเป็นนักเรียนฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่ง”
“คงจะเป็นลูกน้องรูซโซ วอลแตร์ ก็ได้” ข้าพเจ้าหัวเราะ
“เป็นลูกน้องรูซโซ ดีกว่าเป็นลูกน้องญวนแดง” เสียงของบัวเคร่งขรึม
“อะไร–ญวนแดงน่ะหรือ ?”
“อ้าว, ก็พวกชาตินิยมคิดโค่นฝรั่งเศสเวลานี้ซุ่มอยู่ในฝรั่งเศสก็เยอะ”
“คุณหมายความว่าพวกนี้จะเอาลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาเมืองไทย ?”
“ผมไม่รู้ ผมไม่สนใจการเมือง แต่ผมว่าเมืองไทยเป็นคอมมิวนิสต์ไม่ได้ คนไทยไม่ไปไกลถึงขนาดนั้น”
ข้าพเจ้านิ่งไปสักครู่ นึกถึงคำของเจ้าของจดหมายที่เขียนถึงบัว คือคำว่า people’s will. ก็พูดว่า
“ผมยังไม่เข้าใจว่า ถ้าเขาคิดกบฏกันมันจะเป็น people’s will หรือ general will ได้ยังไง คนไทยยังไม่มี will จะโค่นอะไรต่ออะไรอย่างในเมืองจีน ผมว่าถ้าจะกบฎกันก็เป็นความอยากของคนไม่กี่คน แล้วก็มาเหมาเอาว่าเป็นเจตนารมณ์ของประชาชน ผมก็ชอบประชาธิปไตย แต่ผมกลัวเผด็จการ”
บัวควักบุหรี่ออกมาจุดสูบ พ่นควันโขมง นิ่งอย่างใช้ความคิดแล้วก็เอ่ยขึ้นว่า
“เราจะต้องอยู่ปักกิ่งอีกหลายปี กลับไปจะเจออะไรก็ไม่รู้ แต่ผมเกลียดการเมือง อยากอยู่อย่างสงบ”
“ทุกคนก็อยากอยู่อย่างสงบ แต่มันจะทนกันไม่ได้ ถ้าประชาชนถูกโกง”
บัวหัวเราะ
“มองกันในแง่ดีไว้ก่อน ไปเล่นเทนนิสกันดีกว่า บ่ายนี้ไม่มีคลาส”
เย็นวันนั้น หลังจากที่ได้อาบเหงื่ออยู่ในสนามเทนนิส ข้าง ๆ ตึกเวสท์บิลดิ้งได้ ๕-๖ เซทแล้ว ข้าพเจ้าก็รีบอาบน้ำเพื่อจะไปพบวารยา วารยาได้โทรศัพท์มาเมื่อเช้าบอกว่า วลาดิมีร์เชิญรับประทานอาหารเย็นที่คาบารอฟส์ก์, คอสซาเรฟก็ได้รับเชิญด้วย วารยาบอกมาในตอนท้ายว่า มีเรื่องจะพูดกับข้าพเจ้าเป็นส่วนตัวหลังอาหาร บางทีเราอาจจะไปคาราซาร์ด้วยกันก็ได้
-
๑. หมายเหตุ : คุณสุกรี พยัคฆนันท์ เจ้าของนามปากกา “ส. พยัคฆนันท์” ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคปอดไม่กี่เดือนหลังจากได้รับจดหมายของคุณมาลัย–ผู้เขียน ↩