- คำนำ
- คำปรารภ
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- บทที่ ๔๑
- บทที่ ๔๒
- บทที่ ๔๓
- บทที่ ๔๔
- บทที่ ๔๕
- บทที่ ๔๖
- บทที่ ๔๗
- บทที่ ๔๘
- บทที่ ๔๙
- บทที่ ๕๐
- บทที่ ๕๑
- บทที่ ๕๒
- บทที่ ๕๓
- บทที่ ๕๔
- บทที่ ๕๕
- บทที่ ๕๖
บทที่ ๒๒
ข้าพเจ้าออกจากห้องพักในโรงเรียนหวาเหวินก่อนเวลานัดกับวารยา และวลาดิมีร์ชั่วโมงเศษ เพราะอยากจะแวะที่ P.U.M.C. โรงพยาบาลทุนฝรั่งซึ่งใหญ่โตที่สุดในปักกิ่ง ข้าพเจ้ามีมิตรสหายที่ P.U.M.C. หลายคน ที่สนิทสนมกันมากก็มี ดร. เจียงกับ ดร. เผิง ดร. เจียงเป็นผู้หญิง ดร. เผิงเป็นผู้ชาย คนทั้งสองมีอายุแก่กว่าบ้านเจ้าสองสามปี ทั้งคู่สำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์จากสหรัฐอเมริกา
ดร. เจียง เป็นนิสิตเก่าของมหาวิทยาลัยเยียนจิง เป็นคนร่างหนา ล่ำสันแข็งแรงเพราะเป็นนักกีฬา, ใส่แว่นตากรอบกลมเพราะสายตาสั้น, ไว้ผมบ๊อบปล่อยให้เหยียดยาวตามธรรมชาติ, ไม่เคยสนใจกับแฟชั่นหด ๆ ยืด ๆ, หายใจเป็นคนไข้ตั้งแต่เช้าจนค่ำ เป็นแพทย์ที่อยู่เพื่อคนไข้, แทบไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ก็เป็นผู้เสียสละอย่างสูงและกล้าหาญเด็ดเดี่ยว วันดีคืนดีก็ออกไปอยู่หลังแนวรบของสงครามกลางเมือง คอยรักษาทหารที่คิดว่ารบเพื่อการรวมชาติไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ดร. เจียงได้เข้าไปอยู่ในแนวกระสุนหลายครั้งหลายหน, เคยถูกกระสุนเฉี่ยวเข้าที่คอรอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด อุดมคติของเธอผู้นี้ก็คือ ชีวิตมนุษย์ต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใด และหมอต้องเสียสละและกล้าหาญ ดร. เผิงก็คล้าย ๆ ดร. เจียง แต่เขาคิดมากกว่า คือคิดไกลออกไปจนถึงการเมืองด้วย เขาบอกข้าพเจ้าว่า ชาติจีนใหญ่เกินไปที่จะล่ม, แต่ก็จะต้องยืนอยู่ด้วยความทรมาน เพราะความมักใหญ่ใฝ่สูงของพวกนายพล, และเพราะระบบสินบน และคอร์รัปชั่นซึ่งเกาะกินเลือดเนื้อของประชาชนอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน
เมื่อข้าพเจ้าไปถึง P.U.M.C. เป็นเวลาที่ ดร. เจียงได้หยุดพักหายใจหนึ่งชั่วโมงก่อนจะเข้าอยู่เวรต่อไปจนถึงเที่ยงคืน
“ฮัลโหล ด๊อกเต้อร์” ข้าพเจ้าร้องทักอย่างกันเอง เมื่อโผล่เข้าไปในห้องพักของแพทย์บนตึกกลางชั้นสอง
“ฮัลโหล, ระพินทร์” ดร. เจียง ส่งเสียงดังตามเคย กระวีกระวาดลุกขึ้นมาต้อนรับอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส “เธอมาพอดี–ฉันกำลังหยุดพัก น้ำชาสักถ้วยไหม ?”
“เธอทานต่อไปเถอะ ฉันขอเพียงน้ำเย็น” ข้าพเจ้าตอบแล้วนั่งลงที่เก้าอี้นวมข้างหน้า
ดร. เจียง หมุนตัวไปที่เคาน์เตอร์อย่างว่องไว รีบทำน้ำชามาให้ข้าพเจ้าที่หนึ่ง มีเค้กใส่จานมา ๑ ชิ้น “ฉันรู้ว่าเธอควรจะหิว” พูดแล้วก็ยื่นที่ชาให้ข้าพเจ้า
เรานั่งกินน้ำชาอยู่ข้างหน้าต่างที่มีลมพัดโกรกเข้ามาเบา ๆ สักครู่ ดร. เจียงก็เข้าหาเป้าที่คาดคะเนว่าคงเป็นธุระที่ข้าพเจ้ามาพบ
“เธอเป็นอย่างไรบ้าง ดีขึ้นบ้างไหม ?” เธอถาม กวาดตาดูหน้าข้าพเจ้าอย่างพินิจพิเคราะห์
“ก็ยังเรื่อย ๆ อยู่ นอนไม่ค่อยหลับ อ่านหนังสือไม่ค่อยได้” ข้าพเจ้าตอบ
“ฉันนัดหมอกิลแดร์ไว้ อยากให้เธอมาวันศุกร์เก้าโมงเช้า” ดร. เจียง พูดอย่างเอาใจใส่ “ฉันคิดว่าประสาทคงรบกวนเธอมาก แต่เธอควรใช้อำนาจจิตให้มาก ทำใจให้สงบ เธอมีเรื่องอะไรที่ต้องเป็นห่วงบ้างไหม?”
ข้าพเจ้าโคลงศีรษะช้า ๆ
“ที่จริงก็ไม่มีอะไรน่าห่วง แต่ฉันห่วงไปเอง” ข้าพเจ้าหยุดคิดเพื่อหาคำพูดที่สั้นไม่ทำลายเวลาพักผ่อนของมิตรผู้ใจดี “ฉันเป็นโรคนอนไม่หลับมาตั้งแต่อยู่ฮ่องกง สมองไม่หยุดคิด เรื่องที่คิดก็เป็นเรื่องของคนอื่น แต่มันก็ต้องคิด มีอะไรก็ไม่รู้มาบังคับให้คิด ฉันว่าสมองมันเหนื่อยมาก มันควรจะหลับ แต่ก็ไม่หลับ ฉันหลับตีสี่แทบทุกคืน ทรมานที่สุด”
“เธอต้องหารือ ด๊อกเต้อร์กิลแดร์ เขาเชี่ยวชาญทางจิตวิทยา” ดร. เจียง มองตาข้าพเจ้าอย่างห่วงใย “แต่ฉันเข้าใจว่า เธอเป็นโรคที่ต้องช่วยตัวเอง เธอต้องใช้อำนาจจิต เธอต้องบังคับใจให้อยู่ ลองดูตั้งแต่พรุ่งนี้ หัดอ่านหนังสือให้รู้เรื่อง เธอเคยบอกว่ากว่าจะรู้เรื่องต้องอ่านถึงสามเที่ยว พยายามลดให้เหลือสองเที่ยว ฉันคิดว่าเธอทำได้”
“ฉันจะพยายาม” ข้าพเจ้าพึมพำ “ก็ได้พยายามอยู่ตลอดเวลา แต่มันก็มักมีเรื่องแทรกเข้ามาให้คิดเสมอ เรื่องร้อยแปด ยิ่งเห็นมากก็ยิ่งมีเรื่องมาก”
“เธอจำได้ไหม เธอเริ่มคิดมากตั้งแต่เมื่อไหร่” ดร. เจียง ถามหลังจากที่ได้นิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง
“ถ้าจำไม่ผิด ฉันเริ่มคิดมากตั้งแต่สอบพลาดสะกอล่าชิป ไปอังกฤษไม่ได้ เมื่อราวสี่ห้าปีมาแล้ว”
“ผิดหวังมากใช่ไหม ?”
“ใช่”
“ทำไมเธอจะต้องไปอังกฤษ ?”
“เพราะอนาคตมันดีกว่าไปที่อื่น เมืองไทยเขาเห่ออังกฤษ นี่ก็กำลังจะเห่ออเมริกา”
“อังกฤษมีอะไรดีมากยังงั้นหรือ ?”
“ก็ไม่รู้ซี เห็นจะเป็นเพราะเราเป็นชาติชอบขนบธรรมเนียมประเพณี ชอบความเรียบร้อย แล้วก็อังกฤษมีอิทธิพลในเมืองไทยมาก ครูอังกฤษบางคนเวลาสอนนักเรียน ก็เรียกตัวเองว่าเทวดาฝรั่ง”
“แปลว่าเธออยากจะเป็นเทวดาฝรั่ง ถึงอยากไปเรียนที่อังกฤษ ?”
“ก็ไม่เชิง แต่มันโก้ชอบกล” ข้าพเจ้าหัวเราะ “ฉันอาจจะคิดบ้าไปก็ได้ เดี๋ยวนี้ไม่คิดแล้ว อยู่เมืองจีนมีอะไรน่าดู น่าคิดมากกว่าเยอะแยะ”
“ถ้าโรคคิดมากเริ่มต้นเพราะเธอสอบไปอังกฤษไม่ได้ ก็ให้เธอมาเริ่มคิดเสียใหม่ว่าเธอโชคดีที่ได้มาเมืองจีน” ดร. เจียงพูดอย่างเยือกเย็น “พยายามหาความพอใจกับเมืองจีน แล้วเธอจะลืมเรื่องผิดหวังเก่า ๆ ได้แน่นอน เธอจะนอนหลับได้อย่างสบาย สมองจะไม่ถูกรบกวน, ถ้าเธอพยายามพอใจกับชีวิตที่นี่”
“ฉันพอใจ ฉันได้รับความรู้มากขึ้นทุกวันเรื่องความทุกข์ของมนุษย์ ถ้าฉันไปอังกฤษ ฉันอาจพบแต่ความสุขสำราญ ฉันอาจจะกลายเป็นผู้ดีอังกฤษ เดินคอตั้งอกตึงไปก็ได้”
“ฉันอยากให้เธอเข้าใจว่า เธอเคราะห์ดีมากกว่าเคราะห์ร้ายที่ได้มาอยู่ในปักกิ่ง ดร. เจียง มองตาข้าพเจ้าด้วยความรู้สึกที่อ่อนโยนตามนิสัย “ที่นี่เธอได้เห็นหัวใจของคนจีน, เห็นชีวิตทั้งเก่าและใหม่, เห็นวัฒนธรรมความเจริญที่เกิดมารุ่นเดียวกับอินเดีย อียิปต์ แล้วก็–ที่สำคัญมาก–เธอเห็นมนุษยภาพ–เห็นอนาคตของตะวันออก, เพราะทางแยกของตะวันออกจะต้องอยู่ที่เมืองจีน จะแยกไปทางอื่น–ไปดี–ไปร้าย–ก็ได้ทั้งนั้น แต่ถนนของคนตะวันออก–กิโลเมตรที่ ๒ ตั้งต้นที่นี่”
“เธอรู้สึกเช่นนั้นหรือ ?”
“ฉันเชื่อ ไม่ใช่รู้สึก การปฏิวัติของเมืองจีนสะเทือนมาก ตะวันออกเคยนิ่ง เคยสงบ, วิเวกวังเวง เหมือนน้ำนิ่งในบึงใหญ่เขียวใสเป็นแผ่นกระจก แต่นักปฏิวัติเขาทุ่มหินก้อนมหึมาลงไป ความนิ่ง ความใสมันก็ไม่มีเหลือ ฉันว่าชีวิตของเราคนตะวันออกกำลังมีอนาคตที่น่ากลัว เธอกับฉันยังจะต้องอยู่กันไปอีกหลายสิบปี เราจะช่วยบ้านเมืองของเราอย่างไรบ้าง ฉันยังสงสัย แต่ฉันจะช่วยชีวิตคนอย่างเดียวเท่านั้น ฉันจะไม่ฆ่า”
ข้าพเจ้ามองตา ดร. เจียง อย่างเทิดทูนบูชา ในปักกิ่ง คนที่ข้าพเจ้าจะลืมเสียไม่ได้เลยอีกคนหนึ่ง ก็คือ ดร. เจียง
คุยกับ ดร. เจียง อีกสักครู่ข้าพเจ้าก็ลากลับ เดินอ้อมกำแพง P.U.M.C. ไปอีกห้านาทีก็ถึงคาบารอฟส์ก์ โรงแรมที่พักของวลาดิมีร์และวารยา
ข้าพเจ้าพบคอสซาเรฟเจ้าของคาบารอฟส์ก์ที่ห้องโถง คุยกับเขาสองสามคำก็ได้ความว่า วลาดิมีร์ต้องการเลี้ยงว้อดก้ากันนิดหน่อย เพื่อจะฉลองวันอิสรภาพของเขากับวารยา ข้าพเจ้าฟังอย่างไม่เข้าใจ คอสซาเรฟเจ้าของคาบารอฟส์ก์เคราดกจึงกระซิบว่า
“คุณคงไม่รู้ว่าวลาดิมีร์ต้องฉลองวันอิสรภาพทุกปี”
ข้าพเจ้าสั่นศีรษะ
“อิสรภาพอะไร ?”
แววตาของผู้ชราชาวรัสเซียขาวบอกความแปลกใจในคำถามของข้าพเจ้า
“คุณไม่รู้หรือ ?” เขาถาม
“ผมไม่เคยทราบ” ข้าพเจ้าตอบ แล้วนิ่งรอฟังคำชี้แจงจากเขา
คอสซาเรฟนิ่งคิดคล้ายกับจะชั่งใจว่า ควรจะพูดอะไรและไม่ควรจะพูดอะไร ในที่สุดเราก็ตอบเพียงสั้น ๆ ว่า
“วันอิสรภาพของวลาดิมีร์ ก็คือวันที่หนีพ้นออกมาจากเขตแดนรัสเซียแดง”
“อ้อ !” ข้าพเจ้าอุทานอย่างเดาเรื่องได้ “ก็เรียกว่าเป็นวันสำคัญ คุณก็คงจะต้องฉลองกันบ้าง–งั้นไม่ใช่หรือ ?”
เจ้าของคาบารอฟส์ก์ผู้มีเคราดกหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ไม่มีความเคียดแค้นจริงจังอย่างที่วลาดิมีร์ได้เคยแสดงต่อข้าพเจ้า
“เมื่ออยู่เปโตกราด ผมทำขนมปังขายหากินไปวันหนึ่ง ๆ อย่างคนข้างถนน ผมไม่รู้สึกว่าผมได้เสียอิสรภาพอะไรไป เพราะฉะนั้นจึงไม่ฉลอง”
“แปลว่าวลาดิมีร์ได้เสียอิสรภาพ จึงต้องฉลองอิสรภาพเมื่อมีอิสรภาพ งั้นใช่ไหม ?”
“ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น วลาดิมีร์มีอิสรภาพมากมายในรัสเซีย”
“มีอิสรภาพมากมาย.....” ข้าพเจ้าทวนคำอย่างไม่เข้าใจ
“ผมว่าคุณอย่าถามต่อไปอีกดีกว่า” คอสซาเรฟห้ามแล้วรินเบียร์ห้าดาวให้ข้าพเจ้าจนเต็มแก้ว
“อ้าว, ทำไม ?” ข้าพเจ้าจ้องหน้าเขาอย่างสงสัย
“เอากันว่า วลาดิมีร์ต้องเสียอิสรภาพไปเมื่อเกิดปฏิวัติ แล้วหนีออกมาอยู่เมืองจีนก็มีอิสรภาพใหม่ จึงต้องฉลองอิสรภาพ เอาเท่านี้ก็แล้วกัน”
“คุณคงหมายความว่า วลาดิมีร์ได้ต่อต้านการปฏิวัติจนต้องเสียอิสรภาพใช่ไหม ?”
“ผมไม่เรียกว่า วลาดิมีร์ต่อต้านการปฏิวัติ แต่ผมอยากจะพูดว่าวลาดิมีร์มีเลือดที่ต้องต่อต้าน หรือทำให้พวกปฏิวัติคิดว่าต่อต้านเลยต้องเสียอิสรภาพ”
“วลาดิมีร์ต้องเป็นคนใหญ่มากในรัสเซีย ?” ข้าพเจ้ามองตาเขาเพื่อหาคำตอบทางความรู้สึก
“คุณต้องถามวลาดิมีร์เอาเอง” คอสซาเรฟหัวเราะ
“ผมคุยกับวารยาหลายครั้ง แต่ผมก็ไม่รู้มากกว่าที่ผมรู้ เออ, คุณรู้จักเหลียงไหม ? คุณต้องรู้จัก”
“ทำไมผมจะไม่รู้จัก” คอสซาเรฟมีสีหน้าเครียดทันที “คุณถามทำไม ?”
“ผมรู้สึกว่าเหลียงสนิทกับวลาดิมีร์กับวารยามาก”
คอสซาเรฟหัวเราะ แต่ไม่พูดอะไร ข้าพเจ้าจึงถามต่อไปว่า
“เหลียงรู้จักกับวารยานานแล้วหรือ ?”
“คุณจะถามทำไม ?” คอสซาเรฟเหลือบตาขึ้นมองหน้าข้าพเจ้าอย่างไม่ค่อยจะพอใจนัก
“มีเพื่อนหลายคนพูดถึงเรื่องเหลียงกับวารยา” ข้าพเจ้าโพล่งออกไปทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ควรจะพูดเช่นนี้
“เขาก็พูดกันทั้งปักกิ่ง ผมเกลียดไอ้นักเรียนบอสตันคนนี้เข้ากระดูก” คอสซาเรฟพูดออกมาด้วยอารมณ์ที่ระงับไว้ไม่ได้
“เกลียด ?” ข้าพเจ้าทวนคำของเขาอย่างไม่เจตนา จิตใจขณะนั้นตื่นเต้นไปด้วยความอยากรู้
“คุณรู้ไว้บ้างก็ได้ คุณจะได้เข้าใจเวลาคนในปักกิ่งเขาพูดกัน” เขาหยุดคิดนิดหนึ่ง “เหลียงเป็นเจ้าบุญนายคุณของวลาดิมีร์ เรื่องมันตั้งต้นตรงนี้...แล้วก็....เจ้าหมอนี่มันเจ้าชู้ ผมสงสารวารยา”
“ผมเข้าใจ” ข้าพเจ้าพึมพำ “แต่ที่คุณว่าเจ้าบุญนายคุณน่ะมันอะไรกัน ?”
คอสซาเรฟเม้มริมฝีปาก ถอนใจเบา ๆ ชำเลืองไปที่บันไดใหญ่ ซึ่งทอดลงมาจากชั้นบน ซึ่งเป็นที่พักของวลาดิมีร์กับวารยาแล้วจึงตอบด้วยเสียงกระซิบว่า
“เหลียงมันลูกไม้–ผมว่า ผมคงไม่บาปแน่”
“ยังไง ?”
“มันเข้ามาติดต่อกับวลาดิมีร์ตอนจางโซเหลียงเป็นใหญ่อยู่ที่นี่ มันบอกว่าจางโซเหลียงจะจับวลาดิมีร์ เพราะวลาดิมีร์เป็นคอมมิวนิสต์ วลาดิมีร์ตกใจมาก คุณก็รู้ดีว่าวลาดิมีร์ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แกเกลียดคอมมิวนิสต์เหมือนไส้เดือนกิ้งกือ”
“ผมพอเดาออก” ข้าพเจ้าพูดด้วยอารมณ์ที่ขุ่นมัว
“แล้วมันทำยังไงคุณรู้ไหม ? มันเข้าช่วยวลาดิมีร์จนวลาดิมีร์เห็นใจ มันบอกว่ามันจ่ายจางโซเหลียงไปหลายหมื่นเหรียญแล้วมันก็ยอมเป็นตัวประกัน รับรองว่าวลาดิมีร์จะไม่ก่อความยุ่งยากอะไรขึ้น แบบที่คอมมิวนิสต์จากรัสเซียกำลังทำอยู่ในเซี่ยงไฮ้”
“ลูกไม้” ข้าพเจ้าโพล่งออกไปทันที
“ผมว่าลูกไม้ทั้งเพ วลาดิมีร์กับวารยาก็มีฐานะเหมือนผม เราเป็นคนไม่มีชาติ เพราะชาติของเรามันแดงไปหมดแล้ว เราต้องอาศัยเขาอยู่ ถ้าเขาไม่ให้เราอยู่ เราก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน เหลียงมันรู้จุดอ่อน มันก็เลยจี้เข้ามาที่หัวใจ ตกลงสองพ่อลูกก็ต้องพึ่งใบบุญมันตลอดมา”
“มันก็ต้องการวารยา” ข้าพเจ้าพูดเสียงเบาแต่หนัก
“เจ้าชู้อย่างไอ้เหลียงมันต้องการอะไรเล่า” คอสซาเรฟพูดเสียงเครียด
“ผมว่ามันจะไม่แต่งงานกับวารยา” ข้าพเจ้าโคลงศีรษะไปมา
“มันจะแต่งทำไม มันไม่ได้รักวารยา”
“แล้ววารยาก็ไม่ได้รักมันใช่ไหม ?” ข้าพเจ้าถามอย่างรีบร้อน
“คุณไปถามวารยาเอาเอง”
“แต่คุณคิดว่าวารยารักมันหรือเปล่า ?” ข้าพเจ้ายังไม่อาจจะดับความตื่นเต้นลงได้ ทั้ง ๆ ที่ได้พยายาม
คอสซาเรฟทำท่าจะตอบ แต่ขณะเดียวกันเขาก็เหลียวไปที่บันไดใหญ่ข้างหลัง ข้าพเจ้ามองตามไป วารยา ราเนฟสกายา กำลังเดินลงบันไดมา